เกษตรกรไร้ที่ดิน ยื่นหนังสือองค์กรสิทธิ-องค์กรยุติธรรม ขอแค่ “สิทธิประกันตัว” สู้คดี

เรื่องและภาพ โดย
สหพันธุ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)

 

เกษตรกรไร้ที่ดิน ชุนชนน้ำแดง จ.สุราษฎร์ธานี – สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เดินหน้ายื่นหนังสือต่อศาลกีฏา สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานสหประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงยุติธรรม ขอให้เพื่อนได้รับสิทธิประกันตัวพร้อมเร่งแก้ไขปัญหาที่ดินเอกชนทิ้งร้าง

สืบเนื่องมาจากคดีบุกรุกที่ดินเอกชนทิ้งร้าง ของเกษตรกรชุมชนน้ำแดงพัฒนา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2562 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในคดีความหมายเลขคดีหมายเลขดำที่ 448-449/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 1125-1126/2562 สั่งจำคุกสมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนา 6 คน คนละ 1 ปีเศษ โดยไม่รอลงอาญา ได้แก่
1. จำเลยที่ 6 นางนงเยาว์ กลับนุ้ย
2. จำเลยที่ 7 นายประกอบ อนุภักดิ์
3. จำเลยที่ 8 นายไพโรจน์ กลับนุ้ย
4. จำเลยที่ 9 นายอดิศรหรือปอ ศิริวัฒน์
5. จำเลยที่ 11 นายสุวรรณ์ คงพิทักษ์ และ
6. จำเลยที่ 12 นายเริงฤทธิ์ สโมสร
ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า “พฤติการณ์การกระทำผิดร้ายแรง ไม่เคารพกฎหมายบ้านเมือง และมีนับโทษต่อคดีอื่น หากปล่อยชั่วคราวอาจหลบหนี หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ให้ยกคำร้อง” มีผลให้เกษตรกรทั้ง 6 คน ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำระหว่างการใช้สิทธิขอยื่นฎีกาในคดีนี้ต่อไป
ด้วยเหตุนี้ทำให้จำเลยทั้ง 6 คนข้างต้นเป็นเกษตรกร แรงงานไร้ที่ดิน ที่มีฐานะยากจน มีรายได้จากการใช้แรงงานในการทำการเกษตรในที่ดินเท่านั้น และจำเลยบางคนนั้นมีอายุกว่า 60 ปี และป่วยโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งหัวหน้าครอบครัวที่มีลูกอายุเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นต้องถูกขังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งทำให้สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวของเกษตรกรที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำขณะนี้ได้รับความยากลำบากในการดำเนินชีวิตอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากการเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลอย่างจริงจังและเป็นธรรมต่อเกษตรกรเท่านั้น
ชุมชนน้ำแดงพัฒนา เป็นชุมชนที่เข้าร่วมกับ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ในการผลักดันการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน โดยร่วมกันตรวจสอบที่ดินเอกชนทิ้งร้างในจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือที่ได้มาโดยมิชอบ ในพื้นที่ ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า พื้นที่ตั้งชุมชนน้ำแดงพัฒนา เดิมเป็นสวนปาล์มทิ้งร้างของ บริษัท สากลทรัพยากร จำกัด ซึ่งบริษัทฯไม่ได้เข้าครอบครองหรือทำประโยชน์ใดๆ ในสวนปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่ประมาณปี 2530 นานกว่า 20 ปีที่ที่ดินนั้นถูกทิ้งร้าง และไม่ถูกนำมาจัดสรรเพื่อเกษตรกรไร้ที่ดิน ก่อนที่สมาชิกในชุมชนจะเข้าไปร่วมก่อตั้งชุมชนใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว
อีกทั้งจากการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดพัทลุง ซึ่งประกอบด้วยกรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ก็เชื่อว่าที่ดินของบริษัท สากลทรัพยากร จำกัด อยู่ในข่ายที่จะออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ 
นอกจากนี้ สมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนาได้ร่วมกับชุมชนอื่นในสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จดทะเบียนสหกรณ์ โดยใช้ชื่อว่า สหกรณ์การเกษตรสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ร่วมกับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. เพื่อจัดซื้อที่ดินโดยให้สมาชิกทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของที่ดินทั้งแปลง ในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของชุมชนน้ำแดงพัฒนา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาพระแสง แจ้งให้ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ผู้ถือครองที่ดิน ทำเรื่องเพื่อที่จะขอออกโฉนดที่ดิน และดำเนินการอื่นๆ ตามกระบวนการของ บจธ. เพื่อจัดซื้อที่ดินต่อไปอีกด้วย 
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2562  เกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดิน จากชุนชนน้ำแดงพัฒนาและสมาชิก สกต. ได้เดินทางไปยื่นหนังสือ ที่สำนักงานศาลฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานสหประชาชาติ(UN) ในเรื่องการอนุญาตและช่วยเหลือให้การประกันตัวผู้ถูกคุมขังทั้ง 6 คน และการเร่งแก้ไขปัญหาเกษตรไร้ที่ดิน
เจ้าหน้าที่สำนักงานศาลฎีกาได้รับเรื่องไว้และแนะนำให้สมาชิกและตัวแทนทำข้อมูลของสมาชิกที่ถูกควบคุมตัว เช่น ข้อมูลผู้สูงอายุ ข้อมูลโรคประจําตัว ภาระหน้าที่และหนี้สินที่ผู้ถูกควบคุมตัวในเรือนจํา เพื่อประกอบการยื่นคําร้องต่อศาล และหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเจ้าหน้าที่จะพิจารณาและนำเรียนต่อไป โดยประมาณ 3 สัปดาห์ไปแล้วสามารถติดตามเรื่องอีกครั้ง และเมื่อมีการพิจารณาแล้วเสร็จจะส่งเรื่องให้ผู้ร้องทราบต่อไป ในส่วนของสำนักนายกฯ ผอ.พันธ์ศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ระบุว่า จะประสานกับธนาคารที่ดินเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา และจะประสานสำนักประธานศาลฎีกาเพื่อดำเนินการช่วยเหลือการประกันตัวให้กับสมาชิกชุมชนน้ำแดงต่อไป
ด้านบาดา ฟารุค UNOHCHR (หัวหน้าฝ่าย) ระบุว่า จะเร่งประสานกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ยื่นขอเงินจากกองทุนยุติธรรม ยื่นคำร้องขอการประกันตัว จนกว่าศาลฎีกาจะอนุญาต พร้อมทั้งทำรายงานไปถึงผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ รายงานถึงสถานการณ์ด้านที่ดิน ทรัพยากร และความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิ
ต่อมาวันที่ 30 กรกฏาคม พ.ศ.2562 เวลาประมาณ10.00 น. เกษตรกรและแรงงานไร้ที่ดิน ชุนชนน้ำแดงพัฒนาและสมาชิก สกต. เดินทาง ยื่นหนังสือยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้รับหนังสือ ระบุว่าจะประสานงานกรมคุ้มครองสิทธิ พร้อมทั้งทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรมและกองทุนยุติธรรมให้ช่วยเหลือเรื่องคดีความต่อไป และจะถามไปที่ธนาคารที่ดิน ให้เร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
ต่อมา เวลาประมาณ 13.00 น. ยื่นหนังสือ ถึงสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ณ อาคารกระทรวงยุติธรรม เจ้าหน้าที่ระบุว่า ให้จำเลยกรอกเอกสารมอบอำนาจและรวบรวมเอกสารประกอบการยื่นขอกองทุนยุติธรรม พร้อมจะส่งหนังสือไปที่รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกองทุนยุติธรรม ใช้เวลาในการพิจารณาตามกระบวนการประมาณ 1 เดือน  นับจากวันที่ยื่นหนังสือ 15 วัน ให้ติดตามเรื่องมาที่เจ้าหน้ากระทรวงยุติธรรม ตามเบอร์โทรศัพท์ในเอกสารรับเรื่องร้องเรียน