เกษม เพ็ญภินันท์ : ความไม่มั่นคงและความกลัวในบริบทของรัฐไทย

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 52 ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวหัวข้อ แนวคิดเรื่องความไม่มั่นคงและความกลัวในบริบทสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย ในงานเสวนาเรื่อง นิติรัฐแบบไทยๆ : เมื่อความมั่นคงและสิทธิเสรีภาพถูกคุกคาม ที่จัดโดยเว็บไซต์ OpenThaiDemocracy.com และเว็บไซต์ iLaw.or.th ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.เกษมกล่าวถึงรัฐไทยว่ามีลักษณะของรัฐอาณานิคม (colony of state) มีความพยายามสร้างอุดมการณ์หลักที่ทำให้มองเห็นว่า ดินแดนคือส่วนสำคัญของความเป็นประเทศ ทั้งยังมีความพยายามจัดการควบคุมคนในทุกอณูของชีวิต แต่เมื่อมีการเติบโตขึ้นของยุคสังคมข่าวสาร อินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซได้ทลายกรอบที่รัฐพยายามสร้าง ในแง่ของรัฐแล้ว ปรากฏการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ จึงอาจกลายเป็นการบั่นทอนความมั่นคง เพราะรัฐไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร

ดร.เกษมกล่าวว่า เมื่อคิดถึงคำว่า รัฐไทย หนีไม่พ้นที่จะต้องมองรัฐบนพื้นฐานขององค์รัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งใช้อำนาจจัดการภายในรัฐ และแสดงอำนาจในสภาวะยกเว้นผ่านความไม่แน่นอนของกฎหมาย การใช้อำนาจต่างๆ เช่น กรณีดา ตอร์ปิโด และอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึง “ความไม่มั่นคง” ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความไม่มั่นคงขององค์อธิปัตย์ ไม่ใช่ความไม่มั่นคงของสังคม

สิ่งที่องค์อธิปัตย์กระทำผ่านสภาวะยกเว้นดังที่กล่าวมานั้น เป็นการใช้อำนาจในกลไกของความเป็นรัฐตำรวจ ใช้อำนาจผ่านการสร้างบรรยากาศเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคง และสร้างความคิดเรื่องรักชาติ

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่อง “ความกลัว” อาจารย์เกษมกล่าวว่า รัฐไทยสร้างบทบาทความเป็นพระเอกและผู้ร้าย แล้วทำให้ผู้ร้ายมันใหญ่คับฟ้าและกลายเป็นโจทย์ความกลัวในสังคมไทย ทั้งที่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ความกลัวไม่ได้เกิดที่ประชาชน แต่รัฐเป็นฝ่ายที่กลัวแล้วโยนความกลัวให้เป็นปัญหาของสังคม

ดร.เกษมทิ้งท้ายว่า โจทย์ความกลัวที่สำคัญ ที่แท้แล้วคือเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องตอบ รวมทั้งทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย ให้เป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล

……….

เกษม เพ็ญภินันท์
เกษม เพ็ญภินันท์

แนวคิดเรื่องความไม่มั่นคงและความกลัวในบริบทสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย

โดย ดร. เกษม เพ็ญภินันท์
ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“รัฐไทย” เข้ามาจัดการคน พยายามลงมาควบคุมคน…
พยายามเข้ามาควบคุมในส่วนที่เป็นอณูแยกย่อยที่สุดของชีวิต
ผ่านกฎหมายครอบครัว กฎหมายแพ่ง เรื่อยมาจนการเกิดขึ้นของสำมะโนประชากร
เรื่องทะเบียนบ้านของประชาชน จนถึงปัจจุบันมีเรื่องกล้องวงจรปิด”

“รากฐานความคิดของสังคมข้อมูลข่าวสาร
เกิดขึ้นมาเพื่อสลายหรือทลายการผูกขาดสิทธิอำนาจของรัฐ
พูดอีกอย่างคือ การเติบโตของอินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซนั้น
องค์กรหรือใครต่างก็สามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร
คนในสังคมก็มีหน้าที่ใช้วิจารณญาณกลั่นกรองด้วยเหตุผลของคนในสังคมนั้น
ปัญหานี้ล่ะที่ “รัฐไทย” ไม่สามารถจัดการได้”

“กฎหมายภายใต้รัฐไทยที่ไม่มีความแน่นอน
มันเปิดโอกาสให้องค์อธิปัตย์ใช้อำนาจและเข้ามาจัดการและควบคุมคน
กรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีของคุณดา ตอร์ปิโด ฯลฯ
นี่คือภาวะของความไม่แน่นอนของกฎหมายที่องค์อธิปัตย์ใช้ผ่านกลไกของรัฐ
ความไม่มั่นคงนี้ไม่ใช่ความไม่มั่นคงของสังคม
แต่เป็นความไม่มั่นคงขององค์อธิปัตย์และตัว colonial state เอง”

“คำถามที่ว่า “คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า”
นี่เป็นการคุกคามเสรีภาพจากคนที่หัวรุนแรงมาก
คือคุณไม่สามารถมีสภาพเป็นบุคคลได้
ถ้าคุณไม่ถูกปักป้ายว่าคุณต้องเป็นส่วนหนึ่งหรือองค์ประกอบของรัฐ”

…………………………………

ประเด็นหลักที่ผมจะพูดวันนี้มีสามประเด็น ประเด็นแรกคือ เราจะมองรัฐไทยอย่างไรในโจทย์ของความมั่นคงและสิทธิเสรีภาพ รัฐไทยแสดงบทบาทหรือแสดงตนอย่างไร ประเด็นที่สองคือ การมองปัญหาที่เกิดขึ้นที่ไม่ใช่แค่โจทย์การเมืองเท่านั้น แต่มันโยงถึงองค์อธิปัตย์ หรือองค์รัฎฐาธิปัตย์ สุดท้าย เรื่องความกลัว คือการคิดต่อเรื่องความกลัวในสังคมไทยที่ยังคิดในโลกทัศน์ของพระเอกและผู้ร้ายอยู่

ประเด็นแรก ผมคิดว่ารัฐไทยที่ผมมอง โดยเฉพาะในการจัดการปัญหาความมั่นคง เสรีภาพ และสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกไซเบอร์สเปซขณะนี้ เราต้องกลับมามองรัฐไทยในกรอบที่เราจะต้องเรียกว่า traditional ที่สุด แต่ว่ามีประสิทธิภาพที่สุด คือ รัฐไทย ชนชั้นนำ หรือบทบาทของรัฐ ยังคิดอยู่ในกรอบของ colonial state หรือรัฐในฐานะที่เป็นรัฐอาณานิคม

มีสองสิ่งที่รัฐไทยทำมาตั้งแต่การปฏิรูประบบราชการสมัยรัชกาลที่ห้าจนปัจจุบัน และเป็นแนวคิดหลัก (mentality) ของคนไทยและระบบราชการไทย คือความคิดที่รัฐต้องเข้ามาควบคุมและจัดการในสองเรื่อง เรื่องแรกซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐไทยทำ ประสบความสำเร็จมาตลอด และกลายเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์หลักของชาติ คือปัญหาเรื่องดินแดน บูรณภาพเหนือดินแดนของตนเอง

ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ตั้งแต่รัชกาลที่ห้า เป็นต้นมา มีการจัดการเรื่องคมนาคม การพูดเรื่องดินแดน บูรณภาพเหนือดินแดนของสยามประเทศ และจนมาถึงโจทย์ต่างๆ ที่ตามมา ไม่ว่าเรื่องของภัยความมั่นคงในเรื่องคอมมิวนิสต์ ประเด็นที่เกิดขึ้นกับเรื่องเขาพระวิหาร อะไรต่างๆ เหล่านี้ คือมุมมองของรัฐที่ด้านหนึ่งวางกรอบให้คนภายในรัฐเองคิดว่า ดินแดนคือส่วนสำคัญของความเป็นประเทศ

อีกด้านหนึ่ง สิ่งที่ colonial state ทำคือการจัดการการปกครองคน มันน่าสนใจว่า “รัฐไทย” เข้ามาจัดการคน พยายามลงมาควบคุมคน และการควบคุมคนในปัจจุบันนี้คือสิ่งที่ผมใช้คำว่า bio-politics หรือ bio-power พยายามเข้ามาควบคุมในส่วนที่เป็นอณูแยกย่อยที่สุดของชีวิต ทั้งการใช้ชีวิต อะไรที่เป็นการปฏิสัมพันธ์กับคนจำนวนมากที่เราสัมพันธ์ระหว่างสังคมและสถาบันต่างๆ

รัฐไทยควบคุมคนอย่างไรบ้าง สิ่งที่น่าสนใจในแง่ประวัติศาสตร์ทางด้านกฎหมาย คือการควบคุมคนผ่านกฎหมายครอบครัว กฎหมายแพ่ง เรื่อยมาจนการเกิดขึ้นของสำมะโนประชากร เรื่องทะเบียนบ้านของประชาชน จนถึงปัจจุบันมีเรื่องกล้องวงจรปิด ผมคิดว่านี่คือมุมมองที่รัฐพยายามจัดการกับเรื่องความไม่มั่นคงของตัวเอง แล้วคนกลายเป็นตัวปัญหาที่ใหญ่กว่าพื้นที่

ทุกวันนี้เราไม่สามารถบอกได้ว่า รัฐไทยคิดยังไงกับ “พื้นที่” แต่รัฐไทยอาศัยพื้นที่ในการสร้าง mentality ให้ความเป็นคนไทยในคนไทย เพื่อที่จะควบคุมคน มุมมองของรัฐในการควบคุมคนมันส่งผลต่อความคิดเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในไซเบอร์สเปซและอินเทอร์เน็ต คือปัญหาที่มาบั่นทอนความมั่นคงของ “รัฐ” เพราะรัฐไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับการดำรงอยู่หรือภาวะความเป็นพลเมืองของคนภายในรัฐ ปัญหาส่วนนี้มันปะทะกันอย่างแรงในแง่ของ “รัฐไทย” กับสิ่งที่เรียกว่าสังคมของข้อมูลข่าวสาร

ปรัชญาหรือรากฐานความคิดของสังคมข้อมูลข่าวสาร เกิดขึ้นมาเพื่อสลายหรือทลายการผูกขาดสิทธิอำนาจของรัฐ พูดอีกอย่างคือ การเติบโตของอินเทอร์เน็ตและไซเบอร์สเปซนั้น องค์กรหรือใครต่างก็สามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร คนในสังคมก็มีหน้าที่ใช้วิจารณญาณกลั่นกรองด้วยเหตุผลของคนในสังคมนั้น ปัญหานี้ล่ะที่รัฐไทยไม่สามารถจัดการได้ และการเกิดขึ้นมาของกระทรวงไอซีที สำหรับผม ไม่ได้เรียกกระทรวงนี้ว่า ICT ผมเรียกว่า NINCT หรือ Non-Information and Non-Communication Technology คือเป็นกระทรวงเดียวที่ไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หน้าที่ของกระทรวงนี้คือปิดกั้นหนทางในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ผมคิดว่านี่คือปัญหาหลัก

ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในโลกไซเบอร์สเปซทุกวันนี้ คือ รัฐในแง่ของ colonial state ไม่สามารถปรับตัวหรือขยับตัวเข้าในภาวะของสังคมข้อมูลข่าวสาร และวิธีการที่รัฐทำได้ดีที่สุดก็คือการอยู่ในสมมติฐานเชิงการควบคุมและการกีดกัน

จากประเด็นนี้ โยงสู่ประเด็นที่สองคือ บทบาทของรัฐอาณานิคม (colonial state) ทำให้เวลาเราคิดถึงรัฐ เราไม่สามารถคิดแค่รัฐบาล กลุ่มผลประโยชน์ ข้าราชการ แต่ต้องมองรัฐบนพื้นฐานขององค์อธิปัตย์ ตลอดเวลาทีผ่านมา เวลาเราคิดถึงเรื่องอธิปไตย (sovereignty) ขององค์อธิปัตย์ ที่กลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ทางการทูต ตอนนี้ถึงเวลาหรือยังที่จะมององค์อธิปัตย์ในฐานะผู้ผู้จัดการสิทธิอำนาจภายใน

องค์อธิปัตย์ผู้กระทำการภายใน แสดงอำนาจผ่านสภาวะยกเว้น ในพื้นที่ยกเว้นที่องค์อธิปัตย์จะใช้อำนาจควบคุมนั้น สิ่งที่องค์อธิปัตย์ทำได้ดีที่สุด คือการใช้อำนาจยกเว้นผ่านสิ่งที่เรียกว่า The Instability of Lawความไม่แน่นอนของกฎหมาย และเทคนิคในเรื่องธรรมาภิบาล

ประเด็นที่น่าถกเถียงคือเรื่องความไม่แน่นอนของกฎหมาย เราอาจจะนิยามกฎหมายในแง่ของ Positive law กฎหมายคือคำสั่งขององค์รัฎฐาธิปัตย์ หรือจะพูดถึงเรื่อง หรือ natural law หรือกฎหมายตามธรรมชาติที่สถาบันต่างๆ กล่าวมา แต่ผมคิดว่า เมื่อกฎหมายเป็นกฎหมาย และกฎหมายภายใต้รัฐไทยที่ไม่มีความแน่นอน มันเปิดโอกาสให้องค์อธิปัตย์ใช้อำนาจและเข้ามาจัดการและควบคุมคน กรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น กรณีของคุณดา ตอร์ปิโด ฯลฯ นี่คือภาวะของความไม่แน่นอนของกฎหมายที่องค์อธิปัตย์ใช้ผ่านกลไกของรัฐ ความไม่มั่นคงนี้ไม่ใช่ความไม่มั่นคงของสังคม แต่เป็นความไม่มั่นคงขององค์อธิปัตย์และตัว colonial state เอง

สิ่งที่ไม่เป็นธรรม และทำกระทำผ่านสภาวะยกเว้น มีอีกสามประเด็นที่น่าสนใจ คือ องค์อธิปัตย์กระทำผ่านกลไกของรัฐ ในฐานะเป็นรัฐตำรวจ คือ รัฐต้องเข้ามาสอดส่องดูแลคนให้มากที่สุด เช่นสัญลักษณ์ของกระทรวงไอซีที มีดวงตาที่เบิกมองคุณ ขณะเดียวกัน ตาของคุณก็บอด สิ่งเหล่านี้ที่รัฐทำ วิธีการจัดการขององค์อธิปัตย์ต่อคนภายในรัฐ คือ ทำผ่านกลไกที่น่าเกลียดที่สุด คือกลไกที่ผมเรียกว่า police state

อีกสองส่วน คือ การจัดการผ่านการเซ็นเซอร์ตัวเอง หรือคือความตระหนักในแง่ที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ เรามองรัฐไทยในแง่การควบคุมพื้นที่ จากการควบคุมพื้นที่ มันก่อให้เกิดความคิดเรื่องความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิต ซึ่งทำให้ความตระหนักเรื่องความเป็นชาติมันอยู่เหนือคน ดังนั้นอะไรก็ตามที่รัฐส่งสารให้แก่คนว่า เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องความมั่นคงเรื่องบูรณภาพเหนือดินแดน เรื่องความเป็นชาติ คนในสังคมอยู่ในภาวะเซ็นเซอร์ตัวเอง และผมคิดว่ามันเป็นกลไกสำคัญที่ sovereignty กระทำ

และตัวสุดท้าย คือความคิดเรื่องความเป็นชาติ ความรักชาติ หรือ patriotism ผมคิดว่าโจทย์หนึ่งที่สำคัญคือ ความคิดเรื่องรักชาติมันผูกมาโดยรัฎฐาธิปัตย์ หล่อหลอมให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นคนในดินแดน เป็นคนในประเทศ เป็นรัฐชาติ

ดังนั้น คำถามหนึ่งที่ผมซีเรียสว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร คือคำถามที่ว่า “คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า” ผมคิดว่านี่เป็นการคุกคามเสรีภาพจากคนที่หัวรุนแรงมาก คือคุณไม่สามารถมีสภาพเป็นบุคคลได้ ถ้าคุณไม่ถูกปักป้ายว่าคุณต้องเป็นส่วนหนึ่งหรือองค์ประกอบของรัฐ นี่ผมยังไม่นับถึงคำอื่นๆ เช่นคำว่า “พสกนิกร”

ประเด็นสุดท้าย เวลาเราพูดถึงความกลัว มุมมองของรัฐไทยยังมองในแง่ของความเป็นพระเอกและผู้ร้าย สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้ามองประวัติศาสตร์ในเรื่องของความมั่นคง หรือการเกิดขึ้นมาของ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ผู้ร้ายหรือปัญหาความมั่นคงของประเทศ มันเปลี่ยนตัวอยู่เรื่อยๆ วาทกรรมว่าด้วยความมั่นคงหรือผู้ร้ายในสังคมไทยมันเปลี่ยน และผมคิดว่า ผู้ร้ายในสังคมไทยที่ชัดเจนที่สุด และมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด และเป็นรูปธรรม แล้วคนทั้งประเทศตระหนักมากที่สุด มันเกิดขึ้นตั้งแต่คอมมิวนิสต์ จนทักษิณ นี่เป็นชุดของความกลัว ชุดของความเป็นผู้ร้าย

แล้วสิ่งที่รัฐไทยทำก็คือ ทำให้ผู้ร้ายมันใหญ่เท่าช้าง ไม่สิ… มันใหญ่เท่าฟ้า คือความกลัวของสังคมไทยต่อผู้ร้ายมันใหญ่เท่าฟ้า โดยสำนึกและความคิดต่างๆ ที่หล่อหลอมเกาะกลุ่ม อะไรก็ตามที่โยนโจทย์ผู้ร้ายได้ และไม่ว่าจะคอมมิวนิสต์จนถึงทักษิณ มันกลายเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และส่วนนี้ ภายใต้กรอบความคิดเรื่องพระเอกผู้ร้าย ปัญหาเรื่องความกลัวมันเป็นเรื่อง zero-sum game แปลว่า ยังไงก็ตาม คุณต้องฟาดฟันหักล้าง

ตัวอย่างของคอมมิวนิสต์ที่ชัดเจนที่สุด ความสำเร็จของ 66/23 (มาตรการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ด้วยวิธีการเมืองนำการทหาร ประกาศเมื่อปี 2523 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี) ความพยายามที่จะสลาย หรือเรื่องจากป่าสู่เมือง ชัยชนะของ 66/23 มันไม่ได้เป็นเพียงชัยชนะของรัฐไทยในฐานะที่สามารถยึดติดหรือสลายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ แต่จริงๆ ปัจจัยให้การสลายมันไม่ได้อยู่แค่รัฐไทยเท่านั้น แต่ว่ากรอบหรือมุมมอง zero sum game ที่รัฐไทยจะมาขจัดผู้ร้าย และขจัดความกลัว ก็คือการพยายามที่จะบอกว่าเราสามารถลบล้างหรือสลายผู้ร้ายหรือสิ่งที่ก่อเป็นภัยต่อความมั่นคง

สิ่งที่น่าสนใจ ไม่ว่ากรณีภัยคอมมิวนิสต์ เรื่องภาคใต้ หรือแม้แต่เรื่องทักษิณนั้น ผมคิดว่าปัญหาเรื่องความกลัว มันเป็นโจทย์ของรัฐ เป็นปัญหาของสังคม หมายความว่า คนที่กลัวไม่ใช่เรา คนที่กลัวคือรัฐ และรัฐเองโยนความกลัวนี้ให้เป็นปัญหาทางสังคม

เราทำอย่างไรได้บ้าง สำหรับผม ผมคิดว่าเราต้องมามองย้อนกลับในประเด็นนี้ คือ เปลี่ยนจากความกลัวเป็นโจทย์ของสังคม แล้วโยนปัญหานี้ให้กับรัฐ โจทย์ของสังคมนี้ไม่ใช่โจทย์ของผู้ร้าย โจทย์ของความกลัวที่สำคัญที่สุดที่รัฐต้องเป็นผู้ตอบ คือการดำรงอยู่ขั้นพื้นฐาน สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ร่วมกันในสังคม และปัญหาเรื่องความเป็นธรรม ผมว่านี่คือโจทย์ทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดที่รัฐต้องตอบ และสิ่งที่รัฐให้ได้ คือ ทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย

กฎหมายของรัฐไทยอยู่ภายใต้กรอบวิธีคิดของการเป็นข้อห้ามและข้อบังคับ เราเชื่อฟังกฎหมายหรือเราปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่เพราะกฎหมายเป็นภาพสะท้อนของความยุติธรรม แต่เพราะกฎหมายมันมีผลบังคับใช้ และมีบทลงโทษ

สิ่งที่รัฐไทยไม่เคยมองกฎหมายหรือนิติศาสตร์ในประเทศไทยไม่ได้สอน คือ กฎหมายคือส่วนหนึ่งของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล กฎหมายมีรากฐานมีบรรทัดฐานในแง่ของการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ การแก้กฎหมาย ไม่เพียงว่ามองถึงบางอย่างที่ต้องยกเลิก แต่เราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า กฎหมายเหล่านั้นได้พูดถึงและนำไปสู่ ได้พูดถึงเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลในสังคมแค่ไหน