กกต. แจ้ง ตรวจรายชื่อ #conforall เสร็จแล้ว ด่านต่อไป เลขาฯ ครม. ตรวจสอบและเอาเข้าที่ประชุม ครม.

20 กันยายน 2566 กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าได้ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอจัดทำประชามติเสร็จเรียบร้อยแล้วในวันที่ 19 กันยายน 2566 โดยตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเป็นจำนวนที่มากกว่าจำนวนรายชื่อขั้นต่ำตามกฎหมาย 50,000 รายชื่อ หลังจากนี้ สำนักงาน กกต. ได้ส่งเรื่องต่อไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อไป
หลังจากใช้เวลากว่า 19 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ที่ #conforall ได้ยื่นรายชื่อประชาชน เพื่อเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้มีมติจัดทำประชามติ โดยถามประชาชนว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” สำนักงาน กกต. ก็สามารถตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดได้เร็วกว่ากรอบเวลาที่กฎหมายกำหนดคือ 30 วัน
การดำเนินงานตรวจสอบรายชื่อของ กกต. เป็นไปตาม ข้อ 6 ของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกรณีประชาชนเข้าชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2565 ซึ่งในประกาศฉบับเดียวกัน ข้อ 8 ได้ระบุขั้นตอนต่อไปไว้ว่า สำนักงาน กกต. จะต้องส่งเอกสารทั้งหมดให้กับเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ตรวจสอบรายชื่อ” อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนี้ ไม่ได้มีการระบุระยะเวลาเอาไว้ เพราะสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรียังไม่ได้กำหนดเป็นระเบียบออกมา แต่ถ้าสำนักงาน กกต. ตรวจสอบรายชื่อมาในขั้นแรกแล้ว กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญก็หวังว่าจะสำนักเลขาธิการ ครม. จะใช้เวลาไม่นานนัก และพร้อมบรรจุเป็นวาระให้ ครม. พิจารณาจัดทำประชามติได้ในเร็ววัน
ทั้งนี้ แคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” หรือ #conforall นั้นมีเป้าหมายเพื่อล่ารายชื่อประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอตามกลไกใน พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ให้ ครม. พิจารณามีมติจัดทำประชามติที่จะเปิดทางไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” เพื่อการันตีว่ากระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นจะทำโดยตัวแทนที่มาจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และไม่มีการกำหนดเงื่อนไขที่จะปิดกั้นเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
โดยหลังจากผ่านการตรวจสอบชื่อจาก กกต. ไปแล้ว ด่านต่อไปก็คือการตรวจสอบของเลขาธิการ ครม. และให้ ครม. มีมติจัดทำประชามติตามคำถามที่มาจากประชาชน