522 คำตอบถึงมือ ครม. แล้ว! ย้ำทำไมต้องใช้คำถามประชามติ #conforall

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา iLaw ได้นำคำตอบจำนวน 522 คำตอบ ที่รวบรวมจากคำถามว่า “ทำไมรัฐบาลจึงควรใช้คำถามของแคมเปญ #conforall ในการทำประชามติ” ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566

คำตอบจำนวน 522 คำตอบ ถูกแบ่งออกเป็นคำตอบที่ส่งมาในรูปแบบกระดาษทางไปรษณีย์สองคำตอบ และในรูปแบบออนไลน์ทั้งสิ้น 520 คำตอบ ซึ่งในรูปแบบออนไลน์ถูกจัดเป็นหมวดหมู่ทั้งสิ้นห้ากลุ่มด้วยกัน คือ:

  1. กลุ่มที่ว่าด้วยความยึดโยงกับประชาชน 44 คำตอบ
  2. กลุ่มที่ว่าด้วยจุดยืนของรัฐบาล 12 คำตอบ
  3. กลุ่มที่ว่าด้วยการล้มล้างมรดกคณะรัฐประหาร แปดคำตอบ
  4. กลุ่มที่ว่าด้วยคุณภาพของคำถามประชามติหรือรัฐธรรมนูญ 24 คำตอบ
  5. กลุ่มที่ว่าด้วยเงื่อนไขของการเขียนรัฐธรรมนูญ 28 คำตอบ

คำตอบเหล่านี้ถูกนำบรรจุใส่ซองแล้วส่งมอบให้กับรองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 หรือ “คณะกรรมการประชามติฯ” ในงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนเกี่ยวกับการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

เราจึงคัดสรรคำตอบบางคำตอบจากทั้งห้ากลุ่มมาเผยแพร่ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเหตุผลที่ประชาชนจำนวนมากตั้งใจส่งไปให้ถึงรัฐบาล และสะท้อนให้เห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ยังคงเป็นสิ่งที่สังคมคาดหวังจากรัฐบาลปัจจุบัน

จาก กลุ่มที่ว่าด้วยความยึดโยงกับประชาชน

“เพราะรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายที่จะกำหนดหน้าตาของการเมืองและความเป็นไปของประเทศนั้นควรถามประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ซึ่งคำถามของแคมเปญ #conforall เป็นคำถามที่มีลักษณะเปิดกว้างในการมอบอำนาจให้แก่ประชาชนในการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

หากประชาชนอยากเห็น หรือไม่อยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรืออยากแก้หรือไม่อยากแก้หมวดใดเป็นพิเศษ อยากมีสิทธิ์ในการเป็น สสร. แบบ 100% หรือไม่ ก็ให้ผลลัพธ์ของการทำประชามติที่มีคำถามเปิดกว้างเช่นนี้เป็นคำตอบ ก่อนที่จะมีการจำกัดเงื่อนไขหรืออำนาจอะไรนอกเหนือจากนี้”

จาก กลุ่มที่ว่าด้วยจุดยืนของรัฐบาล

จาก กลุ่มที่ว่าด้วยจุดยืนของรัฐบาล“ในเมื่อตอนหาเสียงพรรคเพื่อไทยมีนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พรรคเพื่อไทยซึ่งตอนนี้คือพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ควรจัดทำตามที่ได้หาเสียงไว้

โดยคำถามดังกล่าวที่เสนอนี้เป็นคำถามง่ายๆ แต่จะได้ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้”

จาก กลุ่มที่ว่าด้วยการล้มล้างมรดกคณะรัฐประหาร

“เพราะรับรองด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญในระบบสภา เป็นที่ยอมรับตามสากลโลกและเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน

ยุติการรัฐประหารอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองนี้ และส่งผลกระทบในทุกมิติที่เห็นกันหลังรัฐประหารจนถึงทุกวันนี้

นำสถาบันทหารกลับมาอยู่ภายใต้การเมือง เพราะการเมืองคือประชาชน ประชาชนใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ผ่านสถาบันการเมือง (ยกเว้น สว. องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอื่นๆ ที่มาจากผลพวงจากการแต่งตั้งจาก คสช. ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม รวมถึงตุลาการศาลที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน) ที่เป็นตัวแทนประชาชนทำหน้าที่ตามเจตจำนงค์ของประชาชน”

จาก กลุ่มที่ว่าด้วยคุณภาพของคำถามประชามติ หรือรัฐธรรมนูญ

“คำถามนี้เป็นคำถามที่รัดกุม เข้าใจง่าย เพราะมีแค่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สำหรับประชาชนในการลงมติ ไม่สร้างความสับสน เพราะฉะนั้นควรจะมีคำถามนี้เพื่อบ่งชี้เจตนาของประชาชนที่มีต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”
จาก กลุ่มที่ว่าด้วยเงื่อนไขของการเขียนรัฐธรรมนูญ


“ไม่อยากให้รัฐบาลกลัวเรื่องการแก้หมวด 1 หรือหมวด 2 เลยค่ะ เพราะคำถามสำคัญที่สุด คือ ประชาชนมีอำนาจจริงหรือไม่ ปล่อยให้มันเป็นไปตามความต้องการของประชาชนเถอะค่ะ 

ใครจะว่าอะไรคุณก็ไม่ได้เพราะประชาชนเลือกเอง เผือกร้อนนี้อย่าไปถือไว้เลย เอามันกลับมาให้ประชาชนตัดสิน แล้วมันจะเป็นอย่างไรคุณแค่ว่าไปตามนั้น ใช้อำนาจของคุณในการบริหารประเทศ แต่คุณไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจแทนประชาชน”