ทำงานเกือบ 5 ปี! กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ เปิดงานชิ้นใหญ่ รายงาน 398 หน้า เรื่องคุณูปการสถาบันฯ

ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม 2567 วุฒิสภามีวาระพิจารณารายงานหนึ่งฉบับซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ (กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ) ในหัวข้อเรื่อง รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง คุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบด้วยกับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญ และมีมติให้ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป
รายงานฉบับนี้มีความยาว 398 หน้า รวมปกหน้า-หลัง จากการสืบค้นระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภารวมถึงหน้าเว็บไซต์ของกมธ. พิทักษ์สถาบันฯ ไม่พบการอัพโหลดรายงานฉบับอื่นๆ ก่อนหน้านี้ รายงานฉบับนี้จึงอาจเป็นผลงานที่ออกมาในรูปแบบรายงานเพียงฉบับเดียวของกมธ. พิทักษ์สถาบันฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งมาตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2562 มีอายุการทำงานถึงสี่ปีสามเดือน นับถึงวันที่วุฒิสภาเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้
ฐานที่มาของ กมธ. พิทักษ์สถาบันฯ สืบเนื่องมาจากในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562  ข้อ 82 กำหนดให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นคณะหนึ่งมีจำนวนไม่เกิน 30 คน ในจำนวนนี้ให้ประกอบด้วยบุคคลที่ไม่ได้เป็น สว. ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการขึ้นทั้งหมด มีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
โดยรายงานฉบับนี้ มีสาระสำคัญเล่าถึงคุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยหลายด้าน เช่น
คุณูปการด้านการปกครองในประเทศไทย
สมัยรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นผู้นำแนวความคิดที่จะนำการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาใช้ในไทย จึงทรงดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาคน ส่งพระราชโอรส รวมถึงบุตรหลานข้าราชการและสามัญชนไปเรียนต่อในยุโรป เพื่อให้คนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในงานราชการพัฒนาประเทศต่อไป  นอกจากนี้ยังทรงเลิกทาส ผลักดันการขยายโอกาสการศึกษาของประชาชน และยกเลิกการบริหารราชการแผ่นดินแบบจตุสดมภ์ที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ มาเป็นแบบกระทรวง ทบวง กรม
สมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริจัดตั้ง “ดุสิตธานี” ขึ้น เพื่อเป็นการทดลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตรา ธรรมนูญดุสิตธานี – ลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล พุทธศักราช 2465 การปกครองดุสิตธานีมี “เชษฐบุรุษ” เปรียบเสมือนผู้แทนราษฎร ส่วนพระองค์เองนั้นทรงเป็นเพียง “นายราม” พลเมืองคนหนึ่งของดุสิตธานี
สมัยรัชกาลที่ 7 ทรงจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสาภา ซึ่งประกอบไปด้วย องคมนตรี ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาข้อราชการ และเสนาบดีสภา เป็นเสนาบดีกระทรวงต่างๆ และทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) ถึงปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการปกครองและการเมืองของประเทศไทย ต่อมาพระยากัลยาณไมตรี จัดทำ “Outline of Preliminary Draft” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสั้นๆ มี 12 มาตรา รัชกาลที่ 7 ทรงส่งสำเนาพระราชหัตถเลขาและหนังสือของพระยากัลยาณไมตรีไปยังสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภา เพื่อให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อภิรัฐมนตรีพระองค์หนึ่ง ทรงบันทึกแสดงความคิดเห็น ของพระองค์มีบางประการที่ขัดแย้งกับของพระยากัลยาณไมตรี ใจความว่า ยังไม่ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะปกครองแบบรัฐสภา
ต่อมา ปี 2474 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ และเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ให้เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จนออกมาเป็นร่างรัฐธรรมนูญชื่อว่า “An Outline of Changesin the Form of Government” กำหนดรูปแบบของการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เดิมรัชกาลที่ 7 เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อสหรัฐอเมริกาว่าจะพระราชรัฐธรรมนูญในวาระครบรอบพระนคร 150 ปี ในเดือนเมษายน 2475 อย่างไรก็ดี ก็ไม่มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด จนคณะราษฎรเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475
คุณูปการด้านการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน ออกมารวมตัวชุมนุมประท้วงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย หลังคืนวันที่ 13 เข้าวันที่ 14 ขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังสลายตัว เกิดเหตุการณ์ผู้ชุมนุมปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากจึงได้หนีเข้าไปหลบภัยในเขตพระราชวังสวนจิตรลดา ทราบภายหลังว่ารัชกาลที่ 9 เป็นผู้สั่งให้มหาดเล็กมาเปิดประตูให้ประชาชนเข้าไปหลบข้างใน
เวลา 19.15 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 รัชกาลที่ 9 ทรงมีกระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผ่านทางโทรทัศน์ ณ หอตึกสมุดสวนจิตรลดา
ต่อมาเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เป็นการชุมนุมคัดค้านพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี วันที่ 17 พฤษภาคม 2535 พลตรี จำลอง ศรีเมือง นำกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนจากท้องสนามหลวงมุ่งสู่รัฐสภา นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างฝ่ายประท้วงกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งมาควบคุมสถานการณ์ได้มีการประกาศเคอร์ฟิว การปะทะมีขึ้นต่อเนื่องถึงสี่วันและมีประชาชนบาดเจ็บจำนวนมาก ต่อมา วันที่ 20 พฤษภาคม 2535 รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำของกลุ่มชุมนุมขณะนั้นเข้าเฝ้าที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ พลเอก สุจินดาคราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรี จำลอง ศรีเมือง ว่า

“…ถ้าหากว่าเผชิญหน้ากันแบบนี้ต่อไป เมืองไทยมีแต่ล่มจมลงไป แล้วก็จะทำให้ประเทศไทย ที่เราสร้างเสริมขึ้นมาอย่างดี เป็นเวลานาน จะกลายเป็นประเทศที่ไม่มีความหมาย หรือมีความหมายในทางลบเป็นอย่างมาก…”

หลังจากนั้น พลเอกสุจินดา ประกาศลาออก มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนวันที่ 10 มิถุนายน 2535 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี
คุณูปการต่อฝ่ายนิติบัญญัติ
  • การพระราชทานรัฐธรรมนูญ
  • การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดประชุมรัฐสภา
  • การเปิดประชุมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศหรือสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) เมื่อ 12 ตุลาคม 2530 รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิดประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (Assembly of the Inter-Parliamentary Union) ที่จัดขึ้นในโรงแรมไฮแอทเซ็นทรัลพลาซ่า กรุงเทพมหานคร ส่วนในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 122 เมื่อ 27 มีนาคม 2553 จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แทนพระองค์ในการกล่าวเปิดประชุม
  • การเสด็จพระราชดำเนิน ณ รัฐสภา เช่น เมื่อ 10 ธันวาคม 2523 รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 ที่อาคารรัฐสภา
นอกจากผลงานชิ้นใหญ่อย่างรายงานฉบับนี้ กมธ. พิทักษ์สถาบันฯ ยังมีผลงานด้านอื่นๆ เคยไปศึกษาดูงานมาแล้วอย่างน้อยหกครั้ง

ครั้งแรก 13 พฤศจิกายน 2562 ศึกษาดูงานที่พิพิธภัณฑ์วังวรดิศ และหอสมุดสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ครั้งที่สอง 20 ธันวาคม 2562 ศึกษาดูงานที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) เพื่อรับทราบข้อมูลและแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานต่อต้านข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์  

ครั้งที่สาม 17 กันยายน 2563 ศึกษาดูงานสถานที่สำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ และสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ครั้งที่สี่ 8 ตุลาคม 2563 ศึกษาดูงานโครงการหลวงด้านการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน และคุณภาพชีวิตของประชาชน ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

ครั้งที่ห้า 9 ตุลาคม 2563 ศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเตรียมความพร้อมและลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลสำหรับการจัดทำสื่อวีดิทัศน์สถานที่สำคัญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งใช้ประกอบในการดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเด็กและเยาวชน นักเรียนและนักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป

ครั้งที่หก 27 พฤศจิกายน 2563 ศึกษาดูงานสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมทั้งรับฟังข้อมูลประวัติความเป็นมา ประกอบด้วย  1) พิพิธภัณฑ์วงแหวนอุตสาหกรรม (สวนสุขภาพลัดโพธิ์) 2) พระสมุทรเจดีย์ 3) ป้อมพระจุลจอมเกล้า และ 4) ชุมชนบ้านสาขลา

นอกจากการประชุมและการศึกษาดูงาน กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  ก็เคยปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ด้วย เช่น

๐ รับหนังสือแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน จากผศ.ดร. เชรษฐา ทรัพย์เย็น ประธานที่ประชุมสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เมื่อ 1 ธันวาคม 2563  

สำหรับแถลงการณ์ของ ทปสท. มีเนื้อหาสรุปได้ว่า ขอให้ดำรงจุดยืนของการมีสถาบันพระมหากษัตริย์คู่กับสังคมไทย เนื่องด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์มีคุณูปการอย่างสูงยิ่งร่วมกับกลุ่มประชาชนทุกหมู่เหล่าในการสร้างชาติมาด้วยกัน และไม่สนับสนุนการรัฐประหารในการแก้ไขสถานการณ์ทางการเมือง

๐ จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการ Seed Project เรื่อง “การพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างผู้นำความเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่” เมื่อ 29 มีนาคม 2564 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ  และมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม เพื่อสร้างแกนนำเยาวชนรุ่นใหม่ผ่านการเปิดพื้นที่สาธารณะให้เข้ามานำเสนอความคิดและวิธีการในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนเองผ่านการหยิบยกอัตลักษณ์ท้องถิ่น 

และเมื่อมีการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นครั้งแรก ในการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อ 10 สิงหาคม 2563 กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ก็ออกมาแถลงข่าวในวันถัดไปทันที โดยมีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญ คือ กมธ. ได้ติดตามการใช้สิทธิ เสรีภาพทางการเมืองอย่างใกล้ชิด และมีความเป็นห่วงที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มพยายามดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่กระทบต่อ “ความรู้สึก” ของคนไทยหลายสิบล้านคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คนไทยเคารพยิ่ง จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้สติในการใช้สิทธิเสรีภาพพลเมือง โดยคำนึงถึงความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ

ทำความรู้จัก กมธ.พิทักษ์สถาบันฯ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6137