พงศ์เทพ ยืนยัน ระบอบการปกครองเปลี่ยนไม่ได้ แต่หมวด1-2 ต้องแก้ได้

วันที่ 9 ธันวาคม 2566 พงศ์เทพ เทพกาญจนา คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 กล่าวในงานเสวนาปักธง ส่งต่อ สสร. เลือกตั้งระบุว่า การประชุมเพื่อหาคำตอบเรื่องการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็น เรื่องที่ควรใช้เวลาแค่หนึ่งครั้ง จากการศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หกจากเก้าคนระบุว่า การทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีแค่สองครั้งเท่านั้น คือ เมื่อแก้รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีสสร.ผ่านสภาแล้ว และเมื่อสสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ

แต่อย่างไรก็ดีหลังคณะกรรมการที่มีภูมิธรรม เวชชยะชัยเป็นประธาน มีการประชุมและแบ่งงานกันทำมาเกือบสามเดือนแล้ว โดยพงศ์เทพคาดการณ์ว่า ข้อสรุปของคณะกรรมการชุดนี้มีโอกาสออกมาทั้งสองสองแนวทาง คือ ทำประชามติสองครั้ง หรือสามครั้ง 

ส่วนประเด็นเรื่องที่มีข้อเสนอให้เขียนข้อห้ามไม่ให้แก้หมวดหนึ่งและสอง พงศ์เทพอธิบายว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าก็มีการแก้ไขหมวดหนึ่งและสองเรื่อยมา โดยเนื้อหาของหมวดดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกับหมวดอื่นๆด้วย ดังนั้น หากไม่ให้แก้หมวดหนึ่งและสองเลย แต่เนื้อหาหมวดอื่นเปลี่ยนไปแล้วจะมีปัญหาตามมา นอกจากนี้ยังมองว่า การใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งจะมีสัดส่วนความหลากหลายน้อยกว่าการใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งและการใช้กลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

เวลาที่พูดถึงรัฐธรรมนูญ 2560 แล้วก็ชอบมีการอ้างว่าผ่านการประชามติ เพราะฉะนั้นประชาชนชาวไทยเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญปี 60 ผมก็ต้องถามท่านทั้งหลาย ซึ่งหลายท่านเข้าใจว่าก็คงได้มีโอกาสไปลงประชามติในตอนนั้น ประชามติที่เราไปลงมันเป็นประชามติแบบมาตรฐานสากลแบบที่เขาทำกันหรือเปล่า? เปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ถ้าผมไม่เห็นด้วยผมมีโอกาสไหมที่จะแสดงความคิดเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่ดีอย่างไร มีโอกาสไหม … ไม่มี ปิดปาก ถูกจับ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็โฆษณาประชาสัมพันธ์รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ฉบับปราบโกงมันใช้มาตั้งหลายปีแล้วโกงมากกว่าเดิม กลับไปถามคุณมีชัยสิว่า ฉบับปราบโกงมันปราบอะไร”

“การทำประชามติก็จอมปลอมแล้วก็บีบบังคับประชาชนว่า ถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เจอรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารงานต่อแล้วอาจจะเจอรัฐธรรมนูญที่แย่กว่านี้ก็ได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ฝากไปถามศาลรัฐธรรมนูญหน่อยว่า ตอนเขาทำประชามติกันท่านยังไม่เกิดหรือยังไง ถึงไปอ้างเรื่องการทำประชามติ ผมนี่แปลกใจจริงๆถ้าผมเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผมไม่กล้าอ้างเพราะมันเป็นข้อเท็จจริงรู้กันทั่วไป”

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องบอกว่า เป็นฉบับที่ร่างฉบับของคสชโดยคสช.และก็เพื่อคสช. ถึงเป็นเหตุให้คสช.ครองอำนาจต่อมาหลังจากการเลือกตั้งครั้งแรกแล้ว นี่คืออาณัติที่คุณมีชัยรับมา จำได้ไหมว่า ตอนแรกที่คิดระบบเลือกตั้งที่เขาบอกว่า ให้มีบัตรเลือกตั้งนับคะแนนเฉพาะคนที่หนึ่ง ถ้าใครได้ที่หนึ่งไม่เอาไปคิดปาร์ตี้ลิสต์คือเจตนามันเห็นได้ชัดว่าต้องการที่จะสร้างระบบเลือกตั้งเพื่อเอื้อฝ่ายไหน เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่บอกว่า มันมีที่มาที่ไม่ชอบ เนื้อหาสาระมันก็แย่” 

“ไปดูมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญนี้ซึ่งผมกล้าพูดได้ว่า เป็นมาตราที่เลวที่สุดในบรรดารัฐธรรมนูญในโลก ในโลกเลย ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย ทำไมในโลกเพราะว่าคนเขียนรัฐธรรมนูญเขาเทิดทูนคสชเสียเหลือเกิน เขาบอกว่าสิ่งที่คสช.ทำ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการกระทำต่างๆ หรือคนที่กระทำการตามคำสั่งของคสช.ถือว่าสิ่งเหล่านี้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งหมด”

“ผมจะเปรียบเทียบ กฎหมายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งสมัยนั้นพระมหากษัตริย์ทรงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ถ้ากฎหมายแบบนั้นยังใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน เรายังไปโต้แย้งได้ถ้าเราคิดว่ามาตราใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ เราไปร้องได้นะว่ามาตรานั้นของพระราชบัญญัติที่ออกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลนู้น ขัดรัฐธรรมนูญใช้บังคับไม่ได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบอกว่า ขัด ก็ใช้บังคับไม่ได้ หรือแม้แต่พระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาที่มาโดยชอบ พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยก็ยังมีคนโต้แย้งได้ว่า มาตรานั้นมาตรานี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยมาหลายคดีครับว่า มาตรานั้นมาตรานี้ขัดรัฐธรรมนูญแล้วก็ใช้บังคับไม่ได้ แล้วถามว่าคสช.มันคือใคร ทำไมคสช.มันออกกฎหมายเขียนกันเองไม่ได้ผ่านสภาใช้เวลาไม่กี่วันไม่เคยรอบคอบทำไมมันชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสียทุกประการ”

“นี่คือผลงานอัปยศของการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วมันก็อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทีนี้รัฐธรรมนูญ เวลาไปแก้โครงสร้างมันผิด โครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อำนาจไปอยู่กับองค์กรอิสระ อยู่กับฝ่ายราชการประจำ ไม่ได้อยู่กับประชาชน เพราะเวลาไปแก้ มันจะโยงใยหลายมาตราเสียเหลือเกิน มันแก้หลายมาตรา มันถึงต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับเพราะพื้นฐานโครงสร้างมันผิด” 

“…รัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับ ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการยึดอำนาจมีประมาณห้าฉบับเท่านั้น อย่างไรก็ตามเราจะเห็นในบรรดารัฐธรรมนูญที่เขียนกันมา หมวดหนึ่งคือบททั่วไป และหมวดสองคือหมวดพระมหากษัตริย์ มีการแก้กันเกือบตลอดมา เกือบทุกฉบับปี 40 ก็แก้มีการเพิ่มเติมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เข้าไปในหมวดหนึ่งแก้หมด”

“กติกาที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆก็คือเขาบอกว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะไปแก้สองหลักการใหญ่ไม่ได้เท่านั้น หลักการที่ว่าคืออะไร? ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ อันนี้เขียนไว้ในตอนรัฐธรรมนูญก่อนที่เราจะแก้ปี 40 อาณัติที่ให้สสร.ตอนนั้นมาคือคุณห้ามแก้ตรงนี้นะ ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ หมายความว่า จะเป็นสาธารณรัฐแบบสหรัฐอเมริกาไม่ได้ ต้องเป็นรัฐเดี่ยว ประการที่สองคือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แก้ไม่ได้ เช่น คุณจะแก้บอกต่อไปเป็นระบอบเผด็จการไม่ได้

“นี่คือเล่าให้ฟังก่อนว่าอันนี้คือที่เขาห้าม แต่ถ้าไปบอกถึงขนาดว่าหมวดหนึ่งหมวดสองไม่ได้ ตอนไปร่างแล้วคุณจะมีปัญหา อ่านหรือเปล่าว่าหมวดสองเขาเขียนอะไร ต้องถามคนที่พูดอย่างนี้ หมวดสองนี่ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่มีการพูดถึงองคมนตรี องคมนตรีก็มีคุณสมบัติว่าใครที่เป็นองคมนตรีได้ ใครห้ามเป็น อย่างเช่น ข้าราชการประจำไม่ให้เป็น ตำแหน่งพวกนี้มันอยู่ในรัฐธรรมนูญเหมือนกัน เช่น องค์กรอิสระ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา องคมนตรีท่านห้ามเป็นตำแหน่งเหล่านี้ ถ้าเกิดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขาบอกไม่ควรจะมีแล้ว ปปชไม่ควรจะมีแล้ว กกตไม่ควรจะมีแล้ว แล้วถ้าไม่แก้หมวดสองนะ มันจะเขียนอยู่เหมือนเดิมว่าองคมนตรีต้องไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งที่ความจริงเขาไม่มีกรรมการการเลือกตั้งแล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ประหลาด”

“ตอนหลังมีคนขยายออกไปอีกว่า จะไปกระทบพระราชอำนาจไม่ได้ ผมก็เลยบอกว่าพระราชอำนาจได้เขียนไว้ในหมวดอื่นเยอะแยะเต็มไปหมด เช่น การออกกฎอัยการศึกซึ่งตรงนี้ ถ้าคุณไปเขียนอย่างนั้นปั๊บเดี๋ยววุ่นวายกันใหญ่เลย ตอนหลังรู้สึกเขาก็หยุดไปแล้ว ที่บอกไปกระทบพระราชอำนาจได้เพราะงั้นคุณไปแก้กฎอัยการศึก 2466 ไม่ได้ กฎหมายโบราณ

“ตอนที่ท่านรองนายกฯภูมิธรรม มาทาบทามผมให้เป็นกรรมการชุดนี้ ผมรับเป็นกรรมการ ไม่ได้คิดจะไปทำประชามติเลย แล้วผมก็คิดว่ากรรมการควรใช้เวลาไม่เกินหนึ่งครั้งในการสรุปเรื่องนะ เพราะว่าอะไรเพราะผมอยู่ในซีกที่ศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4/2564 แล้วก็อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่าน ซึ่งผมสรุปว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4/2564 เขียนไม่ดี เขียนไม่ชัดเจน ผมเคยเป็นผู้พิพากษาหลักการการเขียนคำพิพากษามันต้องเขียนแล้วชัดเจนทุกคนอ่านเข้าใจ แต่ต้องยอมรับว่าคนที่อ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4/2564 อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจตีความคนละเรื่องซึ่งมันผิดหลักการเขียนคำพิพากษา”

“เราก็ต้องไปดูคำวิจารณ์ส่วนตนของตุลาการแต่ละท่าน หกคนที่อ่านแล้วสรุปได้ว่าท่านเห็นให้ทำสองครั้งเท่านั้นแหละ สองครั้งเท่านั้น ประชามติคือครั้งไหน ก็คือเมื่อแก้รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้มีสสร.ผ่านสภาแล้วก็ไปทำประชามตินั้นเป็นเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 256(8) กำหนดไว้ จากนั้นแล้วเมื่อสสร.ยกร่างรัฐธรรมนูญมาได้ใหม่ ก็ให้มีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ประชาชนเป็นผู้สถาปนาเพราะฉะนั้นจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ก็ต้องให้ประชาชนได้เห็นชอบด้วย ก็เข้าใจนี่มีเหตุผล แต่แค่สองครั้งเท่านั้น ไอ้ครั้งแรกมันก็มีคนที่ไปตีความว่า ก่อนที่สภาจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีสสรยังไม่รู้จะมีสสร.หรือเปล่า จะผ่านสภาฯหรือเปล่า จะให้ไปทำประชามติ ซึ่งถามว่าไอ้การทำประชามติครั้งแรกมีเหตุผลอะไรมั้ย ก็ต้องบอกว่าการทำประชามติครั้งแรกไม่ได้ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญว่าต้องทำ” 

“ประการที่สอง ต่อให้ประชามติเห็นชอบอย่างท่วมท้นเพียงใดก็ไม่ผูกพันสส.กับสว.ในการลงมติ มันไม่มีหรอกว่าให้ทำประชามติแล้ว ต้องไม่ให้สสสวเห็นชอบ ไม่มีหรอก จะทำประชามติให้เหนื่อยทำไม ใช้เงิน 3,000 กว่าล้าน ใช้เวลา 4-5 เดือน แล้วให้ สวเพียงหนึ่งในสามบอก ฉันไม่เอา ตก ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้นผมก็เลยเสนอวิธีที่ไม่ต้องตกม้า เพราะเราจะไม่ขึ้นม้า” 

“ถ้าเกิดมีเสียงสวจำนวนหนึ่งบอกว่า จะไม่รับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีสสร. ฝ่ายหนึ่งก็อาจจะอ้างว่า เฮ้ย ยังไม่ทำประชามติครั้งแรก บุคคลเหล่านี้ผมบอกได้เลย เขาใช้เรื่องประชามติเป็นข้ออ้างเท่านั้นแหละ จริงๆคือเขาไม่เอา เพราะฉะนั้นวิธีที่ทำให้คนเหล่านี้ ถ้าจะไม่รับก็ต้องหาเหตุอื่นมาโชว์ๆกัน ทำยังไง ผมก็เสนอให้พรรคการเมืองเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีสสร.เข้าไปในสภา สมัยประธานที่แล้วท่านชวนเข้าใจว่า มีการเสนอเหมือนกันแล้วท่านชวนไม่บรรจุวาระ ผมก็กราบเรียนท่านประธานวันนอร์ฯบอกว่า ท่านจะบรรจุหรือไม่บรรจุไม่มีปัญหา ถ้าท่านบรรจุวาระก็ต้องขอให้สมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งยื่นญัตติด่วนในสภาบอกว่ากรณีนี้บรรจุไม่ได้เพราะว่าต้องทำประชามติก่อน” 

“กรณีนี้ถ้าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็เกิดปัญหาอันเกี่ยวด้วยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรือในกรณีกลับกันประธานรัฐสภา ท่านบรรจุวาระก็จะมีคนโต้แย้งว่าบรรจุไม่ได้ แล้วก็ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีก่อนหน้านี้เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญนี้ที่เป็นปัญหาว่าต้องทำประชามติกี่ครั้งใช้เวลาไม่เกินหนึ่งเดือนในการวินิจฉัย เพราะฉะนั้นถ้าเราทำอย่างนี้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือนศาลรัฐธรรมนูญก็จะบอกมาเลยครับว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง”

“ถ้าต้องทำประชามติสามครั้ง เราก็ไม่เสียหายนะ แล้วก็ไม่ได้เสียอะไรเพิ่มเติม แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าทำประชามติแค่สองครั้งเราไม่ต้องทำประชามติครั้งแรก เราประหยัดเงินไป 3,000 กว่าล้านเราประหยัดเวลาไป 4-5 เดือน แล้วก็ตัดปัญหาทางกฎหมายต่างๆที่เกิดขึ้นด้วย ผมเข้าใจว่าในส่วนของกรรมการท่านประธานภูมิธรรม ก็คงจะนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีว่ามันมีสองแนวความคิดอย่างนี้และคณะรัฐมนตรีจะเลือกอย่างไร อย่างแรกคือเขาบอกทำประชามติสามครั้ง ก็ไปเสี่ยง ก็จะตกม้าหรือเปล่า อย่างที่สองก็คือ หาทางให้มันชัดเจนว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ก็มีสองทางเลือกผมก็เข้าใจท่านภูมิธรรมจะทำอะไรอย่างนี้”

ถ้าถามผมว่าการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ทำได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าทำได้ แต่จะเลือกตั้งแบบไหนที่ทำให้เราจะได้สสร.ที่เราต้องการ สสร.ที่มีความหลากหลาย ถ้าเราใช้เลือกตั้งตามพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบอกจังหวัดละคน ก็ต้องบอกตรงๆจากประสบการณ์การเลือกตั้ง ความหลากหลายที่เราคิดจะได้มันยาก แต่ถ้าคุณใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แล้วผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้กี่บอร์ ตรงนั้นความหลากหลายเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างสมมติผู้พิการมี 5-6% ของประเทศ ถ้าคน 5-6% เลือกตัวแทนของท่านเองมันเลือกได้ จะอยู่เชียงใหม่ อยู่ภูเก็ต อยู่สงขลา รวมกันเลือกได้เป็นล้านๆคะแนน ก็จะมีตัวแทนของผู้พิการเข้ามาในสสร. แต่ถ้าเป็นเรื่องเป็นเขตจังหวัด เสียงกระจายกันยังไงๆก็สู้คนอื่นเขาลำบากมากโอกาสที่จะเข้ามาสู่สภาได้ยาก มันมีเขตประเทศแล้ว เขตกลุ่มจังหวัดแล้ว ถ้าไม่เอาเขตประเทศ เราเคยมีการเลือกตั้งหลังปี 50 เลือกเป็นกลุ่มจังหวัดในการเลือกสส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะฉะนั้นการเลือกเป็นกลุ่มจังหวัดก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง