การดำเนินคดีฐานแอบอ้าง ด้วยมาตรา112 และการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่น่ากังวล

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองผู้ดำรงตำแหน่ง พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้าย โดยเป็นกฎหมายที่อยู่ในหมวด 1 ว่าด้วยความมั่นคงของรัฐ และมีอัตราโทษสูง คือ จำคุก 3-15 ปี
หลังการรัฐประหาร ในปี 2557 สถิติคดีตามมาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการใช้ข้อหานี้ดำเนินคดีกับบุคคลจำนวนมากฐาน “แอบอ้าง” พระนามของพระมหากษัตริย์หรือบุคคลอื่นที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ เพื่อแสวงหาลประโยชน์ส่วนตน      
คำต่อคำ ตีความกฎหมายอาญามาตรา 112  ให้เคร่งครัด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (2556) ให้ความหมายคำที่ปรากฎในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไว้ดังนี้
คำว่าดูหมิ่น เป็นคำกิริยา หมายถึง “แสดงกิริยาท่าทาง พูด หรือเขียน เป็นเชิงดูถูกว่ามีฐานะตํ่าต้อย หรือไม่ดีจริงไม่เก่งจริง เป็นต้น หมิ่นก็ว่า” (2556,หน้า 441)
คำว่าหมิ่นประมาท เป็นคำกิริยา หมายถึงแสดงกิริยาวาจาดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น ในทางกฎหมาย เป็นคำนาม หมายถึง ฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง (2556, 1304)
คำว่าอาฆาตมาดร้าย เป็นคำกิริยา หมายถึง พยาบาทมุ่งจะทำร้ายให้ได้ (2556ม 1401-1402) เมื่อนำสองคำมารวมกัน จึงมีความหมายว่า การทำให้ปรากฎซึ่งความพยาบาทมุ่งร้าย
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 กำหนดว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท
หากตีความกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเคร่งครัด บุคคลที่อยู่ในข่ายที่จะถูกลงโทษโดยกฎหมายนี้ จะต้องมีเจตนาแสดงออกไม่ว่าจะโดย การพูด การเขียน หรือการแสดงท่าท่าง ในลักษณะดูถูก ว่าร้าย ใส่ความบุคคลผู้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้ หรือแสดงท่าทาง พยาบาทหรือมุ่งร้ายต่อผู้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนี้ เท่านั้น 
การแอบอ้างพระนามเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ จะเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ควรต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เนื่องจากการแอบอ้างมีเจตนาต่างจากการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และการกระทำในลักษณะการแอบอ้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ก็มีความผิดฐานฉ้อโกงกำหนดโทษไว้อยู่แล้ว
การใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับความผิดลักษณะแอบอ้างก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 
ก่อนหน้านี้ คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ส่วนใหญ่มีที่มาจากแสดงความความเห็นในประเด็นทางการเมือง มีคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ อย่างน้อย 2 คดี ที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าอ้างถึงพระนามเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน คือ คดีของประจวบและอัศวิน
ประจวบ ถูกจับในช่วงต้นปี 2547 และถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ รวม 3 คดี คดีหนึ่งถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างตัวว่าเคยถวายงานสมเด็จพระเทพฯ ระหว่างที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นรถ คดีที่สองถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างว่าเคยถวายงานสมเด็จพระราชินี และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระราชธิดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ คดีสุดท้ายประจวบถูกกล่าวหาว่า แอบอ้างกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชิญตัวเขาไปพูดคุยที่โรงพัก เพราะสงสัยว่าประจวบมีพฤติกรรมฉ้อโกงประชาชน ในทำนองว่า เขาเคยถวายงานสมเด็จพระเทพฯ อย่างใกล้ชิด การจับกุมเขาอาจทำให้เจ้าหน้าที่ที่จับกุมต้องประสบกับปัญหา 
ศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำพิพากษาในปลายปี 2547 ว่า การอ้างถึงสมเด็จพระราชินี สมเด็จพระบรมโอสาธิราช และสมเด็จพระเทพฯ ของจำเลย ไม่ได้เป็นไปเพื่อเทิดพระเกียรติ แต่เป็นไปเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว การอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยปราศจากหน้าที่ที่จะทำการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ ย่อมเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นในพระเกียรติยศของพระองค์ การกระทำของจำเลยเป็นการทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี 2 กระทง รวม 10 ปี ประจวบอุทธรณ์คำพิพากษา
ต้นปี 2548 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ว่า เนื่องจากสมเด็จพระเทพไม่ใช่องค์รัชทายาท การกระทำของจำเลย จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด แต่ในส่วนที่จำเลยอ้างถึงสมเด็จพระราชินีฯ และสมเด็จพระบรมโอสาธิราชฯ ถือเป็นความผิด ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี ประจวบอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลฎีกา ซึ่งศาลมีมีคำพิพากษาในเดือนเมษายน 2552 พิพากษาแก้ให้ลดโทษจำคุกจำเลยจาก 5 ปี เป็น 4 ปี เพราะจำเลยไม่เคยทำความผิดทางอาญามาก่อน และยังคงแสดงความจงรักภักดี เนื่องจากในวันที่ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษา ประจวบถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลา 4 ปี 7 เดือน เขาจึงได้รับการปล่อยตัว
คดีของอัศวิน นักธุรกิจชาวจังหวัดเชียงใหม่ก็เป็นอีกคดีหนึ่งที่จำเลยถูกกล่าวหาและลงโทษเพราะอ้างถึงพระนามของผู้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมาตรานี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน
อัศวิน ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดรวมสามกรรม กรรมหนึ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อบุคคลอื่นในลักษณะที่เป็นการดูหมิ่นสมเด็จพระบรมโอสาธิราชฯ ซึ่งเป็นองค์รัชทายาท อีกสองกรรมมีลักษณะแอบอ้างว่าตนเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสวงหาประโยชน์ อัศวินเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนในช่วงปลายปี 2549 ศาลจังหวัดเชียงใหม่รับฟ้องคดีในช่วงกลางปี 2553 ในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณา อัศวินได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาคดีนี้ในเดือนธันวาคม 2556 ยกฟ้องจำเลยเพราะมีเหตุให้สงสัยตามสมควรว่าจำเลยพูดข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่ไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นเนื้อหา ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2557 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นบางส่วน
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลย ในข้อกล่าวหาที่ว่า ดูหมิ่นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เพราะคำให้การพยานมีข้อสงสัยตามสมควร และข้อกล่าวหาที่ว่า แอบอ้างว่าจะพัฒนาที่ดินเพื่อถวายเป็นที่ประทับแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะผู้ฟังคำพูดดังกล่าวไม่มีส่วนได้ส่วนในกรณีการซื้อขายที่ดิน เมื่อได้ฟังก็เชื่อว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ การแอบอ้างเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ผู้ฟังไม่รู้สึกเกลียดชังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อย่างไรก็ตาม ในข้อกล่าวหาที่ว่า จำเลยอ้างพระนามของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวเพื่อให้เจ้าของบ้านพักในเอราวัณรีสอร์ทยกบ้านพักให้ ศาลวินิจฉัยว่า กรณีนี้เจ้าของบ้านที่ฟังอยู่ย่อมรู้สึกว่าตนมีส่วนได้ส่วนเสีย และรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการใส่ความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นฎีกา    

การดำเนินคดี จากพฤติการณ์ “แอบอ้าง” กับเครือข่ายนายตำรวจใหญ่ ในเดือนพฤศจิกายน 2557

การดำเนินคดีบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดในลักษณะแอบอ้าง ฉ้อโกง ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะชนมากที่สุด น่าจะเป็นการดำเนินคดีกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่อย่าง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีตรองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง 
ตามหมายจับที่ออกในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2557 ยังมีรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและพลเรือนอีก 8 ซึ่งทุกคนถูกตั้งข้อหาที่เกี่ยวกับการทุจริต เช่น เป็นเจ้าหนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีเพียงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่สองคนที่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ด้วย
23 พฤศจิกายน 2557 พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และ พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ รวมทั้งพวกอีก 8 คนตามหมายจับ ถูกควบคุมตัวไว้แล้วตามขั้นตอนของกฎอัยการศึก ส่วนพลเรือนอีก 2 คนยังอยู่ระหว่างการติดตาม จากการสอบสวน ผู้ต้องหาทั้ง 8 ให้การรับสารภาพ ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของการกระทำตามข้อกล่าวหา
24 พฤศจิกายน 2557 พล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และ พล.ต.ต. โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ ถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 
28 พฤศจิกายน 2557 พนักงานสอบสวนควบคุมตัว ณัฐพล, สิทธิศักดิ์, ณรงค์, สุทธิศักดิ์ และ ชากานต์ หรือกลุ่ม “พี่น้องอัครพงษ์ปรีชา” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นเครือข่ายของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ มาฝากขังต่อศาลจังหวัดพระโขนง โดยแจ้งข้อหา มาตรา 112 ร่วมกับข้อหาอื่น เช่น ร่วมกันข่มขืนใจให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือเสรีภาพ หน่วงเหนี่ยวกักขัง และ ร่วมกันลักทรัพย์
30 พฤศจิกายน 2557 ณัฐนันท์ และชลัช สองผู้ต้องหา ในคดีมาตรา112, ทำร้ายร่างกาย, ข่มขืนใจผู้อื่น เข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาคือการข่มขู่และแอบอ้างเบื้องสูงเพื่อขอลดหนี้ให้นายนพพร นักธุรกิจรายหนึ่ง ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ
1 ธันวาคม 2557 วิทยา ผู้ต้องหาตามหมายจับอีก 1 ราย ติดต่อเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า ณธกร และธีรพงศ์ ก็ถูกจับกุมตัวแล้ว โดยมีนายทหารพระธรรมนูญควบคุมตัวไปสอบสวน
วันเดียวกัน ศาลทหารกรุงเทพออกหมายจับ นพพร โดยเจ้าหน้าที่เชื่อว่า การกระทำของนพพรเชื่อมโยงกับเครือข่ายของพล.ต.ท. พงพัฒน์ ต่อมาในวันที่10 ธันวาคม 2557 นพพรให้สัมภาษณ์กับสื่อผ่านทางโทรศัพท์โดยไม่เปิดเผยที่อยู่ ว่าตนไม่ได้เป็นหนี้และไม่ได้จ้างคนไปข่มขู่เจ้าหนี้ตามที่ถูกกล่าวหา ส่วนที่หนีออกมาเพราะต้องการตั้งหลัก
6 ธันวาคม 2557 น.ท.ปริญญา รักวาทิน หรือ เสธ.เจี๊ยบ กรรมการผู้จัดการบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา เข้ามอบตัวหลังถูกสน.วัดพระยาไกร ออกหมายจับตามมาตรา 112, จ้างวานให้ร่วมกันทำร้ายผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย หลังถูกซัดทอดจากกลุ่มผู้ต้องหาไกล่เกลี่ยหนี้เครือข่าย พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้
วันเดียวกัน ศาลทหารอนุมัติออกหมายจับนางนวลรัตน์ เจ้าของโรงน้ำแข็งในตลาดไท จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเคยอ้างเบื้องสูงข่มขู่ไม่ให้ผู้อื่นประกอบกิจการทับซ้อน ในข้อหามาตรา 112 ข้อหาข่มขืนใจผู้อื่น และข่มขู่ให้ตกใจกลัว ต่อมามีรายงานว่านวลรัตน์ถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ และปัจจุบันยังอยู่ควบคุมตัวอยู่
10 ธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมสุดาทิพย์ ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในซอยทวีวัฒนา ซึ่งก่อนหน้านี้สุดาทิพย์เคยถูกออกหมายจับในข้อหาอื่นมาก่อน ซึ่งเป็นหมายจับฉบับเดียวกับพล.ต.ท. พงศ์พัฒน์ ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2557 สุดาทิพย์ถูกส่งตัวไปศาลอาญาเพื่อขออำนาจศาลฝากขัง ในคำร้องขอฝากขังระบุว่า สุดาทิพย์อาศัยความเป็นพระญาติในสถาบันเบื้องสูงจัดหาอาหารน้ำพริก พร้อมเครื่องเคียงส่งวังศุโขทัยติดต่อกันเรื่อยมา หากมีร้านค้าอื่นๆ ประสงค์เข้ามาประมูลราคา ผู้ต้องหาจะอ้างว่า ตนในฐานะพระญาติ ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้จัดหาแต่เพียงผู้เดียว การแอบอ้างดังกล่าวทำให้สถาบันเสื่อมเสียพระเกียรติ จึงเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ
12 ธันวาคม 2557 ศาลทหารกรุงเทพอนุมัติหมายจับชากานต์และ ณัฐพล ในความผิดตามมาตรา 112 เพิ่มเติมขณะที่ทั้งสองถูกคุมขังอยู่ก่อนแล้ว จากกรณีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสองแอบอ้างกับทางมหาวิทยาลัยว่า ชากานต์มีเวลาเรียนไม่ครบตามเกณฑ์ เนื่องจากติดภาระกิจเกี่ยวกับสถาบันฯ 
24 ธันวาคม 2557 พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ได้ขออนุมัติหมายจับศาลทหาร ให้จับกุม น.ส.กสิณา ในข้อหา ม.112 และความผิดต่อชีวิตและเสรีภาพ และวันเดียวกัน ศาลจังหวัดธัญบุรีได้อนุมัติหมายจับ น.ส.กสิณา ในข้อหา ม.112 อีกหนึ่งหมายจับ และหมายจับชายไทยตามภาพสเกตช์ไม่ทราบชื่อนามสกุลอีก 2 ราย ผู้ต้องหาทั้งสามคนมีความเชื่อมโยงกับคดีการข่มขู่ให้ผู้เสียหายถอนตัวจากการสัมปทานโรงน้ำแข็งในตลาดไท 
พล.ต.ท.ศรีวราห์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้ควบคุมตัวน.ส.กสิณา เพื่อนสาวคนสนิทของนายณรงค์ อัครพงษ์ปรีชา ไปฝากขังที่ศาลธัญบุรีแล้ว ส่วนผู้ต้องหาเป็นชายอีก 2 รายนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีต่อไป
โดยสรุปแล้วมีบุคคลที่ถูกเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับเครือข่ายการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เรียกรับผลประโยชน์ส่วนตนในครั้งนี้ อย่างน้อย 26 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 112  19 คน ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี 3 คน มีผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 แล้ว 16 คน ยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่าศาลอนุญาตให้ทั้ง 16 คนได้ประกันตัวหรือไม่
ความกังวลต่อการขยายปริมณฑลของกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ   
แม้การดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างบุคคลตามมาตรา 112 เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน จะมีมาก่อนการรัฐประหารในปี 2557 แต่ก็มีจำนวนน้อยมาก หากเทียบกับจำนวนคดีมาตรา 112 ทั้งหมด มีความกังวลว่า การจับกุมและดำเนินคดี กับความผิดลักษณะแอบอ้างที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี2557 จะสร้างบรรทัดฐานใหม่ ให้กฎหมายมาตราดังกล่าวครอบคลุมความผิดที่กว้างขวางมากขึ้น จนเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองความมั่นคงของรัฐ
เนื่องจากกฎหมายอาญายึดเจตนาของผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ การเลือกตัวบทกฎหมายที่จะใช้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด จึงต้องพิจารณาจากเจตนาของผู้กระทำ ซึ่งการกระทำในลักษณะแอบอ้างย่อมมีเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์สิน ไม่ใช่เจตนาที่มุ่งกระทำต่อความมั่นคงของรัฐ การอ้างพระนามโดยมีเจตนาเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ของบุคคลอื่นโดยมิชอบ จึงควรจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกง ไม่ใช่ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ 
กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือมาตรา 112 เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวที่สุดในสังคมไทย ข่าวการดำเนินคดีบุคคลหรือการลงโทษบุคคลด้วยกฎหมายนี้มักถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยที่ความเห็นมักแตกเป็นหลายฝ่ายตามความเชื่อทางการเมืองของแต่ละบุคคล การบังคับใช้และลงโทษบุคคลด้วยกฎหมายนี้จึงต้องเป็นไปอย่างรัดกุมและจำกัดที่สุด เพื่อไม่ให้กรณีดังกล่าวไปจุดชนวนความขัดแย้งในสังคม 
การขยายขอบเขตคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ให้ครอบคลุมความผิดในลักษณะการแอบอ้าง น่าจะทำให้คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์มีปริมาณมากขึ้นและอาจส่งผลให้ความขัดแย้งในสังคมไทยรุนแรงบานปลายกว่าเดิม
นอกจากนี้ พฤติกรรมการแอบอ้างโดยสภาพแล้วย่อมเกิดขึ้นในที่ลับ ไม่มีหลักฐานชัดเจน ยากแก่การพิสูจน์ จึงน่ากังวลว่าการที่จำเลยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ต้องเผชิญกับภาระทางคดีและทางสังคมอย่างหนัก จากบรรยากาศทางการเมืองและทัศนคติของคนในสังคม อาจเป็นตัวอย่างให้คู่กรณีที่ขัดผลประโยชน์ทางธุรกิจหยิบยกเอากฎหมายมาตรา 112 มาใช้กล่าวหากันเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้ามได้โดยง่าย
อ้างอิง 
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพ.ศ.2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554. 2556. (กรุงเทพมหานคร: ราชบัณฑิตยสถาน)