กสม.-นักกฎหมาย ชี้ รัฐใช้ ม.116 เป็นเครื่องมือปิดปาก พร้อมจี้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

27 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมบางกอกชฎา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) จัดงานเสวนาหัวข้อ “มาตรา 116: ยุยงปลุกปั่น มั่นคงหรือมั่วนิ่ม” เพื่อสะท้อนถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่กลายเป็นเครื่องของรัฐในการจำกัดการแสดงออก โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในยุคคสช. เพราะในจำนวนคดีความที่เกี่ยวกับมาตรา 116 ถูกใช้กับการแสดงออกในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ คสช. มากที่สุด
มาตรา 116 ตามประวัติศาสตร์ เนื้อแท้คือเครื่องมือปิดปากของรัฐ
อาจารย์พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ระบุว่า ในแง่ประวัติศาสตร์ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นกฎหมายที่ถูกออกแบบมาเพื่อจำกัดการแสดงออกในเชิงเป็นปฏิบักษ์ต่อรัฐ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมาย Sedition ของอังกฤษ ซึ่งตราขึ้นในสมัยที่อังกฤษยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยในขณะนั้นก็หมาย Sedition ได้ถูกนำมาใช้จัดการกับผู้แสดงความเห็นต่อต้านรัฐบาล 
แต่ทว่า เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป กฎหมาย Sedition ก็ไม่มีการบังคับใช้ จนในปี 2552 อังกฤษยังได้มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเพื่อวางบรรทัดฐานที่ดีสำหรับประเทศอื่นๆ ที่ใช้กฎหมายอังกฤษเป็นต้นแบบ
นอกจากแง่มุมประวัติศาสตร์แล้ว ในแง่มุมของการตีความ อาจารย์พนัส มองว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวควรตีความโดยมองไปถึง 'เจตนาพิเศษ' เนื่องจาก ตามองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายระบุว่า การกระทำใดๆที่จะเข้าข่ายผิดกฎหมายนี้ได้จะต้องเป็นการเผยแพร่ไปสู่คนหมู่มาก รวมถึงต้องมีความรุนแรงถึงขั้นที่จะนำไปสู่เงื่อนไขตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ 
ดังนั้น ถ้าเป็นการแสดงออกในเชิงวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตหรือเป็นการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองตามมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็ไม่ควรเป็นความผิด 
ทั้งนี้ อาจารย์พนัส ได้ยกตัวอย่างการตีความของอาจารย์หยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ด้านกฎหมายเอาไว้อีกว่า การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตก็ไม่จำเป็นต้องดูว่า 'เนื้อหา' ผิดหรือถูก หากผู้ที่แสดงออกเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจในสิ่งที่ตัวเองพูดหรือแสดงออก นั้นก็ถือเป็นเจตนาสุจริตด้วยเช่นกัน 
การบังคับใช้กฎหมายแบบผิดๆ คือการเพิ่มต้นทุนในการแสดงออก
วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) กล่าวว่า ในมุมมองของทนายความผู้ต่อสู้คดีมาตรา 116 หลายคดี ทำให้มองเห็นปัญหาจากการใช้กฎหมายมาตรา 116 ในหลายด้าน
หนึ่งในนั้นก็คือ การสร้างความกลัว เนื่องจาก หลายๆ ครั้งที่ผ่านมา มาตรา 116 มักถูกหยิบยกมาใช้ในฐานะเครื่องมือทางการเมืองโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวหรือตำรวจเพื่อสร้างความกลัวกับผู้แสดงความเห็นต่างโดยทำการจับกุมตัวและจัดแถลงข่าว มากกว่าการดำเนินคดีโดยหวังเอาคนไปติดคุกจริงๆ
อีกทั้ง บางคดีเกิดขึ้นโดยขาดความสมเหตุสมผลระหว่างข้อหากับการกระทำของผู้ถูกดำเนินคดี ยกตัวอย่าง คดีแปดแอดมินเพจเฟซบุ๊กแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ทำเพจดังกล่าวมีเจตนาแค่เสียดสีล้อเลียนรัฐบาล แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับมองว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนมองหัวหน้าคสช.ในแง่ลบ เป็นต้น
โดยวิธีการแบบนี้ วิญญัติ มองว่า เป็นการเพิ่มต้นทุนในการแสดงออกให้มากขึ้น เพราะเมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว ก็ย่อมหมายถึงภาระ ทั้งทรัพย์สินและเวลาที่ต้องใช้ไปกับการต่อสู้คดี ทั้งนี้ วิญญัติ ได้ยกตัวอย่างลูกความในคดีของตนเอง เช่น ลุงปรีชา ที่ถูกดำเนินคดีจากการเอาดอกไม้ไปให้กำลังใจพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหาร และท้ายที่สุด ลุงปรีชาก็ตัดสินใจรับสารภาพเพราะแบกต้นทุนที่มาพร้อมกับการสู้คดีไม่ไหว
กสม. จี้ รัฐไทยเร่งหาทางออก แนะรัฐยึดหลักตามกติการะหว่างประเทศ
อังคณา นีละไพจิตร หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เล่าให้ฟังว่า ทางอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่ตลอด และได้ไปตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าวหลายกรณี หนึ่งในนั้นก็คือ กรณี ผู้สื่อข่าวอย่าง ประวิตร โรจนพฤกษ์ ซึ่งทำให้เห็นว่า กระบวนการดำเนินคดีมีปัญหาอยู่จริง
นอกจากนี้ อังคณา ยังระบุอีกว่า ในระดับสากล ประเทศไทยไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่มีความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆรวมทั้งมีข้อผูกมัดตามกติการะหว่างประเทศด้วยซึ่งหนึ่งในนั้นคืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องของการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 
ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนตามกติกา ICCPR ได้เคยมีข้อแนะนำให้ไทยงดเว้นการใช้กฎหมายต่างๆรวมทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในการดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเห็นโดยสันติ อีกทั้ง ยังให้มีการอบรมบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการบังคับใช้กฎหมาย
และแม้ว่ากติการะหว่างประเทศเหล่านี้จะไม่ได้มีข้อผูกมัดว่าหากไทยไม่ปฏิบัติตามจะมีการส่งกำลังทหารมาคุกคามแต่การที่ไทยปฏิบัติตามและแสดงตัวว่าเคารพสิทธิมนุษยชนก็ย่อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับไทยในเวทีการเมืองโลก
อย่างไรก็ดี เพื่อหาทางออก วิทยากรทั้งสามคนได้เสนอแนะว่า ต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดย อังคณา เสนอให้มีการออกกฎหมายในลักษณะของการป้องกันการฟ้องเพื่อปิดปาก หรือป้องกันการฟ้องเชิงยุทธศาสตร์เพื่อจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "Anti-SLAPP"
ด้านนักวิชาการและนักกฎหมายทั้งสองคน เสนอว่า ต้องมีการปฏิรูปศาล โดย วิญญัติ เสนอว่าศาลต้องวางตัวให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริงๆ เมื่อเห็นว่ามีการดำเนินคดีที่ไม่ชอบธรรม ไม่ได้สัดส่วน ศาลก็มีหน้าที่ค้านและตรวจสอบการใช้อำนาจ ด้าน อาจารย์พนัส นักวิชาการด้านกฎหมาย ชี้ว่า กระบวนการยุติธรรมไทยต้องปฏิรูปอีกมาก เช่น การแก้ไขกฎหมายให้ได้ตามมาตรฐานสากล-หลักสิทธิมนุษยชน และการนำกฎหมายและกติการะหว่างประเทศมาใช้ในการพิจารณาคดี
นอกจากนี้ อาจารย์พนัส ยังเสนออีกว่า ควรจะให้มีผู้พิพากษาสมทบอย่างในต่างประเทศ โดยการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำและความเห็น เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลการกระบวนการพิจารณาคดีของศาล