ศาลทหารบราซิล: ส่วนผสมระหว่างพลเรือนและกองทัพ

รวบรวมและเรียบเรียง โดย เจเชนดร้า คารุนาคาเรน
หลังการรัฐประหารปี 1964 ของบราซิล รัฐบาลทหารได้ผ่านกฎหมายลิดรอนสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ต่อต้านและวิจารณ์รัฐบาลถูกนำขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งประกอบด้วยบุคคลากรทั้งจากฝ่ายพลเรือนและกองทัพทำงานร่วมกัน กลุ่มภาคประชาสังคมต่างๆ ยังสามารถเข้าถึงและจับตากระบวนการพิจารณาคดีและรณรงค์เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้
ที่มาภาพ George Vale
บริบทการรัฐประหาร ค.ศ. 1964: ความพยายามของทหารในการ“ปกป้องรัฐธรรมนูญ”
ในปี 1964 รัฐบาลของประธานาธิบดีโจเอา กูลาร์ด (Joao Goulart) ถูกกองทัพยึดอำนาจเพื่อตอบโต้การแผ่ขยายอภิสิทธิ์ของฝ่ายบริหารและการโอนย้ายอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมาเป็นของรัฐ การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการชิงโจมตีรัฐบาลเพื่อจำกัดนโยบายของกูลาร์ด กองทัพกล่าวหาว่าประธานาธิบดีพยายามที่จะล้มล้างรัฐบาลที่มาจากรัฐธรมนูญ
นายพลโอลิมโป มัวเรา ฟิลโล (General Olympio Mourao Filho) เป็นผู้นำการรัฐประหารในวันที่ 1 เมษายน 1964 และยึดอำนาจรัฐบาลอย่างรวดเร็ว กองทัพอธิบายว่า การยึดอำนาจเป็นมาตราการป้องกันแผนของกูลาร์ด ที่หวังจะล้มรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญของบราซิลและสถานปนาตนเป็นผู้นำเบ็ดเสร็จ อย่างไรก็ตามแอนโทนี่ เปไรร่า อธิบายในความ(อ)ยุติธรรมทางการเมือง: ระบบอำนาจเบ็ดเสร็จและหลักนิติธรรมในบราซิล, ชิลี และอาร์เจนติน่าว่า กูลาร์ด ไม่เคยแสดงทีท่าเป็นเผด็จการ การยึดอำนาจครั้งนี้สามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพียงการชิงลงมือก่อนของทหาร มากกว่าเป็นรัฐประหารแบบถอยหลังลงคลอง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทหารยังอ้างว่าได้ค้นพบเอกสารในเมืองมินาส เจอเรส  ที่เปิดโปงแผนการเข้าควบคุมรัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์
รัฐบาลทหารออกกฎหมาย AI-1, AI-2, และ AI-5 เป็นเครื่องมือเพื่อนิยามคดี “ภัยความมั่นคง” และปราบปรามศัตรูทางการเมือง
รัฐบาลทหารได้ออก  “ปฏิบัติการกวาดล้าง”  (Operacao Limpeza หรือ Operation Clean-Up) เพื่อดำเนินคดีบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล ประชาชนหลายหมื่นคนโดนกักตัว (ส่วนใหญ่ถูกกักตัวเป็นว่าเวลาสั้นๆ) ในจำนวนนั้นรวมถึงผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิตส์และผู้ที่คล้อยตาม (communist sympathizers) ที่สังกัดตามหน่วยงานของรัฐ บริษัทของรัฐ สหภาพแรงงาน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทหารบังคับใช้พ.ร.บ.จัดตั้งสถาบัน (First Institutional Act) ฉบับที่ 1 หรือ AI-1 ที่ทำให้การกักตัวประชาชนชอบด้วยกฎหมาย AI-1 ซึ่งถูกร่างขึ้นโดยรัฐมนตรีและรัฐบาลเผด็จการทหาร ให้อำนาจจำกัดสิทธิทางการเมืองใครก็ได้เป็นเวลา 10 ปี และไล่ข้าราชการออก กฎหมายจำกัดอายุ AI-1 ให้ใช้เพียง 6 เดือนเท่านั้น
ตามที่แอนโทนี่ เปไรร่า ได้ระบุไว้ ระหว่างปี 1964 – 1973 รัฐบาลทหารจำกัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งของประชาชนทั้งสิ้น 517 คน เจ้าหน้าที่ที่มาจากการเลือกตั้งถูกพักงาน 541 คน ข้าราชการกว่า 4,000 คน ผู้นำสหภาพแรงงานและแกนนำนักศึกษาหลายร้อยคนโดนกำจัด (purged)
เดือนตุลาคม ค.ศ. 1965 ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งสถาบัน ฉบับที่ 2 หรือ AI-2 ให้อำนาจหัวหน้าคณะรัฐบาลทหารประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อยับยั้งการบ่อนทำลายทางการเมือง AI-2 เป็นกฎหมายที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาบังคับใช้แบบ AI-1 ในช่วงที่การกดขี่ของรัฐบาลพุ่งสูงที่สุด ประชาชนประมาณ 50,000 ถูกจำคุกเพราะต่อต้านรัฐบาล และในขณะเดียวกัน ประชาชนอีกกว่า 20,000 อาจถูกทรมาน
ต่อมา AI-5 ถูกบังคับใช้เนื่องจากการเติบโตของขบวนการกองกำลังติดอาวุธฝ่ายซ้าย กฎหมายฉบับนี้อนุญาติให้ใช้อำนาจของสถาบันตุลาการ จัดการการกระทำที่เป็นภัยคุกคามกับรัฐบาล AI-5 ยกเลิกสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบ (habeas corpus) ในคดีความมั่นคงแห่งชาติ และอนุญาตให้ใช้คำสารภาพที่มาจากการทรมานในการดำเนินคดีผู้เห็นต่างได้
ที่มาภาพ André Gustavo Stumpf
ในศาลทหาร อัยการและนักกฎหมายเป็นพลเรือน และศาลชั้นสูงสุด คือ ศาลฎีกาของพลเรือน
ระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมทหารในบราซิลประกอบด้วยบุคคลากรจากฝ่ายพลเรือนและกองทัพ กองกำลังความมั่นคงจากกองทัพและฝ่ายตำรวจมีหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัย อัยการและทนายความของจำเลยเป็นพลเรือน ส่วนอัยการที่ทำงานในหน่วยงานของทหารจะถูกคัดเลือกโดยการสอบกฎหมาย ทนายความจะถูกแต่งตั้งโดยศาล ส่วนผู้พิพากษาพลเรือนทำหน้าที่ควบคู่กับเจ้าหน้าที่ทหาร เนื่องจากผู้พิพากษาพลเรือนมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมากกว่าประกอบกับวาระการดำรงตำแหน่งที่สั้นของตุลาการทหาร (3 เดือน) ทำให้ผู้พิพากษาพลเรือนมีอิทธิพลสูงกว่าในการตัดสินคดี องค์คณะของศาลประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร 4 คนและผู้พิพากษาพลเรือน 1 คน
ระบบศาลทหารของบราซิลจะมีระบบศาลกลาง (federal system) ที่ศาลทหารจะตั้งอยู่ในแต่ละเขตการดูแล ศาลของระบบกลางจะมี 12 เขต ซึ่งเขตอำนาจของศาลจะขึ้นอยู่กับเขตแดนของทหารในเขตนั้น ๆ ศาลเหล่านี้เรียกว่า CJM (Circunscricoes Judiciarias Militares) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศาลชั้นต้น ส่วนศาลทหารชั้นสูง (Superior Military Court (STM)) จะเป็นศาลอุทธรณ์ที่รับคดีจาก CJM ส่วนคดีที่ผ่านชั้นอุทธรณ์มาแล้วสามารถยื่นคำฟ้องฎีกาได้ที่ศาลฎีกาของพลเรือน หรือ STF ซึ่งเป็นศาลพลเรือนระดับสูงที่สุดในโครงสร้างระบบยุติธรรม
ภาคประชาสังคม เช่น เนติบัณฑิตยสภาแห่งบราซิล (Brazilian Bar Association หรือ Ordem dos Advogados do Brasil) คณะกรรมการเพื่อสันติภาพ (CJP หรือ Cimssao de Justica e Paz) และคณะกรรมการเพื่อการนิรโทษกรรม (CBAs หรือ Comites Brasileiros pela Anistia) เป็นกลุ่มที่เฝ้าระวังและจับตาการตัดสินคดีของศาลและกดดันรัฐบาลทหารให้เกิดการปฏิรูป
ศาลทหารจะไม่สืบสวนหรือดำเนินคดีข้อหาการทรมานนักโทษ โดยเฉพาะช่วงปี 1968 – 1974 ผู้พิพากษาอาจจะถูกไล่ออกหากมีการสืบสวนเรื่องดังกล่าว
Vannucchi Leme ศึกษาคดีจำนวน 202 คดีที่จำเลยมาจากกลุ่มกองโจร ที่เรียกตัวเองว่า ขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติ (Acao Libertador Nacional หรือ National Liberation Action) จากการศึกษาพบว่าร้อยละ 60.89 ของคดีทั้งหมด ศาลทหารตัดสินให้จำเลยมีความผิด อย่างไรก็ตาม เมื่อคดีไปถึงศาลชั้นอุทธรณ์ (STM) ร้อยละ 88.48 ของคดีในชั้นนี้ศาลตัดสินว่าจำเลยมีความผิด จะเห็นได้ว่าศาลทหารชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีความเสมอต้นเสมอปลายเป็นอย่างมากเพราะศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนมากยึดคำตัดสินตามศาลชั้นต้น
ในศาลชั้นสูงสุดนั้น คดีจะไปอยู่ที่ศาลฎีกา ที่เป็นศาลสำหรับพลเรือนทั่วไปและดำเนินงานคดีโดยสำนักงานอัยการพลเรือน (Procurodoria Geral da Republica) จากกลุ่มตัวอย่างที่ระบุข้างต้น ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยมีความผิดเป็นร้อยละ 66.66 ของคดีทั้งหมด ศาลฎีกามีอัตราการตัดสินให้จำเลยมีความผิดต่ำกว่า ชี้ให้เห็นว่าศาลฎีกามีความเป็นอิสระในการทำงานมากกว่าศาลชั้นอุทธรณ์และศาลชั้นต้น
สิทธิขั้นพื้นฐานยังมีความหมาย ยิ่งศาลระดับสูง อัตรายกฟ้องก็ยิ่งมากขึ้น
จำเลย 7,367 รายยื่นอุทธรณ์กับ STM ร้อยละ 42 ของคดีในศาลทั้งหมดเป็นข้อหาการเป็นสมาชิกในองค์กรที่ผิดกฎหมาย นอกจากนั้น ร้อยละ 11.7 เป็นข้อหาการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ดังนั้น มากกว่าครึ่งของคดีที่อยู่ในศาลจะเป็นคดีที่เกี่ยวกับการเป็นสมาชิกหรือการเข้าร่วมในกลุ่มที่ต้องการ“ล้ม”รัฐบาล ร้อยละ 12.7 เป็นคดีเกี่ยวกับการแสดงออกความคิดเชิง “บ่อนทำลาย” แต่คดีที่เกี่ยวกับการก่อความรุนแรงและการใช้อาวุธมีเพียงร้อยละ 12.5 เท่านั้น ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าศาลทหารถูกใช้เพื่อปราบปรามขบวนการฝั่งตรงข้ามและควบคุมเสียงวิพากษณ์วิจารณ์ทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ศาลทหารในบราซิลก็มีอัตราการยกฟ้องสูง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าศาลยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนว่ามีคุณค่ากว่า การปิดกั้นจากรัฐบาล ข้อมูลจากแอโทนี่ เปไรร่า เผยว่าจากกลุ่มตัวอย่าง 257 คดี จำเลยรวมกัน 2,109 คน ศาลทหารชั้นต้นยกฟ้องร้อยละ 54 ของคดีทั้งหมด ในชั้นอุทธรณ์ กลุ่มตัวอย่าง 40 คดี มีอัตราการยกฟ้องสูงถึงประมาณร้อยละ 60 ในขณะเดียวกันคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงในศาลชั้นต้น (ซึ่งเป็นคดีส่วนใหญ่) มีอัตราการยกฟ้องสูงถึงร้อยละ 57 คดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงมีอัตราการยกฟ้องร้อยละ 46 จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าศาลอะลุ่มอล่วยกับคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมและการแสดงออก นอกจากนั้น ในศาล STM อัตราการยกฟ้องคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงสูงถึงร้อยละ 73 คดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงมีอัตราการยกฟ้องร้อยละ 46 จากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว กลุ่มคดีที่ได้รับการยกฟ้องมากที่สุดคือคดีโฆษณาชวนเชื่อให้บ่อนทำลายรัฐบาล คดีเกี่ยวกับกิจกรรมของสหภาพแรงงาน และ ความผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งคดีเหล่านี้รวมกันนับเป็นสัดส่วนสามในสี่ของกลุ่มตัวอย่างคดีทั้งหมด สังเกตได้จากสถิติตามตาราง
จากกลุ่มตัวอย่างของ Perreira อัตราการยกฟ้องจะแตกต่างกันในแต่ละรัฐซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจเพราะบราซิลมีระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ (federal system) เมืองที่ใหญ่และมีประชากรมากอย่างเช่น ริโอเดอจาเนโร่ หรือ เซาเปาโล มีอัตราการยกฟ้องใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระดับประเทศ ส่วนศาลทหารในเมืองอื่น ๆ  เช่น ปารานา, บาเฮียม และ เปอร์นัมบูโช มีอัตราการยกฟ้องน้อยที่สุด ในขณะที่เมือง ปารา, เซียร่า และริโอแกรนโดซูล มีอัตราการยกฟ้องสูงที่สุด แต่ข้อยกเว้นเดียวคือความผิดฐานเป็นสมาชิกในองค์กรที่ “เป็นภัยคุกคาม”
การพิพากษาจำคุกนักโทษการเมืองจากกลุ่มตัวอย่างของ Perreira 246 คดีจำเลย 1,830 คน พบว่าโทษจำคุกเฉลี่ยนั้นต่ำกว่า 4 ปี ในตารางที่ 4 ประมาณร้อยละ 63 ของจำเลยในศาลชั้นต้นได้รับโทษจำคุกสี่ปีหรือน้อยกว่านั้น ร้อยละ 12.48 ได้รับโทษจำคุกสิบปีหรือมากกว่า และถึงแม้ว่าศาลสามารถตัดสินประหารชีวิตได้ กลับไม่มีการตัดสินประหารชีวิตเกิดขึ้น
ระยะเวลาของโทษจำคุกที่ศาลทหารตัดสินก็แตกต่างกันไปตามภูมิภาค โทษจำคุกโดยเฉลี่ยในเมืองมาโตกรอซโซ่ จะอยู่ที่ 8 ปี  เมืองเบโล ฮอริซอนเต้ อยู่ที่ 10 ปี เมืองปารา อยู่ที่ 6 เดือนและเมืองบราซิเลีย น้อยกว่า 1 ปี ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอย่างคือในเมืองที่มีอัตราการยกฟ้องสูง อัตราโทษจำคุกจะต่ำ อย่างเช่นเมืองริโอแกรนโดซูล
สิ่งที่น่าประหลาดใจสำหรับกฎหมายในยุคเผด็จการของบราซิล คือ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ยังคงมีให้เห็นได้บ้างในการพิจารณาคดีของศาลทหาร ประชาชนธรรมดาถูกนำขึ้นศาลนี้แต่ว่าสาธารณชนยังสามารถมีส่วนร่วมในการคัดค้านคำตัดสินได้ จะเห็นได้จากกรณีของ ทีโอโดมิโร โรเมโร่ ดอส ซานโต๊ส (Teodomiro Romeiro dos Santos) ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ปฏิวัติแห่งบราซิล (PCBR หรือ Partido Comunits Brasileiro Revolucionario) ซานโต๊สถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 1971 ฐานฆาตกรรมนายจ่าอากาศคนหนึ่ง คดีนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั้งสื่อมวลชนในบราซิล บุคคลทางสังคมต่างๆ เช่น นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อดีตประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึงอาร์ชบิชอบแห่งซัลวาดอร์ (Salvador) และหนังสือพิมพ์จัวนัล โด บราซิล (Jornal do Brasil) เสียงวิพากษ์จากสาธารณชนก่อให้เกิดผลอย่างมากต่อคำตัดสินของคดีนี้เพราะเมื่อคดีไปถึงชั้นอุทธรณ์ ศาลได้ลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อศาลฎีกาของพลเรือนตัดสินคดี โทษของ ซานโต๊สลดเหลือเพียงจำคุก 30 ปี
……………………………………..
หมายเหตุ ข้อมูล และ ตารางในบทความนี้นำมาจาก หนังสือ ความ(อ)ยุติธรรมทางการเมือง: ระบบอำนาจเบ็ดเสร็จและหลักนิติธรรมในบราซิล, ชิลี และอาร์เจนติน่า เขียนโดยแอนโทนี่ เปไรร่า
(N.B.: The information, data sets and tables are obtained from Anthony W. Pereira’s book Political (in) justice: authoritarianism and the rule of law in Brazil, Chile, and Argentina).