เปิดใจ “แซม” ถึงผู้ต้องขังทางการเมือง ที่อยู่รอประกันตัวร่วมกับพี่ๆ นักเคลื่อนไหว

ในการชุมนุมที่หน้า “ราบ1” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สังคมได้เห็นภาพผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งขึ้นไปยืนบนตู้คอนเทนเนอร์ทำท่ายืนปัสสาวะลงมาใส่ตำรวจที่ตั้งแถวอยู่หลังแนวตู้คอนเทนเนอร์เหล่านั้น คลิปอากัปกริยาของชายร่างเล็กคนหนึ่งถูกแชร์ต่อกันไปมากบนโลกออนไลน์ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่อมาจึงทราบข้อเท็จจริงว่า เป็นเพียงการทำท่าเหมือนปัสสาวะ แต่ไม่มีปัสสาวะออกมาจริงๆ 
แต่แล้วต่อมาตำรวจก็หาตัวบุคคลในภาพจนเจอ และขอศาลออกหมายจับ บุกเข้าจับกุมเขาที่ห้องพักย่านดอนเมืองเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ทำให้เรารู้ว่าเขา คือ “แซม สาแมท” ชายเชื้อสายกัมพูชา ที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย โดยไม่มีหลักฐานการเกิด และไม่มีสัญชาติ แซมถูกจับกุมในข้อหามั่วสุมก่อความวุ่นวาย ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 215, 216 ข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าเยี่ยมแซมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จึงทราบว่าเขาถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีโดยไม่ได้ประกันตัว และพบอุปสรรคในการยื่นขอประกันตัวอย่างมากเพราะแซม ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเอกสารหลักฐานระบุตัวตน จึงไม่อาจทำเรื่องขอประกันตัวต่อศาลได้ แซมต้องถูกคุมขังในรอบแรกเป็นเวลา 100 วันเต็ม จนกระทั่งได้ประกันตัวในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 แต่เมื่อได้รับการประกันตัวออกมาเขาก็ยังคงไปร่วมการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถูกจับกุมอีกครั้งหลังไปร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 เหตุแห่งคดีครั้งที่สองมาจากการชุมนุมหน้ากองบังคับการตำรวจตระเวณชายแดน ภาค1 (ตชด.ภาค1) และเข้าไปอยู่อีก 19 วัน ก่อนได้ประกันตัวในวันที่ 26 สิงหาคม 2564

รู้จักแซม คนไม่มีสัญชาติ ไม่ได้เรียนหนังสือ

แซมเล่าถึงภูมิหลังของตัวเองว่า เขาเกิดในเมืองไทย พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน รู้ความว่าพ่อเป็นคนไทย แม่เป็นคนต่างชาติ คือ กัมพูชา พ่อกับแม่เลิกกัน เขาเติบโตมาในจังหวัดสระแก้วด้วยการเลี้ยงดูของเพื่อนบ้าน ไม่เคยได้สัญชาติหรือเอกสารรับรองใดจากทางราชการ ไม่เคยได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียน
ตอนอายุราว 10 ขวบ แซมเคยปั่นจักรยานไปโรงเรียน ถามกับครูที่โรงเรียนนั้นว่า “ครูครับ ผมอยากเรียนมาก แต่ผมไม่มีอะไรเลย” แต่ถูกไล่กลับออกมาพร้อมคำตอบที่ได้รับว่า แซมป็นลูกต่างด้าว ไม่สามารถเรียนได้ แม้แซมจะเติบโตมาด้วยการตระหนักว่าตัวเองเป็นคนไทยและอยากได้รับการศึกษาในไทยเช่นเดียวกับคนอื่นมาโดยตลอด แต่คำพูดในครั้งนั้นราวกับผลักแซมตกเหวและหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยไปแล้วโดยสมบูรณ์ 
แซมเล่าว่า เขาเรียนรู้ เรียนหนังสือด้วยตัวเองจากสื่อต่างๆ ในวัยเด็กเคยทำงานรับจ้างทำไร่ ได้ค่าจ้างวันละร้อยกว่าบาทเท่าที่พอจะหาโอกาสได้ ขณะทำงานก็ยังกลัวถูกตำรวจจับเพราะไม่มีบัตรประชาชน เลยต้องใช้ชีวิตโดยที่ไม่สามารถออกไปไหนไกลจากที่พักได้ ไม่สามารถเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะได้ ครั้งหนึ่งแซมเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งกลับประเทศกัมพูชาเนื่องจากเป็นแรงงานต่างด้าวไม่มีบัตรประชาชน แต่เมื่อไปถึงได้ร่วมเดือนก็ถูกส่งตัวกลับไทยเพราะไม่ได้มีสัญชาติกัมพูชาเช่นกัน 
ในช่วงที่อายุได้ 19 ปี แซมทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เกี่ยวกับกิจกรรมนางงาม เมื่อเห็นว่า มีการชุมนุมทางการเมือง และด้วยความคิดที่ว่าเป็นประชาชนคนหนึ่งที่มีตัวตนบนโลกใบนี้ มีสิ่งที่อยากได้และเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่คิดเหมือนเรา จึงไปร่วมการชุมนุม ซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้เขาถูกเลิกจ้าง 
“การมาม็อบทำให้คนหลายๆ ที่มีปัญหาในชีวิตออกไปพูด ไปเล่าให้คนอื่นๆ ฟังได้ ทำให้สังคมไทยตื่นจากปัญหาเก่าๆ อย่างเช่นที่ไม่เคยมองถึงปากท้องของเราเลยว่าคนไม่มีสัญชาติเขาจะอยู่กันอย่างไร ตราบใดที่เรายังออกมาพูดได้ มีช่องทางที่ยังสามารถช่วยเหลือผู้ถูกทอดทิ้งคนอื่นๆ ได้อีกมาก แสดงออกอย่างสันติเพื่อที่จะให้คนรุ่นเก่า ๆ มีความคิดที่อยากพัฒนาได้ เราก็เชื่อว่าประเทศไทยก็ยังสามารถพัฒนาได้อีก” แซมเล่า

ใช้ชีวิตในเรือนจำกับพี่ๆ แกนนำนักเคลื่อนไหว

“ตอนเข้าไปเห็นเรือนจำครั้งแรก สภาพเรือนจำแย่มาก อยู่กันอย่างหนาแน่นในพื้นที่แคบ น้ำอาหารกินไม่ได้ ไม่ถูกสุขลักษณะและสารอาหารไม่ครบ ผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติส่งของหรือเงินมาให้ก็ต้องทนกับสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่เป็นอย่างมาก การจ่ายยาสามัญประจำบ้านเบื้องต้นยังเป็นไปอย่างยากลำบากเกินควร” คำบอกเล่าของแซมถึงประสบการณ์ในเรือนจำ 
แซมยังเล่าถึงภาพที่เขาจำได้ว่า เห็นผู้ต้องขังถูกใช้ความรุนแรงนอกเหนือจากกฎเรือนจำบ่อยครั้ง ในสภาวะโรคระบาดก็ยังมีผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตจากโควิด-19 ในเรือนจำด้วย ผู้ต้องขังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโดยไม่ได้รับความรู้ที่เหมาะสมและเพียงพอ 
สำหรับแซม ยังโชคดีอยู่บ้างที่ประสบการณ์ในเรือนจำของตัวเขาไม่อ้างว้างเกินไปนัก เพราะได้เจอกับผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองคนอื่นๆ ด้วย เช่น อานนท์ นำภา ไผ่ จตุภัทร์ หรือ เพนกวิ้น พริษฐ์ แซมเล่าว่า แม้ก่อนจะเข้าเรือนจำเราจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เมื่ออยู่ในเรือนจำก็ได้รับความช่วยเหลือจากพี่ๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ด้วยกัน ทั้งในความเป็นอยู่ทั่วไปและการติดต่อทนายข้างนอก ได้พูดคุยคลายความเครียด เมื่อได้รับของจากข้างนอกก็มาแบ่งปันกับทุกคนเสมอ รู้สึกอุ่นใจที่ไม่ได้อยู่คนเดียว 
“ตอนแรกก็เฉยๆ รู้สึกไม่กล้าคุยกับพวกเขา แต่เขาเดินเข้ามาคุยกับเราก่อน เพนกวิ้นมาบอกว่าขอเป็นเพื่อนกัน ก็รู้สึกว่าพวกเขาเป็นแค่คนธรรมดาๆ ที่ออกมาสู้เพื่อประชาชน”
“ตอนอยู่ด้วยกันพี่ไมค์ก็เหมือนเป็นแม่ คอยดูแลทั้งร่างกายจิตใจให้กับคนอื่นๆ แซมเป็นแม่บ้าน ผลัดกันช่วยดูแลบีบนวด ช่วยกันเช็ดตัวพี่ๆ คนที่ป่วย ตอนนั้นรู้สึกว่าปูน ฟ้าและฮิวโก้อาการค่อนข้างหนักกว่าคนอื่น น่าเป็นห่วง” แซมเล่าถึงบรรยากาศการเข้าเรือนจำรอบที่สอง ซึ่งเพื่อนผู้ต้องขังมีไข้ และมีอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิดทุกคน
“ช่วงที่อยู่ในเรือนจำรอบสองตรงกับวันเกิดแซมพอดี อายุ 20 ในนั้น พี่เพนกวิ้น พี่ไมค์ และทุกคนมาร่วมกันอวยพรและฉลองวันเกิดให้ พี่เพนกวิ้นตั้งฉายาใหม่ให้ว่า อัครพรเลิศโสมเสรีวงศ์ ซึ่งภูมิใจมาก พี่กวิ้นให้นอนตักแล้วอ่านหนังสือให้ฟัง บอกว่าเรามาอยู่นี่เราเป็นเพื่อนกัน จับมือกันบอกว่าเราจะไม่ทิ้งกัน ทำให้น้ำตาผมไหลออกมา พี่เขาให้เกียรติผม ทำให้ซาบซึ้งใจ มาอวยพรวันเกิดให้ผมกันทุกคนซึ่งผมไม่เคยมีวันนี้มาก่อน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” แซมเล่า 
“ในเรือนจำเพนกวิ้นกับณัฐเป็นคนที่มีกำลังใจดีมากอยู่เสมอ แต่เป็นห่วงฟ้าที่ค่อนข้างอ่อนไหว ฟ้าเคยบอกว่าอยากออกจากเรือนจำมากอดแม่ ทุกคนทุ่มเทเพื่อที่จะออกมาเรียกร้องให้ประชาชนจนถูกรัฐพรากอิสระไปจากชีวิต ตรงนี้แซมนับถือทุกคนมาก” แซมเล่าถึงพี่ๆ ที่ยังอยู่ในเรือจำเพราะไม่ได้ประกันตัวพร้อมกับน้ำตาคลอ 
แซมยังเล่าถึงเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นอีกว่า พี่บอย ชาติชาย ก็ชอบให้นวดให้ แล้วชวนคุยให้แซมให้เล่าเรื่องให้ฟัง เป็นผู้ชายแบบรุ่นเก่าที่เข้ากับ LGBT ได้ง่ายไม่ดูถูกกะเทยเล่นกันได้ทุกอย่าง ทำให้คุยด้วยสบายใจมาก ส่วนพี่ณัฐใช้ชีวิตในเรือนจำอย่างเข้มแข็งมากกว่าที่เห็น การใส่ขาเทียมข้างหนึ่งไม่เป็นอุปสรรคมากนัก ครั้งหนึ่งยังเคยถึงกับถอดขาเทียมยื่นให้แซมใช้คั่นประตู ไม่ให้เจ้าหน้าที่ปิดประตูได้ แม้ขณะใช้ชีวิตประจำวันจะต้องถอดขาเทียมขยับไปมาอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคน่ากังวล

โควิดในเรือนจำ ที่ไม่มีความพร้อมรับมือ

เมื่อครั้งที่แซมอยู่ในเรือนจำทั้งสองรอบ ก็ได้รับเชื้อโควิดเข้าสู่ร่างกายทั้งสองรอบ ซึ่งแซมเล่าถึงประสบการณ์เหล่านี้ว่า ครั้งแรกอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อยู่ 100 วัน และครั้งที่สองอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต 19 วัน ทั้งสองครั้งอาการแย่พอกัน 
แซมเล่าว่า เรือนจำไม่ได้บังคับใช้มาตรการป้องกันโรคระบาดที่เหมาะสมเท่าที่ควร ผู้ต้องขังยังต้องใช้เครื่องอุปโภคร่วมกัน โดยเฉพาะสบู่ก้อน ที่ใช้ถูตัวด้วยกันหมด ยิ่งทำให้เชื้อแพร่กระจายได้เร็ว มีการจัดหาหน้ากากอนามัยให้ทุกคน แต่ยังจำเป็นต้องใช้ซ้ำ ไม่สามารถเปลี่ยนได้บ่อย ผู้ต้องขังเข้าใหม่ที่ยังไม่ติดเชื้อก็ต้องอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ จึงทำให้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว การซื้อของเครื่องอุปโภคบริโภคจากร้านสงเคราะห์ในช่วงกักตัวก็ไม่สามารถทำได้ ทำให้ผู้ต้องขังที่ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่าเดิมมากหากไม่มีญาติส่งของมาให้จากข้างนอก
“อย่างพวกเราที่มีสื่อจับตามองอยู่เจ้าหน้าที่ก็จัดหาสบู่ยาสีฟันแยกให้ใช้กันคนละชุด แต่คนอื่น ๆ ยังใช้ร่วมกันอยู่เลย เข้าไปก็ถูกบังคับให้กินฟ้าทะลายโจรตั้งมื้อละห้าเม็ด อ้างว่ากินแล้วมีภูมิ แต่พี่บอยกินได้สองวันก็ติดโควิดเลย” แซมเล่า
ประสบการณ์เมื่อป่วยครั้งแรก แซมแจ้งกับผู้คุมว่ามีไข้ มีอาการไอหนักนานหลายวัน จนอาการทรุดหนักจึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เมื่อเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้วก็ได้รับการรักษาใกล้หมอมากขึ้นกว่าเดิม แต่สภาพความเป็นอยู่ไม่ต่างจากในเรือนจำปกติมากนัก ทุกคนต้องนอนรวมกันในห้องขนาดใหญ่ แต่ที่โรงพยาบาลมีพื้นที่นอนห่างกันได้มากกว่าในห้องขัง อาหารของผู้ป่วยก็น้อยจนกินไม่อิ่ม ทำให้สุขภาพไม่แข็งแรง 
“ตอนฮิวโก้กับพี่ฟ้าเริ่มมีอาการป่วยหนักขึ้น ไข้ขึ้นสูงตั้งแต่ช่วงค่ำ เจ้าหน้าที่ให้รอจนถึงช่วงเช้า ก็รอถึงเช้าจนผ่านไปอีกหลายชั่วโมงก็ยังไม่มารับตัว ตอนนั้นแซมรอต่อไปไม่ไหวแล้วเลยตัดสินใจตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่ให้มารับตัวพี่ๆ ที่ป่วยไปโรงพยาบาล ตะโกนอยู่นานเป็นชั่วโมง ขอความช่วยเหลือให้ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ช่วยตะโกนร่วมกันด้วย ถึงมีคนมาพาตัวไปโรงพยาบาล” แซมเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ต่อมาเขาถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรม “อาละวาด” ในเรือนจำ

แม้ออกมาแล้วก็ยังนอนไม่หลับ กินไม่อิ่ม

เราคุยกับแซมหลังออกจากเรือนจำรอบที่สองได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ และถามไถ่ถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตเมื่อต้องกลับเข้าสังคมปกติ แซมตอบว่า หลังออกมาจากเรือนจำแล้วยังมีผลกระทบต่อจิตใจอยู่บ้าง เครียดง่าย ก่อนหน้านี้เคยใช้ชีวิตอย่างแข็งแรง มีงานทำอยู่เรื่อยๆ แต่พอเข้าไปเจอกับภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำแล้ว สารอาหารที่ได้รับก็ไม่เพียงพอ กินไม่อิ่ม สุขภาพร่างกายแย่ลงมากเช่นเดียวกับผู้ต้องขังหลายๆ คน หลังจากได้ออกมาพฤติกรรมการกินก็เปลี่ยนไป รู้สึกไม่อยากกินข้าว พอเห็นข้าวแล้วนึกถึงภาพอาหารในเรือนจำ เวลานอนปิดไฟก็ไม่ค่อยหลับ ต้องพยายามฝืนกินฝืนนอนให้เป็นปกติให้ได้
“เคยเห็นแกงมันเทศป่ะ มันเทศที่ไม่ได้ปอกเปลือกออกอ่ะ สับก็คล้ายๆ กับสับ แต่เหมือนไม่ได้สับ แล้วโครงไก่ก็เป็นน้ำท่ีไม่เหมือนน้ำแกง เหมือนน้ำล้างจาน ต้องกินแบบนนั้น จืดๆ ไม่มีรสชาติ ไม่มีโภชณาการ 5 หมู่ อีกอย่างหนึ่งที่ผู้ต้องขังเกลียดมากเรียกว่าแกงส้มปลาระเบิด คือ ปลามาถึงก็รู้สึกว่า ไม่ได้ล้าง ไม่ได้ถอดเกล็ดด้วย เอามาหั่นแล้วโยนลงไปเลย มันกินไม่ได้ ขนาดแมวในเรือนจำยังไม่กล้ามาดมเลย” แซมเล่าถึงอาหารที่ได้รับแจกในเรือนจำ สภาพอาหารที่กินไม่ได้ทำให้เขาน้ำหนักลดลงจาก 61 กิโลกรัม เหลือ 53 กิโลกรัม
เมื่อได้อยู่นอกเรือนจำประมาณหนึ่งเดือน ก่อนถูกจับรอบที่สอง แซมก็ไม่ได้กลับไปทำงาน ต้องเริ่มหางานใหม่ โดยอยู่ตัวคนเดียวไม่มีคนคอยช่วย แซมเล่าว่า ร่างกายของเขาก็ยังไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน ค่อนข้างเหนื่อยง่าย เพราะผลกระทบจากการติดเชื้อโควิดลงปอด โดยผู้ต้องขังที่ติดเชื้อแต่ละคนไม่ได้ติดเชื้อมาจากข้างนอก ทุกคนได้รับเชื่อมาจากในเรือนจำ ซึ่งรัฐควรจะมีมาตรการดูแลผู้ต้องขังให้ดีกว่านี้ 
“ตอนรู้ว่าแซมได้ประกันตัว ทุกคนดีใจตบมือให้ กอดกันกับพี่ฟ้า พี่ไผ่ พี่ไมค์ แล้วก็ร้องไห้ พี่ๆ ให้กำลังใจพร้อมบอกว่า ให้สู้และเดินหน้าต่อไป อย่าร้องไห้ บอกด้วยว่า เดี๋ยวไปเจอกันข้างนอก ไปปาร์ตี้ด้วยกัน ให้รอวันที่เราจะได้ชัยชนะ” แซมกล่าว
“เราไม่อยากออกไป เพราะอยากอยู่กับพี่ๆ เขา ทุกคนให้ความอบอุ่นมาก วันที่เราออกมาใช้ชีวิตข้างนอกแล้วเห็นรูปพี่ๆ ของพวกเขายังอยู่ข้างในก็อยากจะร้องไห้ รู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม”