ร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้ว มีหลายประเด็นต้องจับตาต่อ

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ก็เปรียบเสมือนการ “เซ็นเช็คเปล่า” ให้กับรัฐบาล คสช. และ กรธ. ที่จะไปเขียนกฎกติกาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ อย่างเช่น กฎหมายพรรคการเมือง ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายการปฏิรูป ฯลฯ ดังนั้น ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตัวจริงควรต้องจับตาและมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

หลังจากการลงประชามติ เมื่อ 7 สิงหาคม 2559 ผลออกมาว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง หลังจากนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เข้ากับคำถามพ่วงก่อนนำไปทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ ซึ่งใช้เวลาอีกไม่เกิน 90 วัน 

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศ รัฐบาล คสช. และ กรธ. ยังมีภารกิจต้องทำอะไรอีกหลายอย่างตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะไม่ต้องถามประชาชนอีกแล้ว ดังนั้น ประชาชนจึงต้องจับตากฎกติกาต่างๆ ที่จะออกตามมา และพยายามหาช่องทางแสดงความคิดเห็น เข้าไปมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งประเด็นจะประกอบไปด้วย

 

หนึ่ง ยุทธศาสตร์ชาติ 

“ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นกลไกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญของไทยฉบับใดมาก่อน ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ มาตรา 65 กำหนดให้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นเพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยยังไม่ได้กำหนดกรอบว่ายุทธศาสตร์ชาติจะต้องมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นใดบ้าง กำหนดเพียงให้จัดทำกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติขึ้น ภายใน 120 วัน และจัดทำยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จภายในหนึ่งปี นับจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดย ครม.ชุดปัจจุบันจะเป็นผู้เขียนขึ้นเอง 

ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 142 กำหนดว่า การเสนองบประมาณของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรา 162 กำหนดว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แถลงนโยบายตอนเข้ารับตำแหน่ง นโยบายก็ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้วย 

อ่านเรื่องยุทธศาสตร์ชาติต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4202

 

สอง มาตรฐานจริยธรรม

“มาตราฐานจริยธรรม” เป็นกลไกใหม่อีกชิ้นหนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้มีขึ้น 

มาตรา 219 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระเป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นบังคับใช้ ภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อเขียนขึ้นแล้วจะบังคับใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ฯลฯ รวมทั้ง ส.ส. ส.ว. และ ครม.ด้วย ผู้ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมต้องพ้นจากตำแหน่ง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี

แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้ว่า ในการจัดทำมาตรฐานจริยธรรมต้องรับฟังความคิดเห็นของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ในช่วงเวลา 1 ปีแรกที่ต้องจัดทำนั้น ส.ส. และ ส.ว. ยังไม่มี มีเพียงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นทำหน้าที่ให้ความเห็นแทน

อ่านเรื่องมาตรฐานจริยธรรมต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4204

 

สาม กฎหมายลูก 10 ฉบับ

ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 267 กำหนดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติแล้ว ให้ กรธ. อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ เพื่อจัดทําพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” 10 ฉบับ ให้เสร็จภายในระยะเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือนนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ 

กฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ ได้แก่

  1. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  
  2. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา  
  3. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง  
  4. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
  5. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  
  6. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง   
  7. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน  
  8. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต  
  9. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
  10. พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

อ่านเรื่องการออกกฎหมายลูกต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4197

 

สี่ กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูป และคณะกรรมการปฏิรูปสองชุด

กลไกการปฏิรูปที่ร่างรัฐธรรมนูญวางเอาไว้ อยู่ในหมวดที่ 16 มาตรา 257-261 กำหนดให้รัฐบาลปัจจุบันจัดทำกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปภายใน 120 วัน และให้เริ่มดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ โดยต้องคาดหวังว่าจะเห็นผลในระยะเวลา 5 ปี

สำหรับการปรับปรุงกฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรม ร่างรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้มีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่งด้วย โดยมีทั้งคนที่เคยเป็นตำรวจและไม่เคยเป็นตำรวจมาทำงานด้วยกัน ซึ่งต้องทำงานให้เสร็จภายใน 1 ปี ส่วนการปฏิรูปการศึกษาก็ให้มีคณะกรรมการอิสระขึ้นมาอีกคณะหนึ่งเช่นกัน ซึ่งต้องแต่งตั้งภายใน 60 วัน คณะกรรมการทั้งสองชุดมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลปัจจุบัน

อ่านเรื่องการปฏิรูปต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4202

 

ห้า กฎหมายปฏิรูปสามฉบับ

ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 278 กล่าวถึงกฎหมายอีกสามฉบับที่ต้องเร่งรัดให้ออกให้ได้โดยเร็ว หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนและการรับฟังความคิดเห็นก่อนการดำเนินโครงการใด ตามมาตรา 58 กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตามมาตรา 62 และกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนที่ชี้เบาะแสการทุจริตคอร์รัปชั่น ตามมาตรา 63

ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 278 ให้ความสำคัญกับกฎหมายสามฉบับนี้เป็นพิเศษ โดยกำหนดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ให้ดำเนินการร่างทั้งสามฉบับให้เสร็จภายใน 240 วัน และให้ สนช.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้รัฐบาล คสช. และที่สำคัญคือ กำหนดไว้ด้วยว่าหากหน่วยงานใดไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพ้นจากตำแหน่ง 

อ่านเรื่องการปฏิรูปต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4202

 

หก จัดเลือกตั้งอย่างช้าภายใน 18 เดือน 

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่านประชามติแล้ว รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว มาตรา 37/1 กำหนดให้ กรธ.แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ภายใน 30 วัน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกภายใน 30 วัน มาตรา 37 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว กรธ.ต้องจัดทำกฎหมายลูก ภายใน 240 วัน และส่งให้ สนช.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หลังจากนั้นก็ดำเนินการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรภายใน 150 วัน

รวมความแล้ว หลังวันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ภายในไม่เกิน 30+30+30+240+60+150 = 540 วัน หรือประมาณ 18 เดือน ก็จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ซึ่งหากขั้นตอนทุกอย่างใช้เวลาเต็มที่ จะมีการเลือกตั้งขึ้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2561

อย่างไรก็ดี ตัวเลข 18 เดือน เป็นตัวเลขอย่างช้า กล่าวคือ มีความเป็นไปได้ที่การเลือกตั้งอาจจะเร็วขึ้น เพราะมีการกำหนดว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ร่างกฎหมายประกอบเสร็จทุกฉบับก่อน แต่เอาแค่ 4 ฉบับก็พอ หรือขั้นตอนต่างๆ อาจทำได้เสร็จเร็วกว่าเวลาที่กำหนดไว้ หรือในอีกทางหนึ่งอาจจะนานกว่า 18 เดือน หากพระมหากษัตริย์มิได้ลงพระปรมาภิไธย หรือในกรณีที่ สนช. ลงมติไม่เห็นชอบกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง