#สมรสเท่าเทียม ต้องเริ่มเสนอใหม่ อยากให้เกิดขึ้นจริงได้ต้องช่วยกันส่งเสียง-จับตาสภา

หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา ตามหลักการในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า กรณีอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดหรือมีการยุบสภา บรรดาร่างกฎหมายที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จทุกกระบวนการ รัฐสภายังไม่ได้ให้ความเห็นชอบ (ในวาระสาม) ร่างกฎหมายเหล่านั้นจะ “ตกไป” อย่างไรก็ดี กฎหมายก็ยังเปิดช่องให้ร่างกฎหมายนั้นสามารถพิจารณาต่อไปได้ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่หลังเลือกตั้ง ร้องขอให้รัฐสภามีมตินำร่างกฎหมายนั้นมาพิจารณาต่อไป โดยเป็นการพิจารณาต่อจากเดิมที่ค้างไว้ เงื่อนไขสำคัญคือครม. ต้องร้องขอต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่เรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ซึ่งครบกำหนดไปแล้วเมื่อ 1 กันยายน 2566
อย่างไรก็ดี เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าร่างกฎหมายที่ค้างจากสภาชุดที่แล้ว ไม่สามารถนำมาพิจารณาต่อไปได้แล้ว เมื่อการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นไปได้ล่าช้าโดยมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี จนทำให้กว่าจะมีการออกประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการได้ก็เข้าวันที่ 1 กันยายน 2566 แล้ว เมื่อครม. ชุดใหม่ไม่ได้ร้องขอต่อรัฐสภาให้พิจารณาร่างกฎหมายนั้นต่อ ร่างกฎหมายที่ค้างท่อจากสภาชุดที่แล้วจึงตกไปหมด รวมถึงร่างกฎหมายที่ประชาชนจับตาอย่าง “สมรสเท่าเทียม” หรือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
การจะให้ร่างกฎหมายที่ตกไปแล้วถูกผลักดันไปต่อได้ ผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมาย อันได้แก่ ครม. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ไม่น้อยกว่า 20 คน และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อกัน 10,000 ชื่อขึ้นไป สามารถเสนอร่างกฎหมายต่อสภาได้ ซึ่งตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 ภาคประชาชนในนาม “ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม” ก็เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับภาคประชาชน ผ่านทางเว็บไซต์  https://www.support1448.org โดยมีประชาชนร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเกินจำนวนที่กฎหมายต้องการแล้ว และร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน สามารถนำไปเสนอต่อสภาชุดที่มาจากเลือกตั้ง 2566 ได้เลย
นอกจากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับที่ผลักดันโดยภาคประชาชนแล้ว พรรคก้าวไกลก็เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกฉบับซึ่งมีเนื้อหาเหมือนร่างที่เคยเสนอต่อสภาชุดแล้ว โดยร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 บนเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2566 เป็นต้นไป สามารถไปแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=291
ขณะที่ฝั่งครม. หากดูใน คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงต่อรัฐสภาไปแล้วเมื่อ 11-12 กันยายน 2566 พบว่า ในตอนหนึ่งของคำแถลงดังกล่าว ระบุว่า “รัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ” ซึ่งก็ต้องจับตากันต่อไปว่า ครม. จะเสนอร่างกฎหมายที่รับรองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าสภาหรือไม่ และมีเนื้อหาอย่างไร
สำหรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน หากรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ร่วมลงชื่อนำเสนอต่อสภาแล้ว กระบวนการต่อไปจะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารการเข้าชื่อซึ่งจะดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของสภา กฎหมายกำหนดว่าจะต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน เมื่อตรวจสอบเอกสารเข้าชื่อและคุณสมบัติว่าเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่จะประกาศจำนวนและรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายทั้งหมดผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภา ช่องทางเดียวเท่านั้น ผู้ที่ร่วมเข้าชื่อมาทุกคนสามารถไปตรวจดูได้ว่า มีรายชื่อของตัวเองร่วมเสนอร่างกฎหมายนี้ด้วยหรือไม่
หลังจากผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร ตรวจสอบรายชื่อครบถ้วนแล้ว ก่อนที่ร่างกฎหมายจะถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมตามข้อบังคับการประชุม รัฐธรรมนูญมาตรา 77 กำหนดให้ ร่างกฎหมายของภาคประชาชนจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบเสียก่อน โดยในขั้นตอนนี้สำนักเลขาฯจะเป็นผู้ดำเนินการให้ 
นอกจากนี้ ถ้าหากประธานสภาได้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายที่เสนอเข้ามาเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน ก็จะต้องส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีให้คำรับรองก่อน (เป็นไปตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญมาตรา 133 วรรคท้ายและมาตรา 134)
เมื่อการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 เสร็จสิ้น รวมถึงได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีสำหรับกรณีเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน ขั้นตอนต่อไป คือ รอให้ประธานสภาบรรจุร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อรอการพิจารณาต่อไป
หากร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสภา กระบวนการพิจารณาจะเริ่มต้นที่สภาผู้แทนราษฎรก่อน โดยกระบวนการพิจารณาสามวาระ
วาระที่หนึ่ง คือ “ขั้นรับหลักการ” กรณีที่มีร่างกฎหมายที่มีหลักการเดียวกันถูกเสนอเข้าสภามากกว่าหนึ่งฉบับขึ้นไป สามารถพิจารณาไปพร้อมกันได้ โดยสภาสามารถลงมติร่างกฎหมายเหล่านั้นว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการเป็นรายฉบับ หรือจะลงมติครั้งเดียวรวมกันไปเลยก็ได้ ถ้าสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการ ร่างกฎหมายนั้นก็จะ “ตกไป” แต่หากมีมติรับหลักการ ร่างกฎหมายนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระสอง
วาระที่สอง เรียกว่า “ขั้นกรรมาธิการ” จะมีการตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายนั้นในรายละเอียด จากนั้นจึงเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติรายมาตรา
วาระที่สาม “ขั้นลงมติเห็นชอบ” จะเป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญว่าร่างกฎหมายนั้นจะมีโอกาสได้ไปต่อหรือไม่ หากเสียงข้างมากของสส. “ไม่เห็นชอบ” ร่างกฎหมายก็จะตกไป แต่หากเสียงข้างมากของสส. “เห็นชอบ” ในวาระสาม ร่างกฎหมายนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาอีกสามวาระ 
ทั้งนี้ สว. ไม่มีอำนาจปัดตก หรือทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วหายไปได้  เมื่อ สว. พิจารณาร่างกฎหมายแล้วสามารถลงมติได้ 3 กรณี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 คือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ และแก้ไขเพิ่มเติม 
หากร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาขชองวุฒิสภาแล้ว และไม่มีผู้ยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบว่าร่างกฎหมายนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็จะเข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วจึงประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
ปัจจัยที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่านการพิจารณาและถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย หลักๆ จึงอยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร หากเสียงข้างมากของ สส. เห็นด้วยในวาระหนึ่งและวาระสาม ก็จะทำให้ร่างกฎหมายนั้นมีโอกาสได้ไปต่อได้ หากไม่มีเหตุอื่นแทรกแซง เช่น การยุบสภา ดังนั้น หากอยากให้สมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นจริง ประชาชนต้องช่วยกันส่งเสียงไปยังผู้แทนราษฎรที่เลือกมาให้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว และช่วยกันจับตาการทำงานของสภาเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวได้เข้าสู่สภาแล้ว