นวัตกรรมม็อบ 2020: กลยุทธ์ใหม่ๆ รับมือการปิดกั้น กดปราบ

ปีที่แล้ว หากพูดถึงการจัดชุมนุมคงไม่มีใครสามารถนึกภาพออกว่า การนัดชุมนุมล่วงหน้าไม่ถึง 1 วัน หรือก่อนหน้าไม่กี่ชั่วโมงจะทำให้เกิดการชุมนุมที่คนเข้าร่วมหลักหลายพันคนได้

หากพิจารณาตลอดทั้งปี กล่าวได้ว่าการจัดชุมนุมของกลุ่ม ‘ราษฎร’ ได้ใช้กลยุทธ์ที่สร้างกระบวนชุมนุมแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

กลยุทธ์จัดชุมนุมต่างๆ ของเยาวชนไม่ได้พัฒนามาจากธรรมชาติของการชุมนุมโดยตัวมันเองเสียทีเดียว แต่เกิดจากการพยายามแหวกข้อจำกัดการปิดกั้นการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร, การจับกุมแกนนำ, การจับกุมคนขับรถเครื่องเสียง

ทำให้กลุ่มผู้จัดชุมนุมต้องงัดวิธีใหม่ๆ เพื่อรับมืออยู่ตลอดเวลา โดยสิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญในศึกครั้งนี้ก็คือ โซเชียลมีเดีย

 

#แฮชแท็กทวิตเตอร์ เมื่อการชุมนุมคือบทสนทนาประจำวัน

นอกจากเฟซบุ๊กที่เป็นแพลตฟอร์มหลักในการสื่อสารนัดหมายกระจายข่าวของผู้จัดชุมนุมแล้ว ทวิตเตอร์ยังเป็นอีกช่องทางหลักที่ผู้จัดชุมนุมและผู้มีส่วนร่วมกับการชุมนุมใช้สื่อสารให้ข้อมูล รายงานข่าวสารกัน โดยลักษณะของแพลตฟอร์มทวิตเตอร์จะมีความทันต่อเหตุการณ์และเนื้อหาสั้นกระชับกว่าเฟซบุ๊ก สามารถค้นหาเรื่องราวที่สนใจได้ง่ายผ่าน “แฮชแท็ก”

แฮชแท็ก (Hashtag) หรือ “#“ เป็นฟังก์ชันหนึ่งของทวิตเตอร์ที่สามารถใส่ลงไปในข้อความที่โพสต์ได้ ผู้ใช้สามารถพิมพ์ “#“ ไว้หน้าคำเฉพาะหรือหัวข้อเรื่องได้ สัญลักษณ์นี้จะเปลี่ยนให้ข้อความดังกล่าวกลายเป็นลิงค์รวมข้อความอื่นๆ ที่ใช้แฮชแท็กเดียวกันไว้ทั้งหมดเพื่อสะดวกต่อการค้นหา ทำให้ผู้ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ไม่รู้จักกันสามารถค้นหาคนที่พูดคุยในหัวเรื่องเดียวกันได้

ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมามีการใช้แฮชแท็กทวิตเตอร์เปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์กันอย่างแพร่หลาย แฮชแท็กการเมืองติดอันดับแฮชแท็กยอดนิยมอยู่หลายครั้ง นอกจากการใช้แฮชแท็กทวิตเตอร์ในการสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลกันแล้ว ยังพัฒนาเป็นการนัดจัดชุมนุมในช่วงเวลาต่อมาด้วย

@@@@ แฮชแท็กนัดชุมนุม จากหน้าจอสู่ท้องถนน

ในปีที่แล้วการชุมนุมของผู้ชุมนุมฝั่งประชาธิปไตยถูกครหาว่า เป็นกระแสเฉพาะในทวิตเตอร์เท่านั้น แต่เมื่อมีการนัดชุมนุมบนท้องถนนจริงกลับมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนไม่มากนัก ปลายปีที่แล้วมีการนัดชุมนุมด่วน (แฟลชม็อบ) #ไม่ถอยไม่ทน วันที่ 14 ธันวาคม 2562 บริเวณสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน หลังจากพรรคอนาคตใหม่เริ่มต้นเผชิญมรสุมที่อาจนำไปสู่การตัดสินยุบพรรค มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก แฮชแท็กขึ้นความนิยมอันดับ 1 ในทวิตเตอร์ มียอดทวีตทะลุล้านทวีต และเกิดข้อความจากป้ายที่ผู้ชุมนุมท่านหนึ่งถือและเป็นที่พูดถึงกันอย่างมากนั่นคือป้าย “ฉันมาจากโลกออนไลน์”

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้เกิดปรากฎการณ์แฮชแท็กร้อน นัดชุมนุมในมหาวิทยาลัย หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค เช่น #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป #KUไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ #สามพระจอมจะยอมได้ไง ทำให้การนัดหมายครั้งต่อๆ มาผู้จัดชุมนุมจึงใช้วิธีการนัดหมายและสื่อสารกับผู้ชุมนุมด้วยกันเองโดยผ่านแฮชแท็กทวิตเตอร์

@@@@ แฮชแท็กวันที่ นัดถี่นัดไว

ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมคณะราษฎรอีสานที่ตั้งเต็นท์เพื่อรอการชุมนุมของคณะราษฎรในที่ 14 ตุลาคม เกิดเหตุการณ์ชุลมุน มีการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ และมีการจับกุมแกนนำหลายคน

ทนายอานนท์ประกาศรวมตัวด่วนหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเวลา 18.00 น. ในวันเดียวกันเพื่อกดดันเรียกร้องให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกจับ นัดหมายที่สกายวอล์ค หน้าหอศิลป์กรุงเทพ โดยใช้แฮชแท็กการประกาศชุมนุมด่วนในวันนั้นว่า #ม็อบ13ตุลา ในวันถัดมาก็ได้มีการใช้แฮชแท็ก #ม็อบ14ตุลา และ #ม็อบ15ตุลา ตามวันที่มีการนัดจัดชุมนุม

สถานการณ์การชุมนุมตึงเครียดยิ่งขึ้นจนเมื่อ #ม็อบ16ตุลา เกิดการสลายการชุมนุมบริเวณแยกปทุมวัน ทำให้หลังจากนั้นมีการนัดชุมนุมทุกวันแบบกะจายตัวทั่วประเทศ โดยจะประกาศสถานที่ล่วงหน้าไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนเวลาชุมนุมจริง ทำให้แฮชแท็ก #ม็อบ(วัน)(เดือน) ถูกใช้เรื่อยมา เพราะสอดรับกับพฤติกรรมคนที่จะติดตามข่าวการชุมนุมรายวัน

 

กรุ๊ปเทเลแกรม การสื่อสารไร้แกนนำ

การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำของคณะราษฎรทำให้การสื่อสารอย่างมีเอกภาพ มีทิศทางกับคนจำนวนมากนั้นยากยิ่งขึ้น โดยเจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการสกัดกั้นการชุมนุมโดยการจับกุมตัวแกนนำหลายคนนับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา ประกอบกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอส ได้ส่งคำร้องต่อศาลเพื่อปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกช่องทางของสื่อ 5 องค์กร หนึ่งในนั้นคือเพจ “เยาวชนปลดแอก - free youth”

“เยาวชนปลดแอก free youth” คือกลุ่มผู้จัดชุมนุมที่ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มราษฎรที่มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กกว่าล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มต้นนัดชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้การชุมนุมที่ผุดราวดอกเห็ดในช่วงต้นปีหยุดชะงักไปนานหลายเดือน ในระลอกหลังนี้เพจเยาวชนปลดแอกเป็นช่องทางสื่อสารหลักของการชุมนุมที่ร้อนฉ่าขึ้นเรื่อยๆ

ในวันที่ 18 ตุลาคม 2563 เพจเยาวชนปลดแอกได้เปิดบัญชีเทเลแกรมให้บุคคลทั่วไปสามารถกดเข้าร่วม เอาไว้ใช้เป็นช่องทางสื่อสารใหม่ เนื่องมาจากความกังวลว่าเพจเฟซบุ๊กอาจถูกปิดอีก อีกทั้งยังสามารถพูดคุยเปิดรับฟังความคิดเห็นการจัดชุมนุมวันต่อวัน

เทเลแกรม (Telegram) คือแอปพลิเคชันสำหรับพูดคุยส่งข้อความระหว่างผู้ใช้งานคนอื่น คล้ายกับแอปพลิเคชันแชทอื่นๆ เช่น LINE หรือ Messenger มีจุดเด่นเรื่องความปลอดภัยและสามารถสร้างห้องแชทที่มีสมาชิกได้สูงสุดได้ถึง 200,000 คน

หลังจากเพจเยาวชนปลดแอกได้ประกาศให้ประชาชนกดเข้าร่วมกลุ่มเทเลแกรมได้เพียง 1 วัน มีผู้เข้าร่วมกลุ่มกว่า 160,000 คน

ก่อนหน้านี้เทเลแกรมเป็นช่องทางการสื่อสารของกลุ่มผู้ชุมนุมในฮ่องกงที่ใช้ในการอัพเดตข้อมูลข่าวสาร และช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องรักษาความปลอดภัยของการชุมนุมในแบบที่ไม่มีแกนนำเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

“แกง” โค้ดไม่ลับสับขาหลอก

การชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นการชุมนุมต่อเนื่องจากวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เพื่อเรียกร้องให้รัฐหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน ผู้จัดได้นัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ายึดพื้นที่แยกราชประสงค์ก่อนเวลาจัด หลังจากนั้นเพจเยาวชนปลดแอกได้ประกาศย้ายสถานที่ชุมนุมผ่านเพจว่า “ด่วน! พบแกงหม้อใหญ่กลางแยกราษฎร์ประสงค์ เพราะวันนี้เขาย้ายไปแยกปทุมวันแล้วนะรู้ยัง?” ทำให้เกิดคำนิยมใหม่คือคำว่า “แกง” หมายความว่า แกล้ง โกหก หลอกให้เชื่อ

การแกงเจ้าหน้าที่เป็นยุทธวิธีใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อรับมือการตั้งกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มักจะมีการตั้งรั้วลวดหนาม วางกองกำลังคุมฝูงชน เตรียมการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ไปจนถึงการตั้งตู้คอนเทนเนอร์ขวางเส้นทางไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าไปจัดชุมนุมในสถานที่นั้นได้ เมื่อเทคโนโลยีการสื่อสารและการเดินทางนั้นสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เพื่อให้การจัดการชุมนุมสำเร็จและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อผู้ชุมนุมจึงมีการประกาศย้ายสถานที่ก่อนถึงเวลานัดชุมนุมจริงไม่กี่ชั่วโมงอยู่หลายครั้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถย้ายกำลังและสิ่งกีดขวางได้ทัน ผู้ชุมนุมต่างเฝ้าหน้าจอ รอให้แกนนำที่ไร้ตัวตนบอกสถานที่และเวลาผ่านโซเชียลมีเดียแล้วค่อยไปปรากฏตัวที่นั่น

@@@@ การแกงครั้งสำคัญในการชุมนุมที่ผ่านมา

1. #ม็อบ16ตุลา: แยกราชประสงค์ ย้ายไป แยกปทุมวัน

[ประกาศย้าย 18.00 น. วันที่ 16 ต.ค. หลังจากผู้ชุมนุมบางส่วนมารวมตัวที่แยกราชประสงค์ตามเวลานัดหมาย 17.00 น.] ระยะห่างสถานที่ 1.3 กม.

2. #ม็อบ25พฤศจิกา: สํานักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ย้ายไป สำนักงานใหญ่ SCB

[ประกาศย้าย 22.25 น. วันที่ 24 พ.ย. เวลานัดหมายจริง 15.00 น. วันที่ 25 พ.ย.] ระยะห่างสถานที่ 12 กม. เวลานัดก่อนถึงเวลานัดหมายจริง 17 ชั่วโมง

3. #ม็อบ29พฤศจิกา: กรมทหารราบที่ 1 ย้ายไป กรมทหารราบที่ 11

[ประกาศย้าย 10.00 น. วันที่ 29 พ.ย. เวลานัดหมายจริง 15.00 น. วันที่ 29 พ.ย.] ระยะห่างสถานที่ 12 กม. เวลานัดก่อนถึงเวลานัดหมายจริง 5 ชั่วโมง

 

ป้ายไวนิลขนาดยักษ์ ขึ้นข้อความจัดขบวนมวลชนนับหมื่น

เนื่องจากมีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

สั่งห้ามพาหนะบางประเภทรวมทั้งพาหนะที่ดัดแปลงเป็นรถเครื่องเสียงเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม อีกทั้งยังมีการพยายามจับกุมคนขับรถเครื่องเสียง ทำให้การสื่อสารในการชุมนุมที่มีมวลชนจำนวนมากเป็นไปอย่างจำกัด และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์ความวุ่นวายเมื่อต้องเผชิญหน้ากับการกดดันของเจ้าหน้าที่หรือการสร้างสถานการณ์ต่างๆ

การชุมนุมวันที่ 21 ต.ค. 63 เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกฯ นัดหมายที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เป็นการชุมนุมหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคม 2563 การสื่อสารผ่านโซเชียลในพื้นที่ชุมนุมที่มีมวลชนจำนวนมากเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสัญญานโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตขาดหาย

แกนนำจึงมีการจัดทำป้ายไวนิลพิมพ์ข้อความขนาดใหญ่ติดเสาสูงมาใช้เป็นสัญญาณนำขบวน ข้อความสั้นๆ ที่มักโผล่อยู่หน้าขบวนก็เช่น “ใจเย็นๆ ใจร่มๆ”, “เดินหน้าต่อไป”, “หยุดก่อน รอหน่อย” รวมถึงประกาศยุติการชุมนุมด้วยข้อความ “กลับบ้านแล้วพบกันใหม่” ทำให้การชุมนุมในภาพรวมเป็นไปอย่างราบรื่นและลดความตึงเครียดในที่ชุมนุมอีกด้วย

 

รถซาเล้ง แกนนำมาแต่เสียง

8 พฤศจิกายน 2563 กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมเพื่อส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ เวลานัดหมายคือ 16.00 น. โดยในเวลา 14.35 น. วันนั้นเพจเยาวชนปลดแอกได้มีการประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ให้ผู้ชุมนุมรอฟังสัญญาณจาก ‘ซาเล้งแดง’ ที่ติดตั้งลำโพงขยายเสียงซึ่งจะใช้สื่อสารกับผู้ชุมนุมตลอดการเคลื่อนขบวน

เมื่อใกล้เคลื่อนขบวนก็มีการปรากฏตัวของรถซาเล้งแดงติดเครื่องขยายเสียง 4 คันบริเวณหน้าอนุสรณ์ 14 ตุลา มีการเชื่อมต่อสัญญาณที่ทำให้มีเสียงแกนนำหลักพูดสื่อสารกับผู้มาร่วมชุมนุมตลอดเวลาโดยไม่เห็นแกนนำที่พูดขณะนั้น นับเป็นรูปแบบการสื่อสารใหม่กับผู้ชุมนุมที่มีเป็นจำนวนมากอย่างทั่วถึง และยากต่อการตามหาตัวแกนนำ

 

แทกติกแจ้งชุมนุมล่วงหน้าหนึ่งปี

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มีเงื่อนไขว่า ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ให้ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม มิเช่นนั้นจะถือว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าหน้าที่สามารถเข้าสลายพร้อมทั้งจับกุมดำเนินคดีได้ทันที ทำให้ผู้จัดชุมนุมที่นัดหมายชุมนุมทุกครั้งต้องไปแจ้งการชุมนุม ณ สถานีตำรวจท้องที่รับผิดชอบพื้นที่การชุมนุมนั้นๆ ก่อนชุมนุมทุกครั้ง

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ทวิตเตอร์ “ดาวดิน สามัญชน” โพสต์ว่ากลุ่มราษฎรขอนแก่นได้เข้าแจ้งชุมนุมล่วงหน้า 1 ปีที่สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เป็นกิจกรรมชุมนุมรูปแบบ “ม็อบตลาดนัด” ทุกวันเสาร์ โดยเริ่มชุมนุมในวันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน ที่ลานสฤษดิ์ ธนะรัชต์

การแจ้งชุมนุมล่วงหน้ายาวนานถึง 1 ปีเป็นการแจ้งชุมนุมรูปแบบที่ยังไม่เคยมีมาก่อน ทวิตเตอร์ของกลุ่มราษฎรขอนแก่นระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจรับแจ้งแต่โดยดี แต่ขอให้โทรแจ้งรายละเอียดกิจกรรมทุกสัปดาห์ นับเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการแจ้งชุมนุมล่วงหน้า ที่ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นั้นระบุเพียงว่า “จะต้องแจ้งก่อนการชุมนุม ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง”

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ