ถอนประกันคดีการเมือง: เสรีภาพภายใต้การควบคุมของศาล

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 วางกรอบการใช้อำนาจของศาลไว้ว่า กรณีที่ศาลสามารถสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะต้องมีเหตุดังต่อไปนี้ (1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี (2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน (3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น (4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ และ (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

ที่ผ่านมา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวไปก่อน แต่สั่ง “เพิกถอนการประกันตัว” ภายหลัง ซึ่งแม้จะไม่ได้มีกฎหมายกำหนดเงื่อนไขการเพิกถอนการประกันตัวโดยตรง แต่เหตุที่จะสั่งเพิกถอนการประกันตัวได้ต้องอาศัยเหตุที่กฎหมายกำหนดไว้ มิเช่นนั้นจะไม่สามารถสั่งให้จำกัดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ได้ในระหว่างที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่ามีความผิด ทั้งนี้ ในหลายกรณี ศาลเคยสั่งเพิกถอนการประกันตัว โดยพยายามอ้างเหตุให้ใกล้เคียงกับ (3) ซึ่งท้ายที่สุดการอ้างเพื่อเพิกถอนประกันในลักษณะนี้ กลับกลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการจำกัดและควบคุมการแสดงออกของผู้ต้องหาโดยเฉพาะผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น

1) ‘ไผ่ ดาวดิน’ ไม่ยอมลบข้อความที่ถูกกล่าวหาและโพสต์เยาะเย้ยกระบวนการยุติธรรม

22 ธันวาคม 2559 ประชาไทรายงานว่า ศาลจังหวัดขอนแก่นได้นัดพิจารณาคำร้องของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ที่ขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” หนึ่งในสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในคดีแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC thai 

โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จตุภัทร์ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว เพราะว่าตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้มีคำสั่งกำชับให้นายประกัน ผู้ต้องหามาตามนัด ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ และห้ามยุ่งเหยิงหลักฐานในคดี หรือก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หลังปล่อยตัวชั่วคราว

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์ว่า หลังจากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหาเป็นคดี ในสื่อสังคมออนไลน์บนเฟซบุ๊กออก ทั้งผู้ต้องหายังแสดงความคิดเห็น และมีพฤติกรรมในสังสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์ เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ อีกทั้งผู้ต้องหามีแนวโน้มจะกระทำการลักษณะเดิมต่อไปอีก

2) สามอดีตแกนนำ พธม. เป็นแกนนำ คปท.

23 พฤษภาคม 2557 พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผบ.สำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว 9 อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถูกดำเนินคดีชุมนุมปิดท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ประกอบด้วย พิภพ ธงไชย, สุริยะใส กตะศิลา ,สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, รัชต์ยุตม์ หรือ อมรเทพ ศิรโยธินภักดี หรือ อมร อมรรัตนานนท์, อัญชะลี ไพรีรัก, พิชิต ไชยมงคล, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์, ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ และสมบูรณ์ ทองบุราณ

เนื่องจากผู้ร้องเห็นว่าจำเลยทั้ง 9 คนน่าจะกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขประกันตัวของศาลกรณีที่จำเลยทั้ง 9 คนได้ไปร่วมการชุมนุม กปปส. ปิดสถานที่ราชการต่างๆ

จากการไต่สวนของศาลพบว่า มีจำเลย 3 คน ได้แก่ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์, รัชต์ยุตม์ หรือ อมรเทพ ศิรโยธินภักดี, พิชิต ไชยมงคล นำมวลชนปิดล้อมกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีการตัดไฟ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายอาญา ที่ได้ใช้บังคับเป็นการทั่วไปกับประชาชนทุกคน และยังทำให้เกิดอนาธิปไตยเพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อกำหนดการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้

แม้จำเลยจะอ้างว่า มีสิทธิชุมนุมด้วยความสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ แต่ศาลมองว่า การกระทำนั้นก็จะต้องไม่ไปกระทบหรือล่วงละเมิดสิทธิประชาชนคนอื่น จึงฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้ ดังนั้นให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวของจำเลยทั้ง 3 ตามคำร้อง

3) ‘ก่อแก้ว พิกุลทอง’ ไม่แสดงออกว่า “สำนึกผิด”

22 เมษายน 2554 ศาลอาญานัดฟังคำสั่งไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวคดีก่อการร้ายที่ก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ตกเป็นจำเลยที่ 5 ซึ่งจำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวไว้หลังปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร

เนื่องจากก่อนหน้านี้ศาลอาญาเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่า “มีพฤติการณ์ข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเข้าข่ายยุยง ปลุกปั่น ปลุกระดม ถึงขนาดที่อาจทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย อันเป็นการผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวในคดี ซึ่งต่อมาศาลได้รับหนังสือจากนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวนายก่อแก้ว เพื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งศาลได้ออกหมายปล่อยตัว แต่มีเงื่อนไขว่าหลังปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก่อแก้วต้องถูกควบคุมตัว

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถึงแม้จำเลยจะมีพยานขึ้นเบิกความยืนยันว่าจำเลยมีนิสัยอ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว มีความประพฤติเรียบร้อย และในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่จำเลยได้ถูกปล่อยตัวออกไปนั้นก็ไม่เคยกระทำการใดๆ อันเป็นการปลุกปั่น ยุยงให้ประชาชนก่อความวุ่นวาย แต่จำเลยยืนยันว่าสิ่งที่ได้กระทำไปไม่เป็นความผิด จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอ เพราะจำเลยยังไม่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีความสำนึกผิดในสิ่งที่กระทำ ผิดเงื่อนไขศาล ศาลจึงยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

 

จากทั้งสามกรณี จะพบว่า ในความเห็นของศาลมีลักษณะร่วมกัน คือ ศาลเข้ามามีบทบาทควบคุมการแสดงออกของผู้ต้องหาภายหลังการได้ประกันตัว โดยศาลอาจอ้างมาตรา 108/1 (3) ว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น อันเป็นเหตุผลในการเพิกถอนการประกันตัว แต่ก็เท่ากับว่า ศาลได้ ‘ตัดสินล่วงหน้า’ ไปแล้วว่า การแสดงออกหรือการกระทำของผู้ต้องหาระหว่างปล่อยชั่วคราวนั้น เป็นการกระทำที่ ‘เป็นอันตราย’ จริง 

อีกทั้ง ในกรณีของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ หรือ ‘ก่อแก้ว พิกุลทอง’ ที่แสดงออกระหว่างได้ประกันตัวว่า ‘ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย’ หรือ ‘ไม่สำนึกผิด’ นั้น แท้จริงก็เป็นการแสดงออกที่ไม่ผิดกฎหมายใดเลยด้วยซ้ำ ซึ่งนี่เท่ากับศาลได้วาง ‘เส้นมาตรฐาน’ ขึ้นมาใหม่ว่า ระหว่างการได้ประกันตัว ผู้ต้องหาต้องสงบเสงี่ยมเรียบร้อย และยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ เสมือนหนึ่งเพิ่งได้กระทำความผิดมา ทำให้ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีซึ่งเป็นผู้ที่ถูก “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” มีข้อจำกัดและภาระเพิ่มขึ้น