บันทึกนอกสำนวน เมื่อศาลปิดประตูล็อกห้องสืบพยานคดี 112 ของปิยะ

ปิยะ เป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 2 คดี ซึ่งทั้ง 2 คดีต้องต่อสู้กันในประเด็นการพิสูจน์ตัวตนในโลกออนไลน์ 

คดีแรก ปิยะถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กเป็นข้อความผิดกฎหมาย ปิยะให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าว โดยไม่ทราบว่า เฟซบุ๊กดังกล่าวที่มีรูปใบหน้าตนเองอยู่นั้นใครเป็นคนทำขึ้น โจทก์มีหลักฐานเพียงภาพเฟซบุ๊กที่ถ่ายจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือเท่านั้นที่เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า ปิยะเป็นผู้โพสต์ข้อความผิดกฎหมาย ซึ่งคดีนี้ศาลตัดสินตามหลักฐานของฝ่ายโจทก์ โดยมีคำพิพากษาในเดือนมกราคม 2559 ให้ปิยะมีความผิดตามข้อกล่าวหา ลงโทษจำคุก 9 ปี แต่ศาลลดโทษให้เหลือ 6 ปี 

คดีที่สอง ปิยะถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 ปิยะได้ใช้อีเมลชื่อ joob22 ส่งอีเมลข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ไปที่ธนาคารกรุงเทพและหน่วยงานอื่นรวม 4 แห่ง โดยลงท้ายชื่ออีเมลว่า “จุ๊บ (Vincent Wang)” และเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ปิยะได้เข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของธนาคารกรุงเทพ และส่งข้อความผ่านช่องทางการติดต่อสอบถามของธนาคาร ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยส่งไปยังอีเมลของชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร และลงท้ายอีเมลว่า “จุ๊บ (Vincent Wang)”

ความแปลกของคดีที่สอง คือ มีการส่งข้อความที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ 2 ข้อความ แต่อัยการแยกฟ้องเป็น 4 ข้อโดยข้อแรกเป็นการส่งอีเมลเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2551 ข้อที่สองเป็นการฟอร์เวิร์ดอีเมลดังกล่าวซ้ำอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2551 ส่งไปยังอีเมลผู้รับที่ใช้ชื่อว่า Vincent ข้อที่สามเป็นการเขียนข้อความเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ซึ่งการเขียนถือเป็นการ “นำเข้า” ข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์และเป็นการกระทำผิดแล้ว และข้อที่สี่เป็นการกดส่งข้อความที่เขียนขึ้น ซึ่งเป็นการ “เผยแพร่” จึงถือว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำอีกครั้งหนึ่งแยกกันเป็นคนละข้อ

 

ในชั้นศาลโจทก์ไม่ได้พิสูจน์ถึงไอพีแอดเดรสที่ส่งข้อความ และไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ครบถ้วน

ในคดีที่สอง ปิยะให้การปฏิเสธเช่นเดียวกับคดีแรก โดยการต่อสู้ในคดีที่สองก็ยังคงเป็นเรื่องการพิสูจน์ตัวตนทางคอมพิวเตอร์ ว่าใครเป็นผู้ส่งข้อความตามคำฟ้องร้อง พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ว่าปิยะเป็นผู้กระทำความผิด มีดังนี้

1) พยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของธนาคารกรุงเทพ ให้ข้อมูลในชั้นศาลว่า หลังจากมีการส่งข้อความเข้ามาในระบบธนาคารเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 แล้ว วันต่อมาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 มีอีเมลชื่อ Vincent ใช้หัวเรื่องและเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เช่นเดียวกัน ส่งเข้ามาที่อีเมลของชาติศิริ โสภณพนิช โดยตรง จึงตรวจสอบที่ Mail Header พบว่าอีเมลนั้นส่งมาจากหมายเลขไอพีแอดเดรส xxxxxxxxx.195 จึงได้นำข้อมูลทั้งหมดมอบให้กับตำรวจ

2) พ.ต.ต.หญิง พรรณทิพย์ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ให้ข้อมูลในชั้นศาลว่า เมื่อได้รับข้อมูลและหมายเลขไอพีแอดเดรสมาจากธนาคารกรุงเทพแล้ว จึงส่งไปตรวจสอบกับผู้ให้บริการ บริษัท ทริปเปิ้ลทรี พบว่า ไม่สามารถตรวจสอบหาผู้ใช้หมายเลขไอพีแอดเดรสดังกล่าวได้ เพราะเป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นนานเกินกว่า 90 วัน เลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้เก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน เมื่อนำอีเมล Vincent ไปสอบถามกับผู้ให้บริการอีเมลว่า ใครเป็นผู้จดทะเบียน พบว่า ผู้จดทะเบียนเปิดใช้อีเมล ชื่อ สิทธิศักดิ์ มีอีเมลสำรอง คือ siam_aid

3) รัชพร เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ให้ข้อมูลในชั้นศาลว่า เมื่อนำอีเมล siam_aid ไปค้นหาใน google พบว่า มีเว็บไซต์ให้บริการเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศใช้ชื่อ siamaid มีใบหน้าของจำเลยอยู่บนเว็บไซต์ จึงลองส่งอีเมลไปสอบถามเรื่องการโอนเงิน และมีคนตอบกลับมา เมื่อตรวจสอบ Mail Header ก็ทราบหมายเลขไอพีแอดเดรสของผู้ใช้งานอีเมล siam_aid เมื่อตรวจสอบกับผู้ให้บริการ คือ บริษัท ทีโอที พบว่า ไอพีแอดเดรสดังกล่าว มีผู้จดทะเบียนขอใช้งาน ชื่อ สิทธิศักดิ์

4) พ.ต.ท.อุดมวิทย์ หัวหน้าพนักงานสอบสวน ให้ข้อมูลต่อชั้นศาลว่า เคยสอบปากคำสิทธิศักดิ์แล้ว เป็นหลานของปิยะ ที่อยู่อาศัยบ้านเดียวกัน ยืนยันว่าจำเลยมีชื่อเล่นว่า จุ๊บ และมีอีกชื่อ คือ Vincent Wang สิทธิศักดิ์ยืนยันด้วยว่า จำเลยเป็นคนใช้อีเมล Vincent กับ siam_aid รวมถึงยังเคยสอบปากคำอดีตภรรยาของจำเลย ซึ่งให้การว่า จำเลยเคยพูดจาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้อดีตภรรยาของจำเลยติดเชื้อ HIV ซึ่งข้อความตามคำฟ้องที่ส่งทางอีเมลเมื่อปี 2551 มีเนื้อความส่วนหนึ่งกล่าวว่า ภรรยาของผู้เขียนข้อความติดเชื้อ HIV

ด้านฝ่ายจำเลย มีจำเลยเข้าเบิกความและนำสืบพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์อีก 1 ปาก ข้อต่อสู้ของจำเลย มีดังนี้

1) จำเลยไม่ได้เป็นผู้ส่งอีเมลเมื่อปี 2551 และข้อความเมื่อปี 2553 ตามฟ้อง อีเมล Vincent นั้นจำเลยไม่ได้ใช้ ส่วนอีเมล siam_aid จำเลยเคยใช้ และให้สิทธิศักดิ์นำไปใช้เล่นเกมส์ออนไลน์ พร้อมกับให้รหัสผ่าน การใช้อีเมลโดยทั่วไปจะเอาชื่อของผู้อื่นมาตั้งเป็นชื่ออีเมลก็ได้ และการส่งอีเมลจะเอาชื่อผู้อื่นมาลงท้ายอีเมลก็ได้

2) สิทธิศักดิ์เคยมีเรื่องบาดหมางกับจำเลย ทะเลาะกันจนอยู่บ้านเดียวกันไม่ได้ ส่วนอดีตภรรยาก็เคยทะเลาะกันมีปากเสียงถึงขั้นตบตี จนแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2552 พยานสองปากนี้จึงถือว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน รับฟังไม่ได้

3) ธนาคารกรุงเทพ ตรวจสอบหมายเลขไอพีแอดเดรสจากอีเมลที่ส่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ซึ่งไม่ใช่ข้อความที่จำเลยถูกฟ้อง แต่ธนาคารกรุงเทพกลับไม่ตรวจหาไอพีแอดเดรสของผู้ส่งข้อความตามวันเวลาที่ถูกฟ้องทั้งสองข้อความ ทั้งที่เป็นข้อมูลที่ธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้ให้บริการสามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก 

4) ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่าจำเลยส่งข้อความเมื่อปี 2553 เท่านั้น พนักงานสอบสวนไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการส่งอีเมลเมื่อปี 2551 แก่จำเลย จำเลยมารับทราบก็เมื่อถูกฟ้องต่อศาลแล้ว เมื่อไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหามาก่อน เท่ากับยังไม่เคยมีการสอบสวนจำเลยเรื่องการส่งอีเมลในปี 2551 จึงไม่อาจฟ้องจำเลยต่อศาลในการกระทำนี้ได้

 

พิจารณาลับสุดยอด ยึดโทรศัพท์ ล็อกประตู ห้ามคัดเอกสาร

เนื่องจากข้อความที่ปิยะถูกฟ้องว่าเป็นผู้ส่งในคดีนี้ มีลักษณะหยาบคายและรุนแรงมาก เพื่อไม่ให้ข้อความแพร่งพรายไปยังบุคคลภายนอก ศาลจึงสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าฟังการพิจารณาได้ ขณะที่ฝ่ายจำเลยแถลงต่อศาลแล้วว่า จะไม่ขอต่อสู้คดีในประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหาของข้อความ จะต่อสู้คดีเฉพาะเรื่องการพิสูจน์ตัวผู้ส่งข้อความเท่านั้น

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับทำคดีให้กับปิยะเล่าว่า ในวันนัดสืบพยานวันแรก ศาลสั่งให้ทนายความทุกคนปิดโทรศัพท์มือถือและนำไปฝากไว้กับเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ระหว่างการพิจารณาคดี พร้อมกับสั่งให้เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ล็อกประตูห้องเพื่อป้องกันคนภายนอกเปิดเข้ามาในห้องโดยไม่รู้ว่ากำลังพิจารณาคดีอะไรอยู่

นอกจากนี้ เมื่อทนายความขอถ่ายสำเนาคำให้การพยานในชั้นสอบสวน ศาลยังแจ้งกับทนายความว่า ในเอกสารคำให้การพยานจะมีข้อกล่าวหาในคดีนี้ และมีข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในทางไม่สมควรอยู่ด้วย จึงเกรงว่าหากให้ทนายจำเลยถ่ายสำเนาจะมีความเสี่ยงที่ข้อความดังกล่าวจะถูกเผยแพร่ต่อออกไป และอาจเข้าลักษณะการ “ไขข่าว” ทำให้ทนายความมีความผิดไปด้วย จึงยังขอไม่ให้คัดสำเนาในชั้นนี้ หากหลังการฟังคำพิพากษาแล้วทนายความต้องการจะได้หลักฐานเพื่อประกอบการอุทธรณ์ก็ให้มาขอตรวจสำนวนที่ศาลภายหลังได้

ปฏิกริยาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวที่ศาลมีต่อการพิจารณาคดีนี้ ซึ่งคดีข้อหามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวมากในสังคมไทย โดยเฉพาะภายใต้บรรยากาศการปกครองประเทศของรัฐบาล คสช. ที่มีการจับกุมและดำเนินคดีผู้คนด้วยข้อหานี้จำนวนมาก

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังเปิดเผยด้วยว่า ในระหว่างการสืบพยานปากพนักงานสอบสวน ศาลได้ถามพยานเองว่า คดีนี้ได้พิสูจน์เรื่องหมายเลขไอพีแอดเดรสจนเชื่อมโยงมาถึงตัวจำเลยอย่างไร เมื่อพนักงานสอบสวนตอบคำถามไม่ได้ ศาลได้สั่งพักการพิจารณาคดีประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้พยานทบทวนเอกสารและลำดับเหตุการณ์การสืบสวนสอบสวนคดีนี้ใหม่อีกครั้ง เพราะคดีนี้เป็นคดีสำคัญ แต่แม้จะพักการพิจารณาให้พยานทบทวนข้อเท็จจริงแล้ว พยานก็ยังเบิกความว่า ไม่มีการตรวจสอบหมายเลขไอพีแอดเดรสจนสามารถพิสูจน์มาถึงตัวจำเลยได้

 

คำพิพากษาศาลอาญา ลงโทษกรรมเดียว ให้จำคุก 8 ปี

วันที่ 10 ตุลาคม 2559 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา จากที่ปิยะถูกฟ้องว่ากระทำความผิด 4 กรรม ตามฟ้องข้อ 1.1-1.4 ศาลเห็นว่า พ.ต.ท.อุดมวิทย์ พนักงานสอบสวนตอบคำถามว่า ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามคำฟ้องข้อ 1.1 และ 1.2 ให้จำเลยทราบในชั้นสอบสวน สอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความว่า ทราบข้อกล่าวหานี้ครั้งแรกเมื่อถูกฟ้องที่ศาลนี้ เท่ากับมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นฟ้องตาม มาตรา 120 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหานี้

เนื้อหาที่เขียนในข้อความตามคำฟ้องข้อ 1.1 และ 1.3 มีลักษณะโจมตีมุ่งร้าย ทำให้เสียต่อพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ในเนื้อหามีข้อความว่า ภริยาป่วยด้วยโรคเอดส์ ลงชื่อว่า Vincent Wang (วินเซนต์ หวัง) และ “เพราะผมพยายามเมาเหล้าก่อนที่จะทำตามที่พวกมันบังคับเพื่อแลกกับชีวิตภรรยาผม” ลงชื่อ จุ๊บ (Vincent Wang) ซึ่งจำเลยก็รับว่าชื่อ วินเซนต์ หวัง นั้นจำเลยใช้ในวงการธุรกิจระหว่างประเทศ

แสดงให้เห็นได้ชัดว่า ผู้เขียนข้อความทั้งหมดนี้ตกอยู่ในห้วงอารมณ์จิตที่มีโมหะ ซึ่งผู้เขียนก็ชื่อวินเซนต์ หวัง เดียวกัน จึงเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำของบุคคลเดียวกัน ปกติคนที่ลุ่มหลงสุรายาเสพติดจนมีอาการมึนเมา มักกระทำการใดๆ ที่ขาดสติยั้งคิด ไม่คิดหน้าคิดหลังถึงผลดีผลร้ายที่จะตามมาภายหน้า เชื่อว่าผู้เขียนข้อความดังกล่าวมีความกล้าพอที่จะใช้นามแฝงของตนจริงๆ ซึ่ง พ.ต.ท.อุดมวิทย์ สอบถามอดีตภรรยาของจำเลยทราบว่าป่วยเป็นโรคเอดส์ ตรงกับที่เขียนลงในข้อความนั้น

สิทธิศักดิ์ หลานของจำเลยให้ปากคำกับตำรวจว่า จำเลยเป็นคนมีนิสัยชอบพูดคนเดียว อารมณ์หงุดหงิด ด่าบ่นไปเรื่อย สอดคล้องกับที่อดีตภรรยาให้การไว้ว่า ช่วงหลังจำเลยไม่ได้ทำงาน เริ่มเสพยาเสพติด ดื่มสุรา มีอารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย ทั้งเคยทะเลาะทำร้ายตบตีภรรยาถึงขั้นหมดสติไป เนื้อหาพยานหลักฐานโจทก์สอดรับกันดีมีน้ำหนักมาก เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวพันถึงเรื่องราวส่วนตัวของจำเลย ยากที่บุคคลอื่นจะล่วงรู้ได้ ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดมุ่งใส่ความให้ร้ายจำเลย จึงเชื่อได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเขียนข้อความดังกล่าวและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จตามคำฟ้องจริง

โจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏว่า ข้อความตามคำฟ้องข้อ 1.3 ที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น จำเลยได้เผยแพร่หรือส่งต่อไปให้บุคคลอื่น วันเวลาใด และใช้วิธีการอย่างไร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเผยแพร่หรือส่งต่อ ตามคำฟ้องข้อ 1.4 ได้ 

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุกจำเลย 8 ปี