#Attitude adjusted? ณัฐ: เจ็ดวันที่แสนน่าเบื่อในค่ายทหารของอดีตนักโทษคดี 112

“ผมเข้าค่ายช่วงรัฐประหารใหม่ๆ เขาเรียกรายงานตัวทางทีวีตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 แต่ว่าตอนนั้นผมไม่เห็นคำสั่งเพราะไม่ได้ดูทีวี จนมีเพื่อนๆ โทรมาประมาณ 5 สายบอกว่าโดนเรียก ผมเลยไปเช็คเฟซบุ๊กดูที่เขาโพสต์ๆกันตามไทม์ไลน์”

ณัฐ อดีตนักโทษคดี 112 เล่าถึงความหลังเมื่อครั้งที่ชื่อของเขาเป็นหนึ่งในรายชื่อของอดีตนักโทษคดี 112 ที่ถูกคสช.เรียกเข้ารายงานตัวปรับทัศนคติในค่ายทหารหลังการรัฐประหารในปี 2557 โดยชื่อของเขาอยู่ในลำดับที่ 18 ของคำสั่งคสช.ฉบับที่ 5/2557 ซึ่งออกในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557

 

นอกจากณัฐคำสั่งฉบับนี้ก็ยังมีชื่อของบุคคลอีกอย่างน้อยสามคนที่เคยต้องโทษจำคุกในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาก่อน สำหรับตัวของณัฐเคยถูกพิพากษาจำคุกในธันวาคม 2552 เขาถูกจองจำเป็นเวลา สามปี 18 เดือน ก่อนจะพ้นโทษได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพในเดือนเมษายน 2555 ที่ร้านกาแฟเล็กๆ บรรยากาศ “สบายๆ” แห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว ณัฐบอกเล่าถึงประสบการณ์ที่แสน “หนักหนา” และ “น่าเบื่อ” ที่เกิดขึ้นกับเขาตลอดเจ็ดวันในค่ายทหาร

ถูกบุกจับกุมอีกครั้งโดยทหารอาวุธครบมือ

“ตอนแรกผมพยายามจะหนีไปกับเพื่อนอีกสองคน หนึ่งในนั้นเคยติดคุกด้วยคดีมาตรา 112 เหมือนกับผม พวกเราออกไปกันตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม แต่พอถึงวันที่ 3 มิถุนายนผมก็ตัดสินใจกลับมาคอนโดที่ลาดพร้าว เพราะรู้ว่าถ้าจะหนีต้องใช้เงินเยอะ ตอนที่กลับมาเพื่อนที่หนีไปด้วยกันอีกสองคนออกนอกประเทศไปแล้ว แต่ผมตัดสินใจที่จะไม่ไปเพราะรู้ว่ามันจะต้องลำบากมาก” 

ณัฐย้อนระลึกถึงการตัดสินใจที่น่าจะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา นอกจากความยากลำบากที่รออยู่เบื้องหน้าหากเขาตัดสินใจหนี ชะตากรรมของคนที่ถูกคสช.เรียกเข้าค่ายเพราะเคยถูกดำเนินคดี 112 ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจกลับมา “เห็นเขาไปรายงานตัวกลับมาปลอดภัยดี เลยคิดว่า ตรงนั้นอาจจะเป็นการลดระดับความหวาดกลัว คสช. ระดับหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกว่ากลับมาดีกว่า แต่ว่ายังไม่ไปรายงานตัว”

ณัฐกลับมาอยู่คอนโดเงียบๆได้สามวันก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ระทึกเมื่อเขาถูกทหารในชุดลายพรางประมาณสิบนายพร้อมอาวุธบุกจับตัวเขาที่คอนโดในช่วงตีหนึ่งของวันที่ 7 มิถุนายน 

“มันเป็นช่วงที่ทหารใช้อำนาจได้มาก วันนั้นทหารพาตำรวจท้องที่มาด้วยอีกสองนาย คิดดูว่าทหารเรียกตำรวจมาได้ ไม่ต้องมีหมายค้น ไม่ต้องมีอะไรเลย เขาบอกแต่ว่ามีคำสั่งให้มาจับกุม แล้วตอนที่เขาจับผม ปกติถ้าตำรวจเป็นคนจับเขาจะใช้กุญแจมือล็อค แต่ตอนที่ทหารจับผมพวกเขากดตัวผมลงกับพื้นอย่างแรง เอามือผมไพล่หลังแล้วใช้สายเคเบิ้ลไทร์ (สายพลาสติดที่ใช้รัดสายไฟ) มามัดข้อมือผม เหตุการณ์ตอนนั้นค่อยข้างระทึกนะเพราะผมก็ยังกลัว ไม่รู้ว่าทหารจะทำอะไรกับผม และตอนนั้นผมก็ยู่คนเดียว น่ากลัวมาก หลังถูกคุมตัวผมถูกลากลงจากคอนโดตอนตี 1 ยามก็ยืนทื่อทำอะไรไม่ได้ แต่ผมเข้าใจว่ามันไม่มีอะไรจะไปหยุดอะไรคนพวกนั้นได้” ณัฐเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ขณะที่เขาถูกทหารควบคุมตัวพร้อมระบุว่าตอนแรกก่อนทหารจะเข้ามาก็มีเสียงเคาะประตูแบบปกติแต่หลังจากนั้น ขณะที่เขากำลังจะเปิดประตูเจ้าหน้าที่ก็ใช้กำลังพังเข้ามา 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ณัฐถูกบุกจับถึงคอนโด ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอบุกจับในลักษณะเดียวกันเมื่อครั้งที่เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แต่อย่างน้อยครั้งนั้นผู้จับก็เป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอไม่ใช่ทหารและมีการแสดงหมายจับไม่ใช่การคุมตัวโดยพละการไม่มีเอกสารรองรับเช่นนี้

สภาพภายในห้องควบคุมที่ณัฐถูกพาไปอยู่ในเช้ามืดวันที่ 7 มิถุนายนก่อนถูกพาตัวไปที่ราบ 11

ณัฐเล่าถึงเหตุการณ์หลังเขาถูกพาตัวลงจากรถต่อว่า “มีรถฮัมวี่มาประมาณสองถึงสามคัน ผมถูกพาไปขึ้นรถฮัมวี่คันหนึ่ง แล้วก็ขับออกไปจากหน้าคอนโดของผม พวกเขาขับซิ่งมากจำได้ว่ามีการฝ่าไฟแดงด้วย แล้วก็ขับแซงรถคันอื่นๆโดยไม่สนใจใคร ตอนที่รถออกจากหน้าคอนโดผมน่าจะเป็นช่วงประมาณตีหนึ่งเศษ ขับไปได้ประมาณ 15 นาทีก็ไปจอดในสถานที่แห่งหนึ่ง ผมไม่รู้ว่ามันเป็นที่ไหน แต่ลักษณะมันเหมือนกับค่ายทหาร” 

ณัฐระบุว่าขณะที่ถูกพาตัวขึ้นรถฮัมวีเขาไม่ได้ถูกปิดตา แต่เขาก็ไม่รู้ว่าถูกเจ้าหน้าที่พาตัวไปไหน เพราะกำลังตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบกับเจ้าหน้าขับรถเร็วมากและเวลานั้นก็เป็นช่วงกลางดึกข้างนอกจึงมืดไปหมดแล้ว 

ณัฐเล่าต่อว่าเมื่อรถฮัมวีมาถึงจุดหมาย เขาถูกพาตัวเข้าไปในห้องห้องหนึ่งซึ่งมีลักษณะคล้ายห้องรับรอง มีโซฟาและหมอนผ้าห่มสำหรับใช้นอน โทรศัพท์ของณัฐถูกยึดไปเมื่อมาถึงที่นี่ ณัฐเล่าต่อว่าเขาอยู่ที่ห้องรับรองนั้นจนถึงประมาณ 11 โมงเช้าของวันที่ 7 มิถุนายนก็มีนายทหารยศนายพลคนหนึ่งมาคุยด้วย ณัฐเล่าถึงบรรยากาศและบทสนทนากับนายพลคนนั้นว่า

“คนนี้ค่อนข้างจะดุมาก ขึ้นมึงกูเลย มีการพูดจาข่มขู่หลายอย่าง เช่นว่า ถ้ากูจับได้ว่ามึงยังทำอยู่ กูจะทุบมือมึงด้วยตัวกูเองเลย กูไม่กลัวหรอกว่ามึงจะไปบอกใคร มึงไปบอกได้เลย แล้วก็ชอบพูดจาแบบยั่วโทสะ แบบว่า เอาอย่างนี้ไหมละ กูจะให้มึงวิ่งหนีออกไป เขาท้าได้กวนมาก ก็รู้อยู่ว่าทหารเต็มค่าย แล้วท้าให้ผมวิ่งหนีไป ผมก็ไปไม่รอดอยู่ดี แล้วก็ถามว่า เอาไหมละๆ อยู่อย่างนี้”

“เขาพูดกับผมอีกว่ามึงไม่มีความเคารพในสถาบันฯเลย แล้วเขาก็พยายามใช้เทคนิคทำให้ผมคายความลับออกมาแล้วกล่าวหาผมด้วยว่าผมยังก่อคดีอยู่ ผมก็ปฏิเสธไป คือสิ่งที่เขาพูดมันไร้สาระ เพราะหลังจากผมโดนคดี 112 ครั้งนั้น ผมก็ไม่ได้ยุ่งกับเรื่องพวกนี้มาก ไม่ได้หมายความว่าผมไม่สู้ แต่ว่าผมรู้ว่าอะไรควรสู้อะไรควรนิ่ง มันเป็นเรื่องของจังหวะ และเวลา บางอย่างควรทำ บางอย่างไม่ควรทำ” 

“พวกเขาถือปืนกันหลายกระบอก ผมไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น “ปืน” ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเงียบ เพราะรู้ว่าทหารจับกุม กับตำรวจจับกุมมันต่างกัน ปืนทหารมันน่ากลัวกว่าปืนตำรวจ ปืนตำรวจมันอันเล็กๆ แต่นี่ปืนทหารมันอาวุธสงคราม เลยดูน่ากลัว” ณัฐเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกสงบปากสงบคำไม่ต่อล้อต่อเถียงกับทหารยศนายพล 

ณัฐตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะเขาไม่ตอบโต้อะไร พอนายทหารคนนั้นโวยวายจนพอใจก็เดินออกไป พร้อมทั้งหันมาพูดทิ้งท้ายกับเขาว่า “กูรู้นะวามึงไม่พอใจ” ณัฐระบุด้วยว่านายพลคนนั้นดูจะชอบพูดตะโกนใส่คนอื่น เพราะพอออกไปนอกห้องเขาก็ได้ยินเสียงนายพลคนนั้นตะคอกใส่ทหารชั้นผู้น้อยที่หน้าห้องอีก 

บทสนทนาระหว่างณัฐกับทหารยศนายพลถึงแม้จะกินเวลาไม่ถึงชั่วโมงแต่ณัฐก็ยอมรับว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เขากดดันและกลัวที่สุด ช่วงเวลาประมาณเที่ยงณัฐถูกพาตัวขึ้นรถตู้ไปส่งที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ฯ โดยตลอดเส้นทางณัฐถูกปิดตา ขณะที่ทหารที่ควบคุมเขาบนรถตู้ก็สวมหมวกไอ้โม่งปกปิดใบหน้าเช่นกัน

รอยบนข้อมือซึ่งณัฐระบุว่าเกิดจากการรัดของสายพลาสติก

7 วันอันแสนน่าเบื่อในราบ 11

“พอถึงที่ราบ 11 ผมถูกพาตัวไปที่จะเป็นบ้านพักทหารชั้นเดียวที่มีห้องแยกออกไปอีกหลายห้อง มีทหารแจ้งกับผมว่าที่บ้านหลังนี้เพื่อรอไปรายงานตัววันที่ 9 มิถุนายน ตามคำสั่งคสช.  คิดดูว่าผมอยู่กับ คสช. แล้ว แต่ คสช. ยังเรียกผมรายงานตัวอีก ตลกไหมละ คือว่าถ้าใครยังไม่มารายงานตัว มันจะมีการเรียกรายงานตัวซ้ำ” ณัฐเล่าย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งเขาถูกคสช.ออกคำสั่งเรียกรายงานตัวรวมสองครั้ง ครั้งแรกคสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 5/2557 ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 สั่งให้เขาเข้ารายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบกเทเวศน์ในวันเดียวกัน ครั้งนั้นณัฐยังไม่เข้ารายงานตัว คสช.จึงออกคำสั่งฉบับที่ 53/2557 ในวันที่ 8 มิถุนายน 2557 สั่งให้ณัฐเข้ารายงานตัวในวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ซึ่งมีความน่าสนใจว่าคำสั่งฉบับดังกล่าวถูกออกมาภายหลังจากณัฐอยู่ในความควบคุมของทหารแล้ว  

ณัฐเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ในบ้านพักทหารต่อว่า “ในห้องนอนมีแค่เตียงเดี่ยวหนึ่งเตียง แล้วก็มีโต๊ะข้างเตียงแบบมีลิ้นชัก เอาไว้วางข้าวกิน ตลอดเวลาที่อยู่กับทหารผมไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้มือถือ ไม่มีทีวีดู ไม่มีหนังสืออ่าน วันแต่ละวันผ่านไปอย่างน่าเบื่อ ไม่มีอะไรทำนอกจากรอและนอน”  

ณัฐเล่าต่อว่า วันที่ 7 กับวันที่ 8 มิถุนายนเขาถูกคุมตัวอยู่ในบ้านพักหลังดังกล่าวเะียงคนเดียว ต่อมาในวันที่ 9 มิถุนายน อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และนักการเมืองอีกคนหนึ่งซึ่งเขาไม่รู้จักถูกพามาควบคุมไว้ใน “บ้าน” หลังเดียวกับเขา เขาและเพื่อนร่วมชายคาอีกสองคนไม่ได้คุยอะไรกันมากนักเนื่องจากมีทหารคนหนึ่งคอยเฝ้าพวกเขาอยู่ในบ้านด้วย 

สำหรับเรื่องอาหารการกินณัฐระบุว่าตลอดเวลาที่อยู่ในค่ายจะมีทหารจะเอาอาหารมาเสิร์ฟให้วันละสามมื้อ เป็นข้าวผัดหรืออาหารจานเดียวแบบง่ายๆ เขาสามารถเดินไปเดินมาภายในบ้า่นได้ แต่จะออกไปนอกบริเวณบ้านไม่ได้ บริเวณหน้าประตูบ้านจะมีทหารเฝ้าอยู่ และตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นจะมีทหารมาถ่ายรูปเขากับเพื่อนร่วมชายคาอยู่เป็นระยะ 

 

“ระหว่างที่อยู่ในค่ายก็ตามธรรมเนียม ผมก็ไม่ได้ไปซ่าอะไรกับเขา ผมก็อยู่แบบเงียบๆ มันเหมือนกับว่าอยู่ไปวันๆ ไม่มีอะไรทำ บางวันก็จะมีทหารเข้ามาคุยด้วย คุยเรื่องที่เขาเคยไปอยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเล่าว่าชาวบ้านที่นั่นค่อนข้างที่จะหวาดระแวงทหารมาก ผมก็มีเล่าให้เขาฟังบ้างว่าตอนปี 2552 ผมก็เคยถูกคดี 112 ซึ่งกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมอยู่ในสายตา คสช.” 

คำถามจากชายชุดพราง

“พอถึงวันที่ 9 ทหารก็พาผมไปส่งที่หอประชุมใหญ่ ที่เทเวศ ผมถูกพาตัวขึ้นรถตู้และถูกปิดตาตลอดการเดินทาง พอไปถึงก็เห็นว่ามีคนมารายงานตัวเต็มไปหมด หลังลงชื่อแล้วทหารก็จะให้หมายเลขมาก็ไปนั่งรอให้เขาเรียกตัว ผมถูกขอรหัสเฟซบุ๊กไปด้วย ก็ต้องให้เขาไป”

ณัฐเล่าต่อว่าเขานั่งรอเวลาที่ตัวเองจะถูกเรียกไปคุยอยู่ประมาณหนึ่งถึงสองชั่วโมง ตรงที่เขานั่งรอก็มีคนที่ถูกเรียกคนอื่นนั่งรออยู่ด้วยแต่เขาไม่รู้จักจึงไม่ได้ชวนคุย ได้แต่นั่งรอเงียบๆ พอถึงเวลาก็มีทหารมาพาเขาไปที่ห้องโถงขนาดใหญ่ มีโต๊ะประชุมยาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ เขาถูกพาไปนั่งที่หัวโต๊ะด้านหนึ่งส่วนอีกด้านมีนายทหารอาวุโสซึ่งทำหน้าที่เป็น”คู่สนทนา”ของเขานั่งอยู่ ส่วนด้านข้างทั้งฝั่งซ้ายฝั่งขวาก็มีเจ้าหน้าที่นั่งเรียงกันทั้งหมดประมาณสิบคนคอยบันทึกข้อมูลและตรวจสอบเอกสารต่างๆ นอกจากนี้ก็มีกล้องวิดีโอตั้งไว้บริเวณด้านหลังของนายทหารที่เป็นคู่สนทนาของเขาด้วยณัฐจึงคาดว่าบทสนทนาของเขาในวันนั้นน่าจะถูกบันทึกไว้โดยละเอียด

สำหรับประเด็นและบรรยากาศในการสนทนา ณัฐเล่าว่า “เริ่มต้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ผมถูกกล่าวหาไปก่อนเลยว่าเป็นคนไม่จงรักภักดีและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสถาบันเบื้องสูง นายทหารผู้อาวุโสซึ่งทำหน้าที่เป็นคนซักถามผมยังพูดชื่อนักวิชาการและอดีตนักโทษคดี 112 คนอื่นๆด้วยว่าเป็นพวกไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯ ผมยอมรับว่า คสช. ทำการบ้านมาระดับหนึ่ง มีข้อมูลของคนนั้นคนนี้มากพอสมควร ผมคิดว่าก่อนเรียกมารายงานตัวเขาคงสะสมข้อมูลมาเป็นปีแล้ว ส่วนเรื่องที่เขาสงสัยมากที่สุดน่าจะเป็นท่อน้ำเลี้ยงนักโทษทางการเมืองที่เขาพยายามถามว่ามีใครเกี่ยวข้องกันบ้าง” 

“คือผมก็ไม่ได้สนใจหรอก ผมรู้แล้วว่าจะต้องเจอคำถามแบบนี้เพราะมันคงเป็นเหตุผลเดียวที่เขาเรียกผมมา ผมก็ไม่อยากจะเถียงอะไร สภาพของผมตอนนั้นคงไม่สามารถไปเถียงอะไรใครได้ เลยตอบเท่าที่จำเป็น” ณัฐเล่าต่อว่าพอเสร็จจากห้องประชุมใหญ่มีตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่ง พาไปเขาที่ห้องเล็กอีกห้องหนึ่งเพื่อไปทำประวัติ หลังเสร็จกระบวนการสอบสวนณัฐถูกพาตัวขึ้นรถตู้กลับบ้านพักที่ค่ายราบ11 โดยถูกปิดตาไปตลอดทาง  

ตอบข้อสอบว่าด้วย “ทัศนคติ”

หลังถูกพาตัวไปสอบที่หอประชุมกองทัพบกเทเวศน์ในวันที่ 9 มิถุนายน ชีวิตของณัฐก็กลับมาวนอยู่ในความน่าเบื่ออีกครั้งเพราะไม่มีอะไรทำ แม้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน อริสมันต์และนักการเมืองอีกคนหนึ่งจะถูกพาตัวมาอยู่ในบ้านเดียวกับเขาแต่ทั้งสามก็ไม่ได้สนทนากันมากนัก ประมาณวันที่ 11 หรือ 12 อริสมันต์และนักการเมืองคนนั้นก็ออกไปจากค่ายแล้วส่วนเขาต้องอยู่ต่อจนถึงวันที่ 13 มิถุนายน

ณัฐเล่าว่าช่วงเช้าวันที่ 13 มีทหารคนหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่ายศอะไรนำแบบสอบถามมาให้เขาทำ “ทหารเอาแบบสอบถามทัศนคติมาให้ผมเขียนตอบว่ารู้สึกยังไงกับสถาบันฯ  ผมก็เขียนตามความเป็นจริงที่ผมคิด เท่าที่พอจะเขียนได้ ผมไม่อยากเขียนอะไรที่ตัวเองไม่ได้คิดหรือไม่ได้เชื่อ ผมคิดว่าเขาคงพอใจคำตอบของผมเพราะหลังจากส่งไปทหารก็ไม่ได้ว่าอะไรอีก ผมเคยได้ยินว่ามีบางคนที่ทหาร “ขอ” ให้เขียนใหม่ด้วยนะแต่ของผมเขียนแค่รอบเดียว”

“หลังจากตอบแบบสอบถามทหารก็เอาเอกสารข้อตกลงมาให้ผมเซ็นว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งผมก็เซ็นไป ตอนจะปล่อยตัวทหารบอกว่าต้องให้มีคนมารับเพราะเคยมีกรณีที่ปล่อยแล้วหายตัวไป เลยต้องให้มีพยานหลักฐานว่าเขาปล่อยแล้ว ตอนแรกผมก็ติดต่อให้ญาติมารับแต่ญาติมาช้า ก็เลยยืมโทรศัพท์ของทหารคนหนึ่งแอบเข้าเฟซบุ๊กของตัวเองแล้วส่งข้อความหานักข่าวประชาไทที่รู้จักซึ่งสุดท้ายประชาไทก็ช่วยประสานให้เจ้าหน้าที่ไอลอว์มารับผมที่ราบ 11 แอบเข้าเฟซบุ๊คแล้วติดต่อคนจากประชาไท แล้วก็โทรไปหาเขาบอกให้คนมารับ ตอนนี้ผมอยู่ที่ราบ 11 สุดท้ายก็มีคนจากไอลอว์มารับ” ในวันที่ได้รับการปล่อยตัวณัฐยังไม่ได้รับโทรศัพท์ของเขาคืนมา แต่มีทหารประสานให้เขามารับคืนในภายหลัง

ณัฐทิ้งท้ายถึงความรู้สึกตลอดเจ็ดวันในค่ายทหารหลังจิบกาแฟเอสเพรสโซเย็นอึกสุดท้ายว่า