ทำความเข้าใจ “โทษ 7 ปี 30 เดือน” ของชญาภา

เปิดรายละเอียดคดีชญาภา 
“ศาลทหารพาตัวไปพิพากษาโดยไม่มีทนายความ” 
ให้ลงโทษตามมาตรา 112 จาก 2 โพสต์ ตามมาตรา 116 จาก 3 โพสต์ รวมจำคุก 19 ปี ลดเหลือ 7 ปี 30 เดือน
สำหรับรายละเอียดของคดีนี้ ดูได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/689
ในช่วงที่มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าอาจมีรัฐประหารซ้อนเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชญาภา อายุ 48 ปี อาชีพเป็นพนักงานบัญชีของบริษัทเอกชน ถูกจับกุมและจัดให้มีการแถลงข่าวการจับกุมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 จากการโพสต์ข่าวลือดังกล่าวบนเฟซบุ๊ก ทั้งที่เธอไม่ได้เป็นคนแรกและคนเดียวที่พูดถึงข่าวลือนี้ การจับกุมชญาภาจึงคล้ายเป็นการส่งสัญญาณว่าข่าวลือเรื่องรัฐประหารซ้อนต้องหยุดแพร่กระจายในทุกลักษณะ
ชญาภาถูกจับกุมด้วยอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 โดยไม่มีหมายจับ และถูกกักตัวไว้สอบสวน 7 วัน เพียงการโพสต์ข่าวลือกลับทำให้เธอถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 แต่หลังการสอบสวนและตรวจสอบเฟซบุ๊กอย่างละเอียด เธอถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 เพิ่มมาอีก ชญาภายื่นขอประกันตัวด้วยวงเงิน 400,000 บาท แต่ศาลไม่ให้ประกันตัว เธอจึงถูกคุมขังเรื่อยมาตั้งแต่ถูกจับ
หลังอัยการยื่นฟ้อง ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามขอถ่ายสำเนาคำฟ้องอยู่หลายครั้ง ตอนแรกศาลทหารไม่อนุญาตให้ทนายความถ่ายสำเนา โดยอ้างว่า ส่งให้จำเลยในเรือนจำแล้ว แต่ทนายความก็ยังติดตามขอถ่ายสำเนาอยู่จนศาลทหารอนุญาตเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558 หลังจากนั้นทนายความก็ได้ติดตามสอบถามวันนัดหมายการพิจารณาคดีมาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้รับแจ้งกำหนดนัด
จนกระทั่งคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่เรือนจำบอกกับชญาภาว่าต้องไปศาลทหารในวันรุ่งขึ้น แต่เธออยู่ในเรือนจำไม่สามารถติดต่อกับใครได้ เป็นเหตุให้เช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ชญาภาถูกนำตัวมาศาลเพียงลำพัง โดยไม่มีญาติและทนายความมาด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังไม่ได้ปรึกษาเรื่องคดีกับทนายความว่าควรจะให้การอย่างไร จึงบอกกับศาลว่าจะรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาทันที
(อ่านรายละเอียดการถูกพาตัวมาศาลโดยไม่มีทนายความได้ที่ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/12/15/chayapha/)
ทั้งนี้ ศาลพิพากษาให้ชญาภามีความผิด 5 กรรม โดยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1), (2) และ (5) จำนวน 2 กรรม ให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 112 ในฐานะบทกฎหมายที่หนักที่สุด กรรมละ 5 ปี รวมจำคุก 10 ปี ลดโทษลงครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกกรรมละ 2 ปี 6 เดือน รวม 4 ปี 12 เดือน
ส่วนอีก 3 กรรมเป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่น เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1), (2) และ (5) ให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 116 ในฐานะบทกฎหมายที่หนักที่สุด กรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 9 ปี ลดโทษลงครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวม 3 ปี 18 เดือน
รวมแล้วให้จำคุกจำเลย 7 ปี 30 เดือน และริบโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นของกลาง