ถอดประสบการณ์ตำรวจชั้นผู้น้อยคุมม็อบ ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกและลดพลังประเด็นขับไล่ประยุทธ์

18 กรกฎาคม 2564 เยาวชนปลดแอกและเครือข่ายนัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก, ลดงบสถาบันกษัตริย์และกองทัพเพื่อมารับมือกับโควิด 19 และจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 19 ชนิด mRNA การชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นให้หลังการปะทะที่กระทรวงสาธาณสุข ผู้จัดการชุมนุมจึงวางทีมดูแลผู้ชุมนุมและป้องกันไม่ให้มีการปะทะที่หน้าแนวตำรวจ อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ชุมนุมยืนยันที่จะเดินขบวนผ่านถนนราชดำเนินกลางเพื่อไปทำเนียบรัฐบาล ตำรวจก็เริ่มใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำ, แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง

เมื่อความรุนแรงของรัฐเปิดฉากขึ้น มีผู้ชุมนุมบางส่วนตอบโต้ตำรวจด้วยขวดน้ำบ้าง หนังสติ๊กบ้าง การปะทะในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว วันถัดมาปิยะรัฐ จงเทพ กลุ่ม We Volunteer โพสต์ข้อความว่า หากผู้ชุมนุมที่ไม่เอาสันติวิธี ต้องการปะทะตำรวจอย่างเดียว เมื่อรัฐรุนแรงมาพร้อมจะตอบโต้ให้ประกาศแยกการชุมนุมต่างหากเลย ผู้ชุมนุมที่เน้นแนวทางสันติวิธีจะได้ไม่เผลอไปเข้าร่วมด้วย

สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ เราชวนพูดคุยถึงความรู้สึกของ “มนุษย์” ที่อยู่หน้าแนวปะทะแต่ละครั้งว่า มีความคิดเห็นอย่างไร ในตอนนี้เป็นการพูดคุยกับ ‘เอ’ ตำรวจชั้นผู้น้อยที่เคยมาทำหน้าที่ดูแลการชุมนุมไม่น้อยกว่าสี่ครั้ง

เมื่อตำรวจภูธรต้องรับบท “คนคุมม็อบ”

‘เอ’ เคยมารับหน้าที่ “คุมม็อบ” ช่วงปลายปี 2563 สี่ครั้ง ในช่วงดังกล่าวจะมีการเกณฑ์ตำรวจตามสถานีต่างๆมาดูแลการชุมนุม เกณฑ์คัดเลือกคือ อายุไม่เกิน 35 ปี สถานีตำรวจนครบาลจะมีกำลังพลใหม่ทุกปีจึงสามาถใช้กำลังพลอายุน้อยได้ แต่ในต่างจังหวัด สถานีตำรวจบางแห่งมีกำลังพลน้อย ทำให้บางครั้งต้องส่งนายตำรวจอายุมากมาช่วยดูแลการชุมนุม หลังเหตุการณ์การเสียชีวิตของตำรวจสน.ธรรมศาลา นครปฐมวัย 47 ปี ซึ่งมารับหน้าที่ดูแลการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เขามองว่า มีการเปลี่ยนแปลงในแนวปฏิบัติ มีการจัดหาแพทย์มาตรวจสุขภาพให้แก่ตำรวจ

แม้จะมีเหตุการเสียชีวิตของตำรวจ ในสถานีตำรวจที่เขาสังกัดมีกำลังพลน้อยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้บางครั้งตำรวจที่มีอายุมากก็ยังคงต้องลงพื้นที่ชุมนุม ในการเกณฑ์กำลังแต่ละครั้งก็ค่อนข้างเห็นใจเพื่อนร่วมงานที่ปกติแล้วทำงานลักษณะธุรการ ไม่ได้ทำงานลงพื้นที่และไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการรับมือการชุมนุมนัก

รับมือชุมนุม ปรับรูปแบบตามสถานการณ์และความจำเป็น

ลักษณะการรับมือการชุมนุมแต่ละครั้ง ตำรวจจะเริ่มจากการหาข่าวว่า วันใดจะมีการชุมนุมและวางแผนจัดหากำลังพล กรณีของเขาที่สังกัดต่างจังหวัดจะรู้ล่วงหน้าก่อนอย่างน้อยสามวัน เมื่อรู้แล้วว่าจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ ตำรวจกลุ่มนี้จะไม่ปฏิบัติภารกิจอย่างอื่นเลย เว้นแต่ภารกิจที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่น การรับเสด็จ กรณีที่นัดหมายกระชั้นชิดมักจะใช้ตำรวจในกรุงเทพฯเป็นหลัก แต่มีหนึ่งครั้งที่ทราบข่าวไม่ถึง 48 ชั่วโมงและเมื่อเดินทางถึงต้องลงพื้นที่เลย

การนัดชุมนุมแบบฉับพลัน ทำให้ผู้วางแผนประเมินสถานการณ์ไม่ถูก ใช้วิธีเกณฑ์กำลังพลเข้ามาและให้ไปพักตามสถานที่ราชการที่ห่างจากจุดชุมนุม กรณีที่รู้ว่า เวลา 14.00 น.ของพรุ่งนี้จะมีการชุมนุม  เช้าวันถัดมาจะต้องเข้ามาในเมืองเพื่อเตรียมพร้อมแล้ว ตอนแรกๆที่จัดแบ่งกำลังจะมีการจับสลากกันเพื่อแบ่งภารกิจ เขาบอกว่า กองร้อยไหน “โชคดี” ก็ได้ไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีม็อบ เช่น บริเวณกระทรวงศึกษาธิการที่จะไม่มีการชุมนุมหรือหากมีจะเป็นการชุมนุมกลุ่มนักเรียน ส่วนกองร้อยไหน ”โชคร้าย” ก็ได้ไปอยู่ตรงที่ที่มีการชุมนุมใหญ่และอาจต้องเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม

‘เอ’ บอกว่า ช่วงแรกจะมีกองร้อย “โชคร้าย” ที่ไม่ได้รับการฝึกต้องไปอยู่แนวหน้า ทำให้รับมือไม่ค่อยดีนัก จากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีการเรียกมาฝึก เขาเองยังเคยถูกเรียกมาฝึกให้ใช้อุปกรณ์ต่างๆในการควบคุมฝูงชนเพิ่มเติม เดิมมีการใช้โล่และกระบอง แต่ตอนนี้ก็มีการฝึกยิงตาข่ายระยะไกลเพื่อจับกุม ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุม ตำรวจใช้ในการจับกุมผู้ต้องหาทั่วไป แต่วิธีนี้ไม่เคยนำมาใช้ในการชุมนุมเลย ระยะต่อมาตำรวจมีการใช้ชุดเคลื่อนที่เร็วมาเผชิญหน้ารับมือกับผู้ชุมนุม เมื่อถามว่า ชุดเคลื่อนที่เร็วดุกว่ากองร้อยปกติหรือไม่ เขาตอบว่า ชุดเคลื่อนที่เร็วจะมีแบบแผนและปฏิบัติตามแบบแผนอย่างเคร่งครัดมากกว่า

ประสบการณ์สวมเสื้อเหลืองคุมม็อบราษฎร 14 ตุลาฯ

วันที่ 14 ตุลาคม 2563 เป็นครั้งแรกที่ ‘เอ’ ได้รับมอบหมายให้มาดูแลการชุมนุมของคณะราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล วันนั้นมีการชุมนุมของคนหลายกลุ่มทั้งฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างคณะราษฎรและฝ่ายปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างนายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนาและสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ อดีตพระพุทธอิสระ รวมทั้งขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ที่จะผ่านถนนราชดำเนินกลาง

ในวันนั้น ‘เอ’ ได้รับการสั่งการให้สวมเสื้อเหลืองมารอที่ถนนราชดำเนินกลาง เขาบอกว่า เขาเป็นตำรวจชุดแรกๆที่มาถึง เขาคิดแค่ว่า ไม่เป็นไรได้รับคำสั่งให้สวมเสื้อเหลืองและมาที่ชุมนุม แต่ระหว่างนั้นผู้ชุมนุมเข้ามาต่อว่าเขาและเพื่อนๆ ตอนนั้นเขาค่อนข้างไม่เข้าใจเท่าไหร่นัก แต่ความรู้สึกที่ได้รับจากการต่อว่าคือ ผู้ที่มาต่อว่าจัดให้เขาเป็นศัตรู และผลักให้เขาเป็นคนเลว “ในใจคือ อย่างน้อยก็คงไปอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่ว่า จะคิดว่าเดี๋ยวกูจะจับมัน คิดว่า ไปนั่งเล่นโทรศัพท์ นั่งกินลูกชิ้นไป”

เมื่อสวมเสื้อเหลืองแล้วมีปัญหาในลักษณะนี้ทำให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เปลี่ยนเป็นชุดควบคุมฝูงชนแทน เขามองว่า ตำรวจส่วนมากไม่ได้มองว่า วันนี้จะมาจับหรือมาใช้กำลังเป็นการมาตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาและทำให้จบไปในแต่ละวัน สิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องตำรวจรับรู้และเขารู้ดีว่า หากสังคมนี้เปลี่ยนแปลงตำรวจก็ได้ประโยชน์นั้นเช่นกัน

“ผมเชื่อว่า ตำรวจ 80 เปอร์เซนต์ไม่ได้มีความคิดว่า จะจับมัน จะตีมัน ใจคืออยากทำให้จบๆไป อยากกลับบ้าน ตอนที่เจอใจผมเต้นรัวเลยว่า เหี้ยอะไรว่ะเนี่ย เราโดนฝึกให้เจอคนด่า แต่เราเจอในภาวะที่เราจับเขา แต่ตอนเหตุการณ์นั้นคือ ยังไม่ได้จับหรือทำอะไรเลย”

“ตำรวจไม่ได้ว่าจะมีอารมณ์ว่าจะต้องจัดการมัน รู้สึกว่า อยากกลับบ้าน ทุกคนพูดถึงแต่วันกลับบ้าน เบี้ยเลี้ยงคือได้วันละ 200 บาท แต่ค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นด้วยซ้ำ อีกอย่างคือ เรารู้แล้วว่า ตอนท้ายมันจะเป็นอย่างไร เรารู้ว่า เขาเรียกร้องและมีผลดีกับเราอย่างไร”

เหตุกระทบใจตำรวจ : การต่อว่า, ขบวนเสด็จและม็อบ16กรกฎา

การเผชิญหน้ากับประชาชนครั้งนั้นทำให้ ‘เอ’ สร้างความรู้สึกไม่ดีอย่างมาก “ตอนนั้นคิดจะลาออกด้วยซ้ำไป โดนชี้หน้าด่า ผมยึดมั่นนะว่า ตำรวจบ้านนอกรับใช้ประชาชนมากกว่า เราอยู่ต่างจังหวัดอยู่กินข้าว เช้ามาก็ไปกินน้ำชากับชาวบ้าน เราอยู่กับชาวบ้านตลอด”  ขณะที่วันเดียวกันยังมีเหตุการณ์ที่กระทบใจตำรวจหลายนาย กรณีขบวนเสด็จผ่านผู้ชุมนุมมาที่แยกพาณิชยการและนางเลิ้ง  ‘เอ’ บอกว่า ตำรวจหลายนายมีปฏิกิริยาที่รับไม่ได้ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ทำนองว่า กระทบใจ แต่เขา ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงตอนเกิดเหตุด้วยมองว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นการถวายความปลอดภัยของตำรวจก็มีช่องโหว่ด้วยเช่นกัน

อีกเหตุการณ์ที่เขารับไม่ได้คงเป็นเหตุการณ์วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่หน้ากระทรวงสาธารณสุข ไบร์ท-ชินวัตร จันทร์กระจ่างและม่อน-ธนเดช ศรีสงคราม นัดรวมตัวเพื่อขอความชัดเจนเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ดีแก่ประชาชนกับอนุทิน ชาญวีรกูล เวลาประมาณ 15.00 น. ผู้ชุมนุมขอให้อนุทินชี้แจงต่อผู้ชุมนุมจะเป็นทางใดก็ได้ เช่น จดหมายหรือคลิปวิดีโอภายในเวลา 17.00 น. เมื่อถึงเวลาไม่มีคำตอบ มวลชนจึงตั้งแถวเข้าไปที่แนวตำรวจ มีการผลักดันและกระทืบไปที่แนวโล่ของตำรวจ

ระหว่างนั้นมีการจับกุมไบร์ท-ชินวัตรและผู้ชุมนุมอีกคนหนึ่ง ต่อมาตำรวจได้สั่งการให้ตำรวจนอกเครื่องแบบจับกุมม่อน-ธนเดช ระหว่างที่จับกุมนั้นมีมวลชนวิ่งเข้าไปช่วยเหลือ ผลักดันจนนำตัวออกมาได้ ตำรวจนอกเครื่องแบบนายนั้นล้มลงไป มีกลุ่มบุคคลเข้าไปกระทืบและหนึ่งคนคว้าวัตถุลักษณะคล้ายก้อนหินเดินเข้าไปด้วย ไม่แน่ชัดว่า ตำรวจนอกเครื่องแบบได้รับบาดเจ็บจากวัตถุดังกล่าวหรือไม่ จากนั้นกลุ่มตำรวจเข้ามาห้ามไว้

“ผมรู้สึกว่า รับไม่ได้ มันเรียกร้องด้วยความรุนแรง บางครั้งตำรวจอาจจะเคยไปยืนในม็อบ[ร่วมชุมนุม]ด้วยซ้ำ สิ่งที่สัมผัสได้คือรู้สึกอันตราย ทำไมมาประท้วง…ไม่ใช่อารมณ์ความโกรธนายกฯ แต่มันคือความคึกคะนอง”

‘เอ’ เล่าว่า ตอนที่เขาไปอยู่แนวหน้าและต้องเจอกลุ่มคนที่เขาให้นิยามลักษณะว่า เป็น “เด็กช่าง” เช่นกรณีของการชุมนุมวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ทำให้เขารู้สึกกลัวและตั้งคำถามว่า ทำไมต้องใช้กำลังเช่นนี้ เขามองการชุมนุมว่า ครั้งนี้มันไม่เหมือนกับการชุมนุมของนักศึกษาในปี 2519 แล้วที่ตำรวจมองว่า นักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์จะต้องจัดการให้ได้ แต่เขายอมรับว่า มีตำรวจอีกไม่น้อยเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่อาจจะไม่ได้คิดเช่นเขา

เขาเล่าประสบการณ์ของตำรวจรุ่นพี่ที่ต้องรับมือชุมนุมในปี 2556 เวลานั้นชาวบ้านที่รู้จักมักคุ้นกันดีกับตำรวจมีการชุมนุมเรียกร้องเรื่องยางพารา ครั้งนั้นคือฝันร้ายของตำรวจในพื้นที่ กลุ่มผู้ชุมนุมมองว่า ตำรวจเป็นเครื่องมือของรัฐบาลและเป็นที่ระบาย มีบางกลุ่มที่ต้องการทำให้ตำรวจไม่สามารถ “ทำอะไรได้อีก”  จึงเกิดเหตุการณ์เผารถตำรวจและติดตามไปที่บ้านของตำรวจ ตอนนั้นตำรวจในพื้นที่ถูกคุกคามอย่างหนัก ไม่สามารถใส่เครื่องแบบเดินได้ ซึ่งในความเห็นของเขาต่างจากกลุ่ม “เด็กช่าง” ที่เผชิญหน้ากับตำรวจในลักษณะ “คึกคะนองแล้วจบ แต่ไม่ได้นึกว่า แกนนำและภาพลักษณ์การชุมนุมเสียหายแค่ไหน”

ความรุนแรงไร้ประโยชน์ เบี่ยงประเด็นการไล่ประยุทธ์

ในระยะหลังตำรวจมักจะหลีกเลี่ยงในการเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม การชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมาแม้เป็นการชุมนุมขนาดใหญ่อย่างคาร์ม็อบของสมบัติ บุญงามอนงค์ ตำรวจไม่ได้นำแนวปฏิบัติในการประกาศข้อกฎหมายผ่านเครื่องขยายเสียงในพื้นที่มาใช้และตั้งแนวป้องกันพื้นที่ปกป้องของรัฐไว้ ‘เอ’ ตั้งข้อสังเกตว่า การเฉยของตำรวจอาจจะต้องไปดูเปรียบเทียบกับงบประมาณในการควบคุมฝูงชน และอารมณ์ของสังคม เขามองว่า “พอปะทะกันคนก็ยิ่งโกรธ อย่างตอนนั้นฉีดน้ำ คนก็ยิ่งโกรธ คนออกมากขึ้น” จึงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าเป็นการดำเนินคดีตามหลังแทน

‘เอ’ บอกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมไม่เป็นประโยชน์ ยิ่งรุนแรงเท่าไหร่ก็ยิ่งเข้าทางรัฐบาล ผู้ชุมนุมมาไล่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐบาล แต่เมื่อเกิดความรุนแรงกลายเป็นภาพความขัดแย้งระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมแทน