#Attitude adjusted? ศรีสุวรรณ จรรยา : เมื่อนักร้อง(เรียน) ถูกเรียกปรับทัศนคติ

ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย หรือที่หลายคนให้สมญานามว่า “นักร้อง(เรียน)”  ชื่อของเขาปรากฏผ่านสื่อมวลชนหลายสำนักจากการไปยื่นตรวจสอบและร้องเรียนรัฐบาลหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็นในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ศรีสุวรรณก็เคยยื่นตรวจสอบการประชุมน้ำโลก ที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมองว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลืองภาษีประชาชน ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ก็เช่นกัน เขาออกมาตรวจสอบการดำเนินงานต่างๆ ของ คสช. จนทำให้ถูกเรียกปรับทัศนคติแล้วสามครั้งในรอบสี่ปี ทั้งนี้ศรีสุวรรณกล่าวว่าในรัฐบาล คสช. เขายื่นตรวจสอบรัฐบาลโดยเฉลี่ยประมาณ 20-30 เรื่องต่อปี จนถึงปี 2561 อาจมีมากถึง 100 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นทางการเมือง เขากล่าวว่า การที่เขาถูกเรียกปรับทัศนคติเป็นเรื่องทางการเมืองที่อาจขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของ คสช. เช่น เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น หรือเกี่ยวกับองคาพยพของ คสช. และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง มาดูกันว่าในแต่ละครั้งนักร้อง(เรียน) ผู้นี้ถูกปรับทัศนคติอย่างไรบ้าง
ตรวจสอบจริยธรรมผู้นำประเทศ-เรียกปรับทัศนคติครั้งแรก
วันที่ 15 ตุลาคม 2558 ศรีสุวรรณถูกเรียกปรับทัศนคติเป็นครั้งแรกหลังจากที่เขายื่นผู้ตรวจการแผ่นดินสอบจริยธรรมผู้นำประเทศ ศรีสุวรรณเล่าประสบการณ์ปรับทัศนคติครั้งแรกว่า เวลาประมาณ 13.00 น. ระหว่างที่เขาอยู่ที่บ้านพัก เจ้าหน้าที่ทหารสวมชุดเครื่องแบบ ไม่มีอาวุธ มาเชิญตัวเขา โดยพาขึ้นรถฮัมวี่ไปยังกองทัพภาคที่หนึ่ง เขาจำได้เพียงว่าทหารพาเข้ามาผ่าน รปภ. ซ้ายมือ แล้วก็เลี้ยวซ้ายไป ตึกหลัง รปภ. ในครั้งนี้ยังไม่มีการปิดตา และอยู่ในค่ายเพียงไม่กี่ชั่วโมง จึงปล่อยตัวออกมาในเวลาประมาณ 17.00 น.

โดยศรีสุวรรณบรรยายถึงเหตุการณ์เชิญตัวไปปรับทัศนคติว่า “เมื่อเขาเห็นว่ากลไกที่น่าจะสยบผมได้ คือการเรียกไปปรับทัศนคติแล้วคาดหวังว่าผมจะเกรงกลัว เพื่อให้ผมไม่กล้าที่จะมายื่นตรวจสอบหรือทำให้เขารำคาญ จึงเรียกผมเข้าค่ายเป็นครั้งแรกที่กองทัพภาคที่หนึ่ง จริงๆ เข้าไปผมก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร มีทหารมาเชิญผมถึงที่บ้าน โดยมีทหารและตำรวจที่ สน.คูคต มากันเป็นสิบ” ศรีสุวรรณกล่าวว่าเขาถูกควบคุมตัวไปโดยที่ไม่มีหมายเรียก หรือแจ้งล่วงหน้าก่อน “เขาไม่ได้แจ้งอะไรผมเลย ทหารเข้ามาเนี่ยไม่เป็นอะไร แต่ตำรวจถ้าผมจะเอาผิดก็เอาผิดได้ฐานบุกรุกได้ทันที”


“ส่วนทหารมาเชิญก็คุยดีนะ ไม่ได้ใช้อำนาจขู่เข็ญ บอกเหตุผลว่า เนื่องจากผู้บังคับบัญชาต้องการที่จะพูดคุยด้วยจะเชิญไปที่กองทัพเพื่อพูดคุยกัน ผมก็แต่งตัวขึ้นรถไป ระยะเวลาในการเดินทางประมาณซักครึ่งชั่วโมง ไม่มีการปิดตา มีทหารอยู่ในรถประมาณสี่คน คือนั่งข้างหน้าสองคน ข้างหลังประกบข้างสองคน”
“พอลงรถฮัมวี่ที่ค่ายก็ขอโทรศัพท์ แต่ไม่ทราบว่าเอาไปค้นอะไรไหม แต่ผมแจ้งว่าโทรศัพท์ห้ามมีข้อมูลอะไรเปลี่ยนแปลงนะเพราะว่าผมบันทึกของผมอะไรไว้หมดแล้ว โทรศัพท์ไม่ได้ใส่รหัสผมดูเบอร์โทรล่าสุด ไลน์ส่วนตัวก็ไม่มีการเปิดดู แสดงว่าเขาไม่ได้แตะต้องโทรศัพท์”
เมื่อล้อของรถตู้มาหยุดจอดที่กองทัพภาคที่หนึ่ง ศรีสุวรรณเล่าให้ฟังว่าเขาถูกตรวจร่างกายอย่างละเอียด จับถ่ายรูป “พอถึงค่ายมีการตรวจร่างกาย มีหมอที่เป็นแพทย์ทหาร ซึ่งไม่แน่ใจมาจาก[โรงพยาบาล]ไหน เขามาตรวจร่างกายผมทุกอย่างถอดเสื้อดูหมดว่า มีร่องรอยฟกช้ำดำเขียวเป็นแผลมาก่อนที่จะมาเข้าค่ายทหารก่อนนี้ไหม? ตรวจทุกอย่างหมด พอตรวจเสร็จก็ไม่มีอะไรก็ให้ผมเซ็นชื่อว่าก่อนเข้าค่ายทหารไม่ได้มีร่างกายบาดเจ็บใดๆ ทั้งสิ้นพอตรวจร่างกายเสร็จ หมอก็กลับไป”
หลังจากที่ตรวจร่างกายเสร็จเรียบร้อยศรีสุวรรณเล่าว่าเขานั่งรออยู่หลายชั่วโมง กระทั่งมีเจ้าหน้าที่ระดับนายร้อย มาเชิญไปคุยด้วย “เขาเชิญผมไปคุยเล่นๆ ถามสาระทุกข์สุขดิบ เรียนมาจากไหน? จบอะไรมีครอบครัวแล้วหรือยัง? มานั่งคุยด้วยเกือบชั่วโมง แต่คุยไม่อะไรมาก คุยสัพเพเหระไปเรื่อย อยู่ในห้องที่ตรวจนั้น ในห้องประชุมนั้นแหละ มีทหารยืนเฝ้าอยู่ในห้องประมาณ 6-7 คน นอกเครื่องแบบใส่ชุดซาฟารี”
เขาเล่าต่อว่าจนถึงเวลาประมาณ 16.00 น. มีนายทหารนอกเครื่องแบบมาแนะนำตัวว่าได้รับหน้าที่มอบหมายภารกิจจากผู้บังคับบัญชาให้มาคุยด้วย เป็นทหารชั้นนายพล อายุประมาณ 50 ปี และยังมีระดับพันเอกอีก 4-5 คน แล้วก็มียืนรักษาการณ์คุมเชิงอยู่อีก 2-3 คน นายทหารคนนี้มาคุยด้วยเกือบสองชั่วโมง มีแฟ้ม คือเป็นแฟ้มที่รวบรวมข้อมูลทั้งหมดว่า ศรีสุวรรณเป็นใครมาจากไหน ทำอะไรบ้าง ส่วนในการพูดคุย ลักษณะการพูดสุภาพ ขอร้องเพื่อความสมานฉันท์ความปรองดอง โดยนายทหารคนนั้นกล่าวกับศรีสุวรรณว่า “…สถานการณ์บ้านเมืองช่วงนี้เป็นเรื่องของการขัดแย้ง ฉะนั้นทาง คสช.เองจึงอยากสร้างความสมานฉันท์ความปรองดองไม่อยากให้สังคมมีความขัดแย้งต่างๆ มากนั้น จึงอยากขอร้องให้หยุดการเคลื่อนไหวที่จะทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อ คสช.ต่อสังคม”
ศรีสุวรรณจึงตอบกลับในเชิงที่ว่า เขาจะไม่หยุดตรวจสอบรัฐบาล เนื่องจากยืนยันว่าการยื่นตรวจสอบเป็นสิ่งที่ถูกต้องด้วยกฎหมาย “ผมก็ยืนยันว่า สิ่งที่ผมเคลื่อนไหวสิ่งที่ผมตรวจสอบนี้อยู่ในกรอบของกฎหมายทั้งหมดเพราะผมไม่ได้ผิดอะไรกฎหมายไม่ได้ไปยุยงส่งเสริมให้ชาวบ้านหรือใครออกมาประท้วงคัดค้าน สิ่งที่ผมทำเป็นไปตามระเบียบกฎหมายและการรับรองทั้งหมด ฉะนั้นเขาก็พยายามยืนยันเขาอยากให้ผมหยุด ผมก็ยืนยันว่า ผมไม่หยุด เขาจึงบอกว่า นายกฯ มีเจตนารมณ์ที่ดีที่เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาของประเทศ พยายามเข้ามาสร้างและยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมก็ยกยอปอปั้นของเขาไปเรื่อยผมก็ฟังไป…ผมตอบกลับว่าผมก็เห็นด้วย แต่วิธีการที่คุณเข้ามาเนี่ย ผมไม่เห็นด้วย ฉะนั้นพอผมไม่เห็นด้วย ผมก็มีช่องทาง มีวิธีการที่ผมจะแสดงการตรวจสอบการร้องเรียนของผม…ผมบอกแล้วไงว่า ผมไม่ได้กลัวเกรงอะไรมาเชิญผมไปไม่ใช่ว่าผมสะดุ้งกลัวหัวหดหรือว่าไม่กล้า”
ศรีสุวรรณเล่าให้ฟังว่าทหารนายนี้ไม่มีการข่มขู่แต่อย่างใด เพียงพูดจาของร้องเท่านั้น  “ไม่มีการขู่ใดๆ เขาก็พยายามโอ้โลมปะติโลม ว่าขอความร่วมมือเถอะ…ขอความเห็นใจเถอะ… ว่าไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอีกแล้ว คสช.เข้ามาด้วยเหตุจำเป็นก็ต้องการที่จะยุติข้อขัดแย้ง ผมก็บอกว่าสิ่งที่ผมทำเป็นไปตามกฎหมายไม่ได้กลั่นแกล้งใดๆ ทั้งสิ้น ทาง คสช.ทำถูกผมจะไปตรวจสอบทำไม ผมเห็นว่าบางสิ่งที่บางเรื่องที่ทำผมเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ผมเห็นว่า ไม่น่าจะถูกต้อง ผมก็ต้องตรวจสอบผมก็ยืนยันอย่างนี้”
ศรีสุวรรณเล่าว่า เนื่องจากเย็นวันนั้นเป็นเย็นวันพฤหัสบดี หลังจากที่การคุยกับทหารนายนี้จบลง ซึ่งเขามีภารกิจที่จะต้องไปออกรายการทีวีช่อง 13 สยามไทย เป็นช่องที่เขาต้องออกทุกวันเวลาประมาณ 20.oo น. เขาจึงบอกกับทหารไปว่า มีภารกิจที่จะไปออกรายการทีวี ซึ่งได้บอกทหารไปล่วงหน้าแล้ว เมื่อคุยกันจบทหารจึงบอกว่าจะไปส่ง…เอกสารที่มีให้ผมเซ็นก็เป็นเอกสารทางการแพทย์ ว่ามา[ที่ค่ายนี้]แล้วออกไปแล้วไม่ได้มีร่างกายบาดเจ็บสาหัสหรือฟกช้ำดำเขียวใดๆ ทั้งสิ้น แล้วก็มีหมอมาตรวจอีกรอบ”

“ก็ออกจากนั้นก็ประมาณทุ่มครึ่ง เซ็นเอกสาระไรเสร็จก็กลับเลย แล้วก็เอาน้ำเอาข้าวใส่รถฮัมวี่ ตอนแรกเขาจะมาส่งผมที่บ้าน ผมบอกไม่ต้องผมมีภารกิจที่จะต้องไปออกทีวีที่ช่อง 13 ตรงแจ้งวัฒนะ เขาก็โอเคเดียวไปส่ง พอออกจากค่ายเข้าก็ขึ้นทางด่วนยมราชไปส่งที่เมืองทองธานี ผมก็เข้ารายการได้ทันพอดีสองทุ่ม ขากลับเหลือสองคน ไม่มีอะไรน่าซีเรียสก็นั่งคุยกันสบายๆ


ตรวจสอบเรื่องบ้านมั่นคง-ปรับทัศนคติสถานที่ใหม่ คุยกันสบายๆ ที่ “ร้านอาหาร”

ในครั้งนี้ศรีสุวรรณถูกเรียกไปปรับทัศนคติอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีการติดต่อศรีสุวรรณอย่างไร เขากล่าวว่าเป็นการนัดพบกันเพื่อพูดคุยระหว่างทหารและเขา “ผมก็ได้ข่าวมาว่าทหารอยากเชิญตัวผมไปพูดคุยเรื่องบ้านมั่นคงนานแล้วละ แต่สุดท้ายผมมีกิจกรรมอะไรซักอย่างแล้วเขาก็โทรศัพท์เชิญผม ผมก็ไปตามนัด เท่านั้นเอง เขาเชิญไปหารือวันที่ 30 พฤษภาคม แต่วันนั้นผมไม่ว่าง เลยนัดใหม่”
โดยในการนัดพบที่ร้านอาหารครั้งนี้ศรีสุวรรณเป็นคนเลือกร้านอาหารเอง “เขาก็ถามว่าไปคุยกันที่ร้านไหนดี แถวนั้นมันมีร้านเยอะ ผมก็ว่าแล้วแต่ เอาร้านที่อร่อยๆ เขาก็ว่า เอาร้านก๋วยเตี๋ยวที่หน้า มทบ.11 ดีกว่า ผมขับรถไปเอง ผมก็เห็นมีทหารเต็มไปหมดทั้งชั้นล่างชั้นบน ผมก็เห็นทหารแต่งตัวเต็มยศมีเครื่องแบบใส่ลายพราง เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) แล้วก็เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตมานั่งอยู่ด้วย พอแนะนำทักทายกัน ก็สั่งอาหารกันมากิน ส่วนผมก็สั่งก๋วยเตี๋ยวมา 1 ชาม ในโต๊ะมีทั้งหมด 7-8 คน เป็นทหารในชุดลายพราง 3-4 คน”
เขาเล่าถึงการพูดคุยครั้งนี้ว่าเจ้าหน้าที่ทหารเป็นคนดำเนินการสนทนาทั้งหมด ส่วนเนื้อหาที่พูดคุยกันทั้งหมดเป็นเพียงการพูดคุยขอร้องเท่านั้น ไม่ได้มีการขอกักตัว “ก็พูดคุยขอร้องผม อย่าให้ผมขัดขวางโครงการบ้านมั่นคงและโครงการสร้างเขื่อนริมคลอง ผมก็ยืนยันว่า โครงการสร้างเขื่อนริมคลองผมก็ไม่ได้คัดค้านเพราะมันดีที่เป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ได้ฟ้องคดีกับคุณยิ่งลักษณ์ คลองลาดพร้าวคลองเปรมประชากร แต่ว่าเรื่องบ้านมั่นคงกับวิธีการของ พอช. ของรัฐบาล ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพราะเห็นว่า ชาวบ้านเขาอยู่กันริมคลองอยู่แล้ว แล้วรื้อออกมาทำบ้านมั่นคงมันไม่เมคเซนส์”
“ผมก็พูดไปว่า ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยจะมาบังคับเหมือนประเทศคอมมิวนิสต์เหมือนจีนอะไรแบบนี้มันไม่ได้ มาสั่งให้ชาวบ้านทำอย่างนู้นอย่างนี้ไม่ได้ คือส่วนไหนที่รุกล้ำในคลองก็ตัดทิ้งเพื่อสร้างเขื่อนส่วนไหนที่อยู่บนบกก็ปล่อยเขาไป ฉะนั้นให้คนที่บ้านอยู่บนบกบางหลังที่อยากจะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงก็เข้ากันไปซิไม่ว่ากันอยู่แล้ว แต่อย่ามาบังคับว่าทุกหลังต้องเข้าโครงการบ้านมั่นคงแบบนี้ ผมไม่เห็นด้วย ก็คุยกันในลักษณะว่าผมไม่เห็นด้วย จุดยืนของผมเป็นแบบนี้มาโดยตลอด…จุดด่างจุดด้อย ผมก็ชี้ให้เขาเห็น ทหารก็รับปากของเขาว่าตรวจสอบในเรื่องที่ผมชี้มาให้ดู”
ศรีสุวรรณเล่าว่า ทหารจึงบอกขอไปตรวจสอบก่อน ในระหว่างนี้ขอร้องไม่ให้ตรวจสอบเรื่องบ้านมั่นคง “เขาก็ตอบว่าขอไปตรวจสอบก่อน เรื่องจะบังคับให้ผมไม่ให้ไปยุ่งโครงการบ้านมั่นคง ผมก็ยังยืนยันว่าผมไม่ยอม แต่เขาก็ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะบังคับตามที่เขาบอก แค่จะมาฟังทัศนะของผมกับเรื่องนี้จากปากของผมโดยตรงเท่านั้นเอง”
“ประเด็นคืออยากรู้ว่า แนวคิดนโยบายหรือทัศนะกับโครงการของรัฐสองโครงการเป็นอย่างไร พอรู้จุดยืนที่ชัดเจนจากปากของผมว่ามันเป็นอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้อาจจะมีคนอื่นไปเล่าให้ฟังว่า ผมขัดขวางอย่างไรแล้วชาวบ้านเชื่อผม ก็จะทำให้พวกนี้ทำงานได้ไม่สมประโยชน์ เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นของการที่มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นมาก”

หลังจากที่พูดคุยกันในร้านอาหารเสร็จเรียบร้อย ศรีสุวรรณเล่าว่ามีการยืนถ่ายรูปด้วยกันแบบเป็นทางการก่อนแยกย้ายกันกลับบ้าน ส่วนตัวของศรีสุวรรณได้ขับรถกลับบ้านเอง โดยไม่ได้มีทหารติดตามกลับไปด้วย

ตรวจสอบหมุดคณะราษฎรที่หายไป – ปรับทัศนคติอีกเป็นครั้งที่สาม

หลังจากออกจากค่ายในการเรียกปรับทัศนคติครั้งแรก และครั้งที่สองที่ร้านอาหาร ศรีสุวรรณยังคงยื่นตรวจสอบการทำหน้าที่ของ คสช. อย่างต่อเนื่อง กระทั่งถูกเรียกปรับทัศนคติอีกเป็นครั้งที่สาม โดยในครั้งนี้สาเหตุมาจากการที่เขายื่นตรวจสอบเรื่อง “หมุดคณะราษฎรที่หายไป” ในช่วงเมษายน 2560 ศรีสุวรรณกล่าวว่า เป้าหมายของการตรวจสอบครั้งนี้คือการยื่นร้องเรียนเพื่อสื่อสารไปยังประชาชน
“เรื่องนี้คือผมเห็นในกลุ่มของเฟซบุ๊ก “ตามหาหมุดคณะราษฎร” ผมเห็นปุ๊ป [ก็คิดว่า] มันไม่ใช่ละตอนนั้นยังไม่เป็นข่าว แบบนี้เลยต้องยื่นตรวจสอบกันหน่อย เพราะมันเป็นเอกสารหลักฐานของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย อยู่ๆมาเปลี่ยนกันได้ยังไง ผมจึงเตรียมเอกสารไปยื่น ก่อนที่จะไปยื่นผมทำจดหมายไปล่วงหน้าแล้วส่งจดหมายไปถึงอธิบดีกรมศิลปากร ส่งจดหมายไปยังรัฐมนตรีมหาดไทย ไปทางปลัดกระทรวงมหาดไทยหมดแล้ว ส่วนอีกฉบับที่ไปยื่นให้นายกฯก็ไปวันนั้นละ การที่เชิญตัวผมไปไม่ให้ผมยื่นเนี่ยมันก็ไม่มีความหมายอะไรหรอก เพราะเอกสารบางส่วนผมยื่นไปแล้ว”

เขาเล่าเหตุการณ์ของวันที่ถูกทหารควบคุมตัวไปปรับทัศนคติที่ค่ายทหารว่า เขาได้ไปยื่นเอกสารให้นายกฯ เรื่องหมุดคณะราษฎร แต่ยังไม่ได้ยื่นเอกสาร เพียงแค่แถลงการณ์บางส่วน เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 4-5 นายมาล้อมตัวไว้ แล้วแนะนำตัวว่า ขออนุญาตเชิญไปพูดคุยกัน
“…เรานั่งรถตู้ไป แต่ผมมีกลุ่มชาวบ้านที่ไปยื่นเอกสารด้วยกันไปกับผมด้วย พอผมขึ้นรถตู้ปุ๊บก็มีกลุ่มชาวบ้านมานั่งกับผมสองคนแล้วก็ทหารล้อมทั้งข้างหน้าข้างหลังพอไปได้ซักครึ่งทางเขาก็ให้ชาวบ้านทั้งสองคนลงจากรถ ไม่ต้องไปกับผม บอกว่า เดี๋ยวจะส่งกลับ แล้วจ่ายเงินค่ารถให้กลับไปรอที่ทำเนียบ ไปไม่นานหรอก แล้วชาวบ้านก็ลงไป”

ในการปรับทัศนคติครั้งนี้ ศรีสุวรรณเล่าว่าระหว่างที่ถูกควบคุมตัวในรถเขาแอบส่งเรื่องที่ถูกควบคุมตัวไปให้นักข่าวที่รู้จัก ซึ่งทำให้การเรียกปรับทัศนคติของเขาถูกเผยแพร่โดยสื่อหลายสำนัก “ตอนที่มาเชิญตัวผมที่บ้านขึ้นรถ เขาก็ไม่ได้ยึดโทรศัพท์ผมตั้งแต่แรก ปล่อยให้ผมเล่นโทรศัพท์ ผมเลยได้ถ่ายรูปว่าเป็นใครบ้าง พอขึ้นรถปุ๊บผมก็ส่งข่าวให้กับผู้สื่อข่าว ผมมีไลน์ผู้สื่อข่าวอยู่แล้ว ว่าครั้งนี้ผมถูกเชิญตัวไปค่าย”

เมื่อไปถึงที่ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ศรีสุวรรณเล่าถึงความรู้สึกในตอนนั้นว่า ทหารค่อนข้างละเมิดสิทธิหลายอย่าง “ตั้งแต่รถตู้เข้า มทบ.11 ก็เอาผ้ามาปิดตาผมไม่ให้ผมรู้ว่าผมจะไปตึกไหน ปิดตาผมปุ๊ปรถก็วิ่งเข้าไปแล้วก็วนไปวนมาคือก็ไม่รู้ว่าจะเอาผมไปไว้ตรงไหน จะไปตึกไหนก็เห็นวนหากันตั้งนาน ก็ไปตึกบัญชาการฝั่งซ้ายของ มทบ.11 ซึ่งไม่ไกลจากประตู”

“เขาก็ปิดตาผมจนจอดรถเสร็จก็ประคองผมกลัวผมจะล้มสะดุดอะไรพวกนี้ประคองเข้าไปในตึก มันก็บอกทุกช๊อต ถึงขั้นบันไดแล้วนะครับ บันได 5 ขั้น ให้ขึ้นไป เลี้ยวซ้ายนะครับ เลี้ยวขวานะครับ เสร็จก็เข้าไปในห้องก็เปิดตาผม ก็อยู่ในห้องทึบสี่เหลี่ยมไม่มีประตูไม่มีกระจกใดๆ ทั้งสิ้น มีโต๊ะแล้วก็มีเตียงอยู่ตัวหนึ่ง แล้วก็ตรวจร่างกายผมแล้วก็ถ่ายรูปกับกำแพง ด้านหน้าด้านหลัง ถอดเสื้อหมดเลย คนที่ตรวจไม่แน่ใจเป็นแพทย์หรือเปล่า แต่คงไม่ใช่ หลังจากถ่ายเสร็จก็ปล่อยให้ผมนั่งอยู่คนเดียว”
โดยเขาบรรยายลักษณะของห้องทึบที่ถูกควบคุมตัวไว้ว่าเป็นห้องสี่เหลี่ยมที่ประตูหน้าต่างปิดหมด มีทหารเฝ้าอยู่คนเดียวในห้อง ส่วนนอกห้องมีเฝ้าอยู่สองคน ทั้งหมดอยู่ในชุดทหารในเครื่องแบบ “ห้องที่ควบคุมตัวเป็นห้องทึบทั้งหมดเป็นประตูถาวรเลย มีเตียงนอนนายทหารเกณฑ์ทั่วไป มีเสื้อผ้ามีรองเท้าแตะให้ผม คงคาดหวังว่าผมจะอยู่วันสองวันสามวันอะไรยังนี้ ก็เตรียมห้องนอนเตียงนอนไว้ให้แล้วเอาหนังสือมาให้ผมอ่าน หนังสือธรรมมะสามสี่เล่ม…กลัวผมจะเครียดแต่ผมไม่อ่านหรอกผมก็นั่งสมาธิหลับตาของผมอยู่บนเก้าอี้ มันก็ไม่ว่าหรอก เราไม่อ่านก็เรื่องของผม”

ศรีสุวรรณเล่าว่า ทหารควบคุมตัวให้เขาอยู่ในห้องนั้นเป็นเวลานาน เขาเล่าว่า “[วันนั้น]ไปถึงค่ายเกือบซักสิบเอ็ดโมง ก็ไม่มีใครมาคุยกันผมก็มีแค่นายทหารหน้าห้องถาม พี่มีอะไรไหม ก็มีน้ำมีอะไรให้ผมกิน อยู่แล้วก็มีชุดให้ผมเปลี่ยน ผมใส่สูทไปใช่ไหม เขาก็เปลี่ยนให้เป็นชุดนักโทษหรือชุดอะไรซักอย่างเป็นลักษณะสีฟ้าน้ำเงิน…แล้วก็พอถึงเที่ยง ก็มาถามผมว่าจะกินอะไร ผมบอกขอข้าวกับกระเพราไข่ดาวก็พอ แล้วมันก็สั่งมาให้ผม กินเสร็จก็นั่งรอ ก็ยังไม่มีใครมาคุยกับผม จนผมจะเข้าห้องน้ำ ก็มีทีมมาประมาณสามสี่คนมาปิดตาผมอีกละแล้วก็พาผมประคองเดินพาผมไปเข้าห้องน้ำประมาณ 50 กว่าเมตร เพราะมันอยู่ฝั่งคนละตึก ผมอยู่ทางฝั่งตึกทางเหนือ ห้องน้ำอยู่ทางตึกฝั่งทิศใต้แล้วต้องเดินผ่านห้องโถงใหญ่ของตึกบัญชาการไปเข้าห้องน้ำไป ในห้องควบคุมตัวไม่มีห้องน้ำ ห้องน้ำมันอยู่ตึกเดียวกันแต่มันอยู่ฝั่งใต้ มันก็ปิดตาผมตลอดแล้วจูงผมไปเข้าเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา”
“จนกระทั่งเย็นแล้วมันก็มีนายทหารยศประมาณร้อยตรี ร้อยโท เข้ามาคุยกับผม มานั่งคุย ถามผมว่า ผมจะกินอะไร ผมก็บอกว่าเหมือนเดิม ทหารก็บอกว่า เจ้านายผมสั่งมาว่าต้องดูแลพี่อย่างดีต้องเลี้ยงพี่ให้เปรมและก็เปรยมาเลยพอดีตรงนั้นมันอยู่ใกล้ราชวัตรของกินเพียบอยู่แล้ว พี่เอาอันนี้ไหม ต้มยำกุ้งไหม? ผมก็บอกว่าแล้วแต่ สุดท้ายก็เป็นอาหารดีๆนั้นละ ที่มันเอ่ยชื่อมานู่นนี้นั้น เป็นรายชื่ออาหารประมาณหกเจ็ดอย่าง ผมก็ขี้เกียจอะไรมากที่เอ่ยมาก็ [ตาม] นั้นละ หายไปซักชั่วโมงมันก็มาละ เอากับข้าวมาให้ผมบนโต๊ะ เต็มไปหมดไอ้ที่สั่งเมื่อกี้เนี่ย ผมก็นั่งกินอย่างละนิดอย่างละหน่อยอย่างละช้อนสองช้อน มีปลากะพงนึ่งมะนาว” ศรีสุวรรณยังเล่าด้วยว่าทหารได้ถ่ายรูปเขากับอาหารที่สั่งมาให้ โดยคาดว่าสาเหตุที่ทหารถ่ายรูปไป เพื่อเป็นหลักฐานว่านำตัวเขามาดูแลอย่างดี
เขาเล่าต่อว่าหลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จ มีนายทหารอีกคนยศระดับพันเอกหรือพลตรี อายุประมาณ 50 ปี สวมชุดลำลอง เข้ามาคุยด้วยในห้องพัก พร้อมขอร้องให้เขายุติเรื่องตรวจสอบหมุดคณะราษฎร โดยทหารนายนี้พูดจาในเชิงสนิทสนมด้วย “เขาเรียกผมพี่ตลอด ในเชิงว่า เราสนิทสนมกัน ไม่มีคำว่า ขึ้นกูขึ้นมึง ไม่มีความหวาดกลัวใดๆ เพราะบอกสื่อไว้หมดแล้ว ผมก็ไม่ได้คาดการณ์หรอกว่าจะมาเชิญผมที่ว่าผมวิเคราะห์ว่าผมต้องดังเป็นประเด็นข่าวต้องตรวจสอบกันอุตลุดแต่ไม่นึกว่ามันจะหักมุม ว่ามันจะเป็นการเชิญตัวผม”
เขามาคุยเหตุผลเรื่องที่เชิญผมมา ที่มาเชิญนั้นเพราะ เรื่องหมุดคณะราษฎรมันเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงมาก เขาก็อธิบายเยอะเชียว เขาพยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาคุย ผมก็เข้าใจได้โดยดีแล้วนะว่ามันคืออะไร
ศรีสุวรรณกล่าวว่า เมื่อได้ยินแบบนั้นเขาก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรมากนัก ได้แต่บอกว่า เขาเห็นว่า หมุดคณะราษฎรเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ “…. ก็มีช่องทางเรียกร้องด้วยการยื่นหนังสือให้ท่านนายกฯได้ตรวจสอบ ก็ไม่มีวิธีการอะไรที่หวือหวานะครับ แม้ว่าจะมีคนบางกลุ่มที่พยายามฉกฉวยสถานการณ์นี้ในการปลุกระดม ผมก็บอกผมไม่เกี่ยวด้วยซักหน่อย…แต่เขาพยายามขอร้องให้ผมหยุดเสีย แล้วพวกข้อเรียกร้องที่ผมยื่นมา เขาก็เห็นด้วยทั้งนั้นแหละ แต่เรื่องนี้ขอเถอะ ไม่งั้นคอขาดแน่ ผมจึงรู้เลยว่านั้นหมายถึงอะไร”
จากนั้นศรีสุวรรณจึงยินยอมตามที่ทหารร้องขอให้หยุดเคลื่อนไหวเรื่องหมุดคณะราษฎรไว้ เมื่อเขารับปากว่า จะยุติการเรียกร้องทหารจึงปล่อยตัว “จนเวลาประมาณทุ่มสองทุ่มนี่แหละ เขาถามบ้านผมอยู่ไหน ผมก็ถามว่าคุณก็รู้ว่าบ้านผมอยู่ไหนคุณส่งคนไปเฝ้าบ้านผมเกือบจะทุกวัน มันก็หัวเราะ”
ทหารจึงตอบว่า “เอายังนี้นะพี่เราพบกันครึ่งทางผมไปส่งพี่ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ จากนั้นพี่นั่งรถแท็กซี่กลับไปเองได้ไหม? ผมก็เอางั้นก็ได้ จากนั้นก็นั่งรถตู้ไป มีทหารประกบมากับผมสองคน พอมาส่งผมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นก็ยื่นซองขาวให้ผม พร้อมบอกว่า พี่นี้เป็นค่ารถแท็กซี่นะ ผมก็รับมา ไม่ได้ดูหรอกว่ามากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็นั่งแท๊กซี่พอมาถึงบ้านเลยมานั่งเลยรู้ว่า 10,000 บาท ค่าแท็กซี่”
ศรีสุวรรณแสดงความเห็นต่อการปรับทัศนคติของ คสช. ว่า “ผมคิดว่าเขาอาจมีวัตถุประสงค์บางอย่างในการเรียกปรับทัศนคติ เพื่อเบรกไม่ปล่อยให้มันลุกลามบานปลาย การปรับทัศนคติเป็นการหยุดให้การดำเนินงานหยุดชะงักเป็นเจตนารมณ์ของเขามากกว่า”
เมื่อถามว่าการปรับทัศนคติทำให้เปลี่ยนความคิดหรือหยุดออกมาตรวจสอบรัฐบาลไหม ศรีสุวรรณกล่าวอย่างหนักแน่นว่า “ไม่นะ…ผมยังทำหน้าที่เหมือนเดิมทุกอย่างไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” และเมื่อถามว่ารู้สึกกลัวไหมที่ถูกเรียกปรับทัศนคติ เขายังคงตอบอย่างมั่นใจว่าการเรียกปรับทัศนคติของ คสช. ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกกลัว เนื่องจากเขาเองเป็นนักกฎหมายอยู่แล้ว และตนเองได้ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ไม่เคยเกรงกลัวว่าจะเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง