เดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ สภาร่างต้องยึดโยงประชาชน

10 ธันวาคม 2566 วันรัฐธรรมนูญ เวลา 14.00 – 17.00 น. สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนา PRIDI Talks #23 x PBIC : รื้อ ร่าง สร้าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อประชาชน ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมองไปข้างหน้าถึงการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 
ร่วมพูดคุยโดย
๐ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล 
๐ นิกร จำนง : โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติ
๐ รศ. นันทนา นันทวโรภาส : คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
๐ รศ. มุนินทร์ พงศาปาน : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๐ ผศ. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รัฐธรรมนูญ 60 เครื่องมือสืบทอดอำนาจรัฐประหาร

รศ.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลมาจากการศึกษาเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญหลายประเทศ ศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรปอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส หรือประเทศในเอเชีย รวมถึงบทเรียนในอดีต จนก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทางรัฐธรรมนูญ เช่น การให้อำนาจ สว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี การให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ ความแปลกประหลาดของประเทศไทย คือ การมีผู้เชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าตั้งคำถามว่าบุคคลเหล่านี้ต้องร่างรัฐธรรมนูญบ่อยขนาดไหนถึงจะมีความเชี่ยวชาญในการเขียนรัฐธรรมนูญ
มุนินทร์ระบุว่า รัฐธรรมนูญหลายประเทศทั่วโลกสามารถแบ่งได้เป็นสองลักษณะ
1. รัฐธรรมนูญที่รับรอง ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2. รัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมือในการจำกัดบทบาทของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยสามารถใช้อำนาจได้อย่างบริบูรณ์ ผ่านการวางกลไกต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 เข้าข่ายจะเป็นแบบนี้ รวมถึงรัฐธรรมนูญไทยในอดีตหลายๆ ฉบับก็เข้าข่ายเป็นกรณีนี้ 
หากดูแนวคิดในการออกแบบผู้ร่างรัฐธรรมนูญของไทย จะมีมุมองที่มองประชาชนเสมือนเป็นผู้เยาว์ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ยังไม่มีวุฒิภาวะ ต้องมีผู้แทนโดยชอบธรรมมาทำการแทนหรือสามารถยกเลิกเพิกถอนการกระทำได้ องค์กรรวมถึงกลไกต่างๆ ก็เปรียบเสมือนผู้แทนโดยชอบธรรม  นี่คือแนวคิดที่พอเห็นได้จากเบื้องหลังรัฐธรรมนูญ 2560
ในความเห็นของมุนินทร์ การที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีความชอบธรรม ทั้งในแง่กระบวนการ และในแง่ของเนื้อหา ความบกพร่องร้ายแรงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้หากเปรียบเทียบในทางกฎหมายเอกชน ก็จะตกเป็นโมฆะได้
ด้านผศ. พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ (Constitutional Coup) ที่รัฐธรรมนูญถูกใช้เป็นเครื่องมือขยายอำนาจหลังมีการรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของกรณีนี้ 
วัตถุประสงค์ของการรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ พรสันต์อธิบายว่ามีสี่ข้อด้วยกัน
1. พยายามเข้าไปลดทอนความเป็นประชาธิปไตย
2.พยายามครอบงำ ควบคุมการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ
3. กำจัดศัตรูทางการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ
4. คงสถานะและอำนาจของคณะรัฐประหารของรัฐธรรมนูญ
ตัวอย่างของการใช้กลไกเหล่านี้ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น การออกแบบระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม การกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมือง ซ้ำยังดึงเอาองค์กรตุลาการอย่างศาลฎีกาเข้ามาของเกี่ยวกับการเมืองผ่านการพิจารณาคดีจริยธรรมนักการเมือง การกำหนดให้มี 250 สว. ชุดพิเศษ ที่มีอำนาจมาก เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรี การเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ  รวมถึงการกำหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่สร้างเงื่อนไขให้แก้ไขได้ยาก
นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างการทำประชามติ ก็ไม่ชอบธรรม เพราะประชาชนไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ 
ภาพรวม เราจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือใช้เพื่อประโยชน์อะไรบางอย่าง
การทำรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบสามประการ
1. เป็นบ่อนทำลายให้ประชาธิปไตยในประเทศลดน้อยถอยลง
2. กระทบกับหลักนิติธรรมในประเทศ
3. กระทบต่อสังคม ก่อให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในสังคม ซึ่งรัฐธรรมนูญแบบนี้อาจขัดต่อแนวคิดรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ที่มีเนื้อหามุ่งลดความขัดแย้งในสังคม 

สภาร่างรัฐธรรมนูญ ต้องยึดโยงกับประชาชน

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล  ระบุว่าเราควรใช้โอกาสในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นี้ สร้างฉันทามติใหม่ของสังคมไทย ที่ประชาชนที่มีความแตกต่าง มีความหลากหลาย ดังนั้น การออกแบบคำถามประชามติรัฐธรรมนูญใหม่เอง ก็ไม่ควรมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไข 
หากเรามองว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ การออกแบบสสร. ก็ควรจะมีความยึดโยงกับประชาชน พรรคก้าวไกลเห็นว่าควรมี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยที่มีประเด็นห่วงกังวล เช่น การให้ สสร. เลือกตั้งทั้งหมดอาจจะทำให้กลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณะเฉพาะไม่ได้มีโอกาสเข้าไปในสภา เป็นปัญหาเชิงเทคนิคปลีกย่อยซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเอามาใส่ไว้ในคำถามประชามติ แต่สามารถออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสำคัญที่ควรยึดถือได้ ชัยธวัชเห็นว่าสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ คือการยึดโยงกับประชาชน
พรรคก้าวไกล มีจุดยืนว่า สสร. ซึ่งเป็นผู้แทนประชาชน ควรเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทั้งฉบับ โดยไม่เป็นแปลงระบอบการปกครองและรูปแบบของรัฐ 
รศ. นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวถึงการออกแบบการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 
1. สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องยึดโยงกับประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้บังคับกับประชาชนทั้งประเทศ คนที่ไปเขียนรัฐธรรมนูญจะต้องสามารถสะท้อนปัญหาประชาชนได้
2. สสร. ต้องเป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำจากอำนาจใดๆ เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกร่างออกมาตามใบสั่งของผู้มีอำนาจผู้ใดผู้หนึ่ง
3. สสร. ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้มากที่สุด เช่น การรับฟังความคิดเห็นประชาชน
4. จะต้องมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล เช่น ตรงตามกรอบเวลาไม่ยืดเยื้อยาวนาน 
คุณลักษณะของ สสร.
1. ควรจะมีความหลากหลาย เพราะรัฐธรรมนูญใช้บังคับกับทุกคน
2. อายุของ สสร. ภาพรวมส่วนใหญ่จะกำหนดว่า สสร. ต้องมีอายุในช่วง 35 ปี แต่นันทนาเห็นว่าแค่มีสิทธิเลือกตั้ง อายุ 18 ปีก็ควรจะมาเป็น สสร. ได้แล้ว
3. ควรเปิดโอกาสให้คนใหม่ๆ ผู้ที่เคยเป็น สสร. สส. สว. ไม่ควรเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้คนที่ไม่เข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยรู้สึกว่าต้องตอบแทนใคร
นันทนา แสดงความเห็นว่า สสร. ควรมีประมาณ 150-200 คน สมมุติมี 200 คน จำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ขณะที่จำนวนที่เหลืออีก 50 คนมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม ให้ สส. เลือกนักวิชาการ ภาคประชาสังคม 

คณะกรรมการศึกษาประชามติเดินหน้ารับฟังความเห็น สรุปปลายปี 66

นิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติ เล่าถึงมุมมองส่วนตัวที่มีต่อรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่เป็นนักรัฐศาสตร์ มองว่ารัฐธรรมนูญเปรียบเสมือน ระบบปฏิบัติการ (operating system : os) ซึ่งมีความสำคัญมาก ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2560 และไปโหวตเห็นชอบในการทำประชามติปี 2559 แต่เมื่อประชามติผ่านก็ต้องยอมรับในผล และก็ตั้งใจที่จะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ
นิกรเล่าถึงภาพรวมจากการไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนมาว่า เท่าที่สอบถามประชาชนส่วนใหญ่ประชาชนเห็นด้วยให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นส่วนน้อย และส่วนใหญ่เห็นด้วยให้มี สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญ และตอนนี้กำลังเดินหน้าฟังเสียงสมาชิกรัฐสภา ทั้ง สส. และ สว. ในฐานะผู้ที่จะต้องลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มี สสร. มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
ในฐานะที่ตนเป็นโฆษกคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติ ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี วันที่ 22 ธันวาคม 2566 จะสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และวันที่ 25 จะประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ นิกรประเมินว่ากระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เฉพาะตัวรัฐธรรมนูญเองจะใช้เวลาประมาณสามปี ยังไม่รวมการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีก 11 ฉบับ
รับชมไลฟ์ย้อนหลัง https://www.facebook.com/pridibanomyonginstitute/videos/1510264486484212 
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป