รู้จักสิทธิขั้นพื้นฐาน กรณีถูกคุกคาม-เรียก-จับ จากการแสดงออกทางการเมือง

If arrest

ชวนทำความเข้าใจสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เมื่อถูกตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐติดตาม คุกคาม เรียกให้ไปพบ หรือจับกุม จากการแสดงออกทางการเมืองภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยาวนานกว่าหนึ่งปีเต็ม และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ถ้าตำรวจมาหาที่บ้าน ต้องทำยังไง?

ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานของรัฐ สามารถติดตามหรือไปเยี่ยมบ้านประชาชนที่ไม่ได้กระทำความผิด หรือยังไม่มีข้อกล่าวหา ไม่มีกฎหมายให้อำนาจตำรวจเข้าไปนั่งคุยในบ้านของประชาชนเพื่อพูดคุยทำความตกลง หรือสอบถามข้อมูลต่างๆ ถ้าไม่มีเหตุสงสัยว่า บุคคลนั้นกระทำความผิดต่อกฎหมาย

เขตบริเวณบ้านหรือที่พักอาศัย เป็นเขตพื้นที่ส่วนตัวของผู้อยู่อาศัย เจ้าหน้าที่ของรัฐจะ “ก้าวล่วง” เข้าไปในพื้นที่บ้านของประชาชนได้จะต้องเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและมีหมายศาลเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิ.อาญา มาตรา 92 ที่กำหนดว่า ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้น

ที่รโหฐาน หมายถึง สถานที่ใดๆ ที่ไม่ใช่ที่สาธารณะ ดังนั้น พื้นที่ตั้งแต่รั้วบ้านจนถึงตัวบ้าน ถือว่าเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบ้านของตัวเอง บ้านเช่า คอนโด หรือสถานที่อยู่อาศัยประเภทใดก็แล้วแต่ เป็นที่รโหฐานตามความหมายของ ป.วิ.อาญา ที่ตำรวจจะเข้ามาเองโดยพลการไม่ได้ ต้องมีหมายศาลเท่านั้นและต้องแสดงหมายจากศาลให้เจ้าของหรือผู้ดูแลบ้านทราบก่อนเข้ามาด้วย

กรณียกเว้นที่ให้ตำรวจเข้าไปในที่รโหฐานได้ โดยไม่ต้องมีหมายศาล ได้แก่ มีเสียงร้องให้ช่วย รือมีพฤติการณ์อื่นใดแสดงว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐาน มีความผิดซึ่งหน้ากระทำลงในที่รโหฐาน เมื่อบุคคลที่กระทำผิดซึ่งหน้าได้หลบหนีเข้าไป มีหลักฐานตามสมควรว่ามีสิ่งของที่มีไว้หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิดซ่อนหรืออยู่ในนั้น และหากเนิ่นช้าสิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน เมื่อเจ้าของบ้านเป็นผู้จะถูกจับ และการจับนั้นมีหมายจับออกมาแล้ว

และยังมีข้อยกเว้น ถ้าหากเจ้าของบ้านยินยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปในบริเวณบ้านได้ แม้จะไม่มีหมายศาล หรือไม่มีเหตุยกเว้นให้เข้าไปได้ ก็ยังเป็นการเข้าไปที่ถูกต้องอยู่ “ความยินยอม” จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญ ถ้าหากเจ้าของบ้านหรือผู้ที่ดูแลบ้านอยู่ในขณะที่ตำรวจมายินยอมให้ตำรวจเข้าบ้านไปนั่งคุย หรือไปสำรวจภายในบ้านได้ ตำรวจก็สามารถเข้าไปได้

ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่รัฐไปที่บ้านของใครสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ต้องถามหา “หมายศาล” ก่อน ถ้าหากตำรวจไม่มีหมายจับ ไม่มีหมายค้น และไม่มีการระบุเหตุผลที่ชัดเจนว่า กำลังดำเนินการใดโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด เจ้าของบ้านอาจจะเลือกปฏิเสธ “ไม่ต้อนรับ” ไม่พูดคุยด้วยและไม่ให้เข้ามาภายในบ้านก็ได้ และการปฏิเสธต่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามกฎหมายใด 

นอกจากนี้ แม้ตำรวจจะเดินมาโดยถือหมายค้นมาแสดงด้วย การค้นที่ถูกต้องตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจะต้องเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตำรวจยศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป และต้องกระทำในเวลากลางวัน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นตามที่ ป.วิ.อาญาฯ มาตรา 96 ถึงจะเข้าค้นในเวลากลางคืนได้

ถ้าตำรวจเรียกให้ไปพบ ต้องทำยังไง?

มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ทหาร ใช้วิธีคุกคามนักกิจกรรม ด้วยการโทรศัพท์ไปหาแล้วเรียกตัวให้มาพบ หรือการไปตามตัวจากบ้าน สถานที่ทำงาน สถานศึกษา แล้วนำตัวไปเข้าสู่กระบวนการ “พูดคุย” หรือการ “ซักถาม” ซึ่งหากยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดีการตามตัวไปก็เป็นกระบวนการที่ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ตำรวจไทยได้สร้างขึ้นเองเพื่อหวังผลให้เกิดความหวาดกลัวและความเงียบงันทางการเมืองเท่านั้น หากเป็นกระบวนการเช่นนี้ผู้ถูกเรียกสามารถปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการได้

 การ “เรียก” ให้บุคคลมาพบนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีหมายเรียก หรือหมายจับ ตามป.วิ.อาญา เท่านั้น โดยป.วิ.อาญา มาตรา 52 กำหนดว่า การที่จะให้บุคคลใดมาที่พนักงานสอบสวน หรือมาที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือมาศาล เนื่องจากการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณาคดี หรือการอื่นตามประมวลกฎหมายนี้ ต้องมีหมายเรียกที่ออกโดยพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือของศาล แล้วแต่กรณี หมายความว่า หมายเรียกจะออกได้โดยตำรวจ ไม่จำเป็นต้องออกโดยอำนาจของศาล

แต่ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปทำการสอบสวนด้วยตัวเอง ย่อมมีอำนาจที่จะเรียกผู้ต้องหาหรือพยานมาได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียก ซึ่งในทางปฏิบัติตำรวจจะหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจ “เรียก” โดยตรงโดยไม่ออกหมายเรียกใดๆ ตามหลักเกณฑ์ข้อนี้

คำว่า พนักงานสอบสวน หมายถึง ตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไป ส่วนพนักงานฝ่ายปกครอง จะต้องดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอขึ้นไปเท่านั้น และตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หมายถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มียศตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีขึ้นไปจนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงจะใช้อำนาจตามมาตรานี้ได้

หากได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ไปพบ ก็ควรสอบถามเหตุผลให้ชัดเจนว่า มีการออกหมายเรียกหรือไม่ ถ้าไม่มีการออกหมายเรียกตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รายนั้น มียศหรือตำแหน่งตามที่กฎหมายระบุไว้หรือไม่ สอบถามชื่อและหน่วยงานที่สังกัดอยู่ รวมถึงเหตุผลของการเรียกพบ ถ้าไม่มีการออกหมายเรียกและไม่ใช่เจ้าหน้าที่ “ชั้นผู้ใหญ่” จะปฏิเสธไม่ไปตามที่ถูกเรียกก็ได้ โดยไม่มีความผิด ถ้าหากเห็นว่า การไปพบจะทำให้การดำเนินกิจกรรมใดเป็นไปด้วยความราบรื่น และสะดวกที่จะไปพูดคุย ก็สามารถไปพูดคุยกับตำรวจได้ 

โดยหลักแล้ว การที่เจ้าหน้าที่จะเรียกบุคคลมาพบในสถานที่ต่างๆ โดยไม่มีข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดใดตามกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ เพราะการเรียกให้บุคคลมาพบตามกฎหมายนั้น จะต้องมีการออกหมายเรียกอย่างเป็นทางการให้มาพบในฐานะพยานหรือผู้ต้องหาเท่านั้น และต้องเป็นการให้มาพบที่สถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่นั้นๆ เพื่อสอบสวนหรือเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำการใดที่ตำรวจเห็นว่า ฝ่าฝืนกฎหมาย หากได้รับหมายเรียกที่ออกโดยตำรวจท้องที่อย่างเป็นทางการแล้วผู้ต้องหาต้องไปตามหมายเรียกนั้น ถ้าหากไม่ไปตามหมายเรียกอาจถูกออก “หมายจับ” ได้

หากถูกเรียกโดยถูกต้องตามกระบวนการ และต้องไปพบตำรวจตามที่ถูกเรียกแล้ว คนที่ถูกเรียกมีสิทธิที่จะพาทนายความ และผู้ที่ไว้วางใจไปพบกับตำรวจพร้อมกันได้ โดยแนะนำว่า กระบวนการไปพบตำรวจนั้นไม่ควรไปลำพังเพียงคนเดียว อย่างน้อยที่สุดควรจะมีเพื่อในฐานะ “ผู้ที่ไว้วางใจ” ไปด้วย หากตำรวจดำเนินกระบวนการใดๆ จะได้มีผู้รู้เห็นและช่วยติดต่อประสานงานได้

ถ้าถูกตำรวจจับ ต้องทำยังไง?

การจับกุมอาจเกิดได้ทั้งการถูกจับกุมระหว่างการไปร่วมกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง หรือการถูกตำรวจติดตามไปจับกุมที่อื่น เช่น ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือระหว่างการเดินทาง ซึ่งการจับกุมเป็นไปภายใต้หลักการเดียวกัน คือ ตำรวจจะกับกุมใครได้ต้องมี “หมายจับ” ที่ออกโดยศาล เว้นแต่มีเหตุให้จับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ เช่น เป็นความผิดซึ่งหน้า พบบุคคลน่าสงสัยว่าจะก่อเหตุร้ายโดยมีอาวุธ หรือมีเหตุให้ออกหมายจับได้แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับได้ทัน

เมื่อตำรวจจะทำการจับกุม ต้องแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และต้องแสดงหมายจับ หากไม่มีหมายจับมาแสดงก็ต้องอธิบายเหตุผลได้ว่า เหตุใดจึงมีอำนาจจับกุมโดยไม่มีหมายจับ รวมทั้งต้องแจ้งให้ชัดเจนว่า “ถูกจับแล้ว” พร้อมแจ้งว่าถูกจับด้วยข้อกล่าวหาใด และผู้ถูกจับมีสิทธิอะไรบ้าง หากไม่ได้รับแจ้งข้อมูลทุกอย่างให้ถูกต้องตามขั้นตอน ผู้ถูกจับกุมสามารถสอบถามรายละเอียดทั้งหมดได้จนกว่าจะเป็นที่พอใจ

ในระหว่างการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโรคโควิด19 มีการออกข้อกำหนดหลายฉบับ โดยใจความ คือ ห้ามการชุมนุม หรือรวมตัวในสถานที่แออัด ที่มีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค การใช้อำนาจจับกุมประชาชนจากสถานที่ชุมนุมหลายครั้งตำรวจจึงอ้างว่า “เป็นความผิดซึ่งหน้า” และดำเนินการจับกุมโดยไม่ต้องขอหมายจากศาลก่อน

สำหรับผู้ถูกจับกุมที่ต้องการยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติได้ ดังนี้

1. ถ้าหากอยู่คนเดียว ไม่มีใครที่อยู่ด้วยกันขณะถูกจับกุม ให้ตะโกนบอกคนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงว่า ตัวเองถูกจับกุมตัวแล้ว บอกชื่อ-นามสกุล และบอกคนใกล้เคียงว่า ให้ติดต่อเพื่อนหรือญาติที่ไว้วางใจ หรืออาจจะเขียนข้อมูลใส่กระดาษติดตัวไว้ แล้วส่งให้กับคนที่อยู่ใกล้เคียงช่วยดำเนินการต่อก็ได้

2. เมื่อถูกจับกุมตัว ไม่ควรต่อสู้ขัดขืนด้วยกำลัง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บโดยไม่จำเป็น แต่ให้ถามหาสิทธิของผู้ถูกจับกุม ถามข้อกล่าวหา เหตุผลในการจับกุม และสถานที่ที่จะถูกพาตัวไป หากตำรวจที่ทำหน้าที่จับกุมไม่ได้ตอบ ก็ให้ยืนยันถามหาสิทธิของตัวเองไปเรื่อยๆ โดยสุภาพ

3. พยายามจดจำ และบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า ก่อนถูกจับกุมตัวนั้นทำอะไรอยู่ พฤติการณ์การจับกุมตัวทำโดยใคร กี่คน แต่งตัวอย่างไร มีการใช้กำลังรุนแรงทำให้ได้รับบาดเจ็บตรงไหนหรือไม่ การจับกุมต้องใส่กุญแจมือหรือเครื่องพันธนาการใด ถูกพาตัวไปที่ไหนและมีกระบวนการอะไรเกิดขึ้นกับตัวเองบ้าง เพื่อจะได้เล่าให้ทนายความฟังเมื่อมีโอกาส หากยังสามารถใช้โทรศัพท์ได้จะถ่ายทอดสดเหตุการณ์การควบคุมตัวไปด้วยก็ได้

4. ในขั้นตอนการสอบสวน คือ การที่ตำรวจจะมานั่งคุยด้วยเพื่อทำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดี ต้องยืนยันให้ตำรวจแจ้งสิทธิให้ครบถ้วน ถ้าไม่อยากตอบคำถามก็ใช้สิทธิไม่ให้การในชั้นนี้ก็ได้ ถ้าไม่มั่นใจกับคำถามไหนก็ไม่ตอบเฉพาะกับคำถามนั้นๆ ก็ได้ เพราะทุกอย่างที่ให้การไปจะถูกบันทึกและเอาไปใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล ถ้าหากตอบคำถามผิดไปการขอตอบคำถามใหม่ในชั้นศาลจะไม่น่าเชื่อถือ

5. ในขั้นตอนการสอบสวน ต้องยืนยันสิทธิที่จะมีทนายความและมีผู้ที่ไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนด้วย หากมีทนายความที่รู้จักกันพร้อมช่วยเหลือคดีอยู่แล้ว ให้ยืนยันกับตำรวจว่า จะให้สอบสวนต่อเมื่อทนายความคนนั้นๆ มาถึงเท่านั้น และให้ตำรวจติดต่อทนายความคนนั้น ถ้าหากยังไม่มีทนายความ แนะนำให้แจ้งกับตำรวจให้ชัดเจนว่า ต้องการพบกับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งติดตามและช่วยเหลือคดีที่เกี่ยวกับการเมืองมานานและมีความรู้ประสบการณ์อย่างดี ผู้ต้องหาสามารถปฏิเสธไม่ใช้ทนายความที่ไม่แน่ใจได้หากมีทนายความที่แน่ใจได้แล้ว ควรยืนยันสิทธิที่จะให้ผู้ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนได้อีกด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อน พ่อ แม่ ญาติ อาจารย์ หรือใครก็ตามที่ต้องการให้มานั่งเป็นเพื่อนระหว่างถูกตำรวจซักถาม

เพื่อนๆ ญาติๆ หรือทนายความอาจช่วยเรียกร้องสิทธิให้ผู้ต้องหาได้บ้าง แต่ไม่มีน้ำหนักเท่าการที่ผู้ต้องหายืนยันสิทธิของตัวเอง ถ้าหากผู้ต้องหาให้การที่เป็นผลร้ายกับตัวเองไป โดยไม่เริ่มถามหาสิทธิของตัวเอง หรือไม่เข้าใจข้อกล่าวหาอย่างดี คนอื่นก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้