แอบติด GPS นักกิจกรรม ทำไม่ได้ ไม่มีกฎหมายรองรับ

ระหว่างช่วงเวลาที่การชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองเข้มข้น ฝ่ายรัฐย่อมต้องการอยากรู้อยากเห็นความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมที่จะแสดงออกในแนวทางที่ต่อต้านรัฐบาล เพื่อจะได้เตรียมการรับมือ ขณะเดียวกันการติดตามความเคลื่อนไหวก็อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของนักเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งการจะละเมิดสิทธิของประชาชนได้ต้องทำไปภายใต้กรอบที่กฎหมายให้อำนาจไว้ กฎหมายนั้นต้องออกโดยตัวแทนของประชาชนที่ชอบธรรม ต้องใช้มาตรการที่กระทบสิทธิให้น้อยที่สุด และวัตถุประสงค์ต้องทำเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เพื่อปกป้องความมั่นคงของรัฐบาล

ศรีไพร นนทรี – ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ว่า ขณะที่ตนจะไปร่วมชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมัน #ม็อบ26ตุลา ก็ได้พบเข้ากับถุงพลาสติกใสติดอยู่กับเหล็กใต้ท้องรถฝั่งผู้โดยสารด้านหลังเยื้องกับคนขับโดยบังเอิญ จึงออกแรงดึงและพบว่ามีกล่องเล็กๆ พันด้วยเทปสีดำ 2 กล่องหล่นลงมา แกะดูแล้วเป็นกล่องติดตาม (GPS) ทำหน้าที่บอกตำแหน่งและดักฟังเสียง ด้านในมีซิมดีแท็คใส่ไว้ อีกกล่องเป็นกล่องใส่แม่หล็กเพื่อยึดกับใต้ท้องรถและพันห่อด้วยถุงพลาสติกเพื่อกันน้ำ เจ้าตัวคาดว่าอาจเป็นตำรวจที่เคยที่ติดตามตนตั้งแต่คดีคนอยากเลือกตั้งที่เป็นผู้นำมาติดตั้งไว้
โตโต้ ปิยรัฐ – แกนนำกลุ่ม We Volunteer โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ว่า ในขณะที่นำรถยนต์ที่จอดไว้ที่ศูนย์ประสานงานของ wevo บริเวณย่านวงเวียนใหญ่เข้าศูนย์เพื่อตรวจสอบสมรรถนะ ทีมช่างตรวจพบเครื่องติดตามจีพีเอสที่ยึดด้วยแรงแม่เหล็กติดอยู่ที่บริเวณใต้ท้องรถ ซึ่งคาดว่าใช้เพื่อติดตามตัวและบันทึกการเดินทางของตน โดยโตโต้คาดว่าเป็นเรื่องในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจมีเจตนาไม่ดีต่อตน หรือผู้ใกล้ชิดที่ใช้รถยนต์คันดังกล่าว
ช่อ พรรณิการ์ – อดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 หลังมีประชาชนแสดงความเป็นห่วงกรณีที่มีรายชื่อของตนอยู่ใน Watchlist ว่า เมื่อหลายเดือนก่อนในขณะที่เอารถไปซ่อม ช่างได้ตรวจพบอุปกรณ์ติดตามตัว ข้างหลังเป็นแถบแม่เหล็กติดอยู่ที่ใต้ท้องรถ ด้านในมีซิมการ์ด และมีลักษณะของวิธีการติดอย่างมืออาชีพ ไม่ทราบถึงระยะเวลาที่อุปกรณ์นี้ถูกติดไว้ แต่เบื้องต้นได้ทำการตรวจสอบเบอร์โทรของซิมการ์ดนั้นแล้ว พร้อมระบุว่า นี่เป็นราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการพูดความจริงในประเทศนี้ 
ทะลุฟ้า – กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ว่า ทีมงานทะลุฟ้าตรวจพบเครื่องติดตามและดักฟังใต้ท้องรถยนต์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ลักษณะเดียวกันกับที่ ช่อ พรรณิการ์เจอ โดยคาดว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกเจ้าหน้าที่นำมาติดตั้ง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 หลังกลุ่มทะลุฟ้าโดนจับกุมและถูกยึดรถจากหน้าสโมสรตำรวจไว้ที่สน.ทุ่งสองห้อง ทีมทะลุฟ้าระบุว่า การกระทำนี้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจตามมาตรา 157 เป็นการทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารจากการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และยังชี้ให้เห็นถึงความหวาดกลัวที่มีต่อประชาชนอีกด้วย 
ข้อมูลอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่าด้วยระบบจีพีเอสระบุว่า การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญอเมริกาฉบับที่ 4 ได้ให้สิทธิแก่พลเมืองชาวอเมริกันโดยปกป้องจากการเข้าตรวจค้นหรือการจับกุมที่ไม่สมเหตุสมผล และยังกำหนดให้หมายค้นนั้นต้องอาศัยสาเหตุที่เป็นไปได้อีกด้วย 
ในเดือนมกราคม 2555 ศาลฎีกาสหรัฐกำหนดให้ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องมีหมายค้นก่อนการติดตั้งอุปกรณ์จีพีเอสที่รถยนต์ของผู้ต้องสงสัย โดยการตัดสินนี้อิงจากสิทธิตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ฉบับแก้ไขครั้งที่ 4 เนื่องจากการติดตั้งอุปกรณ์นี้เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิทางกายภาพของรถยนต์ผู้ต้องสงสัยโดยตรง  

ตามหลักการสืบสวนและสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ซึ่งเป็นเหมือนคู่มือชิ้นหลักในการทำงานของตำรวจ ไม่ได้มีส่วนใดเลยที่ให้อำนาจตำรวจในการติดตาม หรือใช้อุปกรณ์ติดตามตัวหรือติดตามรถของผู้ต้องสงสัย ไม่ว่าจะสงสัยในการกระทำความผิดใด ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัว

ขณะเดียวกันพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคลลก็ถูกสั่ง “เลื่อน” การบังคับใช้ออกไปเป็นครั้งที่สอง เข้าสู่ปีที่สาม ไม่สามารถนำมาใช้กับการเก็บข้อมูลโดยหน่วยงานใดๆ ของรัฐได้ จึงยังไม่สามารถนำมาพิจารณาด้วย

แม้จะไม่มีกฎหมายใดที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐใช้เครื่องติดตามแบบ GPS ติดไว้ที่รถของผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองได้ แต่กฎหมายพิเศษที่ใกล้เคียงกับการให้เจ้าหน้าที่รัฐแสวงหาข้อมูลข่าวสารได้ด้วยเครื่องมือพิเศษ คือ พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ พ.ศ.2562 

พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ผ่านการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วง “โค้งสุดท้าย” ก่อนสภาแห่งนี้จะหมดอายุ และประเทศใช้เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 กำหนดนิยามของ “การข่าวกรอง” ไว้ในมาตรา 4 หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมาย กำลังความสามารถ และความเคลื่อนไหว รวมทั้งวิถีทางของบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์การใด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่อาจกระทำการอันเป็นพฤติการณ์เป็นภัยคุกคาม ทั้งนี้ เพื่อรักษาความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐและให้รัฐบาลนำมาประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายแห่งชาติ

และมาตรา 6 วรรคสอง ให้อำนาจการปฏิบัติภารกิจด้านข่าวกรองโดยใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีที่ทันสมัยไว้อย่างกว้างขวางมาก ดังนี้

“ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารอันเกี่ยวกับการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการสื่อสาร หรือการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อาจดำเนินการด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งอาจใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เครื่องโทรคมนาคม หรือเทคโนโลยีอื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารดังกล่าวได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี โดยระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการบันทึกรายละเอียดขั้นตอน การดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เหตุผล ความจำเป็น วิธีการ บุคคลที่ได้รับผลกระทบหรืออาจได้รับผลกระทบ และระยะเวลาในการดำเนินการ รวมทั้งวิธีการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาผลกระทบต่อบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้อง”

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ออกระเบียบสำนักข่าวกรรองแห่งชาติ ว่าด้วยการได้มาซึ่งข้อมูลหรือเอกสารอันเกี่ยวกับการข่าวกรอง การต่อต้านข่าวกรอง การข่าวกรองทางการเสื่อสาร หรือการรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2563 (ดูตามไฟล์แนบ) ระเบียบนี้ตีกรอบการทำงานของผู้ปฏิบัติงานข่าวกรอง ให้คำนึงถึงผลกระทบ และสิทธิของประชาชนด้วย

ข้อ 8 ของระเบียบฉบับดังกล่าว กำหนดว่า เมื่อมีเหตุต้องปฏิบัติการข่าวกรอง ให้ขออนุญาตต่อผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองทุกครั้ง โดยหนังสือขออนุญาตต้องระบุการปฏิบัติ ระยะเวลา เป้าหมาย เหตจำเป็นและแนวโน้มที่จะได้ข้อมูล รวมทั้งบุคคลที่จะได้รับผลกระทบ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติจะอนุญาตได้เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อว่าการปฏิบัตินั้นเป็นไปเพื่อทราบถึงข้อมูลที่อาจกระทำการเป็นภัยคุกคาม หรือทำลายความมั่นคงแห่งชาติ และผู้บังคับบัญชาต้องรายงานความคืบหน้าเพื่อยืนยันถึงความจำเป็นทุก 30 วัน

สำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมที่แสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ศรีไพร นนทรี, ปิยรัฐ จงเทพ, พรรณิการ์ วานิช รวมทั้งกลุ่มทะลุฟ้า ล้วนมีแนวคิดและแนวทางต่อต้านรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ใช้การเคลื่อนไหวแบบสันติ ไม่ได้ใช้กำลังหรือความรุนแรงให้ได้มาซึ่งเป้าหมายทางการเมือง ยังอยู่ในกรอบเสรีภาพการชุมนุมและเสรีภาพการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่กลุ่มบุคคลที่อาจกระทำการเป็นภัยคุกคาม หรือทำลายความมั่นคงแห่งชาติ ไม่อยู่ในลักษณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองจะอนุญาตให้ใช้เครื่องติดตามแบบ GPS ได้

และการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองก็ไม่ใช่การกระทำที่ “อาจกระทำการอันเป็นพฤติการณ์เป็นภัยคุกคาม” ที่เจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองจะต้องหาข้อมูลข่าวสาร “เพื่อรักษาความมั่นคงหรือประโยชน์แห่งรัฐ” ตามคำนิยามในมาตรา 4 

ดังนั้น การติดเครื่องติดตาม GPS ไว้ที่รถของนักกิจกรรมทางการเมือง จึงไม่มีกฎหมายรองรับให้สามารถทำได้ หากเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็ย่อมเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และตามระเบียบสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ข้อ 22 ก็เขียนไว้ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ที่กระทำโดยจงใจนอกวัตถุประสงค์ในการรวบรวมข่าวกรอง ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ไฟล์แนบ