เลือกตั้งท้องถิ่น : แก้กฎหมายลดจำนวน ส.ก. ให้อำนาจเต็มมหาดไทยตรวจสอบคุณสมบัติ

16 เมษายน 2562 ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562” หรือการแก้ไขพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (พ.ร.บ.กทม.) ฉบับปี 2528 ในประเด็นเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่ากทม.) สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และ สมาชิกสภาเขต (ส.ข.)
 
การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ทำโดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารทั้งหมด และแก้ไขภายหลังจากที่ คสช. สั่งห้ามเลือกตั้งท้องถิ่นยาวนานห้าปีและสั่งโยกย้ายผู้บริหารท้องถิ่นจำนวนมาก รวมทั้งแต่งตั้งผู้ว่ากทม. คนใหม่ขึ้นด้วยอำนาจ “มาตรา44” ของตัวเอง จึงต้องพิจารณาว่า หลักเกณฑ์ในการเลือกตั้งผู้บริหารกทม.ชุดใหม่ จะเปลี่ยนแปลงไปตามที่ คสช. ต้องการอย่างไรบ้าง
กำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ ลดจำนวน ส.ก. 
หลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.กทม. เดิม มาตรา 11 กำหนดให้แบ่งเขตเลือกตั้งตามจำนวนประชากร โดยในหนึ่งเขตเลือกตั้ง มี ส.ก. 1 คน แต่ละเขตเลือกตั้งมีประชากรประมาณ100,000 คน การแบ่งเขตเลือกตั้งอาศัยระบบ “เขต” และ "แขวง" ที่มีอยู่ โดยในแต่ละเขตเลือกตั้งจะไม่นับเอาบางส่วนของบางเขตหรือบางส่วนของบางแขวงมาเชื่อมต่อกันและถ้าในเขตเลือกตั้งใดมีประชากรเป็นเศษเกิน 50,000 คน ให้มี ส.ก. เพิ่มอีก 1 คน
 
ในการแก้ไขกฎหมายใหม่ได้ออกแบบวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ใน มาตรา 10 ว่า ให้อาศัยระบบ “เขต" ที่มีอยู่แล้วเป็นเขตเลือกตั้งด้วย ถ้าเขตใดมีประชากร 150,000 คนหรือน้อยกว่า ให้มี ส.ก. 1 คน ถ้าเขตใดมีประชากรมากกว่า 150,000 คน ให้มี ส.ก. เพิ่มขึ้น 1 คน ต่อประชากร 150,000 คน ถ้ามีเศษเกิน 75,000 คน ให้เพิ่ม ส.ก.ในเขตนั้นอีก 1 คน
 
ตัวอย่างเช่น ถ้าเขต A มีประชากร 320,000 คน ในระบบเดิม เขต A จะถูกแบ่งย่อยเป็นหลายเขตเลือกตั้ง โดยมีประชากรเขตเลือกตั้งละประมาณ 100,00 คน จะทำให้มีเขตเลือกตั้งอย่างน้อย 3 เขตและจะมี ส.ก. อย่างน้อย 3 คน
ถ้าเขต A มีประชากร 320,000 คน ในระบบใหม่ เขต A จะมีเขตเลือกตั้งเดียวในเขตนี้ แต่จะมี ส.ก. ได้ 2 คน
 
จากการแก้ไขกฎหมายใหม่จะเห็นได้ว่า หากกรุงเทพมหานครมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 ซึ่งมีจำนวนประชากรประมาณ 5,701,394 อ้างอิงจากเว็บไซต์ของกทม. ในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะมีจำนวน ส.ก. ลดลงจากเดิม โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 มีจำนวน ส.ก. 61 คน ส่วนระบบใหม่จะทำให้มีจำนวน ส.ก. ประมาณ 38 คน 
ห้ามผู้ว่ากทม. และ ส.ก. มีผลประโยชน์ทับซ้อน 
พ.ร.บ.กทม. ฉบับเดิมมาตรา 51กำหนดห้ามเฉพาะผู้ว่ากทม. ว่า ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกิจการของ กทม. เช่น ต้องไม่ดำรงตำแหน่งอื่น ไม่รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากส่วนราชการ รัฐวิสาหากิจ หรือกิจการที่กรุงเทพมหานครถือหุ้นอยู่  ต้องไม่เข้าเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับกทม.
 
กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ยังวางเงื่อนไขเรื่องการเข้าเป็นคู่สัญญากับกรุงเทพมหานครให้ “ยืดหยุ่น” มากขึ้น หรือพอทำได้มากขึ้น จากเดิมที่มาตรา 51(3) ห้ามผู้ว่า กทม. เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับกิจการของกรุงเทพมหานครทุกประการแต่ในกฎหมายใหม่ ห้ามการมีส่วนได้เสียเฉพาะในกิจการที่ “มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าเป็นการต่างตอบแทนหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตนระหว่างกัน” หากไม่มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ส่วนตนก็ไม่ต้องห้าม และหากผู้ว่ากทม. จะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับ กทม. ก็ยังสามารถเป็นได้ ถ้ากิจการนั้นไม่มี “ลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน"
 
ในการแก้ไขกฎหมายใหม่นอกจากจะวางเงื่อนไขให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้วยังขยายเรื่องการห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อนไปถึง ส.ก. ทุกคนด้วย 
  
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้าน 1 ปี
ในกรณีของ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” นั้น ในพ.ร.บ.กทม. ฉบับเดิมมาตรา 12 กำหนดว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย หรือได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติมาไม่น้อยกว่า 5 ปี อายุ 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง 90 วันติดต่อกันขึ้นไป
 
ส่วนในฉบับแก้ไข กำหนดไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม “พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562” (พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เพิ่งประกาศใช้พร้อมกันกับฉบับนี้ ซึ่งในมาตรา 38 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ว่า 
1) ต้องมีสัญชาติไทย หรือได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติมาไม่น้อยกว่า 5 ปี  
2) ต้องมี อายุ 18 ปีบริบูรณ์ในเลือกตั้ง 
3) ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง 
ส่วนที่เปลี่ยนแปลง คือ อายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้นับถึงวันเลือกตั้งไม่ใช่วันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น ซึ่งเป็นการแก้ไขให้เป็นระบบเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเพิ่มระยะเวลาที่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจาก 90 วัน เป็น อย่างน้อย 1 ปี ซึ่งประเด็นนี้เป็นการแก้ไขให้แตกต่างไป เพราะพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 31(3) กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 90 วัน เหมือนกันกับกฎหมายเดิมก่อนแก้ไข
ในกรณีของ “ผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง” นั้น พ.ร.บ.กทม. ฉบับเดิมมาตรา 13 กำหนดหลักเกณฑ์ของผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งไว้ว่า เป็นบุคคลวิกลจริต เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต นักบวชหรือถูกคุมขังโดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีอยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
 
ส่วนในการแก้ไขกฎหมายใหม่ได้ขยายบุคคลที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ให้รวมถึงคนที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง “ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่" และคนที่มีลักษณะอื่นตามกฎหมายการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดด้วย ทั้งที่กฎหมายเดิมตัดสิทธิเลือกตั้งเฉพาะผู้ถูกเพิกถอนสิทธิตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเท่านั้น ซึ่งหลักเกณฑ์ตามกฎหมายใหม่อาจขัดต่อหลักกฎหมายเรื่อง “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29
สมัครผู้ว่ากทม. ต้องอายุ 35 ปี และต้องจบปริญญาตรี
สำหรับ “ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ก.” ในพ.ร.บ.กทม. เดิม มาตรา 14 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุ 25 ปีขึ้นไปในวันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 180 วัน ขึ้นไป
 
ส่วนในการแก้ไขกฎหมายใหม่ได้กำหนดว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ก. ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ซึ่ง มาตรา 49 กำหนดหลักเกณฑ์ของผู้รับสมัครเลือกตั้งเป็นส.ก. ไว้ว่า ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุ 35 ปีขึ้นไปในวันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 1 ปีขึ้นไปนับถึงวันรับสมัครเลือกตั้ง
จากการแก้ไขกฎหมายใหม่จะเห็นว่า ประเด็นสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป คือ การกำหนดให้ผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ก. ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้ง 1 ปีขึ้นไป 
 
ในกรณีของ “ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากทม.” เดิมในพ.ร.บ.กทม. มาตรา 14 กำหนดหลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ว่า ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุ 25 ปีขึ้นไปในวันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 180 วัน ขึ้นไป
ในการแก้ไขกฎหมายใหม่กำหนดไว้ใน มาตรา 46 ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากทม. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง และสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ กล่าวคือ ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน 1 ปีขึ้นไป 
ยื่นดาบให้ “บิ๊กป๊อก” ตรวจสอบและสั่ง “ฟัน" คุณสมบัติ ส.ก. และผู้ว่ากทม.
สำหรับการ “ตรวจสอบคุณสมบัติส.ก.” ตามพ.ร.บ.กทม. เดิมมาตรา 24 กำหนดไว้ว่า กรณีที่มีข้อกล่าวหาว่า ส.ก. สิ้นสมาชิกภาพเฉพาะในกรณีที่ถูกกล่าวหาในเรื่องร้ายแรงให้ประธานสภากรุงเทพมหานครดำเนินการสอบสวน และถ้าประธานสภากรุงเทพฯเห็นว่า มีความผิดจริงและรมว.มหาดไทยเห็นชอบด้วย ให้รมว.มหาดไทยมีคำสั่งให้ ส.ก. ที่ถูกกล่าวหานั้นพ้นจากตำแหน่ง
 
ในระบบเดิมผู้มีอำนาจสอบสวน ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน และพิจารณาวินิจฉัย โดยหลัก คือ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ที่มาจากการเลือกของ ส.ก. และมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ส่วนรมว.มหาดไทย มีหน้าที่ “กำกับดูแล” อีกชั้นหนึ่งไม่ให้ประธานสภากรุงเทพมหานครใช้อำนาจโดยอำเภอใจเท่านั้น
 
ในการแก้ไขกฎหมายใหม่ มาตรา 24 ถูกเขียนใหม่ว่า เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสิ้นสมาชิกภาพของ  ส.ก. หรือได้รับแจ้งจาก กกต. ว่าสมาชิกภาพของ ส.ก. สิ้นสุดลง ให้รมว.มหาดไทยเป็นผู้สอบสวนและวินิจฉัยเองภายใน 60 วัน
สำหรับการ “ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ว่ากทม.” ตามพ.ร.บ.กทม. เดิม มาตรา 53 กำหนดไว้ว่า กรณีพบว่าผู้ว่ากทม.ขาดคุณสมบัติหรือพบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคเอกชนให้รมว.มหาดไทยสั่งให้มีการสอบสวนก่อนที่จะสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง แต่ผู้ว่ากทม.ที่ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งได้
 
ในการแก้ไขกฎหมายใหม่ มาตรา 53 ถูกเขียนใหม่ว่า เมื่อมีข้อสงสัยว่า ผู้ว่ากทม.ขาดคุณสมบัติหรือพบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคเอกชน หรือได้รับแจ้งกกต.ว่า ผู้ว่ากทม.ขาดคุณสมบัติ ให้รมว.มหาดไทยป็นผู้สอบสวนและวินิจฉัยเองภายใน 60 วัน
 
ขณะที่ ข้อกำหนดที่เดิมให้ผู้ว่ากทม.ที่ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ ในการแก้ไข พ.ร.บ.กทม. ในปี 2562 ได้ยกเลิกความในวรรคนี้ออกไป และแก้ไขข้อความจากเดิมที่จะทำการสอบสวนผู้ว่ากทม.ได้ จะต้อง “มีกรณีปรากฏ” แล้ว แต่ในกฎหมายใหม่กำหนดไว้ว่าสามารถสอบสวนได้แม้เพียง "มีข้อสงสัย" ซึ่งเป็นการขยายช่องทางการตรวจสอบการทำงานของผู้ว่ากทม. ให้กว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มอำนาจให้กับ รมว.มหาดไทย อย่างมาก ซึ่งปัจจุบันรมว.มหาดไทยได้แก่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา 
ยังไม่ให้เลือกตั้ง ส.ข. จนกว่าจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ
เดิม พ.ร.บ.กทม. มาตรา 71 กำหนดไว้ว่า ให้มี ส.ข. จำนวนเขตละ 7 คน และหากมีประชากรจำนวนมากกว่า 100,000 คน ให้เพิ่มจำนวน ส.ข. เขตละ 1 คน และหากมีเศษ 50,000 คน ขึ้นไปให้เพิ่มจำนวน ส.ข. อีก 1 คน ทำให้ในการเลือกตั้ง ส.ข. ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 กรุงเทพมี ส.ข. ทั้งหมด 256 คน
 
ซึ่งในการแก้ไขกฎหมายใหม่ได้ ยังไม่ได้มีแก้ไขหลักเกณฑ์และระบบการเลือกตั้ง ส.ข. แต่มีมาตรา 24 ของกฎหมายฉบับปี 2562 ที่กำหนดว่า ยังไม่ให้มี ส.ข. จนกว่าจะแก้ไขกฎหมายนี้ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จ 
 
ในประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะต้องแก้กฎหมายอย่างไรถึงจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ จะต้องแล้วเสร็จเมื่อใด และคนชี้ขาดว่ากฎหมายใหม่จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศแล้วหรือไม่ ก็คงหนีไม่พ้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน พร้อมด้วยสมาชิกของ คสช. และ ครม. ชุดปัจจุบันอีกหลายคน จึงทำให้อนาคตการมี ส.ข. ยังไม่แน่นอนและขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจกลุ่มนี้