ส.ว.แต่งตั้ง: ส.ว.ลงมติไม่เปิดเผยบันทึกประชุม กมธ. ไปแล้ว 30 ครั้ง เรื่องพิจารณาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งพิเศษ

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 วรรค 6 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการให้ประชาชนทราบ เว้นแต่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติไม่ให้เปิดเผย จากการติดตามบันทึกการประชุมของวุฒิสภาตั้งแต่เปิดสภา ส.ว. จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ส.ว.มีมติในการไม่ให้เปิดเผยอย่างน้อย 30 ครั้ง

 

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว.ต้องเปิดเผยบันทึกการประชุมของ กมธ. เว้นแต่ ส.ว.จะมีมติไม่ให้เปิดเผย

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 129 บัญญัติไว้ว่า “ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเปิดเผยบันทึกการประชุม รายงานการดําเนินการ รายงานการสอบหาข้อเท็จจริง หรือรายงานการศึกษา แล้วแต่กรณี ของคณะกรรมาธิการให้ประชาชนทราบ เว้นแต่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี มีมติมิให้เปิดเผย”

นี่คือหลักการสำคัญที่ยืนยันว่า องค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติจะตัดสินใจอะไรต้องอยู่ในความรับรู้ของประชาชน และถูกประชาชนตรวจสอบได้ โดยทางปฏิบัติขั้นต่ำที่สุดในการประชุมทุกครั้งต้องเปิดเผยบันทึกการประชุม รายงานการดำเนินการ รายงานการสอบหาข้อเท็จจริง หรือรายงานการศึกษา ของคณะกรรมาธิการให้ประชาชนทราบ เป็นหลักทั่วไปสำหรับสภาทั้งสอง ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.

แต่รัฐธรรมนูญก็ได้ให้ข้อยกเว้นไว้กว้างๆ เพียงว่า หากสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภามีมติไม่ให้เปิดเผย ก็สามารถทำได้

ตลอดการประชุมวุฒิสภาในระยะเวลา 6 เดือนเศษ ส.ว. 250 คน ลงมติไม่เปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการแล้วอย่างน้อย 30 ครั้ง

ตั้งแต่เปิดสภา ส.ว. หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ส.ว. ลงมติให้ไม่เปิดเผยบันทึกการประชุมแล้วอย่างน้อย 30 ครั้ง

การลงมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมเกิดขึ้นครั้งแรกในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เมื่อวันอังคารที่ 3 กันยายน 2562 มีการขอให้ ส.ว.ลงมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุม และรายงานลับของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด จำนวน 4 ครั้ง คือ

  • ครั้งที่ 1 วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2562
  • ครั้งที่ 2 วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2562
  • ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2562
  • ครั้งที่ 4 วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2562

ในครั้งถัดไปเป็นการลงมติการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 19 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) วันอังคารที่ 17 กันยายน 2562 มีการให้ ส.ว.ลงมติมิให้เปิดเผยบันทึกการประชุมและรายงานลับของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด จำนวน 7 ครั้ง คือ

  • ครั้งที่ 1 วันพุธที่ 26 มิถุนายน 2562
  • ครั้งที่ 2 วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2562
  • ครั้งที่ 3 วันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2562
  • ครั้งที่ 4 วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2562
  • ครั้งที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2562
  • ครั้งที่ 6 วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2562
  • ครั้งที่ 7 วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2562

อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2562 มีการให้ ส.ว.ลงมติมิให้เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา จำนวน 1 ครั้ง คือ ครั้งที่ 3/2562 วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการร้องเรียนจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภา

จากนั้นในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมลงมติมิให้เปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาอีก 4 ครั้ง ได้แก่

  • ครั้งที่ 1 วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2562
  • ครั้งที่ 2 วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2562
  • ครั้งที่ 3 วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2562
  • ครั้งที่ 4 วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2562

ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 15 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 28 มกราคม 2563 ที่ประชุมมีมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 7 ครั้ง ได้แก่

  • ครั้งที่ 1 วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2562
  • ครั้งที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม 2562
  • ครั้งที่ 3 วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2562
  • ครั้งที่ 4 วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2562
  • ครั้งที่ 5 วันพฤหัสบดีที่ 26 ธันวาคม 2562
  • ครั้งที่ 6 วันจันทร์ที่ 6 มกราคม 2563
  • ครั้งที่ 7 วันอังคารที่ 7 มกราคม 2563

และมีมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวุฒิสภาในคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา 3 ครั้ง ได้แก่

  • ครั้งที่ 1 วันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2563
  • ครั้งที่ 2 วันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2563
  • ครั้งที่ 3 วันอังคารที่ 21 มกราคม 2563

ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ก็มีการลงมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมลับของคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อีก 4 ครั้ง โดยไม่มีรายละเอียดปรากฏว่าเป็นการพิจารณาในเรื่องใด ได้แก่

  • ครั้งที่ 3/2562 วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2562
  • ครั้งที่ 4/2562 วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2562
  • ครั้งที่ 6/2562 วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2562
  • ครั้งที่ 1/2563 วันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2563
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์