ศาลทหารพิเศษในชีลี: สถาบันที่รับรองความชอบด้วยกฎหมายให้การปราบปรามศัตรูทางการเมืองของปิโนเช่

รวบรวมและเรียบเรียง โดย เจเชนดร้า คารุนาคาเรน
รัฐประหารในค.ศ. 1973 ล้มรัฐบาลฝ่ายซ้ายจากการเลือกตั้งของซัลวาเดอร์ อาเลนเด้ ต้นเหตุมาจากการปฎิรูปทางการเมืองแบบสุดโต่งที่มีเป้าหมายจะปฏิรูปสภานิติบัญญัติและโอนอุตสาหกรรมสำคัญมาเป็นของรัฐบาล ศาลทหารดำเนินคดีเอาผิดศัตรูทางการเมืองโดยใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐ ค.ศ. 1958 และกฎหมายควบคุมอาวุธ ค.ศ. 1972 ซึ่งตลกร้ายตรงที่ว่ากฎหมายสองฉบับนี้ถูกตราขึ้นโดยรัฐบาลของอาเลนเด้เอง
ที่มาภาพ keepitsurreal
ภูมิหลัง: รัฐประหารปี 1973 การยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอาเลนเด้
ช่วงปีก่อนการรัฐประหาร ประชาธิปไตยในประเทศชิลีมีความเข็มแข็งและเจริญเติบโต อย่างไรก็ตามฝ่ายบริหารเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตนเองอย่างมากและกองทัพได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น
รัฐบาลแนวร่วมฝ่ายซ้าย ของประธานาธิบดีซัลวาเดอร์ อาเลนเด้ (Salvador Allende) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาด้วยชัยชนะแบบฉิวเฉียด ได้เผชิญการต่อต้านจากฝ่ายตุลาการและกองทัพ รัฐบาลอาเลนเด้ มีความต้องการที่จะเปลี่ยนรัฐสภาจากสภาเดี่ยวให้เป็นสภาคู่ และมีความต้องการให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลยุติธรรมสูงสุด โอนธนาคาร เหมืองถ่านหิน และกิจการเอกชนที่สำคัญเข้ามาให้รัฐบริหารเอง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลนายอาเลนเด้ยังพยายามตั้งศาลประชาชน (popular court) ที่อยู่นอกเหนือโครงสร้างของศาลปกติ เพื่อจัดการปัญหาการบุกรุกที่ดิน แนวคิดนี้มีกลุ่มที่สนับสนุน คือ กลุ่มนักกิจกรรมจากขบวนการปฏิวัติฝ่ายซ้าย (Movimiento de Izquierda Revolucionario หรือ Movement of the Revolutionary Left)
ภายใต้การปกครองของอาเลนเด้ ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิและการคุ้มครองจากรัฐ ทำให้เกิดการบุกรุกที่ดิน การประท้วงหยุดงานและการเข้ายึดโรงงานที่เพิ่มมากขึ้น ศาลฎีการับมือกับการที่องค์กรแรงงานที่เพิ่มจำนวนขึ้น โดยการล็อบบี้รัฐบาลให้ตัดสินใจใช้นโยบายที่กำหนดขึ้นโดยศาลปกติยภายในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ
เดือนกันยายน ปี 1973 ศาลยุติธรรมสูงสุดได้ออกมาแถลงว่า ชิลีกำลังเผชิญกับ “ระบบกฎหมายที่ชำรุด” (breakdown of the legal order) อันเป็นสาเหตุมาจาก “การกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ” หลังจากนั้นก็มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลตามมา ความแตกแยกทางการเมืองก่อให้เกิดการก่อตัวของกลุ่มติดอาวุธทั้งฝ่ายซ้ายและขวาที่ก่อความรุนแรง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐสภาจึงแก้ไขกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐ ค.ศ. 1958 (1958 Law of State Security) เพื่อถ่ายโอนคดีริบอาวุธที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและการดำเนินคดีผู้พกอาวุธที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจากศาลพลเรือนให้ไปอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ทำให้ประชาชนและกลุ่มติดอาวุธข้างต้นไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของอาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ทหาร ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การยึดอำนาจรัฐบาลอาเลนเด้ โดยนายพลออกัสโต้ ปิโนเช่ และกองทัพในปี 1973 ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้ด้วย
ข้ออ้างของการยึดอำนาจครั้งนี้ ทหารอ้างว่ามาจากการที่รัฐบาลแนวร่วมฝ่ายซ้ายได้ฝ่าฝืนหลักนิติธรรม  ศาลฎีกาสนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้และร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับระบอบของปิโนเช่ โดยจะเห็นได้จากการที่เอนริเก้ อูรูเทีย แมนซาโน่ ประธานศาลฎีกาออกมาประกาศแสดงความยินดีกับกองทัพหลังการยึดอำนาจ และที่สำคัญศาลไม่เคยใช้อำนาจตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงระบอบเผด็จการทหาร ทั้งที่ศาลมีอำนาจจะทำได้
การบังคับใช้ “ศาลทหารในภาวะสงคราม”
ช่วงสองสามวันแรกหลังจากการยึดอำนาจ กองทัพได้ ยกเลิกรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้น กองทัพยังประกาศภาวะฉุกเฉิน เคอร์ฟิว และการประกาศเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวที่กระทรวงกลาโหม ประกาศห้ามชุมนุมในที่สาธารณะ และมีการวิสามัญฆาตกรรมประชาชนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม (extrajudicial execution) คณะรัฐประหารแก้ไขกฎหมายควบคุมอาวุธและกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐให้เพิ่มโทษสูงสุดเป็นประหารชีวิต
กฎหมายควบคุมอาวุธและกฎหมายความมั่นคงของรัฐที่ถูกบังคับใช้ตั้งแต่รัฐบาล Allende กลับถูกนำมาใช้โดยรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจ รัฐบาลเผด็จการทหารโอนย้ายคดีที่อยู่ภายใต้กฎหมายทั้งสองฉบับนี้จาก “ศาลทหารในภาวะปกติ” ไปเข้าสู่ “ศาลทหารในภาวะสงคราม” การบังคับใช้กฎหมายในศาลของรัฐบาลเผด็จการทหารนั้นมีรากฐานมาจากกรอบกฎหมายสมัยก่อนการยึดอำนาจ และจากการขยายอภิสิทธิ์ของฝ่ายบริหารหลังรัฐประหารด้วย
ภาพนายพลปิโนเช่ ที่มาภาพ maximoberrios
ห้ามยื่นอุทธณ์ ห้ามถามค้าน ประหารชีวิตไป 200 คน
ระยะเวลา 5 ปีแรกของระบอบเผด็จการ ผู้บัญชาการทหารได้ถูกแต่งตั้งให้ไปอยู่ตามเขตพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศและสถาปนา “ศาลทหารพิเศษในภาวะสงคราม” (wartime military tribunal หรือ Consejos de Guerra) ขึ้นจากการออกพระราชกฤษฎีกาในวันที่ 22 กันยายน 1973 คณะกรรมการพิจารณาคดีนี้ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร 7 นายที่อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยตรงและส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย
ในกระบวนการศาล จำเลยแทบไม่มีสิทธิพื้นฐาน จำเลยไม่มีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ และ เผชิญการตัดสินอย่างรวดเร็ว รวมถึงโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ในปลายปี 1978 นักโทษการเมืองเปลี่ยนไปขึ้นศาลทหารในภาวะปกติ การดำเนินคดีมีความค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้รับการปกป้องมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามศาลทหารที่ตั้งอยู่ภายในค่ายทหาร ยังคงทำงานแยกจากศาลยุติธรรมของพลเรือน
จำเลยและทนายจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ถามค้านพยายานฝ่ายอัยการ อัยการทหารสามารถเก็บหลักฐานสำคัญไว้เป็นความลับได้ นอกจากนั้น ไม่มีระยะเวลาขั้นต่ำกำหนดไว้ให้จำเลยได้เตรียมตัวต่อสู้คดี
ศาลทหารชิลีมีเขตอำนาจย้อนหลัง กฎหมายที่สถาปนาศาลทหารพิเศษถูกบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กันยายน 1973 แต่มีคดีที่จำเลยถูกตัดสินว่ามีความผิดจากการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวันดังกล่าว
ศาลฎีกาของพลเรือนที่ปกติควรจะมีอำนาจเหนือศาลทหารกลับยืนหยัดเคียงข้างคำตัดสินที่รวดเร็วผิดปกติของศาลทหาร การพิจารณาคดีของศาลทหารพิเศษนั้นมีความรวดเร็วเกินความจำเป็น (ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน) ศาลดำเนินคดีประชาชนกว่า 6,000 คนในห้าปีแรกภายใต้รัฐบาลทหาร ประมาณ 200 คนที่ถูกตัดสินประหารชีวิต
ข้อมูลจากการรวบรวมข้อมูลของกลุ่มวิคาริเอท ออฟ โซลิดาริตี้ (Vicaria de la Solidaridad หรือ Vicariate of Solidarity) ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งโดยกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิคและโปรเตสแตนท์ระบุว่า 43% ของคดีทั้งหมดเป็นคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายควบคุมอาวุธ ค.ศ. 1972 คดีละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐ ค.ศ. 1958 ทั้งหมด 55% และคดีที่ละเมิดกฎหมายทหารหรือกฎหมายอาญาทั่วไป 2%
ข้อมูลของแอนโทนี่ เปไรร่า มาจากกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ (จำเลยกว่า 2,000 คน) ในคดีศาลทหารของชิลี จากปี 1973 – 1978 อัตราการยกฟ้องโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.42% ศาลทหารท้องถิ่น 6 แห่งที่พิจารณาคดีนักโทษการเมืองรวม 165 คน ไม่มีการยกฟ้องเลยแม้แต่คดีเดียว
การตัดสินโทษรุนแรงไม่ได้สัดส่วนในคดีอาชญากรรมทางความคิด
คดีตัวอย่าง 4 คดีนี้แสดงให้เห็นว่าศาลจงใจลงโทษและใช้อำนาจไม่เหมาะสม ศาลทหารระดับภูมิภาคได้ตัดสินลงโทษให้การแสดงออกต่อต้านอย่างสันติเป็นความผิด
– จำเลยถูกพูดถึงว่าเป็น “ผู้ที่มีแนวคิดฝ่ายซ้าย เป็นนักรบของพรรคสังคมนิยม เป็นมาร์กซิสที่ยั่วยุให้เกิดความไม่สงบโดยการแสดงออกในที่สาธารณะและการประชุมทางการเมือง ตะโกนคำขวัญที่ยุยงให้เกิดความรุนแรงและความหวาดกลัว” เป็นที่เห็นชัดเจนว่า คดีนี้เป็นอาชญากรรมทางความคิดและการแสดงออก แต่จำเลยก็ถูกตัดสินจำคุก 3 ปีข้อหาทำผิดกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐ
– คนขับแท็กซี่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 540 วัน (ประมาณปีครึ่ง) ข้อหาหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะเมาสุรา (ผิดประมวลกฎหมายทหารมาตรา 417) ศาลตัดสินให้จำเลยมีความผิดเนื่องจากอ้างว่าจำเลยเป็น “นักรบติดอาวุธฝ่ายสังคมนิยม”
– จำเลยอีกคนหนึ่งได้รับโทษเท่ากันจากข้อหาเดียวกันกับคนขับแท็กซี่หลังจากพูดกับตำรวจว่า “ทหารที่ฆ่าประธานาธิบดีก็คือฆาตกร”
– จำเลย 9 คนถูกตัดสินให้ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 400 – 1,000 วัน พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมแห่งอัลการาโบ (Algarrobo) สร้างกลุ่มเช เกวรา (Che Guavara) ที่ส่งเสริมสั่งสอน “ลัทธิที่มีแนวโน้มทำลายระเบียบทางสังคม” และซ่องสุมกลุ่มติดอาวุธที่มี “เป้าหมายในการฝึกป้องกันตัวเองและการโจมตี” จำเลยถูกตัดสินว่ากระทำผิดข้อข้อหาละเมิดกฎหมายควบคุมอาวุธและกฎหมายความั่นคงของรัฐ
– ห้าวันหลังการรัฐประหาร ตำรวจจับกุมกลุ่มชายพกอาวุธ 6 คนที่ต้องสงสัยว่าวางแผนก่อเหตุรุนแรงที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ทั้ง 6 คนถูกตัดสินว่าทำผิดมาตรา 8 ของกฎหมายควบคุมอาวุธ จำเลย 2 จาก 6 คนถูกตัดสินประหารชีวิตทันทีในวันรุ่งขึ้นด้วยการยิงเป้า ส่วนจำเลยอีก 4 คนถูกตัดสินจำคุก 3 – 4 ปี หลักฐานชิ้นเดียวที่ระบุว่าชาย 6 คนนั้นวางแผนก่อเหตุร้ายที่สถานีตำรวจ คือคำสารภาพที่มีความเป็นไปได้สูงว่ามาจากการซ้อมทรมาน
การวิเคราะห์ความแตกต่างของอัตราการยกฟ้องในแต่ละพื้นที่มีความสำคัญในการระบุความเสมอต้นเสมอปลายของระบบยุติธรรมทหาร ในประเทศชิลี ศาลทหารแต่ละแห่งมีอัตราการยกฟ้องที่ไม่เหมือนกัน ภาคใต้และใต้สุด (south และ far south region) มีการตัดสินลงโทษมากกว่า โดยมีอัตราการยกฟ้องเพียง 2.89% และ 5.56% ตามลำดับ ซึ่งมีความแตกต่างกับอัตราการยกฟ้อง 14.16% ที่เป็นค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอื่น ๆ เป็นอย่างมาก ภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุดในชิลีมีอัตราการยกฟ้องสูงที่สุดในขณะที่ภูมิภาครอบนอกมีอัตราการยกฟ้องที่ต่ำกว่า ดูได้จากสถิติตามตารางด้านล่าง
ความโปร่งใสของการดำเนินคดีและการทำงานของภาคประชาสังคม
เสียงวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาลโดยปกติแล้วจะไม่ได้รับการออกอากาศผ่านสื่อ กลุ่มวิคาริเอท ออฟ โซลิดาริตี้ ซึ่งมีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสำหรับว่าความให้จำเลย องค์กรนี้เป็นองค์กรเดียวที่ช่วยจัดหานักกฎหมายให้นักโทษทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะปกป้องจำเลยถูกจำกัดโดยศาลฎีกาพลเรือนซึ่งอนุมัติรับพิจารณาคำร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบ (habeas corpus) เพียง 30 จากเกือบ 9,000 คำร้อง ถึงอย่างไรเสีย การต่อสู้ทางกฎหมายของทนายเหล่านั้นก็ได้ทำให้ข้อเรียกร้องของจำเลยถูกบันทึกไว้
ในปี 1979 ผู้พิพากษาซัลแวนโด้ จอร์แดน (Servando Jordan) ได้ให้นายมานูเอล คอนเทราส (Manuel Contreras) และสมาชิกของกลุ่มข่าวกรอง DINA ให้การต่อศาลในคดีที่เกี่ยวข้องกับศพจำนวนหนึ่งที่ถูกพบในปากแม่น้ำมานิป แต่คดีก็ถูกปิดไปเพราะไม่มีหลักฐานเพียงพอ
ในปี 1983 ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ คาร์ลอส เซอร์ด้า (Carlos Cerda) สืบสวนการหายตัวไปของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ 12 คนในปี 1976 และตั้งข้อหาฆาตกรรมกับนายตำรวจและทหารอากาศจำนวน 38 แต่ว่าศาลฎีกายุติคดีด้วยเหตุผลว่า จำเลยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนิรโทษกรรมในปี 1978 และกลับตำหนิเซอร์ด้าที่เขาพยายามยืนกรานทำการสืบสวน
การยกฟ้องคดีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าฝ่ายตุลาการที่รวมศูนย์อำนาจตามลำดับชั้น (ตุลาการถูกควบคุมโดยศาลฎีกา) เป็นเสาหลักของการปกครองแบบเบ็ดเสร็จในยุคของปิโนเช่ ระบอบนี้แทรกแซงผู้พิพากษาที่สืบสวนเรื่องสิทธิมนุษยชน
……………………………………..
หมายเหตุ ข้อมูล และ ตารางในบทความนี้นำมาจาก หนังสือ ความ(อ)ยุติธรรมทางการเมือง: ระบบอำนาจเบ็ดเสร็จและหลักนิติธรรมในบราซิล, ชิลี และอาร์เจนติน่า เขียนโดยแอนโทนี่ เปไรร่า
(N.B.: The information, data sets and tables are obtained from Anthony W. Pereira’s book Political (in) justice: authoritarianism and the rule of law in Brazil, Chile, and Argentina).