บันทึกเกม ‘นอกกฎหมาย’ ของตำรวจ หยุดขบวนเรียกร้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

8 มิถุนายน 2563 ตัวแทนจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. 4 คน ได้แก่ ณัฐวุฒิ, แสงสิริ, วศิน และอภิสิทธิ์ เดินทางไปสถานทูตกัมพูชาเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา ไม่มีตัวแทนสถานทูตมารับหนังสือ แต่ทั้ง 4 คนกลับได้รับหมายเรียกให้รายงานตัวในข้อหาชุมนุมฝ่าฝืนเงื่อนไขของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แทน

9 กรกฎาคม 2563 ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คนมีกำหนดรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.วังทองหลาง ทาง กป.อพช. ร่วมกับเครือข่าย People Go Network จึงจัดกิจกรรมเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหา ขณะเดียวกันก็เปิดเกมรุก นัดหมายกันเวลา 9.30 น. ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวแล้วเดินเท้าไปยังศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการดำเนินคดีปิดปากประชาชน

เมื่อไปถึงศาลแพ่งผู้ต้องหาทั้ง 4 คนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เป็นตัวแทนยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่ง 

เวลา 11.30 น. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสี่พร้อมด้วยประชาชนราว 40 คนจัดขบวนรถแห่สื่อสารต่อสาธารณะเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดินทางออกจากศาลแพ่งมุ่งหน้าไปยัง สน.วังทองหลาง

เวลา 12.45 น. บริเวณหน้า สน.วังทองหลาง มีผู้มาร่วมให้กำลังใจอยู่ก่อนแล้วราว 70 คน รอบบริเวณยังมีตำรวจในเครื่องแบบตั้งแถวอยู่ประมาณ 60 คน ทำให้พื้นที่คับแคบลงไปถนัดตา และปรากฏว่าไม่สามารถนำรถที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียงเข้าไปจอดหน้า สน.ได้เนื่องจากตำรวจกีดขวางทางเข้า ต้องจอดรออยู่ข้างถนนที่แคบอยู่แล้ว การจราจรเริ่มติดขัด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจึงแสดงความไม่พอใจและพยายามผลักดันจนนำรถเข้าไปจอดหน้า สน.ได้ เพื่อทำกิจกรรมแถลงจุดยืนไม่ยอมรับกับการมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการดำเนินคดีเพื่อปิดปากประชาชน  

เบื้องหลังการเจรจาต่อรองระหว่างตำรวจกับผู้จัดกิจกรรม หลายช่วงหลายตอนแสดงให้เห็นถึงการอ้างอิงข้อกฎหมายที่ไม่ถูกต้องของตำรวจ และการพยายามไม่ใช้วิธีการตั้งข้อหาดำเนินคดี แต่หาวิธีการที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้โดยตรงเพื่อทำให้การจัดกิจกรรมเป็นไปได้ยากที่สุด โดยวิธีการต่างๆ นั้นสามารถสรุปได้ดังนี้

โทรขู่ล่วงหน้า 2 วัน แต่อ้างกฎหมายไม่ถูก 

6 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจโทรศัพท์ไปหาหนึ่งในผู้จัดกิจกรรม โดยแนะนำตัวว่าชื่อ ‘รองแรมโบ้’ ต้องการพูดคุยเพื่อช่วยประสานงานและสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยยังไม่ได้ห้ามปรามอะไร 

วันรุ่งขึ้น ตำรวจคนเดิมโทรศัพท์มาอีกครั้ง สอบถามรายละเอียดที่มากขึ้นพร้อมกับเริ่มห้ามไม่ให้ดำเนินกิจกรรมได้ตามแผน โดยเริ่มจากการอ้างว่า การเดินจากบริเวณสถานีรถไฟใต้ดินลาดพร้าวไปยังศาลแพ่งนั้นฟุตบาทแคบจึงไม่อยากให้เดิน ทางผู้จัดตอบว่า นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะจะเดินแถวเรียงเดี่ยว 

ตำรวจแจ้งต่อว่า ห้ามถือป้ายเพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นเขตหน้าศาล ผู้จัดจึงแจ้งว่า ผู้ชุมนุมจะเดินถือป้ายแล้วเมื่อถึงหน้าศาลก็จะเก็บและจะถ่ายรูปอยู่ข้างนอกรั้วศาลเท่านั้น ไม่เดินถือป้ายเข้าไปภายในเขตของศาล ซึ่งจะไม่ผิดกฎหมายใด ตำรวจยังกล่าวอีกว่า ขอให้ทำกิจกรรมให้เสร็จที่สถานีรถใต้ดินจะดีกว่า ถ่ายภาพบริเวณนั้นแล้วส่งตัวแทน 4-5 คนไปยื่นฟ้อง ส่วนคนอื่นไม่ต้องเดินไป ผู้จัดจึงตอบไปว่าไม่สามารถทำเช่นนั้น ตำรวจจึงกล่าวว่า “นายไม่ให้ถือป้าย”

จากนั้นทางตำรวจก็อ้างว่า ในช่วงเวลานี้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่อยากนำเรื่องนี้มาใช้เป็นข้อห้าม เพราะดูรุนแรง ตำรวจยังอ้างต่อไปว่า หากมีการเดินเท้าจะเป็นความผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพราะเป็นเขต 50 เมตรจากอาคารศาลและต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้าก่อน ผู้จัดจึงอธิบายว่า เมื่อประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วก็เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 3 ไม่มีการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว การที่ตำรวจยก พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาอ้างขึ้นจึงเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง

จากนั้นตำรวจจึงอ้างอิงไปถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกครั้งว่า มีคำสั่งห้ามชุมนุมและมีโทษสถานหนัก ไม่สามารถให้จัดชุมนุมได้ ผู้จัดจึงอธิบายว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาด แต่ห้ามการชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศมานานแล้วจึงไม่ควรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป และตัดจบบทสนทนา

ขู่เรื่อง ‘เขตศาล’ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายห้าม

ช่วงเช้าของวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 มีตำรวจในเครื่องแบบจาก สน.พหลโยธิน มาดูแลการจัดกิจกรรมประมาณ 30-40 คนและมีตำรวจนอกเครื่องแบบมาด้วยจำนวนหนึ่ง เจ้าหน้าที่ขอเจรจากับผู้ชุมนุมโดยแจ้งเหมือนเดิมว่า ขอให้ทำกิจกรรมให้เสร็จสิ้นที่สถานีรถใต้ดินแล้วไม่ต้องเดินไปศาลแพ่ง แต่ผู้จัดกิจกรรมไม่เห็นด้วย และยืนยันว่าจะเดินไป ตำรวจจึงแจ้งว่า “นายสั่งไม่ให้เดิน” และขอให้เห็นใจตำรวจ ขอให้เจอกันครึ่งทาง เพราะถ้าหากมีการเดินขบวนตำรวจอาจถูก “นายเล่นงาน” ผู้จัดกิจกรรมแจ้งว่า ถ้าไม่ให้เดินก็ไม่ใช่การเจอกันครึ่งทาง แต่แปลว่า ตำรวจได้ทุกอย่าง

ตำรวจจึงคิดเงื่อนไขใหม่แล้วขอว่า ระหว่างเดินห้ามชูป้าย โดยอ้างถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกครั้ง แต่ผู้จัดไม่ยอมรับข้ออ้างนี้ ตำรวจจึงยกข้ออ้างเรื่อง ‘เขตศาล’ ขึ้นมาโดยระบุว่า เมื่อเดินไปถึงรั้วของศาลแล้วห้ามชูป้าย เพราะเป็นเขตของศาล ชูป้ายไม่ได้ ผู้จัดกิจกรรมยืนยันว่าจะชูป้ายเฉพาะทางเดินริมถนนที่ไม่เข้าไปในรั้วของศาล และเมื่อเข้าไปในเขตศาลจะไม่ชูป้ายอีก พร้อมกับยืนยันว่า ไม่มีกฎหมายที่ห้ามชูป้ายข้างรั้วศาล กฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลก็ไม่ได้ห้ามเช่นนั้น ห้ามเพียงการประพฤติตัวไม่เรียบร้อย “ในบริเวณศาล”

ผู้จัดกิจกรรมกับตำรวจยังได้ตกลงเงื่อนไขกันว่า เมื่อเดินไปถึงหน้าศาลแพ่ง ทำกิจกรรม ให้สัมภาษณ์นักข่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวแทนที่เป็นผู้ฟ้องคดีและทนายความจะเดินเข้าไปยื่นฟ้องในศาล ส่วนประชาชนที่เหลือที่มาให้กำลังใจจะเดินกลับมาที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ไม่รวมตัวรอที่หน้าศาล เมื่อยื่นฟ้องคดีเสร็จแล้วถึงจะขึ้นรถและออกเดินทางไป สน.วังทองหลางจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

เมื่อเริ่มเดินขบวน มีตำรวจในและนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งคอยอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจร และคอยเตือนให้ผู้ชุมนุมเดินแต่บนฟุตบาทเท่านั้น ไม่ลงบนพื้นผิวถนน ขณะที่ยังมีตำรวจในเครื่องแบบบางคนแจ้งกับผู้ชุมนุมเป็นระยะว่า ห้ามชูป้ายเนื่องจาก “เป็นเขตศาล” ซึ่งผู้ชุมนุมไม่ยอมและโต้เถียงกลับว่า ไม่มีกฎหมายห้าม 

เมื่อเดินไปถึงบริเวณประตูทางเข้าศาลแพ่งมีเจ้าหน้าที่ใส่ชุดเครื่องแบบสีน้ำเงิน คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลและเจ้าหน้าที่ศาลมายืนรอต้อนรับ โดยเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวก็แจ้งเพียงว่า ให้ชูป้ายเฉพาะบริเวณนอกรั้วและเมื่อเข้าไปในรั้วให้เก็บป้าย โดยไม่ได้สั่งให้เก็บป้ายตั้งแต่นอกรั้วแบบที่ตำรวจสั่งก่อนหน้านี้

โชว์ฝึกแถว แย่งใช้พื้นที่หน้า สน.

ก่อนวันจัดกิจกรรม ผู้จัดกิจกรรมได้เดินทางไปที่ สน.วังทองหลาง เพื่อดูพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมล่วงหน้า และพบว่าบริเวณหน้า สน.มีพื้นที่กว้างขวางและร่มรื่น หน้าประตูทางเข้ามีกันสาดยื่นออกมาเป็นพื้นที่กว้างที่ให้คนยืนรวมกันได้มากกว่า 50 คน จึงสามารถทำกิจกรรมภายใต้บริเวณกันสาดได้เพื่อหลบความร้อนของแสงแดดในช่วงเที่ยง โดยในวันก่อนจัดกิจกรรมได้เห็นเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานครพร้อมรถบรรทุกสีเขียวกำลังตัดต้นราชพฤกษ์ขนาดใหญ่ที่บริเวณหน้า สน. เบื้องต้นคาดว่า การตัดต้นไม้เป็นเพราะเกรงว่าจะโตไปพันกับสายไฟ เนื่องจากเห็นว่า มีต้นประดู่จำนวนหนึ่งมีกิ่งใหญ่ที่พัวพันกับสายไฟอยู่

ในวันจัดกิจกรรม เมื่อผู้ชุมนุมเดินทางโดยขบวนรถแห่มาถึงหน้า สน.วังทองหลางในเวลาประมาณ 12.45 น. ก็เห็นว่า ต้นประดู่ที่กิ่งพันกับสายไฟยังไม่ถูกตัด แต่ต้นราชพฤกษ์ที่จะให้ร่มเงาบริเวณพื้นที่หน้า สน.กลับถูกตัดจนเตียนโล่ง ทำให้พื้นบริเวณข้าง สน.ไม่มีร่มเงา 

ที่น่าแปลกกว่านั้น คือ บริเวณกันสาดด้านหน้าประตูทางเข้า มีตำรวจในเครื่องแบบเต็มยศและใส่เสื้อกั๊กกันกระสุนยืนเข้าแถวอยู่ประมาณ 70-80 คน ทำให้ผู้ชุมนุมที่เดินทางมาไม่สามารถไปยืนรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมให้กำลังใจผู้ต้องหาบริเวณประตูทางเข้า สน.ได้

การเจรจาเกิดขึ้นช่วงเวลาสั้นๆ โดยมีตำรวจแต่งเครื่องแบบเต็มยศแนะนำตัวว่า อยู่ฝ่ายจราจรมาช่วยอำนวยความสะดวก ตำรวจแจ้งว่า วันนี้ทาง สน. มีนัดหมายกับ “จเรตำรวจ” จะมาตรวจแถวในเวลา 13.00 น. และซักซ้อมยุทธศาสตร์การชิงตัวประกันซึ่งเป็นกิจกรรมปกติทุกปี และจะต้องใช้พื้นที่บริเวณหน้า สน. จึงขอให้ผู้ชุมนุมยืนอยู่ด้านข้าง สน.ซึ่งเป็นที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งไม่ได้กว้างนัก ผู้ชุมนุมสอบถามกลับไปว่า เมื่อตำรวจทราบอยู่แล้วว่า วันนี้มีนัดหมายให้ผู้ต้องหามารายงานตัวและจะมีคนมาทำกิจกรรมให้กำลังใจ เหตุใดจึงนัดให้กิจกรรมทั้งสองมาชนกัน ตำรวจตอบเพียงว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ

ผู้ชุมนุมตกลงยินยอมที่จะจัดกิจกรรมบริเวณด้านข้าง สน.ตามที่ตำรวจร้องขอ และตั้งใจจัดกิจกรรมไปตามที่วางแผนกันไว้ แต่เมื่อจะนำรถเครื่องเสียงเข้ามาจอดด้านข้าง สน. ตำรวจนายดังกล่าวก็ไปยืนขวางไม่ให้รถเข้ามาโดยเด็ดขาด อ้างเหตุผลว่าจะมีกิจกรรมตรวจแถวโดยจเรตำรวจ และทาง สน.ต้องการใช้พื้นที่บริเวณนั้น จนเป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายต้องแย่งพื้นที่กันอยู่พักหนึ่งจึงเอารถเครื่องเสียงเข้ามาได้และทำกิจกรรมต่อไป

เมื่อผู้ชุมนุมใช้พื้นที่ด้านข้าง สน.ทำกิจกรรมพร้อมกับใช้เครื่องเสียง ตำรวจที่ตั้งแถวอยู่ก็เลิกแถวไป โดยไม่ได้มีจเรตำรวจเดินทางมาในเวลา 13.00 น. ตามที่กล่าวอ้างตอนแรก ทาง สน.ได้ให้ตำรวจประมาณ 10 นาย ยืนเข้าแถวกันไม่ให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดเดินเข้าไปหน้าประตู สน. ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ฝ่าแถวตำรวจเข้าไป แต่ทำกิจกรรมจนเสร็จสิ้นโดยใช้พื้นที่บริเวณด้านข้างกลางแดด 

หลังกิจกรรมของผู้ชุมนุมเสร็จสิ้น มีรถตู้หนึ่งคันเข้ามาจอดส่งตำรวจในเครื่องแบบ 2 คน ซึ่งเดินมาที่บริเวณหน้า สน. ก่อนที่ตำรวจที่ สน.วังทองหลางประมาณ 30 คน จะมาตั้งแถวและโชว์ท่าทางการฝึกเป็นเวลาประมาณ 15 นาที ก่อนที่จะเลิกแถวไป 

ทั้ง 3 เหตุการณ์แสดงให้เห็นถึงวิธีการและเป้าหมายที่ตำรวจใช้เพื่อรับมือการจัดกิจกรรมชุมนุม โดยตำรวจจะพยายามใช้วิธีที่ “อ่อนโยน” ก่อน เริ่มจากการเจรจาพูดคุย เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการก็ยกกฎหมายขึ้นมาขู่ แม้ว่ากฎหมายนั้นจะมีอยู่หรือไม่ก็ตาม โดยหวังว่าผู้ชุมนุมที่ไม่มีความรู้กฎหมายมากพอจะหลงเชื่อและปฏิบัติตาม จนสุดท้ายเมื่อไม่มีข้อกฎหมายที่จะใช้อ้างอิงเพื่อห้ามการชุมนุมได้ก็จะคิดเทคนิคในทางกายภาพเพื่อทำให้การชุมนุมเป็นไปโดยไม่สะดวก หรือไม่สามารถดำเนินไปได้ตามปกติ

จึงอาจสรุปภาพรวมได้ว่า เมื่อตำรวจได้รับคำสั่งจาก “นาย” ว่าต้องไม่มีการชุมนุมเกิดขึ้น แต่กฎหมายที่มีอยู่ในมือไม่ให้อำนาจตำรวจในการห้ามการชุมนุม ตำรวจจึงต้องสรรหาวิธีการ “นอกกฎหมาย” มาใช้ ซึ่งกระทบต่อการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ หากผู้ชุมนุมไม่ได้ศึกษากฎหมายมาดีพอก็อาจหลงเชื่อข้ออ้างของตำรวจและยอมจำกัดเสรีภาพของตัวเองลงได้