อุปสรรคของนักปกป้องทรัพยากรภาคใต้ “ปาฏิหาริย์” จำเลยสองคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

 
 
ยื่นหนังสือ-เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็น-อดอาหารประท้วง-ตั้งวงเจรจา-สื่อสารกับสาธารณะ เหล่านี้ คือ วิธีการที่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ใช้เพื่อร้องบอกให้รัฐได้ยินเสียงของพวกเขาที่มีต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่รัฐพยายามหยิบยื่นให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เช่น เหมืองหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น หลายครั้งที่การส่งเสียงของพวกเขาประสบความสำเร็จจนโครงการหยุดชะงักไป และบ่อยครั้งที่เสียงคัดค้านดังไปไม่ถึงผู้กำหนดนโยบายระดับประเทศ ทั้งบางครั้งการแสดงความคิดเห็นยังตามมาด้วยการดำเนินคดี
 
กรณีของปาฏิหาริย์ หนึ่งในจำเลยที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมการชุมนุมสาธารณะ จากการร่วมกิจกรรมกับชาวบ้าน อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เดินขบวนจากไปยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยบทบาทของเขาในการเดินขบวนครั้งนั้น คือ เป็นผู้พูดให้ความรู้แก่ชาวบ้านทั้งเรื่องข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และอีกหนึ่งคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากการล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่หนึ่ง (ค.1) ของโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูลเมื่อเดือนมีนาคม 2560
 
ไอลอว์คุยกับปาฏิหาริย์ถึงภูมิทัศน์การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องชุมชนในพื้นที่ภาคใต้
 
 
++จุดเริ่มต้นในการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม++
 
ปาฏิหาริย์เป็นชาวอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ข้าราชการบำนาญ วัย 60 ปี ก่อนหน้านี้เคยเป็นครูมาเกินครึ่งชีวิต ก่อนจะมาทำงานเคลื่อนไหวหลักร่วมกับชาวบ้านอำเภอเขาคูหา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา ประสบการณ์การต่อสู้ร่วมกันทำให้เขาและชาวบ้านเริ่มเรียนรู้และมองข้อเท็จจริงอย่างเป็นระบบมากขึ้น และได้รับบทเรียนจากการต่อสู้ที่เขาคูหาว่า “ถ้ากัดแล้วปล่อยก็จะกลับมาอีก”
 
ดังนั้น ชาวบ้านเขาคูหาจึงรวมตัวกันและเชิญปาฏิหาริย์ไปเป็นที่ปรึกษา วิทยากร เอากรณีศึกษาต่างๆ ไปเล่าให้ฟัง จนกระทั่งชาวบ้านรวมตัวและตั้งคำถามถึงปัญหาจากการพัฒนาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อื่น
 
++ปัญหาแต่ละพื้นที่เชื่อมโยงกัน เมื่อสู้ต้องสู้ตั้งแต่ต้นทาง++
 
ชาวบ้านเขาเห็นปัญหาร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่พื้นที่ติดกัน เพราะว่า โครงการที่รัฐวางแผนไว้นั้นเชื่อมโยงกัน ชาวบ้านก็มองว่า ถ้าหากสร้างท่าเรือน้ำลึกเสร็จแล้ว ก็จะต้องมีส่วนควบอย่างอื่น มีรถไฟรางคู่จากจังหวัดสตูลมาที่จังหวัดสงขลา อาจต้องใช้หินมาก่อสร้าง เหมืองหินเขาคูหาที่เคยคัดค้านเอาไว้แล้วก็อาจจะเปิดอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น วิธีการในการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ คือ ต้องไปต่อสู้ตั้งแต่ต้นทางไม่ใช่ต่อสู้ที่ปลายทาง ทำให้ในเดือนมีนาคม 2560 ตอนที่มีการเปิดเวที ค.1 ของท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ชาวบ้านเขาคูหา รวมทั้งปาฏิหาริย์ก็เห็นว่า ต้องไปช่วยคัดค้านด้วย
 
ครั้งนั้นชาวบ้านเลือกวิธีการเดินเท้าจากจังหวัดสงขลาไปสตูล เดินไปค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น และจะคุยเรื่องทรัพยากรที่นั่น ชาวบ้านก็มีข้อมูล ปาฏิหาริย์มองว่า ท่าเรือน้ำลึกมีความแน่นอนว่า จะสร้างให้ได้ เนื่องจากมีการตระเตรียมความพร้อมไว้แล้ว พอพูดคุยกันเรื่อยๆ ก็ค้นพบข้อมูลและมีความคิดเห็นร่วมกันว่า จะต้องอนุรักษ์ทรัพยากรและให้ความเป็นธรรม ถ้าหากว่า มีการระเบิดหินในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ก็ต้องมีการเยียวยาแก้ปัญหาที่เป็นธรรม ปาฏิหาริย์ย้ำว่า จุดยืนชองชาวบ้านไม่ใช่ไม่ให้สร้างแต่ต้องเป็นธรรม
 
++ล้มเวทีรับฟังความคิดเห็น ค้านท่าเรือน้ำลึก++
 
ตอนที่ปาฏิหาริย์และชาวบ้านเขาคูหาไปถึงเวทีการรับฟังความคิดเห็นที่จังหวัดสตูล เขาพบว่า มีการจัดนิทรรศและจัดงานใหญ่โต มีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เพราะวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันที่เริ่มรับฟังความคิดเห็น ซึ่งชาวบ้านเขาคูหาเห็นว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราไปรับฟังไกลจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและชาวบ้านปากบารา ผู้ปกป้องทรัพยากรก็เห็นว่า การจัดเวทีดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงเรียกร้องให้ยุติเวที แต่ไม่มีการตอบรับ ชาวบ้านที่คัดค้านจึงเตรียมตัวเข้าร่วมเวที
 
กรณีเวที ค.1 ท่าเรือน้ำลึกปากบารานี้ ข้อกล่าวหาที่ผู้ปกป้องชุมชนได้รับ คือ ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และบุกรุกสถานที่ราชการในยามวิกาล เหตุที่ต้องไปรวมตัวในเวลากลางคืนเป้าหมายของชาวบ้าน คือ ในช่วงเช้าของวันถัดไปจะเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นคัดค้านในเวที ค.1 ที่โรงเรียนบ้านปากบาง อำเภอละงู จังหวัดสตูล สถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จึงไปเตรียมตัวนอนในโรงเรียนเพื่อรอการลงทะเบียนเลยในช่วงเช้าเลย 
 
ในช่วงกลางคืนวิทยากรร่อยหรอลง บางคนก็ไปนอน ชาวบ้านปากบาราจึงเชิญปาฏิหาริย์ในฐานะที่เป็นผู้เผยแพร่สิทธิชุมชนไปเป็นวิทยากรอธิบายว่า ชุมชนมีสิทธิอย่างไร และตำรวจก็เก็บภาพปาฏิหาริย์ไว้
 
พอรุ่งเช้ามีปัญหาเกิดขึ้นว่า คนที่มาแสดงความคิดเห็น มากันจำนวนมาก ไม่รู้ว่ามาจากไหน คนในชุมชนก็รู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง บรรยากาศตอนนั้นคนที่มาร่วมเวทีแล้วไม่เห็นด้วยก็พยายามบอกว่า อย่าเปิดเวที จนกระทั่ง มีหน่วยทหาร และกองร้อยปราบจราจลจำนวน 700-800 คนมาห้อมล้อมชาวบ้าน บทสรุป คือ คนที่มากันก็ไม่กล้าเข้ามาประชุมเพราะฝ่ายที่ชุมนุมอยู่ก็พยายามส่งข้อมูลว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราในอีกแง่มุมว่าเป็นอย่างไร บางคนที่ถูกพามาก็ไม่รู้ว่า จะมารับฟังความคิดเห็นเนื่องท่าเรือน้ำลึปากบารา รู้แต่ว่า มาดูงาน บางคนบอกว่า เข้าใจว่า มาฝึกอาชีพ มีการให้เงินค่ารถ 
 
นอกจากนี้กำหนดการประชุมรับฟังความคิดเห็นมีเพียงครึ่งวัน ซึ่งปาฏิหาริย์มองว่า ท่าเรือน้ำลึกเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ จนในที่สุดผู้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต้องยุติเวที ไม่สามารถเอาความเห็นมาประกอบการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อชาวบ้านและปาฏิหาริย์รวม 9 คน
 
++เดินเท้าต่อ คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน++
 
 สำหรับตัวปาฏิหาริย์แล้ว เมื่อถูกกล่าวหาในคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯ คดีแรกไปแล้ว ก็ยังหยุดเขาไม่ได้ เขายังเข้าร่วมกิจกรรมเดินเท้า “เทใจให้เทพา” เพื่อไปยื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยบทบาทของเขาในการเดินเท้าครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากเดิม คือ ให้ความรู้และพูดคุยกับชาวบ้านระหว่างการเดินขบวน อย่างไรก็ตามเขามองว่า สำหรับขบวนการต่อสู้โดยรวมก็ถูกชะลอลงระดับหนึ่งเพราะว่า มีคดี คนที่ไม่ค่อยกล้าหรือคนที่ไม่ค่อยมีต้นทุนมากนักก็ถอยไปอยู่เฉยๆ 
 
กรณีการคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารานั้น พอมีคนคัดค้านแล้วโดนคดี ยิ่งสู้ขึ้น และชาวบ้านก็ตั้งคำถามได้ว่า การที่ต้องถูกกระทำจากการที่เข้ามาต่อสู้เพื่อถิ่นที่อยู่ของพวกเขามันผิดด้วยหรือ พวกเขาจึงรวมพลังกันเป็นกลุ่มเครือข่ายไม่ต่ำกว่า 200 คน ในแง่นี้คดีกลายเป็นการกรองให้คน “ตัวจริงเสียงจริง” ลุกขึ้นมาสู้ แล้วชาวบ้านเปิดเวทีเสวนากันเพื่อนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่ง
 
ปาฏิหาริย์มองว่า อุปสรรคอีกอย่าง คือ ผู้บังคับใช้กฎหมาย ถ้ามีการกลั่นแกล้ง ถ้ามีเจตนาอื่น ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความเสมอภาคก็จะเป็นปัญหา นอกจากนี้ตอนที่คัดค้านเวที ค.1 เรื่องท่าเรือปากบารา รัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่ประกาศใช้ แต่กรณีของกิจกรรมเดินเท้า “เทใจให้เทพา” เกิดขึ้นในช่วงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งรับรองสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ แต่ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่สร้างอุปสรรคในการชุมนุม ซึ่งขัดแย้งกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
++โดนสองคดีก็ลำบาก เสียเวลาทำมาหากิน++
 
เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่โดนคดี ปาฏิหารย์ตอบว่า ก็คงไม่รู้สึกอะไร คิดว่า เป็นนักสู้ที่ได้รับเกียรติบัตร 
 
พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพิ่งเริ่มใช้ แต่ยังไม่ได้ทำการประเมิน โดนคดีสองคดีนี้ก็ลำบาก เพราะเสียเวลาไม่ได้ทำมาหากิน เดือนหนึ่งต้องไปศาลไม่ต่ำกว่าสิบวัน แถมยังต้องจ่ายเงินเองด้วย ทั้งค่าเดินทางค่าที่พัก ในกรณีของกิจกรรม “เทใจให้เทพา” ดีที่ว่า มีคณาจารย์ใช้ตำแหน่งช่วยในการประกันตัว ไม่เช่นนั้นคงต้องเอาโฉนดที่ดินของพ่อแม่มาประกันตัวก็จะยากลำบากไปอีก
 
สิ่งที่รัฐกระทำ ต้องการให้เข็ดหลาบในการชุมนุม ให้เห็นว่า ถ้าหากมาชุมนุมกันก็จะเป็นเช่นนี้ กระทบต่อหน้าที่การงานของผู้ใช้เสรีภาพ เป็นการกลั่นแกล้งผู้ชุมนุมโดยอาศัยข้อกฎหมายเป็นเครื่องมือ เขาใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่อหยุดผู้ใช้เสรีภาพ
 
++คสช. เผด็จการ ยุครัฐบาลจากการเลือกตั้งยังจัดชุมนุมได้++
 
ก่อนหน้านี้ปาฏิหาริย์เข้าร่วมทุกเวที เพราะว่า เป็นเสรีภาพของเขาในการแสดงออกในเรื่องต่างๆ แต่บรรยากาศการเคลื่อนไหวแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ก่อนยุค คสช. ปาฏิหาริย์เคยชุมนุมกันที่บริเวณสี่แยกเขาคูหา ภาครัฐเข้ามาจัดการได้เรียบร้อยกว่า ไม่มีการจับกุม แต่ตอนนี้มีการจับกุม มีสายตำรวจ สายทหารไปถึงบ้าน ชัดเจนว่า รัฐบาล คสช. เผด็จการ ไม่มีสิทธิโต้เถียง
 
ปฏิหารย์มองว่า การได้เข้าร่วมกับชาวบ้านจนสามารถยุติโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่ผ่านมาก็ถือว่า คุ้มค่าแล้ว เกิดมาชีวิตหนึ่งเป็นครูบาอาจารย์สอนให้คนอื่นรู้จักเคารพสิทธิรักษาสิทธิ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มันเป็นโอกาส ท้ายที่สุดเขาขอเรียกร้องว่า สื่อมวลชน และพรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้งจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ควรจะถูกปรับปรุงแก้ไขอย่างไรให้ชาวบ้านไม่เดือดร้อน ไม่ลำบากอย่างที่เขาและชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้กำลังเผชิญอยู่