นักวิชาการชี้ รัฐบาลทหารพยายามรวบอำนาจควบคุมโลกไซเบอร์

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ระบุ การรัฐประหารไม่ได้ง่ายดายอีกต่อไป เพราะมาเจอกับโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมการรัฐประหารครั้งนี้ทหารถึงต้องเข้ามาแทรกแซงโลกไซเบอร์จำนวนมาก เพราะเป็นพื้นที่ใหม่ที่ควบคุมไม่ค่อยได้ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่นยังพอควบคุมได้ด้วยการเชิญไปพูดคุย 
23 ธันวาคม 2558 มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง จัดเสวนาหัวข้อ “ระบอบการกำกับดูแลโลกไซเบอร์ไทย นับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม2557” ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ชั้น 11 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิชาการที่ศึกษาถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม โซเชียลเน็ตเวิร์ค และการเข้ามาแทรกแซงของรัฐบาลไทยในโลกไซเบอร์ ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
ผศ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ เริ่มกล่าวถึง ผลกระทบของโลกไซเบอร์ที่เกิดขึ้นต่อการเมือง ว่า การรัฐประหารไม่ง่ายอีกต่อไป ฝ่ายที่ต้องการจะยึดครองความเป็นใหญ่ในทางการเมืองต้องคิดเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่ไปยึดพื้นที่ต่างๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนไปชุมนุมเช่นเดิม แต่จะต้องคอยเฝ้าระวัง ว่าเพจใดที่มีเนื้อหาเข้าข่ายกระทบความมั่นคงแล้วมีคนเข้าไปอ่านเยอะ แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้คนเข้าไปอ่าน หรือจะทำอย่างไรให้เพจนั้นหายไป หรือสร้างเพจใหม่ขึ้นให้คนเข้าไปอ่านเพื่อที่จะควบคุมทิศทางการนำเสนอข่าว
“ตั้งแต่ยึดอำนาจเป็นต้นมา สิ่งที่รัฐบาลทหารทำคือพยายามอย่างมากในการค้นหาว่าใครเป็นเจ้าของเพจต่างๆ ใครเป็นคนเขียนเพจนั้น ใครเป็นคนตั้งกระทู้นี้ และก็ทำลายโดยมาตรการทางกฎหมายเอย คำสั่งเอย เซ็นเซอร์ แล้วก็นำมาสู่การเฝ้าระวัง การตั้งทีมขึ้นมาตรวจดู และพยายามเข้าให้ถึงพวกกลุ่มลับต่างๆ” 
นอกจากนี้ ทศพล ยังชี้ถึงเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลทหารกลัวจนต้องเข้ามาควบคุมอินเทอร์เน็ต ว่าเป็นการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ฝ่ายเหลือง ฝ่ายหลากสี หรือฝ่ายกปปส. ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยได้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสำเร็จ จนทำให้รัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากอยู่ไม่ได้ ซึ่งหมายความว่าหากรัฐบาลทหารไม่ดูแลในส่วนนี้ให้ดี ตนก็จะแพ้
“การรัฐประหารทุกครั้งที่ทหารรู้สึกว่าง่ายดาย ก็ไม่ได้ง่ายดายอีกต่อไป เพราะมาเจอกับครั้งนี้ที่มีโลกไซเบอร์ ซึ่งตรงนี้เป็นที่มาว่าทำไมการรัฐประหารครั้งนี้ทหารถึงเข้ามาแทรกแซงโลกไซเบอร์จำนวนมาก เพราะเขารู้ว่าเป็นพื้นที่ใหม่ที่เขาควบคุมไม่ค่อยได้ พื้นที่อื่นยังพอควบคุมได้ด้วยการเชิญไปพูดหรือว่าการทำอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้คนที่เคยเคลื่อนไหวไม่เคลื่อนไหว จึงเป็นที่มา ว่าต้องออกแบบวิธีการควบคุมในโลกไซเบอร์ที่มีอยู่ในหลายแบบ ว่าจะเอาแบบไหน” 
โดยวิธีการควบคุมหรือนโยบายที่ใช้บนโลกไซเบอร์นั้นมี 5 แบบ ได้แก่ 1.แบบตั้งต้นหรือแบบที่รัฐไม่เข้าไปยุ่มย่าม หมายความว่า คนที่สร้างอินเทอร์เน็ตหรือผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นคนออกแบบกันเองว่าจะให้ข้อมูลไหลอย่างไร ให้ใครเข้ามาเล่นอินเทอร์เน็ตได้บ้าง ให้มีบริการอะไรบ้างทางอินเทอร์เน็ต ข้อมูลจะถูกบล็อคได้หรือไม่ หรือจะไหลเวียนเป็นอิสระ โดยกลุ่มคนที่สร้างอินเทอร์เน็ตในยุคแรกๆ จะกล่าวว่า “อินเทอร์เน็ตควรเป็นพื้นที่ที่ปลอดจากรัฐ”
2.แบบที่รัฐเข้าไปยุ่มย่ามแบบห่างๆ แต่ไม่ได้เข้าใกล้ ซึ่งเป็นการฝากผู้ให้บริการออกกฎ ออกนโยบาย แล้วควบคุมกันเอง และรัฐไปควบคุมบริษัทอีกทีหนึ่ง ยกตัวอย่าง เฟซบุ๊ก(facebook) จะมีข้อสัญญาและรายละเอียดส่งมาให้เราดูตอนที่เราจะสมัคร หรืออินสตาแกรม(instagram) เวลาจะเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ บริษัทจะเป็นผู้ที่กำหนด 3.แบบ co-regulation คือ ถ้าประเด็นใดมีความสำคัญรัฐก็จะออกกฎหมายมาชุดหนึ่ง แล้วตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องนั้นๆโดยเฉพาะ 4.แบบการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน คือ ทำให้สังคมเข้ามามีส่วนในการออกกฎและควบคุม และ 5.แบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่รัฐ
ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลทหารเลือกใช้วิธีการดึงอำนาจรวมศูนย์ไว้ที่หน่วยงานความมั่นคงหรือการจัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ของรัฐขึ้นมาดูแลอินเทอร์เน็ต เช่น การออกชุดกฎหมายหรือใช้มาตรการทางกฎหมายที่เห็นได้ชัด ว่าอำนาจของกองทัพอยู่เหนือฝ่ายพลเรือน หรือการกระทำที่มีลักษณะเข้าข่ายว่าหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธิของพลเมืองในอินเทอร์เน็ตเสียเอง
“สิ่งที่รัฐบาลไทยหรือฝ่ายความมั่นคงของไทยพยายามทำ คือเลือกแบบรวมศูนย์อำนาจ ไม่อยู่ที่บริษัทใด ไม่อยู่ที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตใด ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่รัฐ คือ รัฐออกกฎ รัฐใช้กฎ หรือถ้าจะให้บริษัทเข้ามามีบทบาทก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอีกที คือ รัฐมีอำนาจใหญ่สุด” 
ทศพล ยังกล่าวย้ำว่า ในอินเทอร์เน็ตไม่ใช่โลกที่ไม่มีการควบคุมอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกวิธีไหน ซึ่งตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ใช้ระบบ state centralized cyber regulation หรือแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่รัฐอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบความแตกต่างของระบบรวมศูนย์อำนาจการควบคุมอินเทอร์เน็ตแบบจีนกับแบบไทยด้วยมีความต่างกัน เนื่องจากจีนเป็นแบบระบบรวมศูนย์อำนาจตั้งแต่เริ่ม คือมีการออกแบบและทำมาตั้งแต่ต้น และโครงการมีความชัดเจน แต่ของไทยนั้นไม่ใช่
ทศพล สรุปว่า สิ่งที่รัฐบาลทหารทำตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่เข้าใจหรือพยายามที่จะไม่เข้าใจว่าการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นคืออะไร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเชิดเศรษฐกิจดิจิทัลออกมา เพื่อจะทำโครงการอะไรบางอย่าง ซึ่งกลับเป็นการทำให้คนหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่อินเทอร์เน็ต ทั้งที่โดยสภาพของอินเทอร์เน็ตนั้น ควรเป็นพื้นที่ที่คนใช้อินเทอร์เน็ตรู้สึกสบายใจที่จะอยากแสดงความคิดเห็นโดยไม่มีใครคอยจับจ้อง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นตรงกันข้าม ตอนนี้คนไทยรู้สึกตลอดเวลาว่าจะทำอะไรอาจมีคนจับจ้องอยู่ อีกทั้งความพยายามออกโครงการจำนวนมาก อย่างเช่น ซิงเกิ้ล เกตเวย์ (single gateway) หรือความพยายามที่จะไปร่วมมือกับบริษัทต่างชาติที่ให้บริการแอปพลิเคชั่นต่างๆ
“การจะกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องทำให้คนอยากใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น รู้สึกสบายใจ รู้สึกอยากจะปล่อยชีวิตลงมาในโลกไซเบอร์ แต่ต้องถามกลับว่า ตอนนี้คนไทยรู้สึกอย่างนั้นไหม” 
ทศพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ถือว่ารัฐบาลทหารกำกับโลกไซเบอร์ได้สำเร็จ เพราะได้เกิดวัฒนธรรมควบคุมตัวเองของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยขึ้น คือ ทำให้คนไม่กล้าพูดตรงๆ ไม่กล้าที่จะพูดอะไรในที่สาธารณะได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ ความวางใจในการใช้อินเทอร์เน็ตถูกกระทบกระเทือนโดยตรง