คดีมาตรา 112 ในบริบทของโลกที่สื่อสารผ่านเทคโนโลยี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ช่วยเพิ่มอำนาจการสื่อสารหรือการแสดงความเห็นให้กับคนธรรมดาโดยไม่ต้องง้อสื่อกระแสหลัก แต่ในขณะเดียวกัน มันก็นำมาซึ่งความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดีด้วย การแสดงความเห็นในประเด็นอ่อนไหว เช่น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อเปลี่ยนจากการพูดคุยระหว่างคนรู้จักในพื้นที่ส่วนตัวมาเป็นการพูดคุยในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมีผู้เห็นต่างอยู่ด้วย เช่น บนเฟซบุ๊ก ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกผู้เห็นต่างนำไปร้องทุกข์กล่าวโทษ
นอกจากนี้เมื่อโทรศัพท์มือถือถูกพัฒนาให้ทำได้มากกว่าใช้โทร แต่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สามารถบันทึกภาพและเสียงได้ ก็ทำให้ผู้ที่แสดงความเห็นในประเด็นอ่อนไหวต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น เพราะเคยมีกรณี ทั้งที่เจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์มือถือมาตรวจสอบประวัติการสนทนาส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งกรณีที่ผู้โดยสารใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกเสียงบทสนทนาระหว่างเธอคนขับแท็กซี่ที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกันมาใช้เป็นหลักฐานในการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดี 112 เกิดขึ้นมาแล้ว
จากการเก็บข้อมูลคดี 112 ตั้งแต่การรัฐประหารปี 57 จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2558 มีผู้ถูกกล่าวหาหรือถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 47 คน (ไม่รวมคดี112ที่เกิดจากการแอบอ้างสถาบันฯ) ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 37 คน ที่ถูกกล่าวหาหรือดำเนินคดีในความผิดที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ด้วยลักษณะความผิดที่หลากหลาย เช่น การโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก การเผยแพร่บทความหรือบทกวีบนเว็บไซต์ การทำคลิปเสียงเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ส่งต่อหรือแชร์เนื้อหา
ขณะเดียวกัน มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 3 คน คือ ทอมดันดี ภรณ์ทิพย์ และ ปติวัฒน์ ที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเป็นการกระทำออฟไลน์ไม่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต แต่ข้อมูลบนโลกออนไลน์เป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดี และมีอีก 1 ราย คือยุทธศักดิ์ที่การกระทำตามข้อกล่าวหาเป็นการกระทำออฟไลน์แต่มีการใช้เทคโนโลยีได้แก่ฟังก์ชันการอัดเสียงบนโทรศัพท์มือถือบันทึกหลักฐาน มีเพียง 6 ราย คือ โอภาส สมัคร ชาญวิทย์ ประจักษ์ชัย บัณฑิต และ จ่าประสิทธิ์ เท่านั้น ที่การกระทำและการหาหลักฐานดำเนินคดีไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ต อย่างมีนัยยะสำคัญ
คดี 112 ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ และคดี 112 ที่เกิดขึ้นในโลกออฟไลน์ แต่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง มีบางประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นสิ่งที่ผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกรวมทั้งผู้ใช้เทคโนโลยีทั่วๆไป น่าจะได้รับรู้ เพื่อระมัดระวังตัวไม่ให้ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ทั้งที่อาจไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด
“อย่าวางมือถือไว้ไกลตัว” บทเรียนจากคดีอำพล: อากงเอสเอ็มเอส
คดี 112 ของ อำพล หรือ “อากงเอสเอ็มเอส” เป็น คดีแรกๆ ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง อำพลถูกกล่าวหาว่าใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความสั้น 4 ข้อความไปยังโทรศัพท์ของสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการของอดีตนายกอภิสิทธิ์ เขาถูกตัดสินว่าทำความผิดตามมาตรา 112 รวม 4 กรรม และถูกลงโทษจำคุก 20 ปี อากงเสียชีวิตหลังรับโทษจำคุกได้ 6 เดือนด้วยโรคมะเร็ง
ศาลให้เหตุผลในคำพิพากษาคดีของอำพลตอนหนึ่งว่า แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความจากโทรศัพท์ของตนไปยังหมายเลขของสมเกียรติ แต่ก็เป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบได้เนื่องจากจำเลยย่อมต้องปกปิดการกระทำของตน จึงต้องอาศัยพยานแวดล้อม (ข้อมูลที่ระบุตำแหน่งว่าข้อความถูกส่งจากเสาสัญญาณใกล้บ้านจำเลย รวมทั้งหมายเลขอีมี่ที่ตรงกับโทรศัพท์ของจำเลยและจำเลยรับว่าใช้โทรศัพท์เครื่องดังกล่าวคนเดียว) มาพิจารณาประกอบ ซึ่งศาลเห็นว่าพยานแวดล้อมมีน้ำหนักพอรับฟังได้ว่าจำเลยทำผิดจริง
อำพลหรืออากงเอสเอ็มเอส (ประชาชาติธุรกิจ)
คดีนี้ ศาลได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า การกระทำผ่านเทคโนโลยียากที่จะหาประจักษ์พยานมายืนยันตัวผู้กระทำผิด ว่าเห็นจำเลยเป็นคนกดปุ่มส่งข้อความจริงๆ ศาลจึงให้น้ำหนักกับพยานแวดล้อม เช่น เครื่องที่ใช้ส่งข้อความ บริเวณที่ใช้ส่งข้อความ ซึ่งก็มีความน่ากังวลว่า หากมีคนอื่นที่อาจจะมีความขัดแย้งกันมาก่อนแอบใช้โทรศัพท์ของผู้ถูกกล่าวหาส่งข้อความ ก็เป็นไปได้ที่เขาอาจจะถูกพิพากษาว่ามีความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ัถูกกล่าวหาคนนั้น มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือเคยแสดงแนวคิดทางการเมืองของตนต่อสาธารณะ    
“มีภาพ/ข้อความหมิ่นฯ ในเครื่อง อาจผิดฐานพยายามหมิ่นฯ” บทเรียนจากคดีกิตติธน: เคนจิ
กิตติธน ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือที่รู้จักกันบนโลกไซเบอร์ว่า “เคนจิ” ถูกจับกุมและดำเนินคดีมาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความตอบกระทู้ในเว็บไซด์อินเทอร์เน็ตทูฟรีดอม (internet to freedom) กิตติธนให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาว่า มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ด้วยการโพสต์ข้อความ 2 กรรม ให้ลงโทษกรรมและ 5 ปี รวม 10 ปี นอกจากนี้ ในคอมพิวเตอร์ของจำเลยก็มีภาพและข้อความซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ อยู่ด้วย แต่ยังไม่ได้โพสเผยแพร่ออกไปเนื่องจากจำเลยถูกจับกุมและถูกยึดคอมพิวเตอร์ก่อนมีโอกาสลงมือ การกระทำของจำเลยเข้าข่ายเป็นการ “พยายามหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน
กิตติธน หรือ เคนจิ ผู้ถูกลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทและ “พยายาม” หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ
 
คดีนี้มีความน่าสนใจ เพราะเท่าที่มีการเก็บข้อมูล คดีของกิตติธนน่าจะเป็นคดีแรก ที่ศาลลงโทษบุคคลด้วยความผิดฐาน “พยายามหมิ่นฯ” ซึ่งในทางกฎหมายอาจเป็นที่ถกเถียงได้ว่า ด้วยหลักฐานเท่านี้ถือว่าเข้าข่าย “พยายาม” กระทำความผิดแล้วหรือยัง (ดูบทวิเคราะห์ อัยการ-ศาล สร้างนิยามใหม่ ความผิดฐาน “พยายามหมิ่นกษัตริย์ฯ”) สำหรับบุคคลทั่วไป คำพิพากษาคดีของกิตติธน อาจสร้างความน่ากังวลว่า หากผู้ใดมีข้อมูลใดๆ ที่ผิดกฎหมาย เช่น รูปภาพ หนังสือ หรือบทความ อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะได้มาโดยเจตนาหรือไม่(เช่นมีคนส่งต่อกันมาทางอีเมลหรือไลน์) ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีและถูกลงโทษในฐาน “พยายาม” ได้
เฟซบุ๊คเราแต่ใครไม่รู้เข้ามาพิมพ์: บทเรียนจากคดีจารุวรรณ 
จารุวรรณสาวโรงงานชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ กลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคือเมื่อมีผู้ไปพบว่าเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อและรูปของเธอโพสข้อความและภาพที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ มีสื่อบางสำนักลงข่าวของเธอพร้อมทั้งเปิดเผยที่อยู่จนญาติของจารุวรรณรู้สึกไม่สบายใจ 
จารุวรรณ ขณะมารอรับอานนท์ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จารุวรรณและผู้ต้องหาอีก 2 คนได้รับการปล่อยต่อเพราะอัยการยังไม่มีคำสั่งภายใน 84 วัน
เมื่อทราบข่าว จารุวรรณก็รีบให้ญาติติดต่อพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งว่า เฟซบุ๊กของเธอถูกบุคคลอื่นเข้าถึง เพราะรหัสที่ใช้เป็นเบอร์โทรศัพท์ของเธอ และเธอเองก็มีปัญหากับเพื่อนของแฟนที่ชื่อชาติชาย ซึ่งมาแอบชอบเธอแต่เธอไม่สนใจ จึงสงสัยอาจเป็นผู้เข้าไปใช้เฟซบุ๊กของเธอโพสต์ข้อความเพื่อกลั่นแกล้ง จากการซัดทอด ชาติชายจึงถูกจับกุม ขณะที่อานนท์แฟนของจารุวรรณก็ถูกควบคุมตัวด้วย ตามมาตรา 112 เช่นเดียวกับจารุวรรณ
หลังถูกควบคุมตัวในเรือนจำได้ 85 วัน จารุวรรณ ชาติชาย และอานนท์ ได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากเมื่อครบกำหนดการฝากขัง 84 วัน ซึ่งเป็นระยะเวลาสูงสุดที่มีอำนาจควบคุมตัวได้ อัยการทหารยังไม่มีคำสั่งฟ้องคดี 
คดีของจารุวรรณและพวกอีกสองคนสร้างความน่ากังวลใจอย่างน้อย 2 ประการสำหรับผู้ใช้เฟซบุ๊ก ประการแรกเกี่ยวกับการตั้งรหัสผ่าน ผู้ใช้เฟซบุ๊กหรืออินเทอร์เน็ตหลายคนที่อาจจะไม่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางเทคโนโลยี และมักตั้งรหัสผ่านเฟซบุ๊กหรือบัญชีออนไลน์อื่นง่ายๆ เพื่อให้สะดวกแก่การจำ เช่น ใช้วันเกิดหรือเบอร์โทรศัพท์ และประการที่ 2 ภายใต้สถานการณ์ที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯเป็๋นประเด็นอ่อนไหวที่เจ้าหน้าที่มักจะ “จับก่อนถามทีหลัง” รวมทั้งศาลก็มีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้ฝากขังและไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว หากผู้ใช้เฟซบุ๊กคนใดถูกกลั่นแกล้ง ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกจับและนำตัวไปฝากขังทั้งที่หลักฐานอาจจะอ่อน หากโชคดีก็อาจจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อครบ 84 วัน เพราะอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องภายในเวลาที่กำหนด แต่หากโชคร้าย อัยการสั่งฟ้อง ก็อาจจะถูกคุมขังจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา   
ไม่มีความเป็นส่วนตัว ในการสื่อสารแบบ “ส่วนตัว” บนโลกออนไลน์
การซุบซิบนินทา หรือการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่สาม น่าจะเป็นเรื่องปกติสำหรับมนุษย์ รวมทั้งในสังคมไทย หากไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง การซุบซิบนินทาถึงบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 112 ก็จะเป็นเรื่องที่พูดแล้วผ่านเลยไป ยากที่จะรื้อฟื้นมาร้องทุกข์ดำเนินคดีกัน เพราะผู้ที่สนทนากันต้องสามารถไว้วางใจกันได้ในระดับหนึ่ง เว้นแต่มีบุคคลภายนอกมาแอบได้ยิน หรือผู้ร่วมสนทนาเกิดผิดใจกันแล้วนำไปร้องทุกข์ ซึ่งคงจะไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก 
แต่เมื่อการสนทนาในลักษณะดังกล่าวถูกกระทำผ่านเทคโนโลยี การสื่อสารของคนสองคนหรือคนในกลุ่ม ที่แม้จะทำเป็นการส่วนตัวและ ไม่มีเจตนาเผยแพร่ต่อสาธารณะ ก็จะไม่มีความปลอดภัยและไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป เพราะเมื่อใช้เทคโนโลยีในการส่งผ่านข้อมูล อย่างน้อยๆ ข้อมูลเหล่านั้นจะต้องถูกบันทึกไว้ใน 1)อุปกรณ์ของผู้ส่ง 2)อุปกรณ์ของผู้รับ 3)ที่เก็บข้อมูลของผู้ให้บริการ และข้อมูลยังต้องเดินทางผ่านตัวกลางที่หลากหลาย ซึ่งรัฐและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีโอกาสไม่น้อยที่จะเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารแบบส่วนตัวได้
ที่ผ่านมามีคดี 112 อย่างน้อย 2 คดี ได้แก่คดีของ ณัฐ และ “ธเนศ” ที่จำเลย ถูกกล่าวหาว่าทำความผิด ด้วยการส่งอีเมล ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายผิดมาตรา 112 ไปหา เอมิลิโอ เอสเตบัน ที่เป็นผู้ดูแลบล็อก สต็อป เลสมาเจส  (Stop Lese Majeste) กรณีของ”ธเนศ” สิ่งที่ทำให้เขาถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 คือการส่งลิ้งค์ของเว็บไซด์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายตามมาตรา 112 ไปหนึ่งลิงค์ แต่ไม่ได้เป็นผู้เขียนข้อความที่ผิดกฎหมายขึ้นด้วยตนเอง    
นอกจากการดำเนินคดีจากการเข้าถึงการสื่อสารด้วยอีเมลแล้ว กล่องข้อความส่วนตัว (chat boxหรือ messenger) ก็ช่องอีกช่องทางสื่อสาร ที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าถึง และนำมาใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีบุคคล ที่ผ่านมามีคดี112ของ ชโย ที่เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า จำเลยส่งภาพและข้อความที่เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ไปถึงบุคคลอื่นผ่านระบบchat box 
การสื่อสารแบบส่วนตัวผ่านไลน์ (Line)ได้รับความนิยมมากอีก และดูจะมีความปลอดภัยเพราะบริษัทแม่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ยากที่ฝ่ายความมั่นคงจะเข้าถึงข้อมูล แต่เมื่อฝ่ายความมั่นคงใช้วิธีจับกุมและยึดอุปกรณ์สื่อสาร และ “ขอ” ให้ผู้ถูกควบคุมตัวบอกรหัสการเข้าถึง การสื่อสารแบบเป็นส่วนตัวผ่านไลน์จึงอาจไม่ใช่การสื่อสารที่ปลอดภัยเสมอไป 
ณัฐฏธิดา หรือแหวน พยาบาลอาสา ประจักษ์พยานคนสำคัญในคดีสลายการชุมนุมปี 53 ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 หลังเจ้าหน้าที่ตรวจตรวจดูบทสนทนาในกลุ่มไลน์ของกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่าก่อเหตุปาระเบิดศาลอาญาซึ่งมีแหวนอยู่ในนั้นด้วย และพบว่ามีข้อความที่อาจเข้าข่ายความผิด ด้านทนายวิญญัติ จากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) เปิดเผยว่า ข้อความที่ถูกนำมากล่าวหา เขียนโดยบุคคลที่สาม ซึ่งแหวนจับภาพหน้าจอมาเพื่อตอบกลับผู้เขียนว่าทำไมจึงเขียนเช่นนั้น แต่เจ้าหน้าที่กลับนำภาพดังกล่าวมาใช้ดำเนินคดีแหวน 
การใช้เทคโนโลยีบันทึกหลักฐาน หรือใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดี 112
มีคดี112 จำนวนหนึ่งที่การกระทำตามข้อกล่าวหา โดยตัวของมันเองไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่มีการใช้เทคโนโลยีเลย เช่น การพูด หรือ การแสดงละคร แต่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้บันทึกหลักฐาน หรือใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี เช่น คดีของ ยุทธศักดิ์ คนขับแท็กซี่ คดีของปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ (คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า) และธคดีของธานัท หรือ “ทอม ดันดี”
เมื่อโทรศัพท์ทำได้มากกว่าโทรเข้าโทรออก – คลิปบทสนทนาที่อัดด้วยมือถือถูกใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีคนขับแท็กซี่
ยุทธศักดิ์เป็นคนขับแท็กซี่ซึ่งสนใจการเมืองอยู่บ้าง แต่ไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองเนื่องจากต้องประกอบอาชีพ ยุทธศักดิ์ก็เหมือนกับเพื่อนร่วมอาชีพของเขาที่มักจะสนทนากับผู้โดยสารที่ว่าจ้าง ในช่วงเวลาปกติ บทสนทนาคงไม่พ้นเรื่องดินฟ้าอากาศหรือสภาพการจราจร แต่ในช่วงเดือนมกราคม 2557 ที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความตึงเครียด และมีการชุมนุมของกลุ่มกปปส บทสนทนาจึงอยู่ที่เรื่องของการเมือง 
เมื่อโทรศัพท์มือถือสามารถใช้อัดเสียและถ่ายภาพได้ บนสนทนาส่วนตัวก็อาจไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป
เมื่อวันหนึ่ง ยุทธศักดิ์เจอคู่สนทนาที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ผู้โดยสารแอบใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกเสียงสนทนาของตนเองกับยุทธศักดิ์ไว้ และนำไปใช้เป็นหลักฐานร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ยุทธศักดิ์ถูกจับกุมดำเนินคดีหลังการรัฐประหารและถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน คดีของยุทธศักดิ์น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้บทสนทนาระหว่างคนสองคนในพื้นที่ส่วนตัวอย่างในรถ ไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไป
คลิปบนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี: คนดูยิ่งเยอะ ความเสี่ยงยิ่งมาก
ตั้งแต่ปี 2548 สถานการณ์ทางการเมืองไทยเริ่มทวีความร้อนแรง มีการจัดชุมนุมใหญ่ หรือจัดสัมนาประเด็นทางการเมืองบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่จัดในกรุงเทพ เทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้ผู้จัดเริ่มถ่ายทอดสดกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางเคเบิลทีวี ต่อมาก็มีการถ่ายทอดผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาที่จัดงานรับชมได้ ขณะเดียวกันก็มีการบันทึกวิดีโองานต่างๆอัพโหลดขึ้นบนเว็บไซด์ยูทูปหรือเว็บฝากไฟล์อื่นๆ ทำให้คนรับชมย้อนหลังได้ด้วย
การอัพโหลดคลิปการปราศรัยระหว่างการชุมนุมทางการเมือง หรือกิจกรรมเสวนาต่างๆ ลงบนอินเทอร์เน็ต ทางหนึ่งทำให้ผู้สนใจประเด็นเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงให้กับคนที่แสดงความเห็นด้วย เพราะคลิปเหล่านี้อาจถูกใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้
   
งานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเดือนตุลาคม ปี 2556 มีการถ่ายทอด และมีการอัพโหลดวิดีโอกิจกรรมต่างๆ ในงานขึ้นบนยูทูปด้วย ต่อมามีคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า เนื้อหา ละครเวที “เจ้าสาวหมาป่า” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงาน เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จึงมีการดาวน์โหลดคลิปละครเวทีดังกล่าวลงแผ่นซีดีและนัดหมายกลุ่มคนที่เห็นด้วยให้ให้แผ่นซีดีเป็นหลักฐานไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจต่างๆ พร้อมกัน ซึ่งปรากฎว่ามีการไปร้องทุกข์ต่อ สถานีตำรวจ 13 แห่ง ภายหลังการรัฐประหารมีการจับกุมและดำเนินคดีกับภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานละครเวที
ภาพลายเส้นแสดงบรรยากาศการอ่านคำพิพากษาคดีเจ้าสาวหมาป่า คดีที่เกิดขึ้นเพราะมีกลุ่มคนนำคลิปวิดีโอไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจพร้อมกัน 13 สภานี
นอกจากกรณีของกรณีของละครเวทีเจ้าสาวหมาป่าแล้ว คดีของธานัท หรือ ทอม ดันดี ก็มีการใช้คลิปที่อยู่บนโลกออนไลน์มาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีด้วยเช่นกัน 
ทอม ดันดี เป็นนักแสดงและนักกิจกรรมเสื้อแดงคนสำคัญ ก่อนการรัฐประหาร ทอมมักปรากฎตัวและขึ้นปราศรัยบนเวทีย่อยของคนเสื้อแดง หลายครั้ง การปราศรัยถูกบันทึกและอัพโหลดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต หลังการรัฐประหารทอมถูกเรียกรายงานตัว และถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เพราะคลิปการปราศรัยของเขา 2 คลิปเข้าข่ายผิดกฎหมาย คดีของทอมเทคโนโลยีมีนัยยะสำคัญ เพราะทำให้ทอมต้องขึ้นศาลทหาร การปราศรัยของเขาเกิดก่อนการประกาศเขตอำนาจศาลทหารเหนือคดี112 ของพลเรือน แต่เนื่องจากคลิปของเขาถูกพบและยังเข้าถึงได้หลังมีประกาศดังกล่าว อัยการทหารจึงถือว่าเป็นความผิดต่อเนื่องและอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ว่า ธานัทรับรู้หรือยินยอมให้มีการนำคลิปดังกล่าวขึ้นบนอินเทอร์เน็ตหรือไม่       
บทส่งท้าย: เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต เป็นทั้งเครื่องขยายเสียงและเครื่องเก็บเสียง
ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ต และ สมาร์ทโฟน กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนจำนวนไม่น้อย จากการสำรวจ “การมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2557” ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ  พบว่า ในจำนวนประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปประมาณ 62.3 ล้านคน มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 23.8 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ต 21.7 ล้านคน และใช้โทรศัพท์มือถือ 48.1 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่แสดงความคิดเห็นต่างๆ ผ่านอุปกรณ์สื่อสารหรืออินเทอร์เน็ต ในทางหนึ่ง อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัย เป็นเสมือนกระบอกเสียงที่ช่วยส่งความคิดของผู้ใช้ไปพื้นที่สู่สาธารณะโดยไม่ต้องง้อสื่อกระแสหลัก 
แต่จากการที่ศาลวางบรรทัดฐานไว้ว่า จะให้น้ำหนักกับพยานแวดล้อมในคดี112 ที่มีเทคโนโลยีเกี่ยวข้อง ทำให้จำเลยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้ยากขึ้น ประกอบกับการที่เจ้าหน้าที่เลือกจำกัดอิสระภาพผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 โดยไม่ได้พิจารณาถึงความหนักแน่นของหลักฐานมากนัก ก็อาจเพิ่มแรงจูงใจให้คนใช้มาตรา 112 มากลั่นแกล้งกันผ่านเทคโนโลยี เพราะผู้ถูกกล่าวหาจะพิสูจน์ตัวเองได้ยาก หรือแม้จะทำได้แต่ก็ต้องสูญเสียอิสระภาพไปพักใหญ่ ขณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงทางเทคนิคที่การสื่อสารผ่านเทคโนโลยี อาจมี “แขกไม่ได้รับเชิญ” อยู่กลางทาง ก็อาจทำให้เรื่องที่เคยซุบซิบนินทาแล้วผ่านไป ถูกส่งต่อและบันทึกไว้อย่างเป็นระบบเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้

Thumbnail จาก The Tech Journal