พ.ร.บ.คนเข้าเมือง-กฎหมายพรากครอบครัว ประสบการณ์ตรงจากสาวไทยเชื้อสายอินเดีย

ในยุคปัจจุบันที่การเดินทางข้ามพรมแดนไม่ใช่เรื่องใหญ่ การข้ามพรมแดนไม่ได้มีแต่มิติด้านการควบคุมประชากร แต่ยังเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสิทธิมนุษยชน แต่ละรัฐจึงต้องกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเข้าหรือออกอาณาจักร สำหรับประเทศไทย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 อันตั้งอยู่บนหลัก "การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" 

แต่ตีกรอบกฎหมายให้แข็งตัวเพื่อมุ่งธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐเพียงอย่างเดียว อาจต้องแลกกับความทุกข์ระทมของคนจำนวนหนึ่ง ที่การข้ามพรมแดนอาจเป็นความจำเป็นตามวิถีของเขา "กรีรัน ยาโด" นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งทำให้คุณพ่อของเธอต้องถูกผลักออกนอกประเทศไทย
 
**************
กรีรัน เล่าให้ฟังว่า พ่อของเธอ หรือ นายราเมศ จัน ยาโด สัญชาติอินเดิย เดินทางเข้ามาในประเทศไทยราวๆ พ.ศ.2530 ขณะอายุเพียง 18 ปี โดยใช้หนังสือเดินทางและได้รับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราวถูกต้องตามกฎหมายไทย แต่ขณะที่อยู่ในประเทศไทยนั้น พ่อของเธอมีคดีความ ซึ่งศาลอาญาธนบุรีพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัส
หลังจาก ราเมศ พ้นโทษออกมาในปี 2535 ชื่อของเขาก็ถูกบันทึกลงใน “บัญชีเฝ้าดู” หรือ BLACKLIST ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ สตม. ว่าเป็นบุคคลต่างด้าวที่มีลักษณะต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ทั้งนี้พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้เสนอเรื่องมาที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งห้ามมิให้ นายราเมศ จัน ยาโด เดินทางเข้าประเทศ
คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 378/2537 ลงวันที่  7 ก.ค. 2537 ห้ามมิให้นายราเมศ จัน ยาโด สัญชาติอินเดีย เข้ามาในราชอาณาจักร เนื่องจากทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายสาหัสและถูกพิพากษาจำคุก 1 ปี พฤติการณ์เข้าลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 12(6) และ (7)
หลังจากที่ ราเมศ โดนผลักดันออกนอกประเทศ ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ราเจศ ยาโด" และเดินทางเข้าประเทศไทยอีกครั้งในปี พ.ศ.2536 โดยปฏิบัติตามที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตทำงาน การต่ออายุหนังสืออนุญาตการทำงาน (WORK PERMIT) การเสียภาษีให้แก่รัฐ  การต่ออายุหนังสือเดินทาง การต่อวีซ่า ราเจศแต่งงานกับคนไทย มีลูกและตั้งครอบครัวอยู่ในประเทศไทย แต่ในปี พ.ศ.2550 เมื่อ ราเจศ ยื่นคำขอมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร เขาถูกปฏิเสธ และเมื่อทางการด้พบว่า ราเจศ เป็นบุคคลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเคยมีคำสั่งห้ามมิให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง มาตรา 12(6) และ (7) ประกอบมาตรา 16  ราเจศจึงถูกผลักดันออกนอกประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง
กรีรัน ลูกสาวที่กำลังศึกษาอยู่ในคณนิติศาสตร์ เพียงชั้นปีที่ 1 จึงต้องรับภาระมาติดตามเรื่องของพ่อ เธอดำเนินการทำเรื่องอุทธรณ์ให้พ่อด้วยตัวเองอยู่หลายปี จนในที่สุด กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งที่ 111/2555 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 อนุญาตให้นายราเจศ ยาโด สัญชาติอินเดีย เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ ครอบครัวของเธอจึงกลับมาอยู่ด้วยกันได้อีกครั้ง
[อ่านรายละเอียดการต่อสู้ผ่านบทความ เรื่อง Blacklist เขียนโดยกรีรัน ยาโด ตามไฟล์แนบ]
**************
หลังจากที่คุณพ่อโดนคำสั่งผลักออกนอกประเทศแล้ว ต้องประสบปัญหาอะไรบ้าง ?
กรีรัน : เราต้องโกหกแม่ทุกวันว่า เรื่องของพ่อใกล้สำเร็จแล้ว คือแม่เครียดมาก เรื่องทุกอย่างเรารับรู้ไว้คนเดียว พูดให้ใครฟังไม่ได้ คือตอนนั้นก็ไม่รู้จะช่วยพ่อได้หรือเปล่า แต่ต้องโกหกแม่ว่าเรื่องใกล้สำเร็จแล้ว ต้องมาร้องไห้ตอนกลางคืน ระบายกับใครก็ไม่ได้ เพื่อนที่เรียนกฎหมายด้วยกันยังไม่เข้าใจเลย แล้วพี่ชายก็ต้องมาดูแลงานของพ่อต่อ ต้องทำงานช่วงกลางคืน เพราะถ้าไม่ทำต่อ เขาก็จะไปจ้างคนอื่นแทน ส่วนเราก็ต้องมาตามเรื่องของพ่อ ทำเรื่องเองทั้งหมด ไม่อยากจ้างทนาย เพราะกลัวเขาไม่ได้ใส่ใจให้เราเต็มที่ แล้วต้องประหยัดเงินด้วย ซึ่งก็กระทบกับการเรียนของเราตรงๆ ต้องขาดเรียนไปทำเรื่องให้พ่อ ครอบครัวเราก็กลายเป็นครอบครัวที่ซึมเศร้า แม่เราก็ซูบผอมลงอย่างเห็นได้ชัด เราต้องอยู่ในสภาพนี้เกือบๆ 2 ปี ก็ต้องเป็นอย่างนี้ทุกวัน คือเราคิดว่ากฎหมายมันกว้างเกินไปนะ
พ.ร.บ.คนเข้าเมือง บัญญัติเอาไว้ผิดไว้กว้างเกินไปหรือ ?
กรีรัน : ใช่ กฎหมายมันกว้างเกินไป มันดูรุนแรงเกินไปสำหรับคนๆ หนึ่งที่ได้ตั้งรกรากอยู่ในประเทศนี้แล้ว มีอาชีพ มีครอบครัว ถ้าโดนผลักดันออกนอกประเทศก็เหมือนโดนแย่งทุกอย่างไป
ใน มาตรา 12 ในอนุมาตรา 6 ควรต้องแก้ไขโดยใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนและแคบกว่านี้ และควรเลือกใช้บังคับเฉพาะกับบรรดาการกระทำที่รุนแรงและเป็นภัยต่อสังคมโดยรวมจริงๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ใช่ทุกๆ การกระทำที่เป็นความผิดและมีโทษจำคุกดังที่ปรากฏในวงเล็บ 6 
มาตรา 12 “ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร
(6) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลไทยหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ …
นอกจากการรับผิดอย่างกว้างขว้างแล้ว ยังมีอะไรอีกที่ปัญหา ?
กรีรัน : อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ สตม. คือ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ในมาตรา 22 สามารถใช้ดุลยพินิจออกคำสั่งให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรได้ หากพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าคนต่างด้าวมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 12 คือกฎหมายให้อำนาจเขาเต็มที่เลย จะเรียกร้องอะไรก็ทำได้ยาก แล้วคำถามก็คือ ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจนั้น
มาตรา 22 “ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าคนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 12 เข้ามาในราชอาณาจักร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้คนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้ โดยมีคำสั่งเป็นหนังสือ ถ้าคนต่างด้าวผู้นั้นไม่พอใจในคำสั่ง อาจอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ …”
แม้มาตรา 22 จะบัญญัติว่า “ถ้าคนต่างด้าวผู้นั้นไม่พอใจในคำสั่ง อาจอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้” (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางในการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ สตม.ได้ แต่ในทางปฏิบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่เคยใช้ดุลพินิจของตนเองในเรื่องดังกล่าวเลย การตรวจสอบดุลพินิจอีกครั้งโดยรัฐมนตรีไม่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง อย่างกรณีของคุณพ่อ กระทรวงมหาดไทยได้ส่งเรื่องกลับมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทำความเห็นก่อนว่ากรณีนี้ควรยกเลิกหรือควรคงคำสั่งห้ามมิให้เข้าราชอาณาจักรไว้ ซึ่งไม่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะเสนอเรื่องมาอย่างไรกระทรวงมหาดไทยก็จะเห็นด้วยเสมอในทุกครั้ง หากพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเห็นว่าควรคงข้อมูลห้ามมิให้เข้าราชอาณาจักรไว้ต่อไป พนักงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยก็จะนำความเห็นที่พนักงานเจ้าหน้าของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเสนอมาไปให้รัฐมนตรีลงนาม และรัฐมนตรีก็ทำเพียงลงนามอย่างเดียว โดยไม่ใช้ดุลพินิจเลย คือ สตม.ชงเรื่องให้ แล้วรัฐมนตรีก็ลงนามมาอย่างเดียวโดยไม่อ่านหรือพิจารณาก่อนเลย 
นอกจากนี้ใน มาตรา 12 อนุ 7 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวที่มีพฤติการณ์ “เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม”  เป็นลักษณะต้องห้ามอันหนึ่ง ถ้าประกอบกับอำนาจเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แล้ว ก็หมายความว่า เจ้าหน้าที่อาจใช้วิธีสงสัยว่าใครเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม แค่น่าสงสัยคนนั้นก็อาจโดนแล้ว ตอนไปทำเรื่องที่ สตม. เราก็เจออีกเคสนึงที่โดนวงเล็บ 6 แค่สงสัยก็โดนไล่ออกจากประเทศได้เลย เราว่ามันหนักกว่าที่พ่อเราโดนอีก
มาตรา 12 (7) มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ…”
    
ทำไมคนต่างด้าวที่เคยได้รับโทษจำคุกถึงไม่ควรถูกผลักออกนอกประเทศ ?
กรีรัน : ปัจจุบันนี้มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่สมรสกับคนต่างชาติ ฝ่ายหนึ่งจึงต้องย้ายตัวเองจากอีกประเทศเพื่อเข้ามาตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่คู่สมรสของตัวเองอาศัยเพื่อจะได้อยู่กันเป็นสถาบันครอบครัว ซึ่งอาจจะเป็นคนไทยที่ย้ายออกไปหรืออาจเป็นคนต่างชาติที่ย้ายเข้ามาอยู่ในไทยกับคู่สมรสของตนก็ได้ ถ้าเป็นกรณีที่คนต่างชาติเป็นฝ่ายที่ย้ายเข้ามาอาศัยในประเทศไทย เราจะเรียกคนเหล่านี้ตามภาษากฎหมายว่าเป็นคนต่างด้าว ซึ่งคนเหล่านี้ยอมทิ้งทุกอย่างที่ประเทศของตนและมาอาศัยในประเทศไทยแห่งนี้กับครอบครัวคนไทยของเขา เราเห็นว่าพวกเขาต่างก็ย่อมต้องการความมั่นคงเช่นเดียวกับคนไทยทั่วๆไปคนหนึ่ง ว่าถ้าหากวันใดวันหนึ่งเขากระทำอะไรผิดพลาดไปโดยไม่ตั้งใจ โดยอารมณ์ชั่ววูบ เขาจะไม่ถูกไล่ออกจากบ้านแห่งนี้ บ้านที่เขาเกิดความรักและความผูกพันไปแล้ว 
เพื่อให้เกิดความมั่นคงแก่ตัวคนต่างชาติและครอบครัวของคนต่างชาติคนนั้น ฉันเห็นว่าเราควรยกเลิกพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง มาตรา 12 หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องให้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขให้เข้ากับลักษณะของประเทศในปัจจุบัน
กฎหมายดังกล่าวอาศัยหลักในเรื่องความมั่นคง ซึ่งก็เห็นได้ว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติเลย แต่กฎหมายดังกล่าวตราขึ้นเพื่อแบ่งแยกตัวบุคคลโดยอาศัยถิ่นกำเนิดเป็นหัวใจหลัก และกฎหมายดังกล่าวก็ใช้เฉพาะกับบุคคลที่มิได้มีสัญชาติไทยหรือมิได้เป็นพลเมืองของประเทศไทยเท่านั้น เป็นการเลือกปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โดยเหตุแห่งถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ สัญชาติ ซึ่งย่อมเป็นการกระทำอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่เราคิดว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องได้รับการปรับปรุง
แล้วถ้าหากเป็นคนต่างด้าวที่มีประวัติว่ามีพฤติกรรมอันธพาล หรือชอบทะเลาะวิวาท เราก็ต้องยอมให้เข้าประเทศมาได้ใช่ไหม ?
กรีรัน : อันนี้คิดว่าเราควรให้เขาสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้ การจะมองว่าบุคคลนั่นจะเป็นภัยต่อสังคมมันต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงหลายอย่าง ต้องเป็นการกระทำที่รุนแรงอย่างมาก เช่น การค้ายาบ้า หรือเป็นกระบวนการค้ามนุษย์ แบบนี้มันส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม พลเมืองบางคนที่มีสัญชาติไทยก็เป็นอันธพาล ชอบทะเลาะวิวาท ทำไมเขาถึงไม่ถูกไล่ให้ออกนอกประเทศ ก็เพราะเขามีสัญชาติไทย เป็นพลเมืองของประเทศไทย ในขณะที่คนที่มีพฤติกรรมในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ใช่พลเมืองที่มีสัญชาติไทย เขาก็จะถูกผลักดันออกนอกประเทศ
คือไม่ว่าคนต่างด้าวหรือคนไทยกระทำความผิดทางแพ่งหรือทางอาญา ก็ต้องรับโทษตามกฎหมายแพ่งหรืออาญาตามแต่กรณีไป โดยคนไทยจะยังสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปกติ แต่คนต่างด้าวไม่จบแค่นี้ จะต้องถูกนำตัวไปดำเนินการต่างๆ ตามกฎหมายคนเข้าเมือง แล้วก็ถูกผลักดันออกนอกประเทศ โดยอ้างเหตุผลว่า "อาจเป็นภัยต่อสังคมหรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร"
เราเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เป็นการเลือกปฏิบัติที่เห็นได้โดยชัดเจนจากตัวบทบัญญัติเอง เพราะหากพิจารณาจากการกระทำจริงๆ ก็คงต้องไล่พลเมืองที่มีสัญชาติไทยคนนั้นออกไปด้วย
ไฟล์แนบ