เมื่อ “ผู้สังเกตการณ์” ถูกหมายเรียกฐานชุมนุมทางการเมือง เพราะไปบันทึกข้อมูล

31 สิงหาคม 2559 ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เรียกให้ผู้ต้องหา 6 คน มารับทราบข้อกล่าวหา ฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จากการจัดเวที “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยผู้ต้องหา 2 ใน 6 คนนี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม แต่ไปอยู่ในที่เกิดเหตุเพื่อสังเกตการณ์ในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เราจึงมาทำความรู้จักกับทั้งสองคนเพิ่มเติม

case

 

รู้จัก ดวงทิพย์-นีรนุช ฝ่ายข้อมูลศูนย์ทนายฯ ที่วันนี้ต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหา

ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ หรือ ‘มะฟาง’ อายุ 29 ปี ปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลภาคอีสาน ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เธอเป็นคนอีสานจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนมา 2-3 ปี ก่อนหน้านี้เคยทำงานหลากหลาย ทั้งงานบริษัทเอกชน และทำงานวิจัยประเด็นเกษตรอินทรีย์ แต่ด้วยความสนใจประเด็นสังคมการเมืองอยู่แล้ว เธอจึงถูกชักชวนให้ได้มาทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนภายใต้ยุครัฐบาล คสช. 

นีรนุช เนียมทรัพย์ หรือ ‘น้อง’ อายุ 47 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลภาคอีสานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอีกคนหนึ่ง พื้นเพเป็นคนจากจังหวัดลพบุรี แต่มาใช้ชีวิตอยู่จังหวัดมุกดาหาร ตั้งแต่เรียนจบมา นีรนุชก็ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรภาคประชาชน ทั้งในชุมชนแออัดคลองเตยและในภาคอีสานมาต่อเนื่อง หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 เธอได้มีบทบาทในการทำงานเก็บข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชน กับศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) และผันตัวเองไปเป็นเกษตรกรอยู่หลายปี ก่อนจะกลับมารับบทบาทบันทึกข้อมูลต่อในตำแหน่งปัจจุบัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 หลัง คสช.เข้ายึดอำนาจ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยนอกจากงานด้านกฎหมายที่เป็นภารกิจของทนายความแล้ว ยังมีงานด้านข้อมูลซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานข้อมูล 11 คน ประจำอยู่ในกรุงเทพมหานครภาคเหนือและภาคอีสาน ทำหน้าที่สังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การดำเนินคดีทางการเมือง โดยจะเผยแพร่เป็นข่าวหรือบทความทางเว็บไซต์ และสรุปเป็นรายงานนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป

ก่อนหน้านี้ ทั้งสองคนต้องติดตามบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสานมาแล้วหลายกรณี เช่น การพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น ในกรณีที่ชาวจังหวัดขอนแก่นชุมนุมคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งออกไปอยู่นอกเมือง ซึ่งเป็นคดีแรกที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายนี้, สังเกตการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกรณีการทำเหมืองแร่โปแตช ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งไปจัดในค่ายทหารและสร้างความกดดันให้ชาวบ้านที่จะแสดงความคิดเห็นคัดค้านการเปิดสัมปทานเหมืองแร่, การจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 26 คน ในคดี “ขอนแก่นโมเดล” ด้วยข้อหาครอบครองอาวุธสงครามและชุมนุมกันเกิน 5 คน ที่ศาลทหารขอนแก่น, สังเกตการณ์การพิจารณาคดีที่ชาวบ้าน 33 คน จากจังหวัดนครพนมถูกฟ้องข้อหาบุกรุกพื้นที่ส่วนที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น 

ดวงทิพย์และนีรนุช ทั้งสองคนทำงานในตำแหน่งฝ่ายข้อมูลกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมาประมาณ 2 ปี โดยเน้นเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในภาคอีสานในฐานะผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งสองคนได้รับหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา ฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ร่วมกับนักกิจกรรมอีกหลายคนที่เป็นผู้จัดกิจกรรม

 

เมื่อมหาลัยสั่งยกเลิกกิจกรรม ทหาร-ตำรวจเข้ากดดัน จึงต้องมีนักสังเกตการณ์อยู่ร่วมด้วย

ตามที่กลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy Movement – NDM) ภาคอีสาน ร่วมกับกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ (New Generation Citizen – NGC) วางแผนจัดงาน “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน” ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้ถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยนักศึกษาผู้จัดงานทำหนังสือขอใช้สถานที่บริเวณอาคารจตุรมุข คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนเเก่น เรียบร้อยแล้ว มีการเซ็นอนุญาตให้จัดกิจกรรมและจ่ายค่ามัดจำการใช้สถานที่แล้ว

ในคืนก่อนวันจัดงาน ระหว่างที่กลุ่มผู้จัดงานเข้าเตรียมสถานที่และเวที มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของมหาวิทยาลัย เข้ามาแจ้งว่า ทางคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นบอกให้ผู้จัดยุติการจัดกิจกรรม เนื่องจากกิจกรรมมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง อีกทั้งมีนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ประมาณ 50 คน มานั่งกดดันบริเวณใกล้ที่จัดงาน และขับรถวนหลายรอบ โดยขณะนั้นมีทั้งทหารและตำรวจ ร่วมสังเกตการณ์อยู่ด้วย 

นีรนุชซึ่งกำลังกินข้าวอยู่ได้ทราบข่าวจากเพื่อนนักข่าวที่บอกต่อกันมา จึงรีบเข้าไปดูสถานการณ์ที่คณะเกษตรศาสตร์ เพราะเห็นว่า เจ้าหน้าที่เข้ามาปฏิบัติการในช่วงเวลากลางคืน เกรงว่าอาจเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติขึ้นโดยที่ไม่มีใครรับรู้

ช่วงกลางคืนของวันที่ 30 กรกฎาคม 2559 รองคณะบดีคณะเกษตรศาสตร์เข้ามาแจ้งกับผู้จัดงานด้วยตัวเองว่าไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ และมีการตัดน้ำตัดไฟบริเวณอาคารที่จะใช้จัดงาน จนกระทั่งช่วงดึกมีทหารนอกเครื่องแบบเข้ามาแจ้งว่าไม่อนุญาตให้จัดงานอีกครั้ง และร้านโต๊ะจีนที่กลุ่มนักศึกษาติดต่อเช่าเก้าอี้มาใช้จัดงานก็ติดต่อมาขอคืนเก้าอี้ เนื่องจากมีตำรวจติดต่อไปกดดัน โดยนีรนุชเข้าไปแสดงตัวเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และอยู่ในบริเวณที่จัดกิจกรรมเพื่อทำหน้าที่สังเกตการณ์ขั้นตอนและวิธีการข่มขู่ปิดกั้นกิจกรรมตลอดทั้งคืน 

นีรนุชเชื่อว่า คืนนั้นมีนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมเตรียมงานอยู่ประมาณ 5-6 คน ขณะที่มีทั้งเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ทหาร และตำรวจ อยู่ในบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก การที่มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และมีนักข่าวอีกจำนวนหนึ่งอยู่ในสถานที่ดังกล่าวด้วย ช่วยให้คืนนั้นผ่านไปโดยไม่มีเหตุการณ์ความตึงเครียดหรือความรุนแรง

 

บทบาทของนักสังเกตการณ์ในวันที่กิจกรรมถูกบีบทุกทางให้ยุติ

จนกระทั่งเช้าวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 วันที่มีกำหนดจัดกิจกรรม ผู้จัดงานยืนยันเดินหน้าจัดกิจกรรมต่อไปท่ามกลางการปิดกั้นทุกวิถีทางโดยมีผู้มาเข้าร่วมงานจำนวนหนึ่ง แม้ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะตัดน้ำ-ไฟบริเวณที่จัดงาน เก้าอี้และเครื่องเสียงถูกร้านให้เช่าเอาคืนเพราะตำรวจกดดัน และในช่วงเช้าตำรวจยังเข้ารื้อฉากเวทีและยึดเอกสารที่ผู้จัดงานเตรียมไว้ด้วย 

ในช่วงสาย ขณะที่นีรนุชกลับไปพักผ่อนหลังอยู่ในพื้นที่มาตลอดทั้งคืน ดวงทิพย์จึงเดินทางเข้ามาสังเกตการณ์บริเวณพื้นที่จัดกิจกรรมแทน ดวงทิพย์เล่าว่า เธอเดินทางมาถึงในเวลาประมาณ 10:00 น. เพื่อเข้าไปดูว่าจะมีการใช้กำลังบังคับให้ปิดเวทีหรือไม่ หรือเจ้าหน้าที่จะใช้คำพูดข่มขู่คุกคามหรือไม่ จะมีการจับกุมตัวบุคคลไปที่ไหนหรือไม่ แต่เมื่อไปถึงเธอสังเกตเห็นว่า สถานการณ์คลี่คลายความตึงเครียดแล้ว เธอจึงทำหน้าที่เพียงพูดคุยกับผู้มาร่วมกิจกรรม และถ่ายรูปบรรยากาศโดยทั่วไป

ดวงทิพย์เล่าว่า วันนั้นเข้าไปสังเกตการณ์เหมือนที่ทำเป็นปกติ โดยที่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรม หรือแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่คนใดเลย บรรยากาศที่สังเกตเห็นในวันนั้น คือ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่บริเวณที่จัดงานเยอะมาก และจะคอยเข้ามากดดันคนจัดงานเรื่อยๆ โดยให้อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์เป็นคนออกหน้าคุยกับคนจัดงาน เธอจึงเดินดูรอบๆ ว่าเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอะไรหรือไม่ แต่ก็ไม่เห็นว่าเจ้าหน้าที่จะใช้กำลังหรือใช้ความรุนแรงอะไร

เมื่อกิจกรรมดำเนินไป นีรนุชก็กลับมาร่วมสังเกตการณ์ต่อในช่วงบ่าย จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.30 น. เมื่อตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น นำประกาศเข้ามาติดในบริเวณที่จัดกิจกรรมสั่งให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา 16.30 น. โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ นีรนุชซึ่งสังเกตการณ์อยู่จึงได้อธิบายกับกลุ่มผู้จัดกิจกรรมว่า ขั้นตอนตามกฎหมายหลังจากการติดประกาศแจ้งแล้ว ตำรวจก็ยังใช้กำลังเข้าบังคับทันทีไม่ได้ แต่ตำรวจจะใช้กำลังบังคับให้ออกจากสถานที่จัดกิจกรรมได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลก่อนแล้วเท่านั้น นอกจากนี้เธอยังช่วยอธิบายว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะที่ตำรวจอ้างถึงนั้นมีบทยกเว้นอยู่ว่า ไม่ใช้บังคับกับการชุมนุมในสถานศึกษา 

“เราเข้าไปสังเกตการณ์ เราก็พยายามโต้แย้งกระบวนการของตำรวจ-ทหาร ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย หรือไม่ให้มีการใช้กำลังกับผู้จัดกิจกรรมหรือชาวบ้าน เท่าที่เราจะทำได้ เราก็พยายามจะสื่อสารว่า เขามีสิทธิอะไรบ้าง” นีรนุชเล่าถึงบทบาทของตัวเอง

 

เป็นคนสังเกตการณ์ ทำไมถูกตั้งข้อหาไปด้วย

ดวงทิพย์เล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอเคยไปสังเกตการณ์กิจกรรม เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่นักศึกษากลุ่มดาวดินไปชูป้ายต้านรัฐประหารแล้วถูกจับ ในวันนั้นเธออยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุจึงถูกจับไปด้วย แต่เมื่อเธอแสดงตัวให้เจ้าหน้าที่ทราบตลอดว่า ทำงานข้อมูลให้กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อเจ้าหน้าที่รู้จักในฐานะที่มาทำงานเขาก็ปล่อยตัวพร้อมบันทึกประวัติไว้ และก็ยังมีอีกหลายครั้งที่เธอลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้วมีเจ้าหน้าที่เข้ามาซักถาม ซึ่งเธอก็อธิบายบทบาทหน้าที่ของตัวเองเช่นนี้มาตลอด ที่ผ่านมาเธอได้แสดงตัวอย่างเปิดเผยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้รู้จักตลอดมา

ดวงทิพย์มองว่า ในวันจัดกิจกรรมวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ตอนที่เธอไปอยู่หน้างานไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจที่มาในวันเกิดเหตุก็รู้จักเธออยู่แล้วว่าเป็นใคร และมาทำอะไร ทหารคนหนึ่งยังมาทักทายอยู่เลยว่าจะเลี้ยงกาแฟ จึงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าหน้าที่จะเข้าใจผิดเกี่ยวกับบทบาทของเธอในวันนั้น เพราะฉะนั้นเธอจึงเห็นว่า การที่เธอถูกตั้งข้อหาร่วมกับผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการจงใจกลั่นแกล้งคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน 

ส่วนสาเหตุที่ถูกตั้งข้อหาในครั้งนี้ ดวงทิพย์คิดว่า เป็นเพราะพวกเธอถูกเจ้าหน้าที่จับตาอย่างใกล้ชิดมาตลอดอยู่แล้ว และเหตุการณ์ล่าสุดที่อาจจะเป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจระหว่างกัน คือ ตอนที่เธอไปสังเกตการณ์การจัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “สิทธิเสรีภาพการแสดงออกในอีสาน” ที่โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล ซึ่งเธอบังเอิญไปถ่ายคลิปตอนที่ทหารพูดขู่คนจัดงานว่า จะดำเนินคดีกับคนที่พูดเรื่องการเมืองและเรื่องมาตรา 112 และนำคลิปไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งภายหลังทหารคนดังกล่าวออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยพูด และรู้สึกไม่พอใจมากที่ถูกถ่ายคลิปจังหวะนั้นไว้

You May Also Like
อ่าน

นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เดือนพฤษภาคม 2567

เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมสิบคดี แบ่งเป็นคำพิพากษาศาลชั้นต้นแปดคดี ศาลอุทธรณ์และฎีกาอย่างละหนึ่งคดี
อ่าน

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อของวอยซ์ทีวี หลังประกาศปิดฉาก 15 ปี

ย้อนเส้นทางเสรีภาพสื่อมวลชนของวอยซ์ทีวี ที่เรียกว่า อายุเกือบครึ่งหนึ่งของวอยซ์ทีวีต้องเผชิญกับการคุกคามและปิดกั้นเสรีภาพ