ปมร้อนราชภักดิ์: เมื่อการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบความโปร่งใสของอุทยานราชภักดิ์นำไปสู่การตั้งข้อหาความมั่นคง

ความน่าสงสัยว่ามีการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์  เป็นประเด็นที่คนในสังคมพูดถึงอย่างกว้างขวางในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งกองทัพบกในฐานะผู้ดำเนินการจัดสร้าง ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ มีการแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการทุจริต และผู้ที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งเดินทางไปตรวจสอบการทุจริตในสถานที่จริง โดยจัดกิจกรรม ส่องกลโกงอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งในเวลาต่อมา มีคนจำนวนมาก ถูกควบคุมตัว ถูกจับกุม และถูกตั้งข้อหาจากการใช้เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์หรือทำกิจกรรมตรวจสอบความโปร่งใส
ในฐานะองค์กรรณรงค์ด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไอลอว์จึงเห็นความสำคัญที่จะต้องประมวลสถานการณ์การจับกุม คุกคาม รวมทั้งการตั้งข้อหาคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหว รวมทั้งผู้ใช้เฟซบุ๊กที่แชร์ข้อมูลภาพแผนผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์และวิจารณ์กองทัพบกตั้งแต่ช่วงปลายพฤศจิกายน- ธันวาคม 2558 เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกช่วงปลายปี 2558 ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
30 พฤศจิกายน 2558 จตุพร พรหมพันธุ์ และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถูกควบคุมตัวที่ด่านตรวจในจังหวัดสมุทรสาคร และถูกส่งตัวไปควบคุมต่อที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำของวันเดียวกัน  ทั้งสองถูกควบคุมตัวระหว่างที่จะเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์  เพื่อสักการะพระบรมรูปบูรพมหากษัตริย์ และตรวจสอบการทุจริตในสถานที่จริง
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็เข้าไปพูดคุยและคุมตัวแกนนำนปช.อีก 2 คน คือ สมหวัง อัสราษี และธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ ที่ร้านกาแฟภายในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ทั้งสองถูกเชิญตัวมาพูดคุยในกรุงเทพ และถูกขอความร่วมมือให้ยุติการเคลื่อนไหวในเชิงการเมืองทั้งหมดก่อนจะถูกปล่อยตัว
1 ธันวาคม 2558 ตำรวจสน.พระโขนงนำตัว จุฑาทิพย์ ที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องทุจริตก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ไปฝากขังที่ศาลทหาร โดยต่อมาศาลให้ประกันตัวด้วยเงินสด 100,000 บาท
7 ธันวาคม 2558 ระหว่างที่กลุ่มประชาธิปไตยศึกษากำลังเดินทางโดยรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ก็ถูกทหารและตำรวจสกัดกั้นการเดินทางที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง ก่อนจะควบคุมตัวผู้จัดและผู้เข้ากิจกรรมรวม 36 คน ไปสอบสวนที่พุทธมณฑลก่อนปล่อยตัวในวันเดียวกัน โดยก่อนการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ขอให้ผู้ถูกควบคุมตัวเซ็นข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็มีผู้ถูกควบคุมตัวบางส่วนปฏิเสธที่จะเซ็น
“นิว” สิรวิชญ์ ใช้โทรโข่งปราศรัยบนรถไฟ
8 ธันวาคม 2558 ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มประชาธิปไตยศึกษา โดย “นิว” สิรวิชญ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นการทำกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” ว่า วันนั้น (7 ธันวาคม) เจ้าหน้าที่พยายามขัดขวางไม่ให้ตนไปที่สถานีรถไฟถึง 3 ครั้ง ต่อมาแม้ตนและคณะจะโดยสารรถไฟได้ แต่รถไฟก็ถูกหยุดที่สถานีบ้านโป่ง เจ้าหน้าที่เรียกคนที่มาร่วมกิจกรรมออกไปทีละคนและตัดโบกี้ออกจากขบวนรถ “นิว” ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เมื่อมีมวลชนฝั่งตรงข้ามเข้ามา ก็ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่จะผ่อนคลายกับมวลชนกลุ่มนี้มากต่างจากพวกตน หลังถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ก็นำรถมารับนักกิจกรรมส่วนหนึ่งออกไป สำหรับพวกตนเมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวขึ้นรถก็ขับวกวนไปมา ก่อนจะพามากักตัวที่พุทธมณฑล
ในวันเดียวกัน วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีมีข้อน่าสงสัยว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก และพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม อาจจะทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
10 ธันวาคม 2558  เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองสมุทรปราการ จับกุมฐนกร ซึ่งเจ้าหน้าที่พบว่า ฐนกรโพสต์รูปแผนผังเปิดปมการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ต้องใช้ใบบัวปิด 5,920,000 ใบถึงจะปิดได้ หลังการจับกุม ฐนกรถูกควบคุมตัวไปที่สถานที่ไม่เปิดเผยแห่งหนึ่ง ก่อนที่พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามจะนำตัวเขาไปฝากขังที่ศาลทหาร เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 โดยตั้ง 3 ข้อหาหนัก ได้แก่ ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังพบว่าฐนกรกดไลค์และแชร์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง ข้อหาปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการแชร์ภาพเกี่ยวกับการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ฐนกรขอประกันตัวโดยใช้เงินสด 100,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ แต่ศาลไม่อนุญาต เนื่องจากกลัวหลบหนีคดี
ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเป็นทหาร 3 นายและตำรวจ 1 นาย เดินทางไปที่บ้านของฉัตรมงคล  หรือ “บอส” นักกิจกรรมที่เคยร่วมเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์กับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา แม่ของ “บอส” ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ลูกชายเคยถูกเรียกให้ไปรายงานตัวที่หน่วยทหารชั่วคราวที่ตั้งอยู่ในเขตบางมดหลายรอบ เจ้าหน้าที่ทหารกำหนดให้เขาต้องไปรายงานตัวเป็นประจำและสั่งไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่ต่อมามีกิจกรรมตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์เกิดขึ้น “บอส” ก็เข้าร่วมและไม่ได้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทหาร จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดการคุมตัวออกจากบ้าน โดย “บอส” ให้ข้อมูลภายหลังว่า เจ้าหน้าที่พาไปรับประทานอาหาร โดยระหว่างนั้นได้ยึดโทรศัพท์ของตนไว้
ขณะเดียวกัน เวลาประมาณ 14.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มประชาธิปไตยใหม่แถลงถึงกรณีการควบคุมตัวผู้เดินทางไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ โดยมีเจ้าหน้าระดับสูงเฝ้าสังเกตการณ์ อาทิ พันตำรวจเอก อรรถวิทย์ สายสืบ และตำรวจจากสน.ชนะสงคราม ซึ่งมาดูแลอยู่ห่างๆ ในชุดนอกเครื่องแบบ
11 ธันวาคม 2558 พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ เข้าแจ้งความกับ ตำรวจ สน.รถไฟธนบุรี ต่อ 11 นักกิจกรรม ส่องกลโกงอุทยานราชภักดิ์ ในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป การเข้าแจ้งความทำให้พนักงานสอบสวนมีหมายเรียกให้นักกิจกรรมทั้ง 11 เข้ารายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในเวลาต่อมา 
13 ธันวาคม 2558 ธเนตร นักกิจกรรมที่เคยร่วมเดินทางไปกับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษาในกิจกรรมตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ ถูกควบคุมตัวขณะรักษาตัวจากการป่วยที่โรงพยาบาลสิรินธร หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวไปไว้สถานที่ปิดลับเพื่อสอบสวน กระทั่งในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 จึงถูกนำตัวมาส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม เพื่อตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ในวันเดียวกันเขาถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหาร ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนจะให้ประกันตัวโดยต้องวางเงินประกัน 100,000 บาท
ธเนตรขณะถูกควบคุมตัวมาฝากขังต่อศาลทหาร
การวิจารณ์การทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และกองทัพบก นำไปสู่การตั้งข้อหายุงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับบุคคลอย่างน้อย 3 คน และการแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป 11 คน และมีอีกกว่า 40 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่กักตัวโดยในจำนวนนี้มีบางส่วนยอมเซ็นข้อตกลงยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ขณะที่ผู้ถูกควบคุมตัวอีกส่วนหนึ่งปฏิเสธที่จะเซ็น นอกจากนี้ก็มีบุคคลอย่างน้อย 2 คน คือธเนตรและฐนกร ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับโดยไม่แจ้งข้อกล่าวและไม่ให้พบญาติหรือทนาย โดยอาศัยอำนาจคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558