บันทึกเมืองไทยใต้กฎอัยการศึก: จะจัดงานเสวนา-กิจกรรมสาธารณะ #ขออนุญาตหรือยัง คะ/ครับ

หลังการยึดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบาย “คืนความสุข” ให้คนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองของหลายฝ่ายซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน กฎอัยการศึกและประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จึงถูกนำมาใช้เพื่อคืนความสงบสุขให้ประชาชน 
กฎอัยการศึกและประกาศ คสช. ไม่ได้นำมาใช้ควบคุมการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น งานเสวนา งานแถลงข่าว หรือแม้แต่งานแสดงศิลปะก็ถูกห้ามไปด้วย ผู้ที่รักในการแลกเปลี่ยนความรู้และสังสรรค์กับผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันจึงไม่น่าจะมีความสุขนักในช่วงนี้   
จากการเก็บข้อมูล ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดยไอลอว์ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม2557 – 28 กุมภาพันธ์ 2558 มีการปิดกั้นกิจกรรมและงานเสวนาอย่างน้อย 52 ครั้ง แบ่งเป็นประเด็นการเมือง 16 ครั้ง ประเด็นที่ดินและสิทธิชุมชน 9 ครั้ง ประเด็นสิทธิเสรีภาพ 7 ครั้ง ประเด็นการปฏิรูปพลังงาน 4 ครั้ง ประเด็นสิ่งแวดล้อม 3 ครั้ง ประเด็นการเมืองต่างประเทศ 3 ครั้ง ประเด็นการศึกษา 2 ครั้ง ประเด็นจังหวัดจัดการตนเอง 2 ครั้ง และประเด็นอื่นๆ 4 ครั้ง
ไม่ได้ห้ามนะ แค่ “ขอความร่วมมือ”
การปิดกั้นกิจกรรมสาธารณะครั้งแรกที่ทางไอลอว์เก็บข้อมูลได้ คือ การงดฉายภาพยนตร์เรื่อง 1984 ซึ่งจัดโดยกลุ่ม “ปันยามูฟวี่คลับ” ที่แสงดีแกลลอรี จังหวัดเชียงใหม่ ที่วางแผนจะจัดงานในวันที่ 14 มิถุนายน 2557 โดยผู้จัดกิจกรรมถูกเรียกเข้าไปทำความเข้าใจในค่ายทหาร ขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามเรื่องลิขสิทธิ์ของภาพยนตร์กับเจ้าของสถานที่
หลังจากนั้นการแทรกแซงงานเสวนา-กิจกรรมสาธารณะก็เกิดขึ้นเรื่อยมา 
กิจกรรมที่มีลักษณะเป็นงานเสวนาหรือแถลงข่าว เจ้าหน้าที่มัก “ขอความร่วมมือ” ด้วยการ โทรศัพท์ ส่งจดหมาย รวมทั้งเดินทางมาพูดคุยกับผู้จัดงานให้ยกเลิกงานหรือสร้างเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ขอให้เปลี่ยนตัววิทยากร หรือ งดพูดบางประเด็น ซึ่งเจ้าหน้าที่มักจะติดต่อเข้ามาก่อนหน้าวันจัดงานเพียง 2-3 วัน 
สำหรับกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการชุมนุมหรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มักมีการจับกุมผู้ร่วมกิจกรรมในระหว่างหรือหลังทำกิจกรรมเพื่อปรับทัศนคติ ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนถูกดำเนินคดีหลังถูกจับกุม 
เหตุผลในการห้ามจัดหรือการแทรกแซงกิจกรรมของเจ้าหน้าที่มีเพียงข้อเดียวเท่านั้นคือ “ความมั่นคงและสงบเรียบร้อย”
จากการพูดคุยกับผู้จัดงานที่เคยถูกเจ้าหน้าที่แทรกแซงการจัดกิจกรรมพบว่า คำถามที่เจ้าหน้าที่มักถามผู้จัดงานคือ “งานนี้ทำหนังสือขออนุญาตหรือยังคะ/ครับ” หลังจากนั้นผู้จัดต้องทำหนังสือขออนุญาตเพื่อ “รอการอนุมัติ” จาก คสช. ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ เช่น เวทีเสาร์ถกแถลงครั้งที่ 4 : “ระบบรัฐสภาแบบไหน…ความหวังประชาธิปไตยไทย” ซึ่งจัดโดยสถาบันสิทธิมนุษยชนสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องยกเลิกเพราะไม่มีคำตอบจาก คสช. ว่าอนุญาตให้จัดหรือไม่
#ไม่มีงานทอล์คโชว์ภายใต้ท๊อปบูท #ไม่มีเสรีภาพภายใต้กฎอัยการศึก
งานทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต “ผืนดินเรา ที่ดินใคร” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการรณรงค์กฎหมาย 4 ฉบับ มีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557 แต่สุดท้ายต้องยกเลิก เนื่องจากก่อนวันงาน 4 วัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโทรศัพท์มาขอความร่วมมือให้ผู้จัด “เลื่อน” การจัดงานออกไปก่อน
ปกรณ์ อารีกุล หรือ แมน ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์ของงานเล่าถึงการขัดขวางการจัดกิจกรรมดังกล่าวว่า ทหารเกรงว่ากิจกรรมนี้อาจเป็นการชุมนุมทางการเมือง และขอให้ถอดชื่อ ส.ศิวลักษณ์หนึ่งในวิทยากรของงานนี้ออกไป แต่ผู้จัดงานไม่ยอมเปลี่ยนตัววิทยากร เนื่องจากได้ทำการประชาสัมพันธ์จนเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปแล้ว
“ถ้าถอดไม่ได้ก็คงจัดไม่ได้ และถ้ายังดึงดันจะจัดก็อาจมีการเอารถทหารมาปิดกั้นทางเข้าออกงาน” แมนเล่าว่าทหารตอบกลับมาแบบนี้
ตอนนั้นทางผู้จัดเข้าใจเหตุผลของเจ้าหน้าที่ และคิดว่าจะต้องจัดงานแถลงข่าวเพื่อสื่อสารกับประชาชนว่าทำไมจึงจัดงานดังกล่าวขึ้นไม่ได้ งานแถลงข่าว “ไม่มีงานทอล์กโชว์ภายใต้ท๊อปบูท” จึงเกิดขึ้นแทนที่งานทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต “ผืนดินเรา ที่ดินใคร” แต่สุดท้ายงานแถลงข่าวก็จบลงด้วยการปรับทัศนคติทีมงาน
“ทหารเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้ละเมิดสิทธิเรา เขาไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงบอกกับสื่อว่าถูกแทรกแซงและละเมิดสิทธิ การที่เราถูกขอให้ตัดวิทยากรบางคนออก นั่นคือการละเมิดแล้ว แทรกแซงแล้ว ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ ใครจะพูดอะไรก็ได้ แต่พอเราอธิบายให้ทหารฟังแบบนี้ เขาก็บอกว่า หยุด! คุณไม่ต้องพูด ถือว่าเราคุยกันไม่รู้เรื่อง” แมนเล่าถึงบทสนทนาระหว่างตนเองกับเจ้าหน้าที่ระหว่างถูกปรับทัศนคติ
จัดไม่ได้เพราะวิทยากร #ผมนี่อึ้งไปเลย
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารแทรกแซงการทำกิจกรรม คือ วิทยากรและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ
การขอให้ถอดหรือเปลี่ยนตัววิทยากรบางคนไม่ได้เกิดขึ้นกับกรณีงานทอล์คโชว์-คอนเสิร์ต “ผืนดินเรา ที่ดินใคร” เท่านั้น หลังรัฐประหารมีอย่างน้อย 5 กิจกรรมที่ทหารแสดงความกังวลเรื่องวิทยากร เช่น งานเสวนา “ที่ดิน เหลื่อมล้ำ ภาษี: ก้าวที่ต้องร่วมเลือก” ซึ่งจัดที่ห้องสมุด เดอะ รีดดิ้งรูม ไม่สามารถจัดได้เนื่องจากมี กรณ์ จาติกวณิช เป็นหนึ่งในวิทยากร ซึ่งทหารเกรงว่า อาจมีการพาดพิงถึงรัฐบาลปัจจุบัน 
มีบางงานที่ผู้จัดยอมเปลี่ยนตัววิทยากรเพื่อให้กิจกรรมนั้นดำเนินต่อไปได้ เช่น เสวนา “การปฏิรูปทางการเมือง เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม” ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หลังผู้จัดคุยกับทหารก็ได้ข้อสรุปว่า จะเชิญสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติมาร่วมเป็นวิทยากรด้วย
สำหรับการปิดกั้นเรื่องเนื้อหาพบว่า กิจกรรมส่วนใหญ่ถูกทหารแทรกแซงเพราะมีประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ เช่น กิจกรรมรับบริจาคปากกาดินสอให้กับนักเรียนชนบท เพื่อส่งเสริมสิทธิทางการศึกษาของเด็กเนื่องในวันสิทธิมนุษยชน จัดโดยกลุ่ม We Watch งาน “สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนไทยในยุคป-ะช-ธิ-ไ-ย” โดยชุมนุม Paradoxocracyมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น
เมื่อขอให้เลื่อนจัดกิจกรรมไม่ได้ ก็ขอมาพูดด้วยแล้วกัน
ข้อสังเกตประการหนึ่งจากการเก็บข้อมูลการปิดกั้น-แทรกแซงงานเสวนา-กิจกรรมสาธารณะพบว่า ในระยะหลังเจ้าหน้าที่เริ่มใช้รูปแบบการขอความร่วมมือที่ประนีประนอมมากขึ้น โดยอนุญาตให้จัดงานได้ แต่มีการสร้างเงื่อนไขเพิ่ม เช่น ขอเข้ามาสังเกตการณ์และบันทึกวีดีโอระหว่างการจัดกิจกรรม ขอให้ปรับเปลี่ยนเนื้อหางาน 
การแทรกแซงกิจกรรมในลักษณะนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นงานประชุมภายในเพื่อพูดคุยเรื่องคดีระหว่างทนายกับชาวบ้านที่จะฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ในจังหวัดอุดรธานี โดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจขอเข้าฟังและขอเอกสารประกอบการประชุมไปด้วย
การแทรกแซงงานเสวนาที่เป็นข่าวฮือฮาทั้งในและต่างประเทศ คือ งานเสวนาที่จัดโดยห้องสมุดสันติประชาธรรม เรื่อง “สิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารขอร่วมเป็นวิทยากร และมีการบันทึกวีดีโอการเสวนาตลอดงาน
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หรือ แฟรงก์ หนึ่งในกลุ่มผู้จัดงานเสวนาเล่าว่า ในวันงาน มีเจ้าหน้าที่ทหารมาที่สถานที่จัดงานเป็นคันรถโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เข้ามาคุยกับผู้จัดงานและขอเข้ามาเป็นวิทยากรด้วย
อย่างไรก็ดี แฟรงก์แสดงความเห็นต่อการกระทำของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ว่า “ผมโอเค ไม่มาปิดกั้นงานเสวนาก็ดีแล้ว”
“ภายใต้สถานการณ์ที่อยากให้เกิดการปรองดอง รัฐจะต้องเปิดพื้นที่ให้คนมาฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และไม่ควรทำให้การจัดงานเสวนาเป็นเรื่องยุ่งยากด้วยการบังคับให้ทำ “หนังสือขออนุญาต” หากทหารต้องการเข้ามามีส่วนร่วมรับฟังและแสดงความเห็นกับประชาชนก็ย่อมได้ แต่อย่าทำให้ขั้นตอนการจัดกิจกรรมเยอะเกินไปด้วยการทำหนังสือขออนุญาต” เนติวิทย์แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้
เมื่อศิลปะกลายเป็นสิ่งต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง…ก็เชิญเข้ามาดูด้วยเลย
กิจกรรมที่ถูกแทรกแซงโดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีเพียงงานเสวนา การเดินขบวน หรือการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ภายใต้กฎอัยการศึก การจัดกิจกรรมสาธารณะในรูปแบบการแข่งกีฬาประเพณี หรือการแสดงงานศิลปะ ก็ถูกแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่เช่นกัน
ละครเวทีเรื่อง “บางละเมิด” ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 22 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2558 มีทหารเข้ามาร่วมชมการแสดงทุกรอบ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ หรือ กอล์ฟ นักแสดงเล่าว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม ซึ่งเป็นวันแสดงละครรอบสื่อมวลชน มีทหารโทรศัพท์มาพูดคุยกับโปรดิวเซอร์และได้ข้อสรุปว่า ทางทีมงานต้องทำหนังสือขออนุญาตเพื่อรอการอนุมัติ แต่เนื่องจากวันนั้นต้องทำการแสดงรอบสื่อมวลชนแล้ว จึงขอทำการแสดงก่อนแล้วจะทำหนังสือขออนุญาตตามไปทีหลัง
กอล์ฟบอกว่า “การเชิญเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานแสดง” เป็นความตั้งใจของตนเอง เพราะมั่นใจว่าศิลปะไม่เคยทำร้ายใครและเนื้อหาที่พูดถึงในละครเรื่องนี้คือเรื่องเสรีภาพซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นสากล 
“พื้นที่ทางศิลปะเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามีประสบการณ์ได้ ทหารจึงเข้ามามีส่วนร่วมในโชว์เราได้ และเชื่อว่าการมีเจ้าหน้าที่ทหารมานั่งอยู่ในโชว์ ถึงแม้จะมาเพราะหน้าที่ แต่ก็เห็นความสนุกสนาน มันทำให้เรารู้สึกว่าศิลปะแทรกเข้าไปในความรู้สึกได้ ทำงานกับคนได้ จึงอยากสงวนพื้นที่ทางศิลปะไว้ไม่ให้ถูกแทรกแซง”
การแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะของทหารส่งผลกระทบต่อผู้จัดและบรรยากาศของการจัดงานอย่างไร?
ในสถานการณ์ที่ต้องทำ “หนังสือขออนุญาต” และถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้ ผู้จัดงานหลายรายจึงยอมตัดหรือเปลี่ยนแปลงบางส่วนของงาน เช่น การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของงาน งดพูดบางประเด็นที่อาจกระทบความมั่นคง เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนตัววิทยากร เปลี่ยนโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งาน เปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้มีความบันเทิงมากขึ้น ตามข้อเรียกร้องของเจ้าหน้าที่ วิธีนี้อาจทำให้สารที่ผู้จัดงานต้องการจะสื่อกับผู้ร่วมกิจกรรมเปลี่ยนไปจากที่ตั้งใจไว้ แต่ก็อาจเป็นวิธีเดียวที่ทำให้งานเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ดี การถูกเจ้าหน้าที่ทหารแทรกแซงการจัดกิจกรรมอยู่บ่อยครั้งทำให้ผู้จัดงานบางรายยอมล้มเลิกความคิดในการจัดงานในครั้งต่อๆ ไป เพราะเกรงว่าการมีข้อพิพาทกับทหารบ่อยๆ อาจทำให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับประเด็นที่ผู้จัดงานเคลื่อนไหวเกิดความสงสัยว่า ผู้จัดงานต้องการใช้การจัดกิจกรรมสาธารณะเป็นเครื่องมือต่อต้าน คสช. และสร้างความวุ่นวายในสังคม
คู่มือการจัดกิจกรรมสาธารณะภายใต้กฎอัยการศึก
สำหรับผู้ที่มีแผนจะจัดกิจกรรมภายใต้กฎอัยการศึก ผู้จัดงานที่มีประสบการณ์ในการเจรจากับทหารแล้วได้ให้คำแนะนำ ดังนี้
ข้อแรก หลีกเลี่ยงคำว่า สิทธิ เสรีภาพ และสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
ข้อสอง ตั้งชื่องานที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถจัดได้ เชิญวิทยากรที่คาดว่าน่าจะไม่เป็นภัยความมั่นคง และคิดรูปแบบงานที่เน้นความบันเทิงมากขึ้น
ข้อสาม ทำหนังสือขออนุญาตเพื่อรอการอนุมัติจาก คสช.
ข้อสี่ เชิญเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมเพื่อความสบายใจของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่แสดงความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างทหารกับประชาชน
จะใช้เสรีภาพจัดงานเสวนา-กิจกรรมสาธารณะภายใต้กฎอัยการศึก ทำหนังสือ #ขออนุญาตหรือยัง คะ/ครับ?