ครย.112 ยื่นจดหมายถามสาเหตุปิดเว็บ no.112

ครย.112 ยื่นจดหมายถึงรมว.ดีอี ทวงถามสาเหตุปิดเว็บ no.112

18 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคารบี คณะราษฎรยกเลิก112 (ครย.112) ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสอบถามถึงสาเหตุการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ no112.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ทางครย.112 ใช้เป็นช่องทางรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ประสงค์จะเสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ในวันนี้ตัวแทนครย.112 นำโดยสมยศ พฤกษาเกษมสุข, ธนพร วิจันทร์ และประชาชนที่สนใจประมาณ 20 คน รวมตัวกันที่โถงศูนย์ราชการอาคารบีในเวลาประมาณ 9.30 น. ผู้ร่วมยื่นหนังสือร่วมกันถือป้ายเขียนข้อความ เช่น “ยกเลิกม.112 เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ” และ “ดีอีไม่มีอำนาจปิดเว็บเอง ต้องขอหมายศาล” รวมถึงป้ายที่เป็นภาพวาดของผู้ถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพครู่หนึ่งก่อนจะแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการตั้งขบวนเดินถือป้ายเขียนข้อความต่างๆจากโถงอาคารไปที่ทางเข้ากระทรวงดีอี ระหว่างที่เดินผู้ร่วมยื่นหนังสือยังตะโกนข้อความเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังและข้อเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปด้วย

ในเวลาประมาณ 10.00 น. เมื่อขบวนของผู้ร่วมยื่นหนังสือเดินมาถึงที่หน้าทางเข้ากระทรวงดีอี ตัวแทนครย.ได้ร่วมกันอ่านจดหมายเปิดผนึกรวมทั้งแถลงข่าวและตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่กระทรวงดีอีที่มารับหนังสือ

ธนพร วิจันทร์ หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายอ่านข้อความในจดหมายตอนหนึ่งซึ่งกล่าวถึงสาเหตุในการยื่นหนังสือว่า

“…เว็บไซด์ที่จะถูกปิดกั้นได้ต้องมีเนื้อหาที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายนี้ หรือคณะกรรมการกลั่นกรองคอมพิวเตอร์เห็นว่ามีข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี และต้องให้รัฐมนตรีเห็นชอบก่อนยื่นคำร้องขออนุมัติการปิดกั้นต่อศาล และในขั้นตอนศาลจะต้องเปิดโอกาสให้เจ้าของข้อมูลบนเว็บไซต์มีโอกาสได้โต้แย้ง คัดค้านได้ แต่เว็บไซต์ www.no112.org ไม่มีข้อมูลที่ผิดต่อกฎหมายใด หรือข้อมูลขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี โดยข้าพเจ้าไม่เคยได้รับแจ้งถึงขั้นตอนการดำเนินการในชั้นศาล ทำให้ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้ใช้สิทธิโต้แย้งคัดค้าน และไม่เคยเห็นเอกสารที่เป็นคำสั่งจากศาลให้ปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว…”

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ตัวแทนเครือข่ายอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ตัวเลขหลักแสนที่รวบรวมมาได้นั้นใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน เป็นตัวเลขที่บอกได้ว่าประชาชนไม่ต้องการให้มีมาตรา 112 อีกทั้งมาตรา112 ยังเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทำให้ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตย และจริงๆ แล้วการที่เปิดให้ได้ตั้งคำถามถึงกลไกรัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ กองทัพ ตุลาการ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ก็น่าจะถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้กลไกเหล่านั้นได้รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงและทัศนคติของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์ของประเทศในช่วงเวลานั้นๆ สมยศยังทิ้งท้ายด้วยการทวงถามถึงสาเหตุในการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซด์ no112.org ต่อตัวแทนผู้มารับหนังสือด้วย

ระหว่างการยื่นหนังสือผู้ร่วมยื่นหนังสือบางส่วนเรียกร้องต่อตัวแทนกระทรวงดีอีที่ออกมารับหนังสือว่าจะขอดูคำสั่งศาลที่ใช้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ no112.org ซึ่งทางเจ้าหน้าที่กระทรวงดีอีรับว่าจะไปประสานงานให้ กลุ่มผู้ร่วมยื่นหนังสือจึงปักหลักรออยู่ที่หน้าทางเข้ากระทรวงดีอีจนกระทั่งเวลาประมาณ 11.20 น. เจ้าหน้าที่กระทรวงดีอีแจ้งกับตัวแทนครย.112 ว่ามีคำสั่งศาลให้ปิดเว็บไซด์ no112.org จริง แต่ไม่สามารถนำคำสั่งมาให้ดูได้เนื่องจากเอกสารดังกล่าวถูกประทับตราเป็นเอกสารลับด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง อย่างไรก็ตามทางกระทรวงดีอีจะได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการปิดกั้นเว็บไซต์ no112.org กับสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มครย.112 ใน วันจันทร์ ที่ 22 สิงหาคม 2565

การรณรงค์เข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ในการชุมนุม “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” ทางครย.112 และเครือข่ายร่วมกันเปิดเว็บไซต์ no112.org เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ใช้รวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์จะเสนอให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ปรากฎว่าในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 มีผู้ประสงค์ลงรายมือชื่อบางรายแจ้งปัญหามาว่าไม่สามารถเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ https://www.no112.org/ โดยหน้าจอจะประกฎข้อความ “เนื้อหานี้ถูกระงับ เนื่องจากมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ” และมีสัญลักษณ์และชื่อของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำกับไว้ด้วย 

ดูรายละเอียดขั้นตอนการปิดกั้นเว็บไซต์ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ >>> https://freedom.ilaw.or.th/blog/BlockProcess