คืนความสุข คืนพื้นที่แสดงความคิดเห็น

วันที่ 23 มิ.ย. 2557 ที่ผ่านมามีวงเสวนาชื่อ “หนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร : สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” หรือ “One Month after the Coup d'etat : The State of Human Rights in Thailand” ซึ่งสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เป็นเจ้าภาพร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเผยข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสถานการณ์การทำงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลังการรัฐประหาร งานได้รับความสนใจอย่างล้นหลามโดยเฉพาะชาวต่างชาติ

 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็เคยมาแถลงข่าวในสถานที่เดียวกันนี้ ท่ามกลางผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนมาก (ก่อนจะถูกทหารคุมตัวไป) ในขณะนี้ FCCT ดูจะเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับการพูดคุยเรื่องสถานกาณ์ปัจจุบันมากที่สุด และเป็นมันเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งที่ในห้วงเวลาซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกถูกปิดกั้นเช่นนี้ มหาวิทยาลัยที่ดูจะเป็นพื้นที่เปิดแห่งสุดท้ายที่เหลือสำหรับการแสดงและการพูดคุยถกเถียงกลับเลือกที่จะปิดประตู 

 
 

                                                                     
                            งานเสวนาหนึ่งเดือนหลังรัฐประหาร ค่ำวันจันทร์ที่ 23 มิ.ย. ที่ FCCT
 
 
เยาวลักษณ์ อนุพันธุ์ ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า “หนึ่งเดือนที่ผ่านมา กลุ่มที่แสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองต่อต้านรัฐประหารอย่างสงบสันติถูกเจ้าหน้าที่จับไปราว 55 คน” ทั้งนี้ยังไม่รวมการกินแซนวิชรอบล่าสุด

 
เสียงหัวเราะอย่าง "ขมขื่น" ดังขึ้นในห้องประชุมทันที เมื่อวิทยากรระบุว่า การชูสามนิ้ว การกินแซนวิช และการอ่านหนังสือ เป็นเหตุที่ทำให้หลายๆ คนต้องถูกพันธนาการ ล่าสุด (วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน 2557) นักศึกษาธรรมศาสตร์หลายคนถูกจับกุมเพียงเพราะพวกเขาตั้งใจจะแสดงออกด้วยกินแซนวิช

 
แม้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเหมือนหลักชัยที่ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถูกฉีกไปแล้วตามสูตรสำเร็จของการยึดอำนาจ อย่างไรก็ตาม แซม ซาฟิรี่ จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ระบุว่า “แม้ว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนจะถูกระงับการใช้ แต่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศที่จะต้องให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง เช่น พันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)”ต่อไป 

 
แม้รัฐธรรมจะสิ้นสภาพลงโดยการรัฐประหาร แต่ก็ไม่ยุบองค์กรอิสระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงยังสามารถปฏิบัติงานต่อไป โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542 ขณะนี้ กสม.น่าจะเป็นองค์กรเดียวในประเทศที่พอจะคะคานหรือเสนอสิ่งที่ดีงามให้กับผู้มีอำนาจได้บ้าง ซึ่งนั่นทำให้หมอนิรันดร์กลายเป็นตัวเอกของงาน  

 
ในช่วงของการแลกเปลี่ยน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎอัยการศึกเพราะจะเป็นการขยายความขัดแย้ง การต่อต้าน ก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคมไทยมากขึ้น ทั้งนี้นพ.นิรันดร์ เคยกล่าวกับ พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ว่า

 
“ประเทศไทยเปรียบเหมือนเป็นคนป่วยที่เป็นมะเร็งเนื้อร้าย การใช้กฎอัยการศึกอย่างเดียวเป็นยาแรง และผมก็เป็นหมอด้วย ในความเป็นจริง คนไข้บางคนถ้าใช้ยาคีโมที่แรงเกินไป บางทีก็เสียชีวิตก่อนได้รับการรักษา… ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยในช่วง 10 ปี ไม่ใช่แค่ความรุนแรงทางการเมือง และการเข่นฆ่าโดยกองกำลังติดอาวุธ แต่ปัญหาที่สำคัญคือเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่าง ความแตกต่างในด้านอุดมการณ์ประชาธิปไตย ระหว่างประชาธิปไตยโดยรูปแบบกับประชาธิปไตยโดยเนื้อหา ดังนั้น ถ้าใช้กฎอัยการศึกเพียงอย่างเดียว คงไม่เหลือคนไทยในประเทศไทยอีกเลย… การปรองดองสมานฉันท์ไม่ใช่การลืม แต่ต้องบริหารความแตกต่างทางความคิด ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในสังคมไทยที่มีการจัดการไม่ถูกต้อง"

ดูเหมือนว่า ทางเดียวของที่จะคืนความสุขที่แท้จริงให้คนไทย คือการคืนพื้นที่แสดงออกทางการเมืองให้ประชาชนตามที่หมอนิรันดร์ว่า หากท่านนายพลยังเลือกคืนความสุขแบบฉาบฉวยขนานกับการกดดันหัวผู้คนอย่างไม่ธรรมต่อไป "ความทุกข์" ก็คงเป็นสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้