เข้าใจความหมายของคำถามประชาติ 3 แบบ

ช่วงวันรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา (9-10 ธันวาคม 2566) ไอลอว์ได้ไปจัดกิจกรรมโพลคำถามประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในสถานที่ต่าง ๆ ว่าหากถามคำถามแบบหนึ่งประชาชนจะเห็นอย่างไร และถ้าคำถามเปลี่ยน คำตอบจะเปลี่ยนด้วยหรือไม่ เพราะคำถามประชามติในแต่ละแบบให้ผลในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ต่างกัน

คำถามประชามติในกิจกรรมของไอลอว์มีทั้งหมดสามแบบ ชวนทำความเข้าใจความหมายที่แฝงอยู่ในคำถามประชามติแต่ละแบบ

ท่านเห็นชอบหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

คำถามนี้เป็นรูปแบบที่เปิดกว้างและเข้าใจง่ายที่สุด เมื่อเดินเข้าคูหาแล้ว ประชาชนผู้ใช้สิทธิอ่านแล้วสามารถทำความเข้าใจได้ทันทีว่าต้องการให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำถามนี้เปิดกว้าง ก็อาจจะเป็นการเปิดช่องให้มีการกำหนดเงื่อนไขการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย
หลังจากกระบวนการประชามติ ขั้นตอนต่อไปคือการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในรัฐสภา โดยจะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาและอำนาจของ สสร. แต่ในรัฐสภานั้นประกอบไปด้วยเสียงของทั้ง สส. และ สว. หมายความว่า คำถามที่เปิดกว้างก็อาจจะทำให้เหล่าสมาชิกรัฐสภากำหนดที่มาและอำนาจของ สสร. ได้ตามใจชอบ ประเด็นว่า สสร. จะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ หรือจะมีการยกเว้นไม่ให้แก้ไขบางหมวดบางมาตราหรือไม่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังคงเปิดกว้างให้กับรัฐสภาในการกำหนดได้เอง

ท่านเห็นชอบหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้คงไว้ซึ่งหมวด 1 และ 2 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

เมื่อเห็นคำถามนี้ สิ่งที่สะดุดตาคนอ่านมากกว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือวรรคหลังของประโยค หมวด 1 และ 2 ของรัฐธรรมนูญคือบททั่วไปและพระมหากษัตริย์ ซึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ก็มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยตลอด โดยเฉพาะการแก้ไขหมวด 2 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ตามข้อสังเกตพระราชทานหลังจากผ่านประชามติแล้ว คำถามที่ “ล็อค” ไว้ก่อนเช่นนี้จะทำให้การไปแก้ไขหมวดหรือมาตราที่เกี่ยวข้องไม่ได้ นับว่าเป็นเรื่องแปลกเพราะการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก็ควรทำได้ทั้งฉบับ ยึดหลักว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน
คำถามเช่นนี้อาจจะนำไปสู่ปัญหาทั้งในทางปฏิบัติและทางกฎหมาย ในทางปฏิบัติ อาจจะทำให้ผลการทำประชามติไม่ผ่านเสียงกึ่งหนึ่ง เนื่องจากมีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับตั้งคำถามแบบมีเงื่อนไข รวมกับผู้ที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะออกไปลงคะแนนไม่เห็นชอบกับประชามติ ทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องแท้งไป ในทางกฎหมาย ข้อห้ามไม่ให้แก้ไขหมวด 2 อาจจะเป็นการสร้างปัญหาในการแก้ไขประเด็นอื่นในรัฐธรรมนูญด้วย เช่น มาตรา 12 กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งองคมนตรีเอาไว้ อาทิ ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี หากในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีข้อเสนอให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดปัญหาทันทีเพราะไม่สามารถย้อนกลับไปแก้คุณสมบัติขององคมนตรีให้สอดคล้องกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญที่เหลือได้

ท่านเห็นชอบหรือไม่กับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งประชาชน

เพื่อแก้ปัญหาการเปิดกว้างจนรัฐสภาสามารถแก้ไขได้ และการกำหนดเงื่อนไขห้ามแตะต้องบางหมวดบางมาตราดังในสองคำถามข้างต้น คำถามนี้จึงออกแบบให้ “ล็อคแบบไม่ล็อค” กล่าวคือ ระบุตั้งแต่ในคำถามประชามติว่าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นต้องทำได้ทั้งฉบับ ห้ามกำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดที่ทำให้บางหมวดบางมาตราแก้ไขไม่ได้ โดยผู้ที่จะมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเท่านั้น ไม่สามารถมาจากการแต่งตั้งหรือสรรหาได้
คำถามนี้จำเป็นการมัดมือสมาชิกรัฐสภา ซึ่งรวมถึง สว. แต่งตั้ง ว่าต้องพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภายใต้หลักการ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” เท่านั้น ประชาชนที่ไปกาบัตรประชามติก็จะเห็นหนทางข้างหน้าชัดเจนว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเสียงของประชาชนอยู่ด้วยอย่างแท้จริง