ประชาชนใช้เวลานับ วัน กกต. ใช้ วัน จับตา ครม. จะพิจารณาได้เมื่อไหร่!

ตามที่กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจัดกิจกรรมรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอคำถามในการทำประชามติเรื่องการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้ชื่อกิจกรรม #Conforall หรือ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง100%” ซึ่งเป็นการใช้สิทธิของประชาชนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดทำประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 9 สำเร็จเป็นครั้งแรก และได้นำรายชื่อทั้งหมด 211,904 รายชื่อ พร้อมเอกสารทั้งหมด ได้แก่
  1. หนังสือกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียง
  2. รูปเอกสารรายชื่อประชาชนบันทึกในรูปแบบไฟล์ PDF
  3. ข้อมูลของผู้ลงชื่อในรูปแบบ EXCEL บันทึกลงในแผ่น CD จำนวน 19 แผ่น
โดยได้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว ต่อมาในวันที่ 20 กันยายน 2566 สำนักงาน กกต. ก็ได้มีหนังสือส่งมาแจ้งว่าได้ตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะนำเอกสารทั้งหมดจัดส่งให้กับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีต่อไป ด่านต่อไปจึงต้องจับตาดูว่าสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจะใช้เวลาเท่าใดในการตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง และท้ายที่สุด ครม. จะได้พิจารณาทำประชามติโดยคำถามจากประชาชนเมื่อใด
การจัดการเอกสารและรายชื่อทั้งหมดของภาคประชาชนนั้นเกิดขึ้นภายในระยะเวลา “หนึ่งสัปดาห์” หลังจากที่สำนักงาน กกต. แจ้งว่าการลงชื่อเพื่อเสนอทำประชามติทางออนไลน์นั้นกระทำไม่ได้ หรือหากนับเพียงวันที่ประชาชนนำรายชื่อมากรอกเป็นไฟล์ดิจิทัลก็เพียง “สี่วัน” เท่านั้น กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนที่ต้องการเขียน “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ร่วมส่งรายชื่อผ่านทั้งทางไปรษณีย์และบริการขนส่งเอกสาร เป็นอาสาสมัครรับรายชื่อเอง หรือเดินเข้ามาร่วมลงชื่อในแผ่นกระดาษตามจุดตั้งโต๊ะรับรายชื่อ ไปจนถึงขั้นตอนการกรอกรายชื่อเพื่อรวบรวมข้อมูลในรูปแบบ EXCEL ตามที่ประกาศของ กกต. ระบุ จนสามารถรวบรวมรายชื่อเพื่อนำส่งสำนักงาน กกต. ให้เป็นผู้ตรวจสอบรายชื่อก่อนส่งถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาได้กว่า 211,904 รายชื่อ ซึ่งมากกว่าที่กฎหมายประชามติกำหนดขั้นต่ำไว้จำนวนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อเท่านั้นในกรณีประชาชนเสนอ ครม. เพื่อจัดทำประชามติ
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2565 กำหนดให้สำนักงาน กกต. มีหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดของหนังสือความประสงค์ในการออกเสียงประชามติและตรวจสอบรายชื่อว่าถูกต้องครบถ้วนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อตรงตามแบบที่กฎหมายและ กกต. กำหนดหรือไม่ โดยมีกรอบเวลาต้องทำให้เสร็จภายใน 30 วัน ก่อนไปสู่ปลายทางกระบวนการที่มีสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
แต่ระยะเวลา 30 วันก็เป็นเพียงกรอบเวลาสูงสุดที่ กกต. มีเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะตรวจสอบรายชื่อเร็วกว่านั้นไม่ได้ เนื่องจากเป้าหมายของการเสนอคำถามประชามติคือการให้ ครม. พิจารณาอย่างเร็วที่สุด หากยิ่งใช้เวลานานมากเท่าไรก็ยิ่งส่งผลให้กระบวนการในขั้นตอนต่อไปของการส่งคำถามประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 นั้นล่าช้าลงไปอีก เนื่องด้วยกระบวนการตามที่ประกาศกกต.กำหนดนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบรายชื่อประชาชน คือ “สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี” จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบอีกครั้งและดำเนินเรื่องตามกฎหมายก่อนที่ส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งในประกาศ กกต.ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในขั้นตอนดังกล่าวไว้แน่ชัด หากกระบวนการแรกช้า กระบวนการต่อ ๆ ไปก็จะทอดยาวออกไปอีก
ท้ายที่สุด กกต. ก็ใช้เวลาทั้งหมด 19 วัน นับจากวันที่ในเอกสารแจ้ง (19 กันยายน 2566) ในการตรวจสอบรายชื่อกว่า 211,904 รายชื่อ จากไฟล์ที่ประชาชนได้กรอกเป็นรูปแบบดิจิทัลให้เรียบร้อยแล้ว 
ในอีกด้านหนึ่ง ในการประชุมคณะรัฐมนตรีใหม่อย่างเป็นทางการนัดแรกภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ครม. ก็ได้มีมติให้ตั้ง “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ” ขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ทำให้คณะรัฐมนตรีอาจใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1-2 เดือนในการหาข้อสรุปเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่คำถามประชามติจากประชาชนจะได้เข้าไปสู่การพิจารณาจากทั้งคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่ และที่ประชุม ครม. ด้วย
ชวนดูไทม์ไลน์การทำงานของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ควบคู่กับการทำงานของกกต. ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า การรวบรวมรายชื่อของประชาชนทั้งระบบออนไลน์และระบบกระดาษสามารถทำได้ในเวลาเพียงสั้นๆ และสามารถจัดการเอกสาร ตรวจสอบรายชื่อ กรอกข้อมูลทั้งหมดภายในสี่วันหลังการปิดรับรายชื่อเพิ่ม
๐ วันที่ 10 สิงหาคม 2566 ก่อนเริ่มทำกิจกรรมรวบรวมรายชื่อจากประชาชน กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญติดต่อสอบถามไปยังนายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ประชาชนสามารถลงชื่อผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ ซึ่งไม่ได้รับคำตอบ 
๐ วันที่ 13 สิงหาคม 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจัดงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เริ่มรวบรวมรายชื่อของประชาชนทั้งระบบกระดาษและเปิดเว็บไซต์ให้ประชาชนลงชื่อทางออนไลน์ไปพร้อมกัน
๐ วันที่ 16 สิงหาคม 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้โทรศัพท์นัดหมายกับนายวีระ ยี่แพร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งอีกครั้งเพื่อขอเข้าพบและพูดคุยกันเรื่องนี้ แต่นายวีระยังไม่สะดวกพบ จึงได้สอบถามอีกครั้งว่า ประชาชนสามารถลงชื่อผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ ก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบ 
๐ วันที่ 22 สิงหาคม 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ รวบรวมรายชื่อประชาชนได้มากกว่า 50,000 รายชื่อแล้ว และวีระ ยี่แพร ได้นัดหมายกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมาพูดคุยกัน ซึ่งได้คำตอบว่า ประชาชนไม่สามารถลงชื่อผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่สำนักงาน กกต. ปฏิเสธไม่ออกเอกสารอธิบายประเด็นนี้
๐ วันที่ 23 สิงหาคม 2566 iLaw ยื่นหนังสือโต้แย้งการตีความกฎหมายของสำนักงาน กกต. โดยยืนยันว่าไม่มีกฎหมายห้ามและประชาชนควรลงชื่อผ่านระบบออนไลน์ได้
๐ วันที่ 25 สิงหาคม 2566 ประชาชนช่วยกันลงชื่อในระบบกระดาษจนเกิน 50,000 รายชื่อในช่วงเย็น และทะลุ 100,000 รายชื่อในช่วงดึก
๐ วันที่ 27 สิงหาคม 2566 ยอดรายชื่อประชาชนจากทางไปรษณีย์ถูกส่งมารวมกันจนทะลุ 200,000 รายชื่อในช่วงหัวค่ำ
๐ วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ประชาชนมาช่วยกันเป็นอาสาสมัครสแกนเป็นไฟล์ PDF และกรอกรายชื่อเป็นไฟล์ Excel ทั้งหมดจนเสร็จสิ้นทั้งหมดว่า 200,000 รายชื่อในช่วงดึก
๐ วันที่ 30 สิงหาคม 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ นำรายชื่อประชาชนที่สแกนเป็นไฟล์ PDF และกรอกรายชื่อเป็นไฟล์ Excel เขียนลงแผ่นซีดีทั้งหมด 25 แผ่นไปยื่นยังสำนักงานกกต. https://ilaw.or.th/node/6641
๐ วันที่ 12 กันยายน 2566 สำนักงานกกต. ออกหนังสือตอบกลับมายัง iLaw ว่า ประชาชนไม่สามารถลงชื่อผ่านระบบออนไลน์ได้
๐ วันที่ 13 กันยายน 2566 ณัชปกร นามเมือง ตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญโทรศัพท์ต่อสายไปยังสำนักงาน กกต. เพื่อสอบถามถึงกระบวนการทำงานในการตรวจสอบรายชื่อและเวลาแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กกต. ตอบว่า
“ทางสำนักงาน กกต. กำลังดำเนินการตรวจสอบรายชื่ออยู่ โดยคาดว่า จะตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อได้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากต้องส่งให้ผู้บังคับบัญชา กกต. พิจารณาภายในอาทิตย์หน้า” 
๐ วันที่ 14 กันยายน 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญยื่นหนังสือสอบถามความคืบหน้าการตรวจสอบรายชื่อของประชาชนทั้งหมดอย่างเป็นทางการ https://ilaw.or.th/node/6646
๐ วันที่ กันยายน 2566 ได้รับหนังสือจาก กกต. ว่าตรวจสอบรายชื่อเสร็จแล้ว และได้ส่งเรื่องต่อไปที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี
๐ (ยังไม่มีระเบียบหรือกรอบเวลา) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบรายชื่อ ก่อนบรรจุเป็นวาระให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา