ฟิดาเดลเฟีย : คุยเสรีภาพในอีสาน จิบวัฒนธรรมการอ่าน ฟังภัยคุกคามเผด็จการไทย

 

 ร้านหนังสือเล็กๆ ในสวนดอกไม้ ห่างจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีราว 2 กิโลเมตร  เจ้าของร้าน วิทยากร โสวัตร บัณฑิตหนุ่มจากคณะเกษตรศาสตร์ กวีและนักเขียนเจ้าของรางวัลนายอินทร์อะวอร์ดปี 2552 จากเรื่องสั้น ฆาตกร   

สิบกว่าปีที่แล้ว เขาตัดสินใจทิ้งชีวิตคนทำหนังสือที่เมืองหลวง มาเติมต่อความฝันในแหล่งพักพิงอันคุ้นเคยกับหญิงสาวผู้เป็นที่รัก   ‘ฟิลาเดลเฟีย’ ตึกวนโค้งสีน้ำตาลมีด้ามปลายเป็นดินสอ ที่บรรจุไปด้วยหนังสือและไฟฝันอันหอมกรุ่น  คือพักพิงสถานแห่งนั้น

จากบทบาทนักศึกษา นักกิจกรรม  นักเขียน เราพ่วงเพิ่มให้ว่าเขาเป็นนักรบทางวัฒนธรรม ยิ่งเฉพาะการอ่านและวิพากษ์วิจารณ์สังคมเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก ชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขง และแนวทางประชาธิปไตย

ปลายกรกฎาคม 2561 มีครม.สัญจรที่จังหวัดอุบลราชธานี หลายพื้นที่เต็มไปด้วยการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร  ห้วงนั้น ผศ.เสาวนีย์  ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกพบเพราะต้องการไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ   ด้วยจุดยืนร่วมทางการเมือง และเคยมีประสบการณ์ร่วมลักษณะคล้ายกัน วิทยากรตัดสินใจขอติดตามไปให้กำลังใจเธอด้วย   วันนั้นเมื่อคนชุดลายพลางถามว่าเขาเป็นใคร หรือเกี่ยวข้องอะไร   เขาตอบไปเพียงว่าเป็นนักเขียน
 I am a Writer you know ?

นั่นเป็นเหตุที่ไอลอว์ ต้องชวนเขามาคุยมาถก มาปรับทัศนคติแบบไม่มีใครกดดันใคร  นักเขียนหนุ่ม ท่าทีมุ่งมั่นคนนั้นตอบรับโดยดี ในฉากและชีวิตของบ่ายวันนั้นท่ามกลางทุ่งข้าว ฟ้าครึ้มแดด ลมโชยเบาบางในที่โล่งโปร่งแจ้ง    หลายหลากบทสนทนาเกิดขึ้น เกิดขึ้นด้วยความหวังและปรารถนาที่อยากเห็นบ้านนี้เมืองนี้มีสิทธิเสรีภาพปราศจากภัยคุกคามอำนาจเถื่อน

—–

iLaw : ตั้งแต่มีรัฐบาลคสช. ไม่ทราบว่า ตัวคุณหรือว่าร้านถูกติดตามคุกคาม หรือ รู้สึกว่าได้รับผลกระทบอะไรบ้างไหม?

วิทยากร: ช่วงต้นๆได้รับผลกระทบ ผลกระทบอันดับหนึ่ง เพราะเราลงชื่อให้ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตรา  112 ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2557 (ตอนนั้นร้านยังตั้งที่เดิมเยื้องมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นแหล่งทำกิจกรรมของนักศึกษาด้วย)   อีกส่วนหนึ่งก็คือว่าพอมาทำร้านนี้ก็เกิดรัฐประหาร 2557 เราก็ออกตัวแรง  มีการโละหนังสือออกจากชั้น  โดยเฉพาะหนังสือของกลุ่มศิลปิน นักเขียนที่ไปเป่านกหวีด  เรื่องของเรื่องคือมีกลุ่มนักอ่าน ที่เป็นสายประชาธิปไตย เขารู้สึกเคยศรัทธางานเขียนตรงนี้ แล้ววันหนึ่งนักเขียนกลุ่มนั้นก็ไปเอากับพวกรัฐประหาร โดยเฉพาะสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เรียกทหารเข้ามา กลุ่มนักอ่านก็เลยอยากจะโละหนังสือทิ้ง  เราก็บอก อย่าไปทิ้งเลย เอาไปขายดีกว่า เลยจัดเป็นหนึ่งกิจกรรมช่วงนั้นตรงกับสัปดาห์หนังสืออิสระพอดี    มันก็เลยเกิดกรณีว่า นักเขียนเหล่านั้นไม่ชอบ เป็นกระแสไปช่วงหนึ่ง ต้องขอบคุณมติชนออนไลน์ที่เขามาทำข่าว พอข่าวออกไป สังคมก็เข้าใจมากขึ้น  แล้วมันมีช่วงหนึ่งที่เขาไปหารายชื่อคนที่เสนอแก้ไข 112

 

 

 

 

 iLaw: ผลกระทบอีกอย่างเพราะเรื่องการเคยลงชื่อแก้ไขกฎหมาย 112   ?

วิทยากร:     ใช่  พวก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการกับกลุ่มศิลปินฝ่ายขวา ก็ออกมา เอาชื่อเก่ามารื้อ ตอนนั้นนอนไม่หลับเลยทุกคนโดนเรียก อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็โดนเรียก แต่ที่ตลก เราไม่โดนเรียก แปลกมากเลยนะ ช่วงก่อนหน้ารัฐประการที่ทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี เราไปอ่านบทกวีเลือกตั้งทุกคืน  พาลูกเมียไป และให้สัมภาษณ์สื่อตลอดเลย  พอหลังรัฐประหารพฤษภาคม 2557 ไม่กี่เดือน   เลยเกิดภาวะความเครียดอยู่ช่วงนั้น นอนไม่หลับ   แล้วทีนี้ปัญหาก็คือว่า เหลือเราคนเดียวที่เคยถูกจับตาว่าเคลื่อนไหวในอุบล  นอกนั้นหนีไปหมดแล้ว   

ผลกระทบอีกอย่างจากช่วงรัฐประหารใหม่ๆ ก็คือว่า พอมันมีน้องนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว ก็มาคุยที่ร้านเราเพราะไปที่ไหนไม่ได้ด้วยถูกจับตามอง  ตอนทำแถลงการณ์ครั้งแรกที่ไผ่โดนควบคุมตัว ปี 57  พวกนั้นก็มาทำแถลงการณ์ที่นี่แหละ  ตอนนั้นยังไม่ข้ามวันเลยมีข่าวออกมาแล้วว่า มีการมาชุมนุมที่ร้านฟิลาเดลเฟีย
 
หลังจากนั้นก็จะเกิดภาวะแบบมีคนแปลกๆเข้ามา สังเกตได้ง่ายๆ เช่น ผมเกรียนแบบนี้  แต่มันก็มีทั้งคนแนบเนียนและไม่แนบเนียน เหมือนกับปี 2553 ทหารเต็มบ้านเลยเราก็ลองคุยหน้าร้านเลยนะ  เดินไปเดินมาสามรอบแล้ว  พี่เป็นทหารป่ะ? เขาตอบว่า ผมไม่ได้เป็นทหารผมมาซื้อน้ำแข็ง  เราเลยบอก พี่มาซื้อน้ำแข็ง 3 รอบแล้ว  

 จากนั้นมาที่รู้เพราะว่า เราเป็นทหารมา 2 ปี รู้ว่าทหารเดินยังไง มองออกว่าคนธรรมดาเดินยังไง การก้าวขาเป็นไงโดยเฉพาะทหารนี่เรารู้เลย   บางทีก็มาขายไม้กวาดบ้าง เป็นรถมอไซด์ซาเล้งขายก๋วยเตี๋ยวบ้าง แต่มันก็ขายถูกมากนะ 20 บาท คนอื่นเขาขาย 35 บาท กิน 100 สี่ชาม แล้วก็ทำช้าแต่ให้เยอะ ลูกชิ้นที่ให้เท่ากับสั่งพิเศษ (หัวเราะ)  ปกติเราจะเห็นการทำที่คล่องแคล่ว แต่อันนี้ 2 ชามทำเป็นชั่วโมง  เขาก็สลับกันมา ระหว่างทหารกับตำรวจ มีภาวะแบบนี้ ถามว่าโดนคุกคามไหมก็ประมาณนี้มาเรื่อยๆ เพิ่งไม่มาปีที่แล้ว (2560)

iLaw : ช่วง ครม.สัญจร และก็มีการเรียกตัว อาจารย์ คุณไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ?

วิทยากร: คืนก่อนที่มีการพบทหารที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บรรดาอาจารย์ที่เคยถูกเรียกไปค่าย  เขานัด อาจารย์ปู เสาวนีย์  แค่คนเดียวที่อยากตามไปให้กำลังใจเพราะ อาจารย์ปู เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษเราเอง
แล้วเราก็เห็นคนแบบนี้แนะนำเราตอนไปเจอชาวบ้านเสื้อแดงที่บางคนโดนคดีก่อการร้ายว่า เราเป็นนักเขียน

ทีนี้อาจารย์ปูเนี่ย เวลาโดนเรียก แกก็รู้สึกกลัว ขณะเดียวกันก็รู้สึกโกรธและก็ชิงชัง  เราก็ถามแกนั่นแหละว่าครั้งนี้จะทำยังไง อาจารย์ปูไม่อยากให้เป็นทางการเลยนัดที่ร้านกาแฟสวยๆหน่อยที่ตึกศิลปศาสตร์    ก็คุยในเฟซบุ๊กกันว่าจะตามไปด้วย  ทีนี้วันนั้นพอเราไปถึง อยู่ๆทหารก็ถามเราว่าเป็นอาจารย์เหรอ เราก็บอกว่าไม่ได้เป็นอาจารย์ ผมเป็นนักเขียน  เขาก็พูดดี สรุปว่าวันนั้นรับรองได้ไหมว่าอาจารย์ พวกนักศึกษากับพรรคพวกจะไม่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่มาชูสามนิ้ว ไม่มาชูป้าย ประเด็นมันมีแค่นั้น พวกอาจารย์ บอกว่าไม่มีหรอก มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สงบราบคาบ อาจารย์บางคนบอกชูแน่นอนแต่ไปชูที่บ้าน
 

นอกจากนี้วันนั้นมีทหารเข้ามาเรื่อยๆ มาถ่ายรูปทุกอิริยาบถเลย เราก็เลยหันกล้องกดมันบ้าง พอถ่ายรูป Isaan record ก็เอาไปลงข่าวเฟซบุ๊ก  พอภาพข่าวออกไป คนเลยเข้าใจไปว่ามันไม่ได้มีแต่อาจารย์ที่โดนเรียกตัว มันมีนักเขียนด้วยมันมีร้านหนังสือด้วย   

 

 

 

 

 

iLaw: แล้วบรรยากาศวันก่อนหน้า ครม.สัญจร ?

วิทยากร:  เจ้าหน้าที่มาทั้งในและนอกเครื่องแบบ  รถด่วนขี่ล้อมมหาวิทยาลัย ไปทุกที่ทุกซอยทุกเวลา ตำรวจทหารยืนเต็มเลย ไปซื้อผลไม้พ่อค้าบอกว่า ในหมู่บ้านโดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ติดมหาวิทยาลัย ทุกซอยมีแต่ทหาร พร้อมอาวุธครบมือ
 
เราไปส่งลูกเรียนหนังสือที่โรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี ตอนเที่ยงเราต้องกลับไปรับ ออกจากบ้าน 7.00 น. ถึงโรงเรียน 8.30 น. และกลับไปอีก เที่ยงต้องไปรับลูกเพราะทหารจะเคลียร์พื้นที่

วันนั้นประกาศให้ปิดห้างร้านแถวรอบๆ พอเราไปรับลูกมันก็ประกาศรถหมายเลขเท่านั้นเท่านี้ ทะเบียนเท่านี้ เอาออกไป ไม่งั้นจะจัดการขั้นเด็ดขาด ประกาศใส่ไมค์ได้ยินกันทั่วอุบลฯ  รู้สึกบรรยากาศวุ่นวายมาก ก็เลยอยู่บ้านไม่ค่อยไปไหน เวลาเราขับรถไปเนี่ยมันจะมีถนนสายใหญ่กับสายย่อย มีกรวยตั้งปิดถนน

iLaw : จริงๆคุณมีความเชื่อทางการเมืองแบบไหน ทำไมคุณถึงเลือกมีทัศนคติทางการเมืองแบบนี้ ?  

วิทยากร: เราว่าเราเป็นแบบนี้เพราะเราอ่านหนังสือนะ เป็นคนอ่านหนังสือ เป็นคนที่มีอิสระจริงๆ       เรามาทางประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจจะไม่เห็นด้วยกับบางรายละเอียด คือหลักการประชาธิปไตยมักจะมีกลุ่มหลายกลุ่มมามีความเห็นร่วมกัน เราอาจจะไม่เห็นด้วยบางอย่าง ส่วนพวกหัวก้าวหน้า liberal บางเรื่องเราไม่เห็นด้วย อันนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าไม่มาทำร้านหนังสือ ความฝันเราคือมาเป็น NGO

แต่พูดถึง NGO บางกลุ่มมันแข็งตัว และมีลักษณะเป็น conservative  และลักษณะแบบนี้ มันก็ถ่ายทอดมาให้ NGO ทุกรุ่นจนถึงทุกวันนี้ ยกเว้น NGO อีสานใหม่ที่มันก่อตัวหลังรัฐประหาร

แล้วเราก็ไปอ่านงานของนักคิดอีกหลายๆคน  ตามข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ เราเห็นว่า มีเงื่อนงำบางอย่างทำให้ความจริงเราชัดเจนมากขึ้น ว่าเราต้องการระบอบ ทีนี้ปัญหาตอนเราออกมาเรียกร้องเรื่องพวกนี้ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็จะมาว่าเราเป็นฝ่ายทักษิณ  เราต้องการระบอบ เราต้องการธำรงระบอบนี้ไว้ เมื่อคุณไม่ต้องการระบอบนี้ นี่ไงวันหนึ่งคุณก็มาด่าประยุทธ์ คุณไม่ชอบนักการเมืองคุณก็ไม่เอาระบอบประชาธิปไตยเลือกตั้ง และคุณจะเอาอะไร เมื่อคุณไม่เอาอะไรเลยแบบนี้ มันก็เป็นช่องทางให้คนแบบนั้นเข้ามา  

 

 

 

 

 

 

 

iLaw:  ทำไมหนังสือที่ฟิลาเดเฟียส่วนมากเป็น หนังสือการเมือง ประวัติศาสตร์ ?

วิทยากร:  คุณทำงานร้านหนังสือมา 10 ปี คุณต้องรู้ว่าร้านคุณขายอะไรได้ ร้านหนังสือมันอยู่ได้เพราะบุคลิกของเจ้าของร้านเข้ากัน ก็เราเป็นแบบนี้ อ่านหนังสือแบบนี้ ก็เลยคัดคนคล้ายกันๆเข้ามา  ลูกค้าที่มาร้านส่วนใหญ่เป็น liberal เราก็ขายหนังสือกับคนเหล่านี้ได้ แต่ถามว่าพี่มีเพื่อนดีๆจากฝ่ายขวาไหม  มี แต่ขวาพวกนั้นเป็นคนมีน้ำใจไม่ได้เห็นด้วยกับสุเทพ  เรามีเพื่อนเป็นครูบาอาจารย์ conservative ค่อนข้างเยอะ แต่เขาเป็น conservative ที่เห็นค่าในการอ่านหนังสือ

 แล้วงานพวกนี้ส่วนหนึ่งเราคิดว่ากำลังต่อสู้ทางวัฒนธรรมด้วย ตอนที่เราเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มันมี กฎหมายมหาวิทยาลัยห้ามชุมนุมทางการเมือง ช่วงปี 41 เราต้องใช้วิธีตั้งกลุ่มอิสระขึ้นมา  ชื่อกลุ่มหิ่งห้อย
 
เราเปรียบเทียบอย่างงี้นะว่า ต้นไม้ที่มันไม่มีรากแก้วเนี่ยเวลามันโดนกระแทก มันหักแล้วมันโค่นจบเลยมันไม่สามารถทำให้เกิดต้นอ่อนขึ้นมาใหม่ได้ แต่ต้นไม่ใหญ่ที่มีรากแก้ว กระแทกลงไปเลย รากที่มันหยั่งมันก็จะมาแตกยอดใหม่ใช่ไหม มันไม่ตาย รากแก้วตรงนี้เนี่ยพี่คิดว่ามันเป็นรากแก้วธรรมดา จะทำอย่างไรให้มันไม่ตายก็อ่านหนังสือซิ เราก็เลยมาตั้ง หิ่งห้อยวรรณกรรม เราก็ขนหนังสือไปประมาณสามพันเล่ม อ่านมาตั้งแต่เป็นเณรขนมาจากสุรินทร์ เช่าห้องอยู่อ่านกัน เพราะตอนนั้นมหาวิทยาลัยอุบลฯ  หนังสือวรรณกรรมน้อย หนังสือฝ่ายการเมืองน้อย

 

iLaw:  ตอนนั้นกลุ่มวรรณกรรมหิ่งห้อย ถกเรื่องอะไรกันบ้าง ?

 วิทยากร:   อ่านหนังสือแล้วถกกัน ถกทุกเรื่อง  แต่เราจะไม่อ่านอย่างเดียว เราจะไปประมวล เด็กพวกนั้นก็ไปอ่านแล้วเอามาประมวลกัน คนจะเข้าใจว่าโครงสร้างคืออะไร มันจะมีคำถามใหญ่ๆโตๆที่เราไม่เข้าใจ ไม่มีคำตอบเราก็มาค้นมาอ่านกัน
 แต่ที่ตั้งชื่อหิ่งห้อยวรรณกรรม ส่วนหนึ่งชอบวรรณกรรม ส่วนหนึ่งป้องกันตัวเองไม่ให้เขาเล่นงานเรา(ด้วยกฎหมายห้ามมีชมรมเกี่ยวการเมือง)  

 ส่วนบุคลิกจากกลุ่มหิ่งห้อยวรรณกรรม ผลผลิตอย่างน้อยพวกนี้ก็จะเป็นคนกลางๆที่อ่านหนังสือไม่ทุ่มตัวไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะอนุรักษ์นิยม  เด็กพวกนี้ไม่ไปทางนั้น ก็เพราะแบบนี้แหละเราถึงเอาเรื่องพวกนี้มาไว้ที่ร้านหนังสือ มันออกจากตัวเราไม่ได้หรอก เราอาจจะเคยสำเร็จจากการทำหิ่งห้อย บุคลิกแบบนั้นกับวิธีการแบบนั้น การทำหนังสือแบบนั้น เราไม่ได้ปลุกระดมมวลชนเหมือนกับที่เราทำหิ่งห้อยอีกต่อไป ก็แค่ว่าถ้าอยากอ่านหนังสือก็มา อยากคุยก็คุย แต่ก็มีหลายโรงเรียนทำอยู่ในวิธีการแบบนี้  ตอนนี้ผมมีลูกมีเมียแล้วผมจะเป็น นักเขียน ผมทำมาเยอะแล้วในยุคนั้น เยอะถึงขั้นว่า คนที่เขียนหนังสือหลังผม เขามีหนังสือไปหลายเล่มแล้ว ผมทำกลุ่มแบบนี้พวกเขาก็ดูถูกผมนะ เพราะมัวแต่ทำกิจกรรมนักศึกษา นักเขียนส่วนมากไม่ได้สร้างฐานนักอ่าน แต่เราเป็นคนที่สร้างนักอ่าน  และเชื่อมั่นในหนังสือ และคนที่อ่านหนังสือไม่เป็น conservative จัดและ ไม่ล้มล้างประชาธิปไตยแน่นอน

ถ้าเราบอกว่านักเขียนคือนักรบของทางวัฒนธรรม นี่คือปัญหาของนักรบด้านนี้เลย แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นนักรบฝ่ายก้าวหน้าของเราเนี่ยไม่ทำงานเรื่องนี้ เก่งแต่คีย์บอร์ด เก่งแต่สร้างงานแล้วก็เชียร์กันเอง แต่คนที่ทำดันเป็นนักรบฝ่ายนั้น แล้วบอกว่าเขามีงบ เขาเข้าถึงงบ ผมไม่เห็นมีสักบาทผมยังทำเลย เราทำค่ายแบบนี้ค่ายนักอ่าน เราจะสร้างฐานคนอ่าน เมื่อเราเชื่อมั่นในหนังสือที่มันดีเนี่ย เราก็ทำไป 10 ปีเพิ่มขึ้น 1,000 คน ฐานคนอ่าน1,000 คน มันมีพลัง คนคนหนึ่งนี่เราสร้างคนได้ 5 คน หนังสือเล่มหนึ่งที่เราเอาใส่มือมันเนี่ย มันอาจจะไม่อ่านหรอก แต่พ่อแม่มันอาจจะอ่านก็ได้ ก็จะเดินหน้าต่อ แต่นี่คือ ปัญหานักรบฝ่ายก้าวหน้าเราไม่ทำ เราไม่ค่อยทำงานเรื่องนี้

 

iLaw: การเขียนงานทุกวันนี้ยากขึ้นไหม ?

         วิทยากร:   มันยาก 2 ระดับ ที่ยากจริงๆ คือมันไม่มีที่ลง หาที่ลงยาก นิตยสารก็ตายหมดแล้ว มติชนก็ลงให้เราไม่ได้ตลอด มติชนเขาบอกเขาทำธุรกิจ ต้องเล่นกับคนที่คุ้ม
 มิติหนึ่งคือหาพื้นที่งานเขียนที่ๆเราจะลงงานมันน้อย 2 การเขียนมันยากขึ้นไหม เราไม่เคยเซ็นเซอร์งานตัวเองเลย แต่สมมุติเราจะเขียนเรื่องการเมือง ถ้าจะเขียนแบบทั้งดุ้นมันก็ทุเรศ   เราถึงเซ็นเซอร์ให้เป็นศิลปะ ความหมายที่ดี เขียนยากไหมไม่ยากมันขึ้นอยู่กับอายุเรา มีข้อดีอย่างหนึ่งเราอายุมากขึ้นเราไม่สนใจว่าใครจะอ่านงานเราไหม งานเราจะขายได้ไหม ยุคนี้เป็นยุคอินเทอร์เน็ต ผมมีเอฟซีซัก 300 คน ผมก็พร้อมขายได้แล้ว ขายได้ตั้ง 150 แหนะ ขายได้ 250 เล่มได้ทุนคืนทั้งหมดก็ได้กำไร

iLaw:  คุณรู้สึกอย่างไรกับนักกิจกรรมและกิจกรรมเคลื่อนไหวที่แสดงออกในทุกวันนี้  ?

วิทยากร: เราเคารพนักกิจกรรมทุกคนที่เป็นฝ่ายที่เป็นประชาธิปไตย ที่แหลมออกมาทำงานเคลื่อนไหวแสวงหา แค่หมั่นแสวงหาความเป็นตัวเอง แสวงหาความแตกต่าง เราก็ให้เกียรติแล้ว ก็เคารพแล้ว ยิ่งถ้าขยับมาเพื่อคนอื่น เราก็นับถือแล้ว ส่วนมากไม่ใช่ทุกคนนะเท่าที่พี่เห็น เรากินดื่มกันมากเกินไป
 สองมีนักกิจกรรมที่ชอบอ่านหนังสือจริงๆ น้อยมากจาก 10 คนมี 1 หรือ 2 แล้วทีนี้เราอยากแลกเปลี่ยน เราอยากรู้อะไรมากขึ้น เราอยากได้อะไรจากคุณมากเหมือนที่คาดหวัง เพราะยังไม่เห็นความลึกซึ้งบางอย่างที่ต้องการ ซึ่งมันอาจจะเกิดผลในอนาคตไร้พลัง มันจะถูกสับส่ายไปได้ง่ายสุดท้าย คุณก็จะเป็นแค่เสือกระดาษไว้ทำโครงการและก็ผ่าน

แต่เราว่านักกิจกรรมรุ่นใหม่ในยุค คสช. ขยับตัวได้ยาก

เราจะเล่าย้อนตอนเป็นเด็ก ภาพจำนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 ของพวกเขาจนโตอายุ 15 16 ปี และยังชื่นชมมากคือ สฤษดิ์  ธนะรัชต์   ล่าสุดเราไปทำค่ายให้เด็ก ประมาณประถมอนุบาลถึงอายุ 20 ปี ทุกคนพูดถึงนายกตู่ด้วยความน่ารัก เราก็สะท้อนใจ ถ้ามันเป็นงานวิจัย มันเป็นตัวสะท้อนของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในประเทศนี้ได้เลย เพราะงั้นการสืบทอดอำนาจ 20 ปีไม่ใช่เรื่องโมเม ถ้าเขาอยู่จริง เด็กพวกนี้ที่มันโต มันก็จะเหมือนผู้ใหญ่ตอนที่เราเป็นเด็ก ที่มีภาพสฤษดิ์

iLaw : กับนักกิจกรรมรุ่นใหม่ คนหนึ่ง คุณเคยไปเยี่ยมไผ่ ดาวดิน ใช่ไหมได้พูดคุยอะไรกับเขาบ้าง  ?

วิทยากร: เคยไปเยี่ยมที่ศาลทหาร ไผ่เคยมาที่นี่(ร้านหนังสือ)สองครั้ง มันพูดไม่ออก เห็นหน้าน้องน้ำตาก็ไหลแล้ว มันเห็นเราน้ำตาก็ไหลเหมือนกัน เราได้เข้าไปกับชาวบ้าน เขาให้เขาทีละ 5 คน  มันพูดอะไรไม่ออก เราได้เข้าไปเยี่ยมกับชาวบ้าน ก็ฝากบอกมันไปว่า อดทนหน่อยเว้ย  รอวันนั้น แล้วค่อยไปดื่มกัน  ตอนนั้นก็มีเวลาพูดกันแค่นี้ เพราะคนไปเยี่ยมไผ่เยอะ

 

 

iLaw: ถ้าเปรียบร้านฟิลาเดลเฟียเป็นคน เป็นคนอย่างไร ?

วิทยากร: เรามั่นใจว่าคนที่เข้ามาร้านหนังสือเราสิ่งหนึ่งที่เขาสัมผัสได้ เขาจะสัมผัสว่านี่คือบ้าน เขามาเยี่ยมบ้านแล้ว เจ้าของบ้านค่อนข้างเป็นกันเอง เราจะพูดหยาบแรงและเสียงดัง แต่เราเข้าใจว่าเขาจะสัมผัสได้ถึงความจริงใจ มันก็จะเป็นตัวทำลายความดิบแบบนั้นลงไปให้มองข้ามไปได้ ร้านเราเป็นร้านที่มีเพื่อนเยอะมาก รักใคร่ผูกผันเป็นมิตรสหายแนบแน่น เราถูกหล่อหลอมมาจากแม่และพี่ชาย จากเพื่อนๆ จากงาน เหมือนมาอ่านหนังสือใครจะมาเปิดอ่านก็ได้ ร้านเท่ากับหนังสือรอคนเปิดอ่าน บางคนไม่ชอบทฤษฎี ความคิดหนังสือพิมพ์ บางคนที่ชอบมันตื่นตาตื่นใจอ่านจนจบ ถ้าพูดถึงร้านหนังสือมันไม่ได้บอกว่าคุณห้ามอ่าน แต่เท่าที่สัมผัสเห็นคนที่ปิดอ่านแล้วก็ เกินครึ่งเขาก็โอเคกับเรา

 

iLaw: พอจะมีหนังสือ  3 เล่มในร้านที่อยากแนะนำให้คนไทยได้อ่านไหม กับความเป็นไปของสถานการณ์ในบ้านนี้เมืองนี้ ?

วิทยากร: เล่มแรก แผ่นดินจึงดาล ของประชาไท  เล่มนี้ วิจารณ์สังคมไทยเรื่อง คสช. เล่มที่สองจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์  อีกเล่มเอาเป็น 1984 ของ จอร์จ ออร์เวล

 

ร้านฟิลาเดลเฟีย ตั้งอยู่ที่ ซ.หนองเตย ถนนสถลมาร์ค กม.12 ต.เมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี  facebook : philadelphiabookandcoffee