ผลักดันความเท่าเทียมทางเพศให้ก้าวหน้า ภาคประชาชนเตรียมเข้าชื่อเสนอสามร่างกฎหมายเข้าสภาชุดนี้

วันที่ 20 กันยายน 2566 “ภาคีกฎหมายภาคประชาชน 3 ฉบับ เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ” แถลงข่าวภายใต้หัวข้อ “3 มิราเคิลลอว์ สลัดทิ้งโลกขมขื่นที่ล้าหลัง” ตั้งแต่เวลา 10.50 น. เป็นต้นไป ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดตัวการนำเสนอร่างกฎหมายสามฉบับ คือ 
  1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม
  2. ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. หรือ ร่างกฎหมาย #รับรองเพศสภาพ GEN-ACT
  3. ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 หรือ ร่างกฎหมายพนักงานบริการถูกกฎหมาย 
ร่างกฎหมายทั้งสามฉบับ ถูกผลักดันโดยนักกิจกรรมที่ขับเคลื่อนด้านความเท่าเทียมทางเพศและภาคประชาสังคมจากหลากหลายองค์กร เพื่อผลักดันร่างกฎหมายทั้งสามฉบับเข้าสภา โดยใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 ชื่อขึ้นไป เพื่อเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยกลไกนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 (3) และพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564
ในงานแถลงครั้งนี้ มีนัยนา สุภาพึ่ง ณชเล บุญญภิสมภาร และ สุรางค์ จันทร์แย้ม วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ร่วมกันแลกเปลี่ยนเนื้อหาของร่างกฎหมาย รวมทั้งปัญหาที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ต้องนำเสนอร่างกฎหมาย รวมถึงความคาดหวังในอนาคตที่มีต่อสภา โดยมี สิรภพ อัตโตหิ เป็นผู้ดำเนินรายการ 
เวทีช่วงแรก เป็นการเปิดให้ตัวแทนเยาวชน Plaifah Kyoka Shodladd และ ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ ขึ้นมาสะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรมและการกดทับทางเพศซึ่งส่งผลกับชีวิตของเยาวชน
ร่างกฎหมายทั้งสามฉบับนี้ มุ่งสร้างสิทธิที่จะมีครอบครัว สิทธิที่จะมีการแสดงออกทางเพศโดยไม่ถูกกดทับหรือกีดกัน และสิทธิทางสังคมอย่างการทำอาชีพเหนือเนื้อตัวร่างกายของตนเอง ซึ่งภาคีฯ มองว่าการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเก่าสู่รัฐบาลใหม่เป็นโอกาสอันดีในการนำประเด็นเหล่านี้กลับมาอีกครั้ง เพื่อผลักดันคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีของทุกคนในสังคม
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียมภาคประชาชน จะมีเนื้อหาที่แตกต่างจากร่างฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ฉบับที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งกำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภา ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็เตรียมตัวเข้าพูดคุยกับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ควรจะถอยร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ ออกไปด้วย
เพื่อให้ร่างกฎหมายทั้งสามฉบับสามารถเดินทางเข้าสู่รัฐสภาได้ ร่างกฎหมายแต่ละฉบับต้องการการเข้าชื่อ 10,000 รายชื่อทั้งสามฉบับอย่างเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ร่างละ 15,000 รายชื่อ ก่อนจะส่งให้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบเป็นระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน และเริ่มบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมตามข้อบังคับการประชุมต่อไป
สำหรับร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ เปิดให้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายแล้ว สามารถเข้าชื่อและอ่านร่างได้ที่ https://www.gen-act.org
สำหรับร่างพ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายปรามการค้าประเวณีฯ และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สามารถติดตามอัพเดทข้อมูลการลงชื่อได้ทางเฟซบุ๊ก iLaw หรือทวิตเตอร์ @iLawclub ต่อไป