กรณีตบหน้าสู่ฆาตฯวิสามัญ: ความรุนแรงที่แฝงเร้นลอยนวล

หลังม่านฉากและชีวิตสวยงาม ที่ตั้งตระหง่านบริเวณดอยหลวงเชียงดาว หลังขุนเขากลับมีเรื่องราวรวดร้าวอยู่ไม่น้อย..

จากหน้าสื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ปรากฎข่าว เยาวชนนักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่ ถูกทหารวิสามัญฆาตกรรม บริเวณด่านตรวจ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ แม้ที่เกิดเหตุ จะมีบ้านพัก และ ร้านค้าตั้งอยู่ใกล้ แต่เบื้องต้นไม่มีพยานเห็นเหตุการณ์ บันทึกจับกุมเจ้าหน้าที่ระบุว่า ชัยภูมิ ป่าแส เหยื่อเคราะห์ร้าย นั่งรถยนต์มากับเพื่อนอายุ 19 ปีเป็นคนขับ หลังเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบยาบ้า 2,800 เม็ด ชัยภูมิหยิบมีดเข้าต่อสู้กับทหาร ก่อนจะวิ่งหลบหนีไปและใช้ระเบิดปาใส่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องยิงตอบโต้ จนชัยภูมิเสียชีวิต

ด้าน พ.ต.อ.ชลเทพ ใหม่ไชย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรนาหวาย เปิดเผยว่า ได้ส่งเยาวชนชายอายุ 19 ปี ที่ถูกจับกุมตัวอีกคนหนึ่งไปฝากขังที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนวัตถุระเบิดอยู่ระหว่างการส่งไปตรวจสอบ

ชัยภูมิ ป่าแส ทำงานทั้งจัดกระบวนการด้านเด็กและเยาวชน มีฝีมือในการเล่นดนตรีโดยเฉพาะบทเพลงเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้เพราะไร้สัญชาติ และโดดเด่นอย่างยิ่งก็คือการผลิตสื่อ การันตีจากหนังสั้นรางวัลดีเด่นช้างเผือกพิเศษ จาก 16th Thai Short Film and Video Festival เรื่อง “เข็มขัดกับหวี” สารคดีหลายเรื่องที่ออกอากาศทางไทยพีบีเอส นอกจากนี้เขายังเป็นตัวแทนเครือข่ายเยาวชนต้นกล้า จังหวัดเชียงราย ในฐานะตัวแทนของ 19 ชนเผ่า เข้าร่วมโครงการ “เด็กและเยาวชนส่งเสียงเพื่อสื่อสารสังคม” ซึ่่งจัดโดยมูลนิธิส่งเสริมเพื่อเด็กและเยาวชน สถาบันเด็กและเยาวชน (สสย.)

จากการสอบถามผู้ใกล้ชิดระบุว่า ชัยภูมิเป็นเด็กไร้สัญชาติและน่าจะมีอายุจริงเพียง 17-19 ปี ส่วนพ่อและแม่ มีโรคประจำตัว จึงต้องดูแลตั้งแต่อายุประมาณ 7-8 ขวบ โดยไม่เชื่อว่าเขา จะขัดขืนเจ้าหน้าที่ รวมถึงลักลอบขนยาเสพติด เพราะที่ผ่านมาชัยภูมิ ทำกิจกรรมทางสังคมและเป็นเด็กดี หาเลี้ยงครอบครัว และไม่มีข้อมูลว่าจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ด้านตัวแทนเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง เปิดเผยว่า ชัยภูมิเป็นเด็กเรียนดี และไม่เคยข้องเกี่ยวกับอบายมุขใดๆ จึงอยากให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่าง http://news.thaipbs.or.th/content/260976

กรณีของชัยภูมิไม่ได้เป็นครั้งแรกของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ย้อนไปเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 ไมตรี นักกิจกรรม ชาวลาหู่ ถูกดำเนินคดีด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังเผยแพร่วิดีโอคลิปการเจรจาระหว่างทหารกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นการเจรจาเกี่ยวกับกรณีที่มีชาวบ้านถูกตบโดยกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ชาวบ้านเห็นว่ามาพร้อมกับทหารในระหว่างทหารเข้าไปปฏิบัติการที่หมู่บ้านกองผักปิ้งในคืนส่งท้ายปี ไมตรีใส่ข้อความประกอบคลิปวิดีโอนั้นมีใจความตอนหนึ่งว่า ‘ทหารตบเด็ก เยาวชนและคนแก่’

ไมตรี พื้นเพเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ที่หมู่บ้านกองผักปิ้ง” หมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ห่างจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เพียงข้ามเขาไม่กี่ลูก และยังเป็นที่ตั้งของห้วยสันกลาง ต้นกำเนิดแม่น้ำปิง มีชาวบ้านราว 65 ครัวเรือน มีทั้งชาวลาหู่ ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ ส่วนใหญ่ทำอาชีพปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ขาย และปลูกข้าวไร่ไว้กินเอง หมู่บ้านติดแนวกันชนแห่งนี้เผชิญปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะยาเสพติดและปัญหาคนไร้สัญชาติ

ไมตรี มีบทบาทในการเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่” เพื่อทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ ให้ห่างไกลยาเสพติด อันเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนานในพื้นที่ โดยภายหลังยังได้ร่วมกับกลุ่มกิจกรรมดินสอสี ทำโครงการ “พื้นที่นี้ดีจัง” ในพื้นที่บ้านกองผักปิ้ง เขายังมีทักษะในการทำภาพยนตร์ โดยเคยเข้าร่วมโครงการอบรมการทำภาพยนตร์ของมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน และกำกับภาพยนตร์สั้นของตนเองมาแล้วหลายเรื่อง รวมทั้งยังมีบทบาทในการเป็นผู้สื่อข่าวพลเมืองให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวลาหู่ให้กับสังคมได้รับรู้

ชัยภูมิในฐานะคนเข้าร่วมกิจกรรมเคยให้สัมภาษณ์ว่า เข้าร่วมกิจกรรมกับไมตรีตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ตอนนั้นแม่ต้องเข้ารับการบำบัด ส่วนพ่อเลี้ยงก็ไม่สนใจ เลยต้องรับจ้างแบกข้าวโพดไปเรื่อยๆ เคยเกือบหลงผิดไปกับขบวนการลักลอบค้ายาเสพติดแต่โชคดีได้เจอพี่ไมตรี ได้ตามพี่เขาไปหัดตีกลอง หรือเล่นคอนเสิร์ตตามต่างจังหวัด

เขาเคยบอกอีกว่า การพบพี่ไมตรีและร่วมกับโครงการดังกล่าว ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป มีความสามารถหลายด้าน เล่นดนตรีและร้องเพลงได้ เคยเป็นตัวแทน จังหวัดเชียงใหม่ เขต 5 ไปแข่งร้องเพลงที่จังหวัดแพร่ ได้เหรียญทองแดงมา ตั้งใจจะเรียนให้จบปริญญาตรี อยากเป็นครูถ่ายทอดความรู้ให้เด็กๆ และคิดว่าจะทำโครงการนี้ไปเรื่อยๆ เพราะเห็นแล้วว่ามันส่งผลดีกับเยาวชนจริง

จนกระทั่งเขามาประสบเหตุจากการยิงของเจ้าหน้าที่ทหาร อันเนื่องมาจากปัญหายาเสพติดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าสาเหตุแท้จริงนั้นเกิดจากอะไร แต่ก็มีข้อสงสัยว่า

ในขณะที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งอย่างไมตรีลุกขึ้นมาแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิธีการเชิงบวกที่ให้ความสำคัญกับเยาวชน ขณะที่ไม่ว่ารัฐจะมีวิธีเชิงบวกอื่นใดใช้อยู่ ความรุนแรงยังเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่รัฐเลือกใช้อย่างน้อยที่สุดก็ในกรณีที่กำลังเป็นข่าวนี้

ความรุนแรงที่ทำให้ชีวิตของชัยภูมิจบลงนั้นอาจถูกอธิบายโดยทางการว่าเพื่อแลกกับความอยู่รอดปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ระหว่างปฏิบัติการ เพราะผู้เสียชีวิตพยายามต่อสู้ขัดขืน แต่สำหรับผู้ยังมีชีวิตอยู่ย่อมมีหน้าที่ทางมนุษยธรรมที่จะต้องร่วมกันติดตามเพื่อการตรวจสอบข้อจริงเท็จของเหตุการณ์

และแม้คำตอบจะลงเอยเช่นใดก็ตาม ความรุนแรงที่รัฐใช้ต่อพลเรือนย่อมต้องถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็น เหมาะสมและยั่งยืนในการแก้ปัญหาด้วย ก่อนที่รัฐจะเสพติดความรุนแรง และอาจทำให้ประชาชนเปลี่ยนแปรจากความเพิกเฉยไปสู่การนิยมความรุนแรง ซึ่งถึงตอนนั้นแม้การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสันติก็อาจทำให้พลเรือนต้องล้มตายเป็นผักปลา หรือแม้แต่การเกิดมาพร้อมอัตลักษณ์บางอย่างก็อาจทำให้ตกเป็นเป้าหมายจนถึงแก่ชีวิตได้ดังที่เคยเกิดมาแล้วในบางประเทศ และที่กำลังดำเนินไปอย่างน่าใจหายในบางประเทศเช่นกัน

ในชุมชนอันห่างไกลที่ไม่กี่ปีก่อน คนเข้าไปตบเด็กและคนแก่ ยังคงลอยนวลเป็นปริศนา จนถึงวันนี้ที่มีเยาวชนถูกวิสามัญฆาตกรรมอีกหนึ่งราย ไม่ว่ารัฐจะได้อะไรจากเหตุการณ์นี้ก็ตาม แต่ดูเหมือนสังคมไทยยังไปไม่พ้นข้อถกเถียงเกี่ยวความชอบธรรม ให้กับการฆ่าที่มีแนวโน้มจะลงเอยด้วยเหตุผลคลาสสิกที่ว่าคนไม่ดีต้องตกเป็นจำเลยทั้งในและนอกระบบยุติธรรม และแม้แต่การฆ่าให้ตาย ก็ย่อมเป็นการตายที่ไร้ศักดิ์ศรี ถ้าไม่ถูกลืมไปเสีย เขาและเธอนั้นต้องถูกจดจำไว้ในฐานะพิษภัยของสังคมตลอดกาล

ขอบคุณภาพประกอบจาก: Nao Saowanee Sangkara