เลื่อนไม่เลิก: การเลื่อนคดีของอัยการสร้างภาระที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ต้องหา We Walk

5 มิถุนายน 2561 สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีแจ้งว่า ให้เลื่อนฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ฟ้องคดี ต่อแปดผู้ต้องหาจากการจัดกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” นับเป็นการเลื่อนฟังคำสั่งอัยการครั้งที่ห้าของคดีนี้ โดยนัดฟังคำสั่งอัยการอีกครั้ง ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2561
รัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดไว้ใน หมวด 13 มาตรา 248 ว่า “องค์กรอัยการมีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคําสั่งทางปกครอง” 
ความจำเป็นที่ต้องกำหนดให้อัยการสั่งคดีได้โดยอิสระ และต้องเป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม เนื่องจากตามหลักของการดำเนินคดีอาญาต่อประชาชน ในระหว่างกระบวนการ ทันทีที่คดีเริ่มขึ้นผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ได้รับผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพแล้ว และผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ตลอดกระบวนการ การดำเนินคดีที่รวดเร็วจึงเป็นการช่วยผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับสิทธิเสรีภาพกลับมาได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิด
คดีจัดกิจกรรม We walk เดินมิตรภาพเลื่อนฟังคำสั่งอัยการแล้ว 5 ครั้ง
การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งแปดคนเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมของเครือข่าย People Go เมื่อวันที่ 19 และ 20 มกราคม 2561 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภายใต้ชื่อกิจกรรม “We walk เดินมิตรภาพ” ภายหลังการจัดกิจกรรมดังกล่าว มีผู้ถูกออกหมายเรียกจำนวนแปดคน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 โดยในวันที่ 31 มกราคม 2561 ผู้ต้องหาทั้งแปดคน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.คลองหลวง ตามหมายเรียก และได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องยื่นประกันตัว 
หลังจากนั้นอัยการนัดให้ผู้ต้องหาทั้งแปดคนเดินทางมาฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้ต้องหาทั้งแปดคนได้เดินทางไปรายงานตัวกับอัยการ ที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี อัยการได้เลื่อนการฟังคำสั่งสั่งฟ้องคดีออกไปก่อนเป็นครั้งแรก เนื่องจากอัยการเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนจากตำรวจ ต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2561 อัยการเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคดีเป็นครั้งที่สอง  วันที่ 29 มีนาคม 2561 อัยการเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคดีเป็นครั้งที่สาม, วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 อัยการเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคดีเป็นครั้งที่สี่ และ วันที่ 5 มิถุนายน 2561 อัยการเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคดีเป็นครั้งที่ห้า และนัดหมายให้ไปฟังคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 
ผู้ต้องหาทั้งแปดคนต่างเป็นนักกิจกรรมทางสังคมระดับหัวแถวที่มีภารกิจของตัวเองอยู่มาก ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพ ซึ่งก็ไม่สะดวกนักในการเดินทางไปรายงานตัวทุกครั้งที่จ.ปทุมธานี และบางคนอยู่ต่างจังหวัดก็ต้องเดินทางมารายงานตัวทุกนัด โดยไม่มีหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบค่าเดินทางทั้งหลายที่เกิดขึ้นให้กับผู้ต้องหา ซึ่งต่อให้อัยการสั่งฟ้อคดี ผู้ต้องหาก็อาจไม่ต้องใช้เวลาเดินทางเพื่อไปต่อสู้ในในชั้นศาลบ่อยเท่านี้ก็เป็นได้ 
การเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องไม่ฟ้องของอัยการเลื่อนได้จนคดีหมดอายุความ 
กฎหมายในปัจจุบันทั้งประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ ต่างก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้อัยการต้องออกคำสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องคดีภายในระยะเวลาเท่าใด 
จากการสอบถามไปยังนิติกรปฏิบัติการ ในสำนักงานอัยการจังหวัดหนึ่ง ได้ให้คำอธิบายทางกฎหมายว่า ตามประมวลกฎหมายวิอาญามาตรา 143 กำหนดให้อัยการหลังจากรับสำนวนจากพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ สั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้องคดีเท่านั้น ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะต้องทำสำนวนเสร็จในระยะเวลาใดและต้องฟ้องเมื่อใด ซึ่งอัยการสามารถสั่งเลื่อนการฟังคำสั่งไปเรื่อยๆ ได้จนอย่างช้าที่สุดก็เมื่อคดีหมดอายุความ ตามที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 ซึ่งจากคำตอบดังกล่าวทำให้เห็นว่า เมื่อคดีเข้าถึงมือของอัยการแล้ว อัยการมีดุลพินิจเต็มที่จะเลื่อนการฟังคำสั่งและนัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวใหม่ได้โดยอิสระ ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดบังคับได้เลย
ผู้ต้องหาล้วนมีภารกิจอื่น และต้องเดินทางมาจากหลายหลายพื้นที่
ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวทั้งแปดคนไม่ได้เป็นคนที่มีภูมิลำเนาหรือมีที่ทำงานที่เดียวกัน โดยแต่ละคนมีประวัติคร่าวๆ ดังนี้ 
เลิศศักดิ์ คําคงศักดิ์ ขณะถูกดำเนินคดีเป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็กที่ทำงานปกป้องสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบของการทำเหมืองแร่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เช่น เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย เหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ จ.ลำปาง เลิศศักดิ์ยังเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนต่อต้านการทำเหมืองแร่แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายของชุมชนที่ถูกคุกคามจากเหมืองแร่ 14 แห่ง 
อนุสรณ์ อุณโณ ขณะถูกดำเนินคดีดำรงตำแหน่งคณบดี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากการทำงานวิชาการแล้วอนุสรณ์ยังเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ที่เคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นทางสังคมการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง 
นิมิตร์ เทียนอุดม ขณะถูกดำเนินคดีเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) ทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิการเข้าถึงยา และการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกันของประชาชน นิมิตร์เป็นอดีตตัวแทนภาคประชาชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)
สมชาย กระจ่างแสง ทำงานกับมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) มาประมาณ 15 ปี ตำแหน่งขณะถูกดำเนินคดีเป็นเจ้าหน้าที่งานรณรงค์ สร้างความเข้าใจของสังคมต่อปัญหาเอดส์ ปัญหาเพศศึกษาในเยาวชน 
แสงศิริ ตรีมรรคา ขณะถูกดำเนินคดีเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) ทำงานกับมูลนิธิมาแล้ว 22 ปี ทำงานสร้างความเข้าใจกับสังคมในเรื่อทัศนคติต่อความป่วยไข้ของผู้ติดเชื้อ การปฏิบัติตัวในการอยู่ร่วมกัน แนวทางการรักษาด้วยยา 
นุชนารถ แท่นทอง ขณะถูกดำเนินคดีเป็นประธานเครือข่ายสลัมสี่ภาค ทำงานประเด็นที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองมาเป็นเวลากว่า 27 ปี เนื่องจากเธอเคยเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อบ้าน จากเจ้าของที่ดินเดิม 
จำนงค์ หนูพันธ์ เริ่มทำงานทางสังคมจากการขับเคลื่อนในประเด็นแรงงานตั้งแต่ปี 2531 เคยมีตำแหน่งเป็นประธานสหภาพแรงงาน ในโรงงานแห่งหนึ่ง จนกระทั่งปี 2541 จำนงค์ผันตัวมาทำเรื่องที่อยู่อาศัย โดยจุดเริ่มต้นมาจากการที่มีภรรยาเป็นคนในพื้นที่ชุมชนที่ถูกไล่รื้อ ต่อมาจึงได้หันมาเคลือนไหวเชิงนโยบายกับภาครัฐ ในนามเครือข่ายสลัม 4 ภาค 
อุบล อยู่หว้า ขณะถูกดำเนินคดีเป็นเกษตรกรเต็มตัวอยู่ร่วมในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในพื้นที่ภาคอีสาน ก่อนหน้านี้เคยทำงานพัฒนาอยู่ในหลายเครือข่าย 
ผู้ต้องหาแต่ละคนเป็นคนทำงานทางสังคมที่มีหน้าที่การงานมากมายอยู่แล้ว และบางคนไม่ได้ทำงานหรืออยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ เช่น เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ และอุบล อยู่หว้า โดยปกติก็จะอาศัยและทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคอีสานเป็นหลัก คนอื่นๆ ก็กระจายกันอยู่ในเขตกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ได้อยู่ใกล้กับสำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ที่ตั้งอยู่บริเวณถ.รังสิต-นครนายก คลองหก ในการเดินทางเพื่อไปรายงานตัวกับอัยการแต่ละครั้งทุกคนมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ซึ่งอย่างน้อยการเดินทางไปที่สำนักงานอัยการก็ต้องออกจากใจกลางกรุงเทพฯ มีต้นทุนเป็นระยะเวลาแเละค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 
ในส่วนของหน้าที่การงานก็ต้องลา หรือแบ่งเวลาจากงานหลักของตัวเองเพื่อไปรายงานตัวและฟังคำสั่งกับอัยการและเตรียมตัวหากอัยการสั่งฟ้องในวันใดก็ต้องใช้เวลาทั้งวันเพื่อเข้าสู่กระบวนการชั้นศาล ผู้ต้องหาจึงต้องเสียเวลาการทำงานทั้งวันเพื่อเดินทางไปพบอัยการแต่ละครั้ง โดยที่ผ่านมาเลื่อนการฟังคำสั่งไปแล้วสี่ครั้งโดยที่ผู้ต้องหาไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ ต้นทุนที่ต้องแบกรับเพื่อต่อสู้คดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองก็จะทวีคูณสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ดูจะสอดคล้องกับสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม” ที่ผู้ต้องหาทั้งแปดคนต้องเผชิญอยู่แล้วไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อใด
การเลื่อนฟังคำสั่งของอัยการ เป็นเทคนิคที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายคดี
จากที่ไอลอว์ติดตามสังเกตการณ์การดำเนินคดีกับประชาชนในยุคของ คสช. มาก็พบว่า ไม่ใช่เพียงคดี “We walk เดินมิตรภาพ” เท่านั้นที่อัยการนัดผู้ต้องหาให้มารายงานตัวและสั่งเลื่อนฟังคำสั่งบ่อยครั้ง ยังมีคดีอื่นที่มีการเลื่อนฟังคำสั่งบ่อยครั้ง และผู้ต้องหาก็ต้องเดินทางไปรายงานตัวกับอัยการอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น คดีศตานนท์ ผู้ถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากการทำบุญ  อัยการจังหวัดสว่างแดนดินเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคดีอย่างน้อย 11 ครั้ง ปัจจุบันคดีก็ยังอยู่ที่ชั้นอัยการ หรือ คดี “ทนายจูน” ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ผู้ถูกกล่าวหาฐานซ่อนเร้นพยานหลักฐานและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานฯ จากการปฏิเสธไม่ให้ตำรวจค้นรถยนต์เพื่อหาหลักฐานดำเนินคดีกับนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ อัยการแขวงดุสิตเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคดีอย่างน้อย 8 ครั้ง และคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่จังหวัดเชียงใหม่ อัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ เลื่อนฟังคำสั่งฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 6 ครั้ง 
ต้นปี 2561 เป็นช่วงเวลาที่ คสช. ต้องเผชิญกับการจัดกิจกรรมต่อต้าน และใช้ข้อหาทางกฎหมายเป็นอาวุธเพื่อสร้างภาระให้กับกลุ่มคนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งหลายครั้ง แต่ละคดีฝ่ายความมั่นคงเลือกที่จะดำเนินคดีกับประชาชนหลายสิบคนเพื่อให้เกิดความกลัว และเกิดภาระทางคดีสำหรับคนทำงานเคลื่อนไหว โดยเทคนิคการนัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวและสั่งเลื่อนนัดหลายๆ ครั้งก็ถูกนำมาใช้อีก ตัวอย่างเช่น คดีจากการชุมนุมเรียกร้องเลือกตั้งหน้าห้างมาบุญครอง ที่่มีผู้ต้องหา 39 คน อัยการเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องอย่างน้อย 3 ครั้ง