รู้ไว้ใช่ว่า รวมกฎหมายสำหรับ ‘แฟลชม็อบ’

กลางปี 2563 สถานการณ์การเมืองกลับมาร้อนแรงอีกหน เกิด ‘แฟลชม็อบ’ เพื่อขับไล่รัฐบาลขึ้นหลายพื้นที่ทั่วประเทศท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทรงตัวมากขึ้น กระนั้น การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังคงอยู่ พร้อมกับข้อกำหนดในรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตามแต่ (ใจ?) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนด

ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมจำเป็นต้องศึกษาติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามกรอบที่มีอยู่ และจะได้เท่าทันเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างอิงกฎหมายสั่งห้ามการชุมนุมหรือใช้ต่อรองกับผู้ชุมนุม 

นับถึงช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 การชุมนุมไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายอื่นๆ อีกมากมาย สรุปได้ดังนี้

1. พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ใช้ไม่ได้ เงื่อนไขอื่นก็ไม่ใช้ตามไปด้วย

พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นกฎหมายหลักที่ให้ตำรวจมีอำนาจเข้ามาแทรกแซงและควบคุมการชุมนุมมาตลอด 5 ปี อย่างไรก็ตาม มาตรา 3 กำหนดข้อยกเว้นไว้แล้วว่า การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ได้รับการยกเว้นไม่ให้นำ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้

ดังนั้น เงื่อนไขต่างๆ ที่ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดไว้จะไม่สามารถนำมาใช้ในช่วงนี้ด้วย เช่น

  • การต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ต่อตำรวจในท้องที่
  • การไม่ชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากพระราชวัง
  • การไม่ชุมนุมในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หรือศาล
  • การไม่ชุมนุมกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการ

หากตำรวจหยิบยกเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อเป็นข้อจำกัดในการใช้เสรีภาพการชุมนุมระหว่างที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือเป็นการกล่าวอ้างที่ผิด และเงื่อนไขที่ตำรวจจะสั่งห้ามการชุมนุม รวมทั้งการขออนุญาตศาลเพื่อใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมก็ไม่มีอยู่ด้วย

2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามชุมนุมเฉพาะยุยงให้เกิดความไม่สงบ หรือเสี่ยงแพร่เชื้อ

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีข้อห้ามการรวมตัวกันอย่างกว้างขวาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า ห้ามรวมตัวกันจำนวนกี่คนและไม่ได้มีข้อกำหนดที่ห้ามชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

มาตรา 9 ของกฎหมายนี้ระบุว่า ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอํานาจออกข้อกําหนดได้หลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทําการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็มีการออกข้อกำหนด ฉบับที่ 1 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมอย่างกว้างๆ อีกเช่นกัน คือ

ข้อ 5 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศกำหนด

นอกจากนี้ยังมีการออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 ซึ่งกำหนดห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค

การฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นเป็นความผิดมีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สรุปได้ว่า การใช้เสรีภาพการชุมนุมภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ อีกต่อไป แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขกว้างๆ ที่ห้ามการชุมนุมที่จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หากเป็นการชุมนุมที่ไม่เข้าลักษณะเช่นนี้ก็ย่อมอยู่ภายใต้กรอบเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

3. กฎหมายเล็กน้อยยังใช้อยู่ พร้อมโทษปรับ 

ในสถานการณ์ที่การเมืองมีความอ่อนไหว การรักษาภาพลักษณ์ของรัฐบาลมีความจำเป็นเพื่อไม่ให้ถูกสังคมตั้งคำถามถึงการปิดกั้นเสรีภาพและมาตรการที่รุนแรงเกินไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องป้องปรามหรือไม่ให้การจัดกิจกรรมเกิดขึ้นได้โดยสะดวก การเลือกนำกฎหมายที่มีฐานความผิดกว้างขวางแต่มีโทษปรับเล็กน้อยขึ้นมาใช้ตั้งข้อหาดูจะเป็นทางที่รัฐเลือก เช่น

เช่น กิจกรรมของสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่ชวนกันไปผูกโบว์ขาวตามสถานที่ราชการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ตำรวจออกหมายเรียกให้ไปชำระค่าปรับ 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 

เช่น กิจกรรมของเครือข่าย People Go Network ที่เดินทางจากสถานีรถไฟใต้ดินลาดพร้าวไป สน.วังทองหลาง เพื่อให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยใช้เครื่องขยายเสียงติดบนรถยนต์กระบะด้วย หลังเสร็จกิจกรรมแล้วตำรวจออกหมายเรียกเจ้าของรถกระบะให้ไปจ่ายค่าปรับ 200 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

  • พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 กฎหมายนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ใช้ควบคุมการชุมนุม แต่โดยตัวบทแล้วถูกตีความนำมาใช้กับการชุมนุมได้บ่อยครั้ง คือ มีหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

          o   มาตรา 108  ห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่ หรือเดินเป็นขบวนใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร 

          o   มาตรา 109  ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ บนทางเท้าหรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะที่เป็นการกีดขวางผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร

          o   มาตรา 114  ห้ามมิให้ผู้ใดวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร* แต่หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร*จะอนุญาตได้ต่อเมื่อมีเหตุอันจำเป็นและเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

โดยทุกฐานความผิดที่กล่าวมานี้มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

4. ตำรวจถ่ายรูปผู้ชุมนุมได้ ขอตรวจบัตรได้ แต่ถ่ายรูปบัตรไม่ได้

พฤติกรรมของตำรวจที่เราเริ่มพบเห็นบ่อยขึ้นคือ การถ่ายรูปผู้เข้าร่วมการชุมนุมและพฤติกรรมของแต่ละคนเพื่อเก็บเป็นประวัติไว้ แม้ว่าภาพถ่ายจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของภาพเท่านั้น แต่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่ยังไม่เริ่มใช้บังคับอย่างเต็มที่ก็ได้เขียนยกเว้นไว้แล้วว่า กฎหมายนี้ไม่ใช้กับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นการถ่ายภาพ เก็บภาพ และเอาภาพของประชาชนไปใช้จึงไม่ต้องขอความยินยอมก่อน และไม่ได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 

สำหรับเรื่องบัตรประชาชน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.บัตรประจําตัวประชาชน พ.ศ. 2526 ซึ่งมาตรา 5 กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยอายุตั้งแต่ 7 ปี บริบูรณ์ และไม่เกิน 70 ปี บริบูรณ์ และมีชื่ออาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรประชาชน มาตรา 17 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดที่อายุ 15 ปีขึ้นไปที่เป็นผู้ถือบัตร ถ้าไม่สามารถแสดงบัตร เมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

ผู้ที่ถือบัตรประชาชนมีหน้าที่ต้องพกบัตรประชาชนติดไว้กับตัว และแสดงบัตรประจำตัวกับเจ้าพนักงานตรวจบัตร เมื่อถูกขอตรวจ ซึ่งเจ้าพนักงานที่มีอำนาจตรวจบัตรตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป 

ฉะนั้น หากถูกขอตรวจบัตรประชาชน เราสามารถขอดูบัตรประจำตัวตำรวจว่า เป็นตำรวจจริงหรือไม่ และมียศระดับร้อยตำรวจตรีขึ้นไปหรือไม่ โดยเฉพาะตำรวจนอกเครื่องแบบ

อย่างไรก็ดี กฎหมายให้อำนาจตำรวจในการตรวจการพกบัตร เพื่อให้ประชาชนแสดงบัตรประชาชนว่าพกมากับตัวหรือไม่เท่านั้น แต่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจตำรวจถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือขอยึดบัตรประชาชนไว้กับตัวของตำรวจได้เลย เนื่องจากบัตรประชาชนถือว่าเป็นทรัพย์สินของเจ้าของบัตร และข้อมูลบนบัตรก็เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัตรแต่เพียงผู้เดียว 

5. ความผิดตามกฎหมายอาญาปกติยังใช้อยู่

เมื่อผู้ชุมนุมมารวมตัวกันแล้ว ถ้าหากมีการแสดงออกในที่ชุมนุม เช่น การถือป้าย การปราศรัย หรือการแสดงออกรูปแบบใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่กำหนดว่าประชาชนจะทำอะไรได้หรือทำไม่ได้

สำหรับฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่อาจนำมาใช้ตีกรอบการแสดงออก ได้แก่

  • ความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 112 มีโทษจำคุก 3-15 ปี
  • ความผิดฐานสร้างความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
  • ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ ตามมาตรา 136 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  • ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา หรือการหมิ่นประมาทผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยทั่วไป ตามมาตรา 328 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท
  • ความผิดฐานดูหมิ่น ทั้งดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือโดยการโฆษณา ตามมาตรา 393 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ยังมีความผิดเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่โดยเจตนารมณ์แล้วต้องการเอาผิดกับองค์กรที่ผิดกฎหมาย องค์กรอาชญากรรม หรือการรวมตัวของกลุ่มแก๊งที่ก่อความเดือดร้อนให้กับสังคมโดยรวม แต่บางกรณีก็กลับถูกเอามาใช้เพื่อดำเนินคดีกับการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็น ได้แก่ 

  • ความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย ตามมาตรา 215, 216 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเจ้าหน้าที่สั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งความผิดฐานนี้มักถูกใช้กับการจัดการชุมนุมสาธารณะ
  • ความผิดฐานอั้งยี่ ตามมาตรา 209 มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท 

สำหรับผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่เพียงแค่ไปเพื่อร่วมแสดงออกเท่านั้น แม้จะมีกฎหมายหลายมาตราที่อาจนำมาใช้ดำเนินคดีเพื่อปิดกั้นเสรีภาพได้ แต่เท่าที่ไอลอว์ติดตามพบว่า ศาลยุติธรรมมีแนวโน้มที่จะตีความกฎหมายในทางที่เป็นประโยชน์กับจำเลยที่เพียงแค่ไปร่วมการแสดงออกเท่านั้น แต่หากผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีพฤติกรรมที่ ‘ล้ำเส้น’ สิทธิของบุคคลอื่น เช่น ทำร้ายร่างกายผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นก็อาจถูกดำเนินคดีและถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดฐานนั้นๆ ได้

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ