หนึ่งปีหลังถูกจับกับ ตั้ม จิรวัฒน์ : ผู้ก่อความวุ่นวายด้วยการถ่ายวิดีโอ

วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคม 2559 มีคนจำนวนไม่น้อยใช้โทรศัพท์เซลฟี่ภาพตัวเองขณะไปใช้สิทธิหรือถ่ายภาพบรรยากาศการออกเสียงประชามติและโพสต์ภาพดังกล่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ “ตั้ม จิรวัฒน์”ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยขณะที่ “โตโต้ ปิยรัฐ” เพื่อนของเขาไปใช้สิทธิ จิรวัฒน์ยืนอยู่ด้านนอกหน่วยออกเสียงและใช้โทรศัพท์ถ่ายวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ขณะที่ปิยรัฐเพื่อนของเขาฉีกบัตรลงคะแนนและโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็ทำให้เขาถูกจับและตั้งข้อกล่าวหา ร่วมกันก่อความวุ่นวายภายในหน่วยออกเสียง
 
กรณีของจิรวัฒน์มีข้อเท็จจริงที่ตกหล่นไม่เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปคือ แม้ปิยรัฐเพื่อนของเขาจะตั้งใจฉีกบัตรลงคะแนนประชามติ แต่ “ตั้ม จิรวัฒน์” และ “เดฟ ทรงธรรม” จำเลยในคดีอีกคนหนึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ จริงอยู่ที่จำเลยทั้งสามคนในคดีนี้จะเป็นเพื่อนกันและอาจถึงขั้นเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์เลยก็ว่าได้ เพราะทั้งสามเห็นพ้องถึงความไม่ชอบธรรมของร่างรัฐธรรมนูญฯฉบับนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งสามจะต้องแสดงออกเพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฯในลักษณะเดียวหรือเห็นด้วยกับวิธีการแสดงออกของเพื่อ สำหรับจิรวัฒน์วิธีการแสดงออกของเขาคือการไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฯซึ่งเป็นวิธีที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลายเป็นว่าเขากลับถูกดำเนินคดีจากการถ่ายวิดีโอและโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งที่การถ่ายวิดีโอของเขาไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายใดๆในหน่อยออกเสียง
 
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาจิรวัฒน์ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมายเพียงเพราะการถ่ายวิดีโอ ระหว่างการสู้คดีจิรวัฒน์พยายามใช้ชีวิตตามปกติแต่ดูเหมือนว่าโทษฐานร่วมกันก่อความวุ่นวายตามพ.ร.บ.ประชามติฯที่สูงถึงสิบปีก็รบกวนการใช้ชีวิตของเขา ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีหลังการประชามติ “ตั้ม จิรวัฒน์” ได้มาบอกเล่าความรู้สึกว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
 
 

ช่วยเล่าเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุให้ฟังหน่อย
วันนั้นก็ปกตินะ ไปซื้อหนังสือพิมพ์เสร็จแล้วก็เตรียมตัวไปใช้สิทธิที่หน่วยออกเสียงที่อยู่ใกล้ๆบ้าน พอใช้สิทธิเสร็จก็เตรียมตัวไปหาเพื่อนที่นัดกันไว้ที่หน่วยออกเสียงที่เพื่อนไปใช้สิทธิ เพราะนัดกันไว้ว่าพอเพื่อนใช้สิทธิเสร็จจะไปคุยธุรกิจกันต่อ พอดีเพื่อนมีธุรกิจตัวใหม่เลยจะช่วยกันวางแผนการตลาด

 

ไปเจอเพื่อนแล้วทำอย่างไรบ้าง ?
ตอนไปถึงหน่วยออกเสียงของเพื่อนที่เป็นจุดนัดพบเพื่อนยังมากันไม่ครบ วันนั้นนัดกันไว้สามคนมีคนนึง (ทรงธรรม) ไปรอที่หน่วยแล้วผมไปถึงเป็นคนที่สอง แล้วเพื่อนอีกคนถึงตามมา พอเพื่อนคนที่สาม (ปิยรัฐ) มาถึงเขาก็ขอตัวไปใช้สิทธิ

 

แล้วเกิดอะไรขึ้นต่อ?
ปิยรัฐเขาฉีกบัตรลงคะแนนประชามติเพราะเค้าเห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ได้มาจากคณะกรรมการที่มาจากประชาชน อำนาจของผู้สั่งให้ร่างก็ไม่ได้มาจากประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปิยรัฐเขามองว่าไม่ได้ยึดโยงอะไรกับประชาชน เลยมีความรู้สึกไม่อยากใช้สิทธิก็เลยฉีกบัตรลงคะแนน

ผมเองไม่ได้คิดว่าจะโดนคดีเพราะตอนนั้นไม่คิดว่าปิยรัฐไม่ได้เตรียมไว้แต่ทีแรกว่าจะไปฉีกบัตร แต่พึ่งไปตัดสินใจตรงนั้น หลังจากทราบข่าวว่ามีคุณป้าคนหนึ่งถูกจับเพราะฉีกบัตรเนื่องจากเข้าใจว่าเส้นประบนบัตรหมายถึงให้ฉีก เรื่องการตัดสินใจฉีกบัตรปิยรัฐมาเล่าให้ผมฟังทีหลัง ซึ่งหากผมรู้ว่าปิยรัฐจะฉีกบัตรก่อนหน้าที่เขาจะทำ ด้วยความที่ผมอายุมากกว่าก็อาจจะห้ามปรามประมาณหนึ่ง แต่สุดท้ายก็คงต้องยอมรับเจตนารณ์ของเขา ซึ่งตอนที่ปิยรัฐฉีกบัตรผมก็ไมได้เข้าไปมีส่วนร่วม ได้แต่ยืนอยู่นอกหน่วยออกเสียงและใช้โทรศัทพ์ถ่ายวิดีโอ

 

ทำไมถึงตัดสินใจอัดวิดีโอ?
ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก ปิยรัฐเค้าบอกกับผมว่าจะไปแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับประชามติครั้งนี้เพราะตัวเขาและประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปิยรัฐเลยจะไปเขตและไปบอกกับคณะกรรมการประจำหน่วยว่าให้ตัดชื่อของเขา ก็เลยกะจะไปถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้ แต่พอปิยรัฐเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ที่เขตว่าจะขีดฆ่าชื่อตัวเองออกได้ไหม เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าถ้าไม่อยากใช้สิทธิก็กลับบ้านไปเลย ซึ่งปิยรัฐรู้สึกว่าไม่ถูกต้องตามความรู้สึกของเขา ก็เข้าใจว่าปิยรัฐน่าจะแค่ไปเขียนข้อความ “ไม่มีสิทธิร่างก็จะขอไม่มีสิทธิร่วม” บนบัตรลงคะแนน เท่านั้นและก็ไม่ได้คิดว่าปิยรัฐจะถูกจับ สุดท้ายแล้วพอ เห็นปิยรัฐเดินออกมาหน้าหีบบัตรก็เลยยกโทรศัพท์ขึ้นถ่ายวิดีโอ

หลังจากโดนคดีแล้วรู้สึกอย่างไร?
คือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมาก ตัวผมเองก็เซอร์ไพรส์ว่า ผมโดนคดีได้ยังไง เพราะถ้าดูจากองค์ประกอบต่างๆและตัวผมเองก็คือแค่ใช้โทรศัพท์ถ่ายวิดีโอ ซึ่งดูจากหลายๆที่ในข่าวหรือแม้แต่ตัวนักข่าวเองที่ไปถ่ายรูปคนดังหรือนายกรัฐมนตรีเขาก็ถ่ายกัน หรือแม้แต่คณะกรรมการในหน่วยประชามติ เขาก็ถ่ายรูปเวลาดาราหรือนักการเมืองมาใช้สิทธิเหมือนกัน

ตัวผมเองไม่ได้คิดเลยว่า เรื่องแบบนี้มันต้องเป็นความผิดเพราะหนึ่งตัวผมตอนนั้นก็ไม่ได้อยู่ในบริเวณหน่วยออกเสียง ข้อหาก่อกวนขัดขวางการออกเสียงที่เขาตั้งให้ก็โทษสูงถึงสิบปีซึ่งมันเป็นเรื่องที่ไม่เมกเซนส์เพราะผมก็แค่ถ่ายวิดีโอเพื่อนที่ไปลงประชามติ ซึ่งเท่าที่ทราบกกต.ก็ชี้แจงว่าคุณสามารถทำได้ถ้าไม่ได้ถ่ายว่าออกเสียงอย่างไร ซึ่งที่เห็นจากภาพข่าวสื่อบางคนยังเข้าไปถ่ายใกล้กว่าจุดที่ผมยืนถ่ายเสียอีก

ที่สำคัญก่อนที่ผมจะถ่ายก็ได้เดินไปถามเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยแล้วและเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำหน่วยก็ชี้ว่ายืนถ่ายหลังบอร์ดได้ ซึ่งผมก็ยืนตรงนั้นแต่สุดท้ายก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาที่โทษสูงถึงสิบปี  เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องตลกที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ในสังคมนี้

ผลกระทบหลังจากที่ถูกดำเนินคดีเป็นยังไง?
ผลกระทบแรกคือตกงาน ผมทำงานในบริษัทเอกชนซึ่งคงไม่มีบริษัทไหนที่อยากมีพนักงานที่ถูกดำเนินคดีการเมืองหรือข้อหาที่ดูเหมือนรุนแรงอย่างก่อความวุ่นวายไม่ให้คนมาใช้สิทธิ พอคดีของผมเป็นที่สนใจก็เลยออกตัดสินใจลาออกเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

ผลกระทบต่อมาคือผลกระทบทางสังคม เพราะคดีนี้กลายเป็นข่าวผมเลยออกทีวีโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้มีคนจำหน้าผมได้ ก็จะมีคนมาสอบถาม มีคนที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราทำมาพูดจาไม่ดีใส่ แล้วก็มีคนส่งข้อความแสดงความไม่เห็นด้วยหรือกระทั่งด่าทางเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ก็ยังทำให้หางานใหม่ยาก ไม่มีคนยอมรับเข้าทำงาน เลยตกงานอยู่ประมาณห้าถึงหกเดือนซึ่งถือว่าเป็นการตกงานที่ยาวที่สุดที่เคยเจอมา

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงชีวิตที่ยากลำบากอีกช่วงหนึ่งในชีวิตผมเลย ทั้งต้องขึ้นโรงขึ้นศาล และการตกงานห้าหกเดือนเป็นเรื่องที่ไม่ได้เตรียมตัวไว้ก่อน เหตุการณ์ครั้งนี้ผมก็ไม่ได้วางแผนไว้ ถ้าเป็นเรื่องที่ผมเตรียมไว้ก่อนหรือตั้งใจไปก่อความวุ่นวาย ผมก่อเหตุในหน่วยออกเสียงของตัวเองก็ได้แต่ตัวผมก็ไปใช้สิทธิตามปกติ

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะไปเจอเพื่อนหรือถ่ายวิดีโอเหมือนเดิมไหม?
ถ้าผมรู้ว่าจะต้องถูกดำเนินคดีและรู้ว่าจะต้องมาแบกรับผลกระทบขนาดนี้ ผมก็ขอเป็นคนฉีกบัตรเองเสียเลยดีกว่า เพราะตอนนั้นสิ่งที่ผมทำก็เป็นเพียงแค่การประกาศจุดยืนว่าจะไปใช้สิทธิบนเฟซบุ๊กเท่านั้นไม่ได้ไปก่อความวุ่นวายอะไร

เห็นว่าเคยรณรงค์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า รณรงค์อย่างไรบ้าง?
ก่อนหน้าวันลงประชามติ 7 สิงหาคม ผมพยายามเขียนชี้แจงบนเฟซบุ๊กว่าร่างรัฐธรรมนูญหลายมาตรามีลักษณะหมกเม็ด และจะเป็นอุปสรรคไม่ให้การเมืองตามระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ รวมทั้งพยายามชี้แจงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีส่วนยึดโยงกับประชาชนเพราะฉะนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่าถ้าหากผ่านประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะก่อให้เกิดผลดีกับประชาชน

ผมพยายามอธิบายบนเฟซบุ๊กว่า วุฒิสภา 250 คนที่คสช.เป็นคนแต่งตั้งเป็นการสืบทอดอำนาจและก็เขียนอธิบายด้วยว่าถ้าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะแก้ยากหรือแก้ไม่ได้เลย นอกจากนี้ก็พยายามให้ข้อมูลว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้อาจจะไม่สามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ได้เพราะมีกลไกต่างๆมากมายที่อาจเข้ามาขัดขวาง และมีความเป็นไปได้มากว่าภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เราจะได้รัฐบาลผสมหลายพรรคที่ขาดเอกภาพและอาจได้นายกคนนอก

ท้ายที่สุดผมพยายามอธิบายว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเน่า มันเฟะและมันก็ฉุดให้พัฒนาการทางการเมืองของเราถอยหลังไปหลายสิบปี และประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย ผมจึงรณรงค์ให้คนที่ติดตามเฟซบุ๊กผมโหวตโน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะนั่นน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ความคาดหวังที่มีต่อคดีนี้เป็นอย่างไร?
ผมมองว่า เราไม่ได้มีความผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะการถ่ายรูปหรือถ่ายวิดีโอมันเป็นสิทธิเสรีภาพของเราที่ทำได้ สื่อมวลชนเองก็ทำ ใครหลายๆคนก็ทำ  ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ผมได้รับผลกระทบเยอะมาก ทั้งการตกงานยาวนานห้าถึงหกเดือน การที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำสองวัน รวมทั้งต้องตกเป็นเป้าของสังคม ถูกคนซักถาม ถูกคนไม่เห็นด้วยด่าหรือกระทั่งถูกคนในครอบครัวมองอย่างไม่เข้าใจ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมต้องเผชิญอยู่มันไม่ถูกต้องมาแต่ต้นแล้วเพราะผมไม่ได้ทำอะไรผิด นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผมควรได้รับ