คดี #ละเมิดอำนาจศาล พิจารณา “กึ่งเปิดเผย” แต่ “ห้ามจด” คำพูดผู้พิพากษา

Half Public

สัปดาห์ที่ผ่านมามีนัดพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลถึงสามคดี ได้แก่ 

๐ วันที่ 15 มิถุนายน 2564 คดีของนวพล หรือไดโน่ ทะลุฟ้า และเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากการชุมนุมหน้าศาลอาญาวันที่ 8 มีนาคม 2563 

๐ วันที่ 16 มิถุนายน 2564 คดีของเบนจา และณัฐชนน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากการชุมนุมหน้าศาลอาญา วันที่ 30 เมษายน 2564

๐ วันที่ 30 เมษายน 2564 และพิสิษฐ์กุล หรือกระเดื่อง Free Art จากการชุมนุมหน้าศาลอาญาวันที่ 29 เมษายน 2564 กิจกรรมทั้งหมดเป็นการเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้จำเลยคดี #112 จากการชุมนุมของ #ราษฎร

ทั้งสามคดีศาลนัดไต่สวนพยาน และเมื่อศาลขึ้นบัลลังก์ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีศาลอ่านข้อกำหนด ซึ่งไม่ได้ใช้กับคดีอื่น ดังนี้

1. ห้ามบันทึกภาพและเสียง หรือทั้งภาพและเสียงไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหว ถ่ายทอดสดเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น บันทึกข้อความคำพูดของผู้พิพากษา พยาน ทนายความ รายละเอียดคำเบิกความพยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้คัดถ่ายถ้อยคำสำนวนและเอกสารหรือกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันในห้องพิจารณาคดีของศาล

2. ห้ามมิให้คู่ความ บุคคลอื่น ที่อยู่ภายในห้องพิจารณาลุกขึ้นแถลงการณ์หรือกระทำใดใดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล หรือเป็นการรบกวนขณะศาลดำเนินกระบวนพิจารณา

ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดดังกล่าวถือว่ากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ข้อกำหนดดังกล่าว ศาลอ้างอำนาจในการออกมาบังคับใช้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 30 ซึ่งมาตราดังกล่าวกำหนดไว้ว่า

มาตรา 30 ให้ศาลมีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือแก่บุคคลภายนอกที่อยู่ต่อหน้าศาลตามที่เห็นจำเป็น เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็ว อำนาจเช่นว่านี้ ให้รวมถึงการสั่งห้ามคู่ความมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในทางก่อความรำคาญ หรือในทางประวิงให้ชักช้าหรือในทางฟุ่มเฟือยเกินสมควร

ข้อสังเกต ประการแรก คือ ข้อกำหนดใดๆ ที่ออกตามมาตรา 30 ต้องเป็นไปเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามเที่ยงธรรมและรวดเร็วซึ่งไม่ปรากฏคำอธิบายที่ชัดเจนจากผู้พิพากษาที่อ่านข้อกำหนดดังกล่าวว่า การห้ามบันทึกข้อความคำพูดของผู้พิพากษา พยาน ทนายความ และรายละเอียดคำเบิกความจะทำให้กระบวนการพิจารณาเที่ยงธรรม หรือรวดเร็วอย่างไร จากการสอบถามชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญาอย่างไม่เป็นทางการ ได้รับคำอธิบายว่า ศาลจะอนุญาตให้คู่ความคัดถ่ายคำเบิกความของพยานในสำนวน การห้ามดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำไปเผยแพร่ต่อโดยไม่ตรงกับความจริง

ข้อสังเกตประการที่สอง คือ ข้อกำหนดที่อาศัยอำนาจตามาตรา 30 ใช้บังคับได้กับคู่ความ และบุคคลที่อยู่ต่อหน้าศาลเพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาลเท่านั้น ศาลที่พิจารณาคดีไม่มีอำนาจออกข้อกำหนดให้มีผลไปยังบุคคลภายนอกที่ไม่ได้มาศาล หรือครอบคลุมการกระทำที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการพิจารณาคดี รวมทั้งไม่สามารถสั่งห้ามการรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดีได้

นอกจากนี้ การพิจารณาคดีฐานละเมิดอำนาจศาลย่อมต้องอยู่ภายใต้หลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงสิทธิในการพิจารณคดีที่เป็นธรรม โดยไม่มีเหตุใดๆ ให้ศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ และศาลก็ไม่ได้ออกคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ แต่การเข้าถึงห้องพิจารณาคดีนั้นยังเป็นเรื่องยากลำบาก เนื่องจากจะต้องผ่านจุดตรวจของตำรวจศาลที่ใส่ชุดสีน้ำเงินที่บริเวณลานจอดรถ ตำรวจจะถามรายละเอียดทุกคนว่า มาศาลคดีอะไร มาทำอะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับคู่ความ ถ้าบอกเพียงว่าเป็นคนนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคู่ความเพียงจะมาฟังการพิจารณาเท่านั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านรั้วเหล็กที่ลานจอดรถมาได้ โดยอ้างเหตุผลเรื่องการป้องกันโรคโควิด19 โดยจุดคัดกรองที่กล่าวถึงจะตั้งเฉพาะวันที่มีนัดพิจารณาคดีการเมือง มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดแบบเคลื่อนย้ายได้ไว้บันทึกภาพผู้ที่เดินผ่านเข้าทุกคนด้วย นอกจากนั้นในบางครั้งก็จะมีชายฉกรรจ์แต่งกายนอกเครื่องแบบมาประจำการที่จุดคัดกรองด้วย 

หากสามารถเข้าไปในอาคารศาลได้แล้ว หน้าห้องพิจารณาคดีก็จะมีการตั้งจุดตรวจอีก โดยอ้างสถานการณ์โควิด จึงไม่สามารถอนุญาตให้ผู้มาสังเกตการณ์เข้าห้องพิจารณาคดีได้ ถ้าหากว่าในห้องพิจารณาคดีวันนั้นมีผู้มาสังเกตการณ์น้อย และมีเก้าอี้ว่างมาก ก็จะได้รับอนุญาตให้เข้า แต่ถ้ามีคนมาหลายคน ก็จะมีทั้งเจ้าหน้าที่ศาล ตำรวจศาลชุดสีน้ำเงิน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชุดสีเขียว พยายามเจรจาต่อรองไม่ให้เข้าไปในห้องพิจารณาคดี ในการพิจารณาคดีของไดโน่ วันที่ 15 มิถุนายน 2564 เมื่อแฟนของไดโน่จะเข้าไปที่อาคารศาลก็ถูกห้าม ทำให้มีปากเสียงกันกับตำรวจศาลด้วย แต่สุดท้ายก็ได้รับอนุญาตให้เข้าได้

บรรยากาศการพิจารณาคดีภายใต้ข้อกำหนดห้ามจดและการตรวจเข้มเพราะโควิดเช่นนี้ จึงเป็นลักษณะกึ่งเปิดเผย 

กล่าวคือ การพิจารณาเปิดเผยยังมีอยู่ แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าฟังการพิจารณาคดีก็อาจรู้สึกว่าไม่ได้รับการต้อนรับอย่างดี และไม่รู้สึกสบายใจที่จะเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี คนที่ไม่ได้ไปศาลด้วยตัวเองแต่อยากติดตามรับทราบกระบวนการที่เกิดขึ้นในคดี ก็ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

สำหรับเจ้าหน้าที่ไอลอว์ที่ไปสังเกตการณ์การพิจารณาคดีทั้งสามวันในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับการปฏิบัติที่ดี โดยได้สามารถผ่านจุดตรวจเข้าไปในห้องพิจารณาคดีได้ แม้จะมีตำรวจศาลที่มาตรวจสอบ และสอบถามอยู่ตามจุดต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ห้ามปราม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ของไอลอว์แสดงตัวชัดเจน และเคยมีหนังสือแจ้งการสังเกตการณ์คดีอย่างเป็นทางการต่อศาล แต่สำหรับสื่อมวลชนจากสำนักข่าวต่างๆ หรือบุคคลทั่วไปก็อาจได้รับการปฏิบัติที่ต่างออกไป ซึ่งเมื่อบรรยากาศรอบศาลถูกจัดการให้มีลักษณะเช่นนี้ จึงไม่เอื้อต่อการติดตามความเป็นไปของคดีโดยประชาชน 

คดีละเมิดอำนาจศาลเป็นคดีที่ต่างจากคดีประเภทอื่นๆ เพราะคดีละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดที่กระทำต่อศาลโดยตรง ศาลไม่ใช่คนกลางที่เพียงแต่รับฟังข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้วมีคำตัดสิน แต่ศาลคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดี แม้ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลทุกองค์คณะจะกล่าวยืนยันว่า จะให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสนำข้อเท็จจริงเข้าสู่ศาลเพื่อต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่เมื่อคดีละเมิดอำนาจศาลเกิดจากการที่ผู้ถูกกล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์ศาลโดยตรงสังคมก็อดตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของศาลไม่ได้ 

หลักประกันสุดท้ายที่จะช่วยยืนยันว่า จำเลยเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม คือ การพิจารณาโดยเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างเต็มที่เท่านั้น หากศาลยิ่งเปิดโอกาสให้ศาลประชาชนสามารถเข้ามาสังเกตการณ์คดีที่ศาลได้อย่างเต็มที่ ภายใต้การต้อนรับและการควบคุมโรคที่เป็นมิตร ดำเนินกระบวนการพิจาณาคดีโดยให้สิทธิจำเลยต่อสู้คดีเต็มที่จริงๆ และเปิดให้รายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ก็น่าจะเป็นวิธีการเดียวที่ทำให้ความเคลือบแคลงจากสาธารณชนเบาบางลง