เปิดข้อมูลครึ่งแรกปี 2561 เฟซบุ๊กบล็อคเนื้อหาในไทย 285 เรื่อง เป็นอันดับ 12 ของโลก

ในรายงานที่เฟซบุ๊กเปิดเผยต่อสาธารณะ ได้แสดงจำนวนเนื้อหาที่ถูกจำกัดการเข้าถึงทั่วโลก โดยระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2561 เฟซบุ๊กปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาไป 15,337 เรื่อง เป็นเนื้อหาจากประเทศไทย 285 เรื่อง โดยประเทศที่มีการจำกัดเนื้อหามากที่สุดคือ ปากีสถาน ที่ 2,203 เรื่อง รองลงมาเป็นบราซิล ที่ 1,855 เรื่อง และเยอรมนี ที่ 1,764 เรื่อง ไทยอยู่ที่อันดับที่ 12 จากทั้งหมด 66 ประเทศ

สำหรับเนื้อหาที่ถูกจำกัดในประเทศไทยเป็นเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการปิดกั้นเป็นผลมาจากคำร้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จำนวน 283 เรื่อง ส่วนอีก 2 เรื่องเป็นกรณีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

การจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาของประเทศไทยในปี 2557, 2559 และ 2560 ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน โดยปริมาณการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ที่ 283 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ แล้ง เกือบจะเท่ากับจำนวนที่ปิดกั้นทั้งปี 2561 ที่ 364 เรื่อง ข้อสังเกต คือ ในปี 2557 คำร้องส่วนหนึ่งถูกส่งไปยังเฟซบุ๊กโดยกระทรวงต่างประเทศ และศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (Thai Cert) ขณะที่ในปี 2558 รายงานของเฟซบุ๊กไม่ปรากฏว่าได้บล็อคเนื้อหาจากประเทศไทยเลย

รายงานของเฟซบุ๊ก ชี้แจงด้วยว่า เฟซบุ๊กจะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาบางประเภทได้ตามกฎหมายของท้องถิ่น ซึ่งการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาจะถูกจำกัดเฉพาะในประเทศหรือภูมิภาคที่เนื้อหานั้นเข้าข่ายผิดกฎหมาย หมายความว่า ยังอาจเข้าถึงได้หากใช้งานเฟซบุ๊กจากประเทศอื่นที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้เรื่องนั้นๆ เป็นความผิด

สำหรับการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายท้องถิ่นแต่ละประเทศนั้นมีประเด็นแตกต่างกัน เช่น ที่ปากีสถาน ในครึ่งแรกของปี 2561 มีการร้องขอจากเจ้าพนักงานการโทรคมนาคมแห่งชาติของปากีสถานที่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางอิเลกทรอนิคส์ให้ลบเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นศาสนาและเนื้อหาการต่อต้านกระบวนการยุติธรรม

หรือที่เยอรมนีที่มีการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง เนื้อหาที่เกี่ยวพันกับองค์กรหัวรุนแรงผิดกฎหมายและการละเมิดกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเยาวชน รวมถึงจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิเสธการเกิดขึ้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (holocause denial) ตามคำสั่งศาลเยอรมนี และ เนื้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา นอกจากนี้ยังจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาจำนวน 170 เรื่องเพื่อปฏิบัติตาม The Network Enforcement Act (NetzDG) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Facebook Act ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับการยุยงปลุกปั่น (agitation) และข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดีย

//////////////////////////////////////////////////////
อ่านเพิ่มเติมรายงานเพื่อความโปร่งใสของเฟซบุ๊ก