คุยกับ 3 จำเลยคดีป้ายผ้าแยกประเทศล้านนาในวันที่ถูกฟ้องรวด 3 คดีเพียงแค่ป้ายเหมือนกัน

 

ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม 2557 มีการติดป้ายผ้าไวนิลเขียนข้อความ”ประเทศนี้ไม่มีความเป็นธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ตามสะพานลอยในบางจังหวัดภาคเหนือเช่น เชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อกรณีที่ศาลอาญาไม่อนุมัติหมายจับแกนนำกลุ่มกปปส.ที่ชุมนุมฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังมีการค้นพบป้ายผ้าดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการติดตามหาตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2557 จึงมีการจับกุมตัวออด ถนอมศรีและสุขสยาม ชาวบ้านจากอำเภอแม่สรวยจังหวัดเชียงราย ทั้งสามถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำให้ปรากฎด้วยภาพตัวหนังสือหรือวิธีการอื่นที่ไม่ใช่ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหรือก่อความวุ่นวายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

 

ในชั้นศาลทั้งสามให้การปฏิเสธ โดยยอมรับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุและช่วยติดป้ายจริงแต่พวกตนไม่ได้เป็นผู้นำป้ายมา และไม่มีส่วนรู้เห็น เพียงแต่ระหว่างเดินผ่านที่เกิดเหตุถูกเรียกให้ช่วยติดป้ายจึงได้เข้าไปช่วย ทั้งที่เบื้องต้นไม่ทราบว่ามีข้อความอะไรเขียนบนป้ายดังกล่าว อย่างไรก็ตามในเดือนกรกฎาคม 2558 ศาลจังหวัดเชียงรายก็พิพากษาว่าทั้งสามมีความผิด ให้จำคุกคนละสามปีแต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ ก่อนหน้านั้นในช่วงปี 2557 ออด ถนอมศรี และสุขสยามเคยถูกเรียกไปพูดคุยกรณีป้ายไวนิลเขียนข้อความเดียวกันที่พบในพื้นที่อำเภอแม่ลาวจังหวัดเชียงรายและพื้นที่จังหวัดพะเยาด้วยแต่ต่อมาเรื่องเงียบไปจนกระทั่งทั้งสามมาถูกจับและแจ้งข้อกล่าวหาจากทั้งสองกรณีเพิ่มเติมในช่วงเดือนสิงหาคม 2560

 

 

โดยมีข้อน่าสังเกตจากการสืบพยานคดีป้ายไวนิลที่จังหวัดพะเยาว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีหลักฐานมายืนยันเลยว่า ทั้งสามอยู่ในที่เกิดเหตุ เพียงแต่เชื่อว่าเป็นฝีมือของทั้งสามเพราะเคยทำการในลักษณะคล้ายๆกัน ด้วยป้ายไวนิลที่มีข้อความและลักษณะวัสดุเหมือนกันที่จังหวัดเชียงรายเท่านั้น ในโอกาสที่มาติดตามคดีที่จังหวัดไอลอว์ถือโอกาสพูดคุยกับจำเลยทั้งสามถึงผลกระทบของชีวิตที่เกิดขึ้นเพราะถูกดำเนินคดี

 


พยานหลักฐานที่แทบไม่มีน้ำหนัก

 

จำเลยทั้งสามเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ถูกดำเนินคดีที่จังหวัดเชียงรายว่า ในวันนั้นยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรีเดินทางมาที่จังหวัดเชียงราย มีคนเสื้อแดงติดตามมาให้กำลังใจจำนวนมาก ทั้งสามก็เดินทางไปให้กำลังใจด้วย หลังจากไปให้กำลังใจยิ่งลักษณ์เสร็จก็มาห้างเซ็นทรัลและเดินข้ามสะพานลอยไปที่ห้างบิ้กซี บนสะพานลอยมีกลุ่มคนกำลังติดป้ายไวนิลและเรียกให้ทั้งสามช่วยผูกจึงได้เข้าไปช่วยแม้จะไม่รู้จักกันมาก่อนเพราะเห็นว่าเป็นคนเสื้อแดงเหมือนกัน เมื่อถูกดำเนินคดีจากกรณีนั้นพวกเขาจึงให้การปฏิเสธ เพราะไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการนำป้ายมาเพียงแต่ถูกเรียกให้เข้าไปช่วยผูกเท่านั้นและเพิ่งมาเห็นข้อความบนป้ายในภายหลัง แต่สุดท้ายก็ถูกพิพากษาว่ามีความผิด ออดหนึ่งในจำเลยคดีนี้ระบุด้วยว่าเรื่องแบ่งแยกดินแดนไม่เคยอยู่ในความคิดของเขาเลย

 

สำหรับคดีที่จังหวัดพะเยา จำเลยทั้งสามคนยืนยันว่าในวันเกิดเหตุพวกเขาไม่ได้อยู่ที่จังหวัดพะเยา ออดระบุว่า ตัวเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสะพานลอยที่เกิดเหตุอยู่ตรงไหน ขณะที่ถนอมศรีเล่าด้วยน้ำเสียงติดตลกว่าในวันเกิดเหตุเธออยู่ที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ช่วงนั้นอากาศที่บ้านยังหนาวอยู่เลยให้ตื่นมาตีสองคงไม่ตื่นมาหรอก          

 

 

   

 

ขณะที่การนำสืบพยานโจทก์ในชั้นศาลระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน 2560 พยานโจทก์ทั้งสิบปากซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจแปดนาย ชาวบ้านที่อาศัยใกล้สะพานลอยที่เกิดเหตุในจังหวัดพะเยาหนึ่งคนและอดีตเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้างบิ๊กซีพะเยาอีกหนึ่งคนต่างไม่มีใครยืนยันได้ว่า จำเลยทั้งสามอยู่ในที่เกิดเหตุในเวลาเกิดเหตุจริง ส่วนผลการตรวจสอบดีเอ็นเอในป้ายไวนิลซึ่งเป็นหลักฐานก็ปรากฏดีเอ็นเอของบุคคลจำนวนมากแต่ไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นบุคคลใด และตรวจไม่พบลายนิ้วมือของจำเลยทั้งสามบนป้ายไวนิล รวมทั้งไม่สามารถระบุได้ว่าป้ายไวนิลที่เก็บจากทั้งพื้นที่จังหวัดพะเยาและเชียงรายถูกผลิตขึ้นที่ใด

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงแต่เบิกความต่อศาลทำนองว่า การระบุตัวว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้เกิดจากการนำพยานแวดล้อมได้แก่การที่ป้ายไวนิลทั้งที่พบทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและพะเยาเขียนข้อความเดียวกัน ถูกผูกด้วยลวดชนิดเดียวกันและผูกตามสะพานลอยเหมือนกัน มาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้กระทำความผิดติดป้ายไวนิลที่จังหวัดเชียงรายรวมทั้งข้อเท็จจริงที่บันทึกจากการสอบถามผู้ใหญ่บ้านประจำภูมิลำเนาของจำเลยว่าทั้งสามมีพฤติการณ์ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง 

 

 

ราคาค่างวดของ’ความยุติธรรม’

 

แม้ว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาของจำเลยทั้งสามในคดีนี้จะเป็นเพียงการร่วมกันติดตั้งป้ายไวนิล ไม่ได้มีพฤติการณ์ปลุกระดมหรือเชิญชวนให้คนออกมาก่อความวุ่นวายหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งพยานหลักฐานที่ใช้กล่าวหาก็แทบจะไม่มีน้ำหนักพอให้ฟ้อง แต่เนื่องจากข้อกล่าวในคดีนี้คือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงและมีอัตราโทษจำคุกสูงถึงเจ็ดปี อัตราเงินประกันที่จำเลยทั้งสามต้องวางต่อศาลในคดีนี้จึงสูงถึงคนละ 200,000 บาท และจำเลยทั้งสามยังถูกตั้งข้อกล่าวหาเดียวกันในเวลาไล่เลี่ยกับที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาคดีนี้ จากกรณีที่มีป้ายไวนิลเขียนข้อความ “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ติดในพื้นที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย จำเลยทั้งสามคนจึงต้องหาหลักทรัพย์มาวางต่อศาลเพื่อประกันตัวระหว่างสู้คดีทั้งสองคดีสูงถึงคนละ 400,000 บาท ถนอมศรีและสุขสยามจึงต้องยืมโฉนดที่ดินของคนรู้จักมาวางต่อศาลคนละสองฉบับ มูลค่าฉบับละ 200,000 บาท โดยคนรู้จักคิดค่าเช่าโฉนดในอัตราฉบับละ 20,000 บาทในแต่ละชั้นศาล  

 

ขณะที่กรณีของออด เขาเช่าโฉนดที่ดินฉบับละ 20,000 บาทมาวางศาลในคดีที่จังหวัดพะเยาเช่นเดียวกับจำเลยอีกสองคน แต่ในคดีที่อำเภอแม่ลาว ออดหาหลักทรัพย์มาวางศาลด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไป “ลุงไปยืมเงินนอกระบบมา ตอนแรกว่า จะเอาที่ดินไปเปลี่ยน แต่พอเอาไปเขาบอกว่า เปลี่ยนไม่ได้เพราะที่ดินมันเป็นที่ตาบอด ไม่มีราคา ทุกวันนี้ลุงต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน เขาคิดร้อยละ 3 ต่อเดือนก็ตกเดือนละ 6,000 บาท” ออดเล่าถึงความภาระทางการเงินที่เกิดขึ้นหลังถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 สองคดีในเวลาไล่เลี่ยกัน

 

 

แม้ว่าทนายที่ว่าความให้ออด ถนอมศรีและสุขสยามจะว่าความให้โดยไม่คิดค่าทนาย แต่ภาระที่เกิดขึ้นเพราะถูกดำเนินคดีก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่เงินประกัน เพราะทั้งสามต้องจ่ายราคาแฝงอีกมากไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทางจากภูมิลำเนามาขึ้นศาล เช่นกรณีของออดเขาเล่าว่าต้องใช้เงินประมาณเกือบหนึ่งพันบาทในการเดินทางไปกลับบ้านที่อำเภอแม่สรวยจังหวัดเชียงรายเพื่อมาศาลจังหวัดพะเยาในแต่ละนัด  แต่ราคาที่สำคัญที่สุดที่ทั้งสามคนต้องจ่ายคงจะหนีไม่พ้นเวลาและโอกาสในการประกอบอาชีพที่ต้องสูญเสียไปในการมาศาลแต่ละนัด ออดเล่าว่า เขาทำสวนลำไยและปลูกผักขาย ซึ่งพอถูกดำเนิอนคดีก็ต้องเสียเวลามาศาลจนเสียรายได้ไปพอสมควร

 

 

ขณะที่ถนอมศรีซึ่งทำธุรกิจส่วนตัวก็ไม่สามารถไปพบลูกค้าได้ในบางครั้งที่ต้องมาศาล ขณะที่สุขสยามซึ่งเป็นเกษตรกรสวนลำไยซึ่งราคาผลิตผลช่วงนี้ไม่ค่อยดีนักก็สะท้อนว่า “ลุงก็เดือดร้อนนะ พอมาโดนคดีติดๆกัน ต้องมาศาล ไม่ได้ทำมาหากินเลย ลำบากเหมือนกัน แต่ลุงก็ปล่อยให้มันเป็นไปนะ เขาให้ไปไหนก็ไป พอมันมีคดีแบบนี้มันก็เหมือนวัวเหมือนควายที่ถูกล่ามไว้ด้วยคดี”

 

ทหารในพื้นที่จังหวัดเชียงราย “บริการด้วยใจ ห่วงใยดุจญาติมิตร”

 

นับตั้งแต่ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 ที่จังหวัดเชียงรายจากการติดป้ายผ้า “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กู ขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ที่บริเวณสะพานลอยห้างเซ็นทรัล ทั้งออด ถนอมศรี และสุขสยามก็สามถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามอย่างใกล้ชิดเรื่อยมา ออดเล่าว่าเขาถูกทหารมาติดตามที่บ้านมากกว่าสิบครั้ง บางครั้งเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ก็จะโทรมาบอกก่อนว่า จะส่งทหารมาเยี่ยมที่บ้าน ออดกล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า แต่ละครั้งที่ทหารผ่านมาเขาก็จะเรียกให้ทหารเข้ามาถ่ายภาพในบ้านเลย เพราะเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า ไม่มีความผิดอะไร แต่หลังจากทหารมาที่บ้านบ่อยๆความสัมพันธ์ของเขากับคนในชุมชนก็เปลี่ยนไป “ตอนที่ลุงออดโดนคดีแรกๆคนแถวบ้านเขาก็มาถามว่า ลุงออดจะให้ช่วยเหลืออะไรไหม เอาเงินเท่าไหร่ เขาก็มาคอยถามไถ่เรา แต่พอช่วงที่เรามาเป็นข่าวตอนตัดสินคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ทหารเข้ามาที่บ้านเยอะ ชาวบ้านเขาก็กลัวไม่ค่อยอยากเข้ามายุ่งด้วย เขาก็กลัวนะ กลัวจะติดร่างแหไปด้วย”

 

ขณะที่สุขสยามก็มีทหารติดตามมาที่บ้านมากกว่าห้าครั้งหลังจากมีคดีความในปี 2557 ส่วนถนอมศรีระบุว่าเธอถูกทหารมาติดตามอยู่บ่อยๆเช่นกัน แต่ตอนนี้เธอย้ายออกจากภูมิลำเนาเดิมแล้ว “พี่ออกจากบ้านมาตั้งแต่ปี 2558 แล้วพี่ไม่ค่อยได้เจอหรอก ส่วนบรรยากาศในหมู่บ้านพี่ จริงๆหมู่บ้านพี่ก็มีทั้งเหลืองทั้งแดงนะ พอพี่มาโดนคดีแบบนี้ ชาวบ้านเขาก็มอง บางทีเขาก็พูดถึงพ่อพี่ด้วยพูดว่า ครอบครัวพี่หัวรุนแรง พูดถึงเรื่องคอมมิวนิสต์ คนที่หมู่บ้านพี่ก็กลัวไปใหญ่ เขากลัวคอมมิวนิสต์กัน”

 

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ศาลจังหวัดพะเยาสืบพยานคดีติดป้ายผ้าที่จังหวัดพะเยาเสร็จสิ้นแล้วและนัดจำเลยทั้งสามฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 มกราคม 2561 ส่วนคดีติดป้ายผ้าที่อำเภอแม่ลาวซึ่งศาลจังหวัดเชียงรายจะเป็นผู้พิจารณาน่าจะเริ่มสืบพยานในเดือนสิงหาคม 2561