สรุป 4 รูปแบบการคุกคามแฟลชม็อบ สร้างอุปสรรค-สร้างความกลัว

หลังสถานการณ์โควิดในประเทศไทยเริ่มนิ่ง กิจกรรมและการชุมนุมเริ่มกลับมา โดยเฉพาะกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลและปัญหาเศรษฐกิจ ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้คนต้องการออกมาชุมนุมกันมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 การเมืองบนท้องถนนกลับมาคึกคักอีกครั้ง เมื่อกลุ่ม #เยาวชนปลดแอก นัดชุมนุมใหญ่ #ไม่ทนอีกต่อไป ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แม้จะอยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ แต่ในวันดังกล่าวก็มีคนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. ต่อเนื่องไปจนถึงประมาณ 1.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 

หลังจากนั้นก็มีการประกาศจัดการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเกิดขึ้นอีกมากมาย นับถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 นับได้อย่างน้อย 65 ครั้ง แม้จะมีอุปสรรคและถูกคุกคามบ้างแต่ผู้จัดก็สามารถจัดกิจกรรมได้ มีกิจกรรมที่ผู้จัดถูกกดดันจนต้องยกเลิกอย่างน้อย 3 ครั้ง  

น่าสนใจว่า ท่าทีของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการชุมนุมในช่วงเวลานี้เริ่มเปลี่ยนไป คือ เริ่มปล่อยให้ผู้จัดสามารถดำเนินไปได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้จัดและผู้เข้าร่วมจะทำกิจกรรมได้โดยปราศจากอุปสรรคเสียทีเดียว 

 

1. จัดได้ไม่ห้าม แต่ตามถ่ายรูป

กล่าวสำหรับการชุมนุมวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 #เยาวชนปลดแอก เจ้าหน้าที่พยายามจะแทรกแซงการชุมนุมหลายประการ แต่โดยภาพรวมไม่มีการใช้กำลังให้ยุติการชุมนุม เช่น

  • ใช้รถตำรวจติดเครื่องเสียงประกาศข้อกฎหมายต่างๆ เปิดวนไปวนมาคล้ายมีเจตนารบกวนการปราศรัยของผู้ชุมนุม
  • เมื่อคนมามากขึ้นจนยืนบนทางเท้าไม่พอ ประชาชนก็มีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่ที่พยายามรักษาแนวของตัวเองบนพื้นถนน แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ถอยจนผู้ชุมนุมสามารถลงมายืนจนเต็มพื้นที่ถนนราชดำเนินบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
  • มีความโกลาหลเกิดขึ้นบ้างเมื่อเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามจะคุมตัวคนที่ถือป้ายเขียนข้อความที่ตีความได้ถึงพระมหากษัตริย์ แต่ก็ถูกมวลชนกดดันจนล่าถอย

ส่วนการจัดชุมนุมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศต่อเนื่องกันแทบทุกวัน เท่าที่มีข้อมูลการทำกิจกรรมส่วนใหญ่สามารถทำได้โดยเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น

การชุมนุมที่ ม.เกษตรศาสตร์  24 กรกฎาคมเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงแต่เข้ามาประกาศข้อกำหนดและข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านเครื่องขยายเสียงแล้วปล่อยให้ผู้ชุมนุมดำเนินการชุมนุมไปได้ 
“ส้มโอโอ้โหโอชา” 27 กรกฎาคม
“วิ่งกันนะแฮมทาโร่” 26 กรกฎาคมเมื่อผู้ชุมนุมทำกิจกรรมวิ่งและร้องเพลงแฮมทาโร่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ห้ามปรามและช่วยดูแลเรื่องการจราจรเวลาผู้ร่วมชุมนุมต้องวิ่งข้ามถนนให้

แม้ในภาพรวมจะดูเหมือนการชุมนุมจะดำเนินไปได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็มีการปรับแนวปฏิบัติหลายประการที่น่ากังวล เช่น 

  • มีความพยายามถ่ายภาพเพื่อระบุอัตลักษณ์ของผู้เข้าร่วมอย่างจริงจังมากขึ้น
  • มีการใช้โดรนและกล้องวงจรปิดแบบชั่วคราวในที่ชุมนุมเพื่อบันทึกภาพผู้เข้าร่วมชุมนุม
  • มีการกดดันสถาบันการศึกษาหรือครอบครัว โดยเฉพาะกรณีกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นนักเรียนระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา 

การที่เจ้าหน้าที่ยอมให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปได้จึงอาจไม่ได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ยอมรับเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนด้วยความจริงใจ แต่อาจเป็นไปเพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดในพื้นที่ชุมนุมหรือเพื่อไม่ให้เกิดภาพข่าวในทางที่ไม่ดี ขณะเดียวกันก็หันไปใช้วิธีการติดตามคุกคามแบบ “ไม่เป็นทางการ” มากขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวแทน 

 

2. คุกคามกดดันก่อนจัดกิจกรรม-ดำเนินคดี 1 คดี

การคุกคามนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมก่อนและหลังชุมนุมในช่วงนี้มีหลากหลายวิธีการ เช่น นัดเจอ โทรหา เดินทางไปที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง รวมไปถึงครูบาอาจารย์ในโรงเรียนก็แสดงบทบาทในการพูดคุยมากขึ้นอย่างชัดเจนเพื่อไม่ให้การชุมนุมเกิดขึ้นได้ ทำให้ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมชุมนุมเกิดความกังวลว่า เมื่อไปร่วมชุมนุมแล้วจะมีชีวิตปกติสุขต่อไปได้หรือไม่

นับจากวันแรกที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกจัดชุมนุมถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า คนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามทั้งก่อนและหลังการชุมนุมในแต่ละงานจะเกิดขึ้นกับกลุ่มแกนนำในการจัดชุมนุมเท่านั้น เช่น

ก่อนจัดงาน

#คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย จังหวัดลำพูน 24 กรกฎาคม 2563  

“ฟ้า” (นามสมมุติ) นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นหนึ่งในคนจัดงานซึ่งถูกครูในโรงเรียนตามหาตัวและมีตำรวจนอกเครื่องแบบไปพบเธอและแม่ที่บ้านในวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 ก่อนวันจัดงาน 4 วัน โดยตำรวจระบุว่า ฟ้าได้ประกาศทำกิจกรรมทางการเมืองทำให้มีรายชื่อเป็นแกนนำระดับชาติและมีชื่ออยู่ใน “แบล็คลิสต์” ตำรวจจึงต้องมาพูดคุยเพื่อให้ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และให้ตั้งใจเรียนหนังสือดีกว่า 

ฟ้ายังเปิดเผยว่า เพื่อนของเธออีกคนหนึ่งที่ประกาศจัดกิจกรรมด้วยกันก็มีตำรวจเดินทางไปที่บ้านด้วยเช่นกัน โดยตำรวจเตือนเพื่อนเช่นกันว่ายังเป็นเด็กอยู่ อยากให้เรียนและทำหน้าที่ของตัวเองไปก่อน

#คนแพร่เล่าขวัญเผด็จการ จังหวัดแพร่ 22 กรกฎาคม 2563 

ในวันนัดหมายกิจกรรมช่วงก่อนถึงเวลาจัดงาน ตำรวจไปที่บ้านของประเสริฐ หงวนสุวรรณ แกนนำในการจัดงาน ถ่ายรูปแม่ของเขาพร้อมบัตรประชาชน โดยแจ้งแม่เขาว่า ไม่ให้ประเสริฐไปร่วมงานเย็นวันนี้ได้ไหมเพราะจะถูกจับได้ แต่สุดท้ายเขาก็ยังจัดงานต่อไป อย่างไรก็ตาม หลังวันจัดงาน ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปหาที่บ้านอีก

#ไม่ทนเผด็จการ จังหวัดเพชรบูรณ์ 22 และ 25 กรกฎาคม 2563

ก่อนที่จะมีการจัดงานแฟลชม็อบในจังหวัด 2 งาน ในวันที่ 21 กรกฎาคม ตำรวจโทรศัพท์ติดตามและเข้าไปที่บ้านของนักเรียน นักศึกษาอย่างน้อย 3 คน ได้แก่  

1. ซัน (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.5 ตำรวจจาก สภ.นาเฉลียง โทรศัพท์ติดต่อแม่ของเขาถามว่า ลูกจะไปเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 22 หรือไม่ และขอเบอร์ซันจากแม่ แต่แม่ปฏิเสธที่จะให้เบอร์ วันเดียวกันซันยังถูกรองผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกพบสอบถามเกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพโปสเตอร์เตรียมจัดการชุมนุมแฟลชม็อบในเพชรบูรณ์ เบื้องต้นซันได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องไป รองผู้อำนวยการยังบอกเขาอีกว่า ตำรวจอยากเข้ามาพูดคุยกับซันที่โรงเรียนแต่ทางโรงเรียนไม่อนุญาต ในเย็นวันเดียวกันนายอำเภอเข้าไปที่บ้านเพื่อสอบถามแม่ว่าซันอยู่บ้านหรือไม่อีกด้วย

2. พิม (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ระบุสังกัด 2 นายเข้าไปที่บ้านในอำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ สอบถามหาตัวพิมและขอให้คนที่บ้านโทรศัพท์ติดต่อให้พิมพูดคุยกับตำรวจ ตำรวจอ้างว่า พิมมีรายชื่อเป็นเครือข่ายของกลุ่มเยาวชน พรรคอนาคตใหม่เพชรบูรณ์ จึงอยากสอบถามว่า พิมจะไปร่วมกิจกรรมชุมนุมวันที่ 22 หรือไม่ และเป็นกลุ่มผู้จัดกิจกรรมหรือไม่ พิมปฏิเสธทั้งสองคำถาม ตำรวจจึงเดินทางกลับ 

3. บิว (นามสมมติ) ศึกษาชั้น ปวส.ปี 1 วิทยาลัยการอาชีพแห่งหนึ่ง ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบชุดสืบสวนจาก สภ.ชนแดนจำนวน 4-5 คน ไปที่บ้านเพื่อถามหาตัวบิว ยายจึงไปตามบิวออกมาพบ ตำรวจถามชื่อจริงของบิวและถามว่าพรุ่งนี้จะไปร่วมชุมนุมหรือไม่ บิวจึงสอบถามว่า ชุมนุมอะไรเพราะไม่ทราบมาก่อน บิวระบุว่าไม่ได้จะไปเข้าร่วม ระหว่างพูดคุยตำรวจขอดูบัตรประชาชนเพื่อถ่ายรูปเก็บไว้ แต่บิวปฏิเสธพร้อมกับสอบถามกลับว่าเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทั้งหมดนี้จากที่ใด ตำรวจระบุว่า ข้อมูลมาจากส่วนกลางและมีสายข่าวแจ้งมาว่าบิวจะไปร่วมกิจกรรม 

#กาญจน์ปลดแอก จังหวัดกาญจนบุรี 25 กรกฎาคม 2563 

ก่อนจัดงาน 1 วัน มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ระบุสังกัด เดินทางไปที่บ้านของนักเรียนในกลุ่มผู้จัดงาน โดยพูดคุยกับญาติของนักเรียนหลายคนพร้อมทั้งขอให้ลบโพสต์นัดชุมนุม และแจ้งกับทางผู้ปกครองว่า รู้ตัวแกนนำและผู้เกี่ยวข้องในการจัดชุมนุมหมดแล้ว สุดท้ายไม่มีการลบโพสต์เชิญชวนใดๆ ตามที่ถูกข่มขู่ เมื่อถึงวันนัดชุมนุมก็มีการจัดชุมนุมตามเดิม

#เมืองเลยสิบ่ทนก๋อ จังหวัดเลย 29 กรกฎาคม 2563

ก่อนวันจัดงาน ตำรวจสันติบาลและทหารโทรศัพท์ไปหาครอบครัวของผู้เข้าร่วม สอบถามเรื่องสถานะการเป็นแกนนำจัดกิจกรรม แต่ครอบครัวของผู้เข้าร่วมปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นแกนนำแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนยังถูกติดตามจากตำรวจนอกเครื่องแบบระหว่างการนัดทานข้าวและพูดคุยส่วนตัว

“รวมพลังต่อต้านเผด็จการ” ที่โรงเรียนสตรีวิทยา 2 23-24 กรกฎาคม 2563 

นักเรียนที่เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมก็ถูกผู้อำนวยการโรงเรียนเรียกพบในวันที่จะจัดกิจกรรม

#เมืองอำนาจไม่หลงอำนาจไม่เอาเผด็จการ อำนาจเจริญ 30 กรกฎาคม 2563  

ก่อนจัดกิจกรรม 1 วัน “แก้ว” (นามสมมติ) หนึ่งในนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมถูกตำรวจมาติดตามสอบถามข้อมูลจากคนรอบข้างและตัวเธอเอง ทั้งยังให้ข้อมูลกับคนแถวบ้านว่า เธอมีชื่ออยู่ในลิสต์เป็นแกนนำก่อม็อบ

การคุกคามส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะจัดการชุมนุม เมื่อหลังชุมนุมเสร็จเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นก็จะเงียบหายไป จนกว่าจะมีการจัดงานใหม่ในเขตพื้นที่เดิมซ้ำเจ้าหน้าที่รัฐก็จะกลับไปคุกคามแกนนำอีกครั้ง ส่วนผู้เข้าร่วมชุมนุมนั้นยังไม่เห็นข่าวการคุกคามแบบติดตามตัวโดยตรง 

====

ส่วนการดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นพบว่า คนที่ถูกดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมชุมนุมมีแต่แกนนำในการจัดชุมนุมเท่านั้น ยังไม่พบผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกดำเนินคดี และนับจากการชุมนุมของ #เยาวชนปลดแอก ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา มีคดีความที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมเกิดขึ้นเพียง 1 คดี คือ นักศึกษา 4 คนผู้จัดชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 19 กรกฎาคม เข้ารับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตามที่ตำรวจตั้งข้อกล่าวหาให้ ไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563

 

3. ล็อกเป้าคนถือป้าย ‘ตรงไปตรงมา’ พร้อมขบวนการล่าแม่มด

จากการสังเกตการณ์การชุมนุมหลายพื้นที่ ภาพที่เห็นตรงกัน คือ เจ้าหน้าที่ติดตามถ่ายภาพและวิดีโอการชุมนุมมีอัตราส่วนมากขึ้นกว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ หากเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมหลักพันอาจจะแยกแยะและนับจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่ง่ายนัก หากเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมหลักสิบก็จะแยกแยะเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบออกได้ชัดเจนว่า มีจำนวนใกล้เคียงกับผู้ชุมนุม 

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเหล่านี้ไม่ได้จะขัดขวางการชุมนุม แต่มีเป้าหมายเพื่อ “ล็อกเป้า” ตามหาตัวผู้ที่แสดงออกหรือถือป้ายที่มีข้อความทางการเมืองแบบ “ตรงไปตรงมา” เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ยังไม่แน่ชัดว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเหล่านี้ต้องการสิ่งใดบ้าง

ตัวอย่างเช่น 

‘ไม่ทนอีกต่อไป’ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเยาวชนปลดแอก18 กรกฎาคมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามเข้าพูดคุย ขอดูป้ายของเยาวชนคนหนึ่งที่บริเวณตรอกข้างร้านแมคโดนัลด์ และพยายามจะพาตัวไปพูดคุยที่ สน. แต่เนื่องจากประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงเห็นเหตุการณ์ จึงเข้ามาตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจนล่าถอยไป แต่ก็ได้ยึดเอาป้ายข้อความไปด้วย ต่อมาทราบว่า มีภาพของเยาวชนคนที่ตำรวจเข้ามาคุยด้วยถือป้ายข้อความตรงไปตรงมาเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต
‘ปทุมธานีไม่ปราณีเผด็จการ’ หน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต 23 กรกฎาคมนักเรียนคนหนึ่งถือป้ายแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อการชุมนุมเลิก เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเกือบ 10 คนและตำรวจในเครื่องแบบก็เดินติดตามและขอดูบัตรประชาชนของนักเรียน เมื่อนักเรียนปฏิเสธตำรวจก็เข้ารุมล้อมไม่ยอมให้เดินทางกลับ จนกระทั่งนักเรียนยอมให้ดูบัตรประชาชน จึงเดินทางกลับบ้านได้
‘โคราชจะไม่ทน’ ที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ลานย่าโม) 24 กรกฎาคมตำรวจสืบสวนเมืองนครราชสีมาเข้ายึดป้ายข้อความจากนักเรียน นักศึกษา และผู้ชุมนุม อย่างน้อย 3 ป้าย โดยเฉพาะป้าย “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” กลุ่มนักเรียนที่ถูกยึดป้ายระบุว่า พวกเขาเพิ่งเขียนป้ายเสร็จยังไม่ได้ยกขึ้นมาชูก็ถูกเจ้าหน้าที่มายึดไป
‘อะหรืออะหรือว่าเป็นเผด็จการ’ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ30 กรกฎาคมนักศึกษาคนหนึ่งถือภาพรัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความเดินผ่านที่ชุมนุม ตำรวจจึงมาพาตัวไปพูดคุยและซักถามในห้องประชุม พร้อมทำบันทึกไว้ และให้เก็บป้ายไป ก่อนปล่อยตัวหลังการชุมนุมเลิก

ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามหาตัวผู้แสดงออกเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้น ก็เริ่มมีรายงานพฤติกรรม “ล่าแม่มด” ที่นำข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าร่วมการชุมนุมมาเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ทำให้ผู้นั้นเสียหาย 

จนกระทั่งวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในการเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้เห็นต่างทางการเมืองมาเผยแพร่ให้เกิดความเสียหาย ก็โพสต์เฟซบุ๊กถึง ‘โครงการดับอนาคต’ ขอจิตอาสาแฝงตัวเก็บภาพถ่ายบุคคลที่เข้าร่วมม็อบให้เห็นใบหน้า เพื่อส่งให้บริษัทห้างร้าน หน่วยงานรัฐ สถานศึกษา ห้ามรับเข้าทำงานหรือเข้าศึกษาต่อหรือให้ทุน ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

จนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ยังไม่พบเห็นว่า พลตรีเหรียญทองได้ดำเนินการจัดทำโครงการดับอนาคตไปแค่ไหนเพียงใด แต่ปฏิบัติการเช่นนี้เป็นการข่มขู่ที่สร้างความหวาดกลัวให้กับเยาวชนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม และร่วมแสดงออกทางการเมือง ขณะที่ปฏิบัติการตามหาตัว ตามหาชื่อ และบันทึกข้อมูลประวัติของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงเดินหน้าต่อไปเช่นกัน

 

4. กำลังปรับปรุง ฉีดยุง และสารพัดเรื่อง ‘บังเอิญ’

การสร้างอุปสรรคโดยไม่ใช้กฎหมายทำให้การชุมนุมเกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดขึ้นอย่างทุลักทุเลไม่ใช่วิธีการที่เพิ่งเกิดขึ้นหากแต่มีการใช้มาหลายต่อหลายครั้งก่อนหน้านี้แล้ว แต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม เทคนิคการปิดพื้นที่เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมถูกนำมาใช้ถี่และเป็นระบบ โดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เช่น 

1. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยปิดปรับปรุง

ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ซึ่งมีการจัดกิจกรรมครบรอบ 6 ปี การรัฐประหาร 2563 ลานอนุสาวรีย์ยังคงว่างอยู่แต่มีการวางรั้วไว้โดยรอบ หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายนช่วงรำลึกเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 พบว่า มีการวางกระถางดอกไม้ไว้เต็มพื้นที่แล้ว และในเดือนกรกฎาคม 2563 ตั้งแต่ในวันที่ 14 กรกฎาคม มีการจัดงานรำลึกวันเกิด จอมพล ป. ก็พบว่ามีการวางกระถางต้นไม้เต็มพื้นที่เช่นกัน และเริ่มมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบขึ้นไปยืนประจำการบนตัวอนุสาวรีย์ทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรม

วันที่ 18 กรกฎาคมซึ่งมีการชุมนุมใหญ่ พบว่า เจ้าหน้าที่ของ กทม. นำต้นไม้เข้าไปเสริมบนลานอนุสาวรีย์เพิ่มเติมและติดป้าย “ห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต อยู่ระหว่างการปรับปรุง” จนกระทั่งการชุมนุมใหญ่ผ่านไปต้นไม้และรั้วกั้นก็ยังวางอยู่ที่เดิมมาตลอด การนำกระถางต้นไม้ไปวางรอบอนุสาวรีย์ทำให้มีนักกิจกรรมออกไปทำกิจกรรมเสียดสีด้วยการรวมตัวใกล้ๆ อนุสาวรีย์และตะโกน “สวนสวยจริงๆ” ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563   

2. สมุทรปราการปิดทางออกบีทีเอส – ปิดทางเข้าศาลากลาง 

25 กรกฎาคม 2563 กิจกรรม “ใครทน สมุทรปราการไม่ทน” นัดหมายจัดที่บริเวณลานศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ปรากฏว่าก่อนเวลาจัดงานมีการปิดรั้วไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าพื้นที่ศาลากลาง อีกทั้งบนทางออกรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีปากน้ำฝั่งที่จะมาลงหน้าศาลากลางก็มีการกั้นพื้นที่พร้อมติดข้อความ “ทางเข้านี้ปิดชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก” ทางผู้จัดจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานที่ไปเป็นที่หน้าหอชมเมืองสมุทรปราการอย่างกะทันหัน แต่กิจกรรมก็สามารถดำเนินไปได้ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดโดยเจ้าหน้าที่ 

3. อนุสาวรีย์วงเวียนใหญ่ ประกาศซ่อมไฟฟ้า

30 กรกฎาคม 2563 เครือข่ายลูกเจ้าตากจะลงดาบเผด็จการ ประกาศจัดกิจกรรมที่วงเวียนใหญ่ในเวลา 17.00 น. โดยประชาสัมพันธ์กิจกรรมตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ต่อมาในวันที่ 27 กรกฎาคม ทางเพจโพสต์ภาพถ่ายและรายงานว่าพบป้ายเขียนข้อความ “งดใช้พื้นที่ลานวงเวียนใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 28 – 31 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากสำนักงานเขตธนบุรีจะดำเนินการตรวจสอบระบบกระแสไฟฟ้าทั่วบริเวณ” ไปติดที่รั้วเข้าวงเวียนใหญ่ ท้ายที่สุดทางเครือข่ายจึงจัดสินใจประกาศยกเลิกกิจกรรมที่วงเวียนใหญ่ 

30 กรกฎาคม 2563 ตั้งแต่ช่วงเช้ามีรายงานว่า ทางลอดข้ามถนนที่ใช้ข้ามไปตัววงเวียนถูกปิด ในช่วงเย็นมีรายงานว่ากลุ่มแฮมทาโร่ตรวจไฟ สามารถเข้าไปในพื้นที่และทำกิจกรรมวิ่งแฮมทาโร่ได้ 

4. ไม่เปิดไฟหรือเปิดล่าช้า

ในเดือนกรกฎาคมมีรายงานกรณีการตัดไฟฟ้าหรือเปิดไฟล่าช้าอย่างน้อย 3 กรณี ได้แก่ 

(1) 22 กรกฎาคม ที่ลานแปดเหลี่ยมมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไฟฟ้าในพื้นที่จัดกิจกรรมเพิ่งมาติดในเวลา 19.30 น. ซึ่งฟ้ามืดแล้วและระหว่างนั้นผู้จัดการชุมนุมก็มีการเรียกร้องให้เปิดไฟผ่านเครื่องขยายเสียงหลายครั้ง 

(2) 29 กรกฎาคม ที่ท่าน้ำนนท์ บริเวณรอบข้างไฟสาธารณะเริ่มติดระหว่างเวลา 18.00 น. จนถึง 18.30 น. ปรากฏว่าไฟสปอตไลท์บริเวณที่จัดกิจกรรมกลับไม่เปิดทั้งที่ปกติจะเปิดในเวลาไล่เลี่ยกับสถานที่รอบข้าง ผู้จัดการชุมนุมก็ร้องขอให้เปิดไฟหลายครั้งเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย จนมีการเปิดไฟในเวลา 19.11 น. 

(3) 26 กรกฎาคม 2563 ไฟฟ้าในสนามสามเหลี่ยมทุ่งนาเชย จังหวัดจันทบุรี พื้นที่จัดงาน ไม่ติดตลอดเวลาทำกิจกรรม ผู้ชุมนุมต้องอาศัยแสงจากหน้าเวทีที่ต่อมาจากเครื่องปั่นไฟ มติชนระบุว่าไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวขัดข้องมาก่อนหน้านี้หลายวันแล้ว 

5. สตรีวิทย์ 2 ปิดฉีดยุง 

นักเรียนโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ประกาศจัดกิจกรรมภายในโรงเรียนในวันที่ 23 และ 24 กรกฎาคม แต่ปรากฏว่าไม่สามารถทำได้เพราะโรงเรียนมีการฉีดพ่นสารเคมีไล่ยุงในวันดังกล่าว มีข้อสังเกตว่าโรงเรียนเพิ่งฉีดยุงไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน และในวันที่นักเรียนประกาศทำกิจกรรมก็มีรถตำรวจเข้ามาในโรงเรียนและมีตำรวจคอยบันทึกภาพนักเรียนในโรงเรียนด้วย 

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ