สรุป “ร่างรัฐธรรมนูญคนจน” อีกหนึ่งเสียงเรียกร้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

หลังการเมืองไทยกำลังเข้าสู่การทำประชามติเพื่อ #เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ กระแสการตื่นตัวเรื่องปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 และความตื่นเต้นอยากเห็นสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไปเริ่มมีมากขึ้น อย่างไรก็ตามร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการนำเสนอเฉพาะจากฝ่ายการเมืองเท่านั้น แต่ภาคประชาสังคมหลายภาคส่วนก็ได้เคยนำเสนอมาแล้วเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือร่าง “รัฐธรรมนูญคนจน” จาก “สมัชชาคนจน” ที่เริ่มจัดทำมาตั้งแต่ปี 2558
สมัชชาคนจนเริ่มอบรมในหัวข้อสิทธิเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2558 และเริ่มรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2563 จึงได้มีการเชิญหลายภาคส่วนทั่วประเทศกว่า 118 องค์กร จาก 53 จังหวัด มาร่วมเสนอความคิดเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จนกลายเป็นร่างฉบับแรกในเดือนมกราคม 2564 ก่อนที่จะนำข้อเสนอจากส่วนภูมิภาคมาจัดทำเป็นร่างฉบับที่สองเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2565
ร่างรัฐธรรมนูญคนจนถูกส่งถึงมือ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หรือ “คณะกรรมการประชามติฯ” เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ระหว่างงานรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมเพื่อจัดทำคำถามประชามติ
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือได้ว่ามีการรับรองสิทธิของคนส่วนใหญ่ในประเทศได้มากกว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 อีกทั้งยังมีประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยอีกเป็นจำนวนมาก เช่น การปฏิรูปองค์กรอิสระ การควบคุมกองทัพ ไปจนถึงการเสนอแนวทางจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ใหม่ให้เหมาะสมกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ปฏิรูปองค์กรอิสระ เปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน” มีที่มาจากการแต่งตั้งตามคำแนะนำของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่มาของคณะกรรมการฯ มีความเชื่อมโยงระดับหนึ่งกับกลไกอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ทำรัฐประหารในปี 2557 
ด้วยเหตุนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของสมัชชาคนจนจึงมุ่งแก้ไขที่มาของคณะกรรมการฯ ด้วยการระบุให้ร่างรัฐธรรมนูญหมวด 7 ว่าด้วยองค์กรอิสระและการตรวจสอบการใช้อำนาจ มาตรา 7 (1) ให้ประธานและคณะกรรมการฯ มาจากสรรหาของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจากเจ็ดปีสู่ห้าปีเพียงเท่านั้น
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุให้คณะกรรมการสรรหาของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 11 คนจะต้องถูกสรรหามาจากคนหกกลุ่ม โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา ดังนี้
  1. ผู้แทนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คัดเลือกกันเองหนึ่งคน
  2. ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน คัดเลือกกันเองห้าคน
  3. ผู้แทนสื่อมวลชน คัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน
  4. ผู้แทนองค์กรนิสิตนักศึกษา คัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน
  5. ผู้แทนคณาจารณ์ด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ คัดเลือกกันเองจำนวนหนึ่งคน
  6. ผู้แทนผู้ร้องเรียนการถูกละเมิดสิทธิต่อคณะกรรมการฯ คัดเลือกกันเองสองคน

จุดนี้จะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่ระบุให้คณะกรรมการสรรหามาจากประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้แทนองค์กรสิทธิมนุษยชนจำนวนสามคน ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข สภาผู้แทนวิชาชีพสื่อมวลชน และอาจารย์ประจำหรือผู้เคยเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาหรือทำงานวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน

หัวใจสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือ ทำให้การคัดเลือกผู้ที่มาทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับประเทศถูกดึงกลับมาอยู่ภายใต้อำนาจของพลเรือนผ่านสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ร้องเรียนปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือก แตกต่างจากในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่รวมศูนย์การตัดสินใจเอาไว้ที่ สว. แต่งตั้ง

สิทธิที่เพิ่มขึ้น รัฐห้ามอ้างเหตุแห่งความมั่นคงของรัฐมาคุกคามประชาชน

รัฐธรรมนูญ 2560 มีการลดทอนสิทธิของประชาชนเป็นจำนวนมากจากที่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการเพิ่มสิทธิประชาชนที่ขาดหายไปกลับมา โดยเพิ่มการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญเอาไว้ถึงหกด้าน ดังนี้
  1. บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เท่าที่ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น
  2. บุคคลผู้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ สามารถนำบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไปต่อสู้ในศาลได้
  3. เมื่อได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา ชดเชย และช่วยเหลือจากรัฐ
  4. การใช้สิทธิเสรีภาพย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้
  5. การจำกัดสิทธิเสรีภาพจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดและกฎหมายนั้นต้องถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไป
  6. รัฐบาลจะอ้างเหตุแห่งความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี ตลอดจนประเพณีการปกครอง มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้
นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังรับรองให้บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยย่อมได้รับสัญชาติไทย จึงทำให้การเนรเทศ การห้ามเข้าประเทศ การถอนสัญชาติ ของบุคคลสัญชาติไทยจะกระทำไม่ได้อีกด้วย
ส่วนสำคัญที่น่าสนใจ คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังระบุให้ประชาชนมีสิทธิที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คำสั่ง หรือประกาศที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และบัญญัติให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามพันธกิจระหว่างประเทศที่รัฐไทยได้ลงนามไว้ ย่อมต้องมีผลโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ
ขณะเดียวกันสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิในการชุมนุมและการสมาคม สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิที่จะได้รับรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้า สิทธิทางการเกษตร สิทธิชุมชน สิทธิสิ่งแวดล้อม สิทธิที่ดิน สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง และสิทธิแรงงาน ยังได้รับการคุ้มครองมากขึ้นมีลักษณะถ้วนหน้าและมุ่งรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าการรวมศูนย์การตัดสินใจไว้ที่รัฐดังที่รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้

การสนับสนุนประชาธิปไตย และการควบคุมกองทัพโดยรัฐบาลประชาชน

แม้ว่าการยืนยันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญข้างต้นอาจจะทำให้สังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามรับประกันความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ การเปลี่ยนที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ การควบคุมกองทัพ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ในรัฐธรรมนูญ 2560 ศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาจากการสรรรหาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยเป็นอดีตข้าราชการ จำนวนเก้าคน และให้ สว.เป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งมีความชัดเจนว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดไม่ได้มีที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมัชชาคนจนต้องการแก้ไขที่มาขององค์กรดังกล่าวด้วยการระบุให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีที่มาจากการคัดเลือกดังต่อไปนี้
  1. คัดเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร โดยคัดเลือกจากรายชื่อที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสามคน จากคณะรัฐมนตรีหนึ่งคน จากที่ประชุมศาลฎีกาหนึ่งคน และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองหนึ่งคน
  2. ผู้แทนจากการคัดเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคัดเลือกจากการสรรหาของที่ประชุมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหนึ่งคน จากองค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งคน และจากเทศบาลหนึ่งคน
การคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถูกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดว่า ต้องกระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะชน และมีวาระในการดำรงตำแหน่งหกปี
เพื่อป้องกันการตีความรัฐธรรมนูญไปในทิศทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุให้รัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยหรือเสนอให้มีการทำประชามติได้ในกรณีที่พบความขัดแย้งที่ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ อย่างเด็ดขาดและมีผลพูกพันกับทุกองค์กร
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมัชชาคนจนระบุไว้ในหมวด 8 ว่าด้วยการพิทักษ์ประชาธิปไตยและคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน มาตรา 8 (1) ให้คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่ต้องควบคุมและจำกัดบทบาทของกองทัพไม่ให้แทรกแซงอำนาจบริหาร กระทำรัฐประหาร หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรา 8 (2) ที่ระบุว่า การเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธต้องได้รับความยินยอมจาก ครม. และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึกต้องได้รับการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งการต่อระยะเวลาของสถานการณ์ฉุกเฉินก็ย่อมต้องขอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเช่นเดียวกัน
ความพยายามปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกบัญญัติเอาไว้ในหมวดสอง ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเนื้อหาสำคัญคือการแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกเป็น ทรัพย์สินส่วนแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งรัฐสภาจะมีอำนาจในการจัดสรรและตรวจสอบการใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ขณะเดียวกันก็มีอำนาจในการกำกับดูแลทรัพย์สินส่วนแผ่นดิน
การรับประกันการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังถูกสะท้อนผ่านการบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ย่อมได้รับการคุ้มครองเสมอด้วยบุคคลทุกคน มีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้เท่านั้น และพระราชดำรัสต่อสาธารณะจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 
สุดท้ายนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมัชชาคนจนได้ระบุให้ยกเลิกการมีอยู่ขององคมนตรี ให้ส่วนราชการในพระองค์มีขนาดเหมาะสมสำหรับการถวายความปลอดภัย รวมถึงการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลเป็นอำนาจของรัฐบาล
ไฟล์แนบ
You May Also Like
อ่าน

รวมตารางกิจกรรม ทำเดินสายอธิบายกติกา ชวนมาร่วมเปลี่ยนสว.

พร้อมแล้ว!! เดินสายทั่วประเทศ ชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบการเลือกสว. ชุดใหม่ จากการ “แบ่งกลุ่มอาชีพ” และ “เลือกกันเอง” อันซับซ้อน มาทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการเลือก ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร รวมถึงช่องทางการมีส่วนร่วมที่ประชาชนสามารถทำได้ ใกล้ที่ไหนไปที่นั่น มาร่วมเปลี่ยนสว. กันเถอะ
อ่าน

อยากสมัคร สว. 67 ดูด่วน กกต. ออกระเบียบ สร้างเงื่อนไขการแนะนำตัวผู้สมัคร

กกต. ออกระเบียบการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. 67 วางเงื่อนไขในการแนะนำตัวของผู้สมัครอย่างเข้มข้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 27 เมษายน 2567 เป็นต้นไป