ประเทศไทยไร้รัฐบาล 109 วัน! อันดับหนึ่งการเลือกตั้งที่รอรัฐบาลใหม่นานที่สุดของไทย

หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 หากนับว่าเช้าวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 คือวันแรกของการรอคอยการจัดตั้งรัฐบาล วันนี้ วันที่ 1 กันยายน 2566 จะใช้เวลาทั้งสิ้น 109 วันจึงมีหนังสือพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ทำให้การเลือกตั้ง 2566 คว้าตำแหน่งอันดับหนึ่งของการรอรัฐบาลใหม่ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ในอดีตนั้น การเลือกตั้งที่ใช้เวลานานที่สุดเพื่อให้มีรัฐบาลใหม่ คือ การเลือกตั้งครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 107 วัน จึงจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้น โดยในครั้งนั้นได้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
การเลือกตั้งปี 2566 ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งด้านความล่าช้าของการมีรัฐบาลมากกว่า “ค่าเฉลี่ยวันรอรัฐบาล” ของไทย ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 31 วัน รวมทั้งยังยิ่งชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งที่คนไทยใช้เวลามากที่สุดกว่าจะมีรัฐบาลใหม่นั้น ต่างเกิดภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งสิ้น

อันดับการได้รัฐบาลใหม่ช้าที่สุดหลังการเลือกตั้งของประเทศไทย

ขณะที่ “ค่าเฉลี่ยวันรอรัฐบาล” อยู่ที่ 31 วัน นับจากวันเลือกตั้งของไทยทั้งหมด 27 ครั้ง แต่จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า นับจากวันเลือกตั้งการใช้เวลาตั้งรัฐบาลยาวนานที่สุดกินระยะเวลาตั้งแต่ 41 วัน จนถึง 109 วัน ดังต่อไปนี้

ลำดับที่ 1 : การเลือกตั้งครั้งที่ 27 ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ใช้เวลาไปแล้วทั้งสิ้น 99 วันหลังการเลือกตั้งจึงมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และใช้เวลาทั้งสิ้น 109 วันหลังการเลือกตั้ง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 2 กันยายน 2566

ลำดับที่ 2 : การเลือกตั้งครั้งที่ 26 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ใช้เวลาทั้งสิ้น 106 วันหลังการเลือกตั้ง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 และใช้เวลา 107 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2562

ลำดับที่ 3 : การเลือกตั้งครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ใช้เวลาทั้งสิ้น 36 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 29 มกราคม 2551 และใช้เวลาทั้งสิ้น 44 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551

ลำดับที่ 4 : การเลือกตั้งครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2480 ใช้เวลาทั้งสิ้น 43 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งทั้งคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 21 ธันวาคม 2480

ลำดับที่ 5 : การเลือกตั้งครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ใช้เวลาทั้งสิ้น 33 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 และใช้เวลาทั้งสิ้น 41 วันหลังการเลือกตั้ง จึงจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544

ข้อสังเกตสำคัญคือ การเลือกตั้งทั้งสองครั้งที่ใช้เวลารอคอยรัฐบาลใหม่นานที่สุดต่างอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งสิ้น

ต้นเหตุของความล่าช้า รัฐธรรมนูญ 2560 คือปัญหาสำคัญที่สุด

รัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มาจากการทำประชามติภายใต้ช่วงระยะเวลาของรัฐบาลจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำ ซึ่งกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดการตั้งรัฐบาลใหม่ช้าที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยถึงสองครั้ง คือ การเลือกตั้งปี 2562 และการเลือกตั้งปี 2566 ด้วยหลายเหตุปัจจัย

ประการแรก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 กำหนดให้ ก่อนการเลือกตั้งพรรคการเมืองต้องส่งรายชื่อบุคคลที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อ กลไกนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรก มีข้อดีทำให้ประชาชนพอคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า เมื่อลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดแล้วใครจะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง แต่ก็มีข้อเสีย คือ เมื่อตัวเลือกของนายกรัฐมนตรีถูกจำกัดลง การต่อรองและร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ถูกจำกัดลงด้วย

ปัญหาใหญ่ของระบบ “บัญชีว่าที่นายกฯ” คือ ถ้าหากบุคคลทั้งสามรายชื่อของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปโดยกลไกต่างๆ เช่น ถูก กกต.แจกใบส้ม การถูกตัดสินว่าขาดคุณสมบัติ และวิธีการทางกฎหมายอื่นๆ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดทางตัน หรือ ‘เด๊ดล็อก’ ทางการเมือง ที่ไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งได้ตามระบบปกติ และอาจจะเป็นการปูทางไปสู่การแต่งตั้ง ‘นายกฯ คนนอก’ ได้

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 สั่งให้พิธาหยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องให้กลไกทางกฎหมายทำงานเพื่อขัดขวางการตั้งรัฐบาลใหม่ได้ง่ายขึ้น และส่งผลให้การได้มาซึ่งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นไปอย่างยากลำบากและยาวนานกว่าในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ 

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญ มาตรา 269 กำหนดให้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดแรก จำนวน 250 มาจากระบบสรรหา ระบบการเลือกกันเอง และ ส.ว. ที่มาจากปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ไม่ว่ามาจากระบบไหน การคัดเลือกขั้นสุดท้ายก็จะเป็นอำนาจของ คสช. โดยลำพัง จึงกล่าวได้ว่า ส.ว. ชุดนี้มีที่มาจาก คสช. โดยตรง

นอกจากนี้ “คำถามพ่วง” ที่ผ่านการทำประชามติในปี 2559 ได้เพิ่มบทบาทให้ ส.ว. ชุดนี้มีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. จึงทำให้ในช่วงห้าปีแรกตามบทเฉพาะกาล คะแนนเสียงของ ส.ว. ถึง 250 เสียงมีผลอย่างมากในการตัดสินได้ว่า ผู้ใดจะได้เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ความวุ่นวายที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ปรากฎให้เห็นแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 ว่า ส่งผลให้การจับขั้วทางการเมืองล่าช้าเป็นอย่างมาก และยังทำให้พรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งและสามารถรวมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ก่อนอย่างพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากอำนาจต่อรองของพลพรรค ส.ว. ที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ จำต้องทิ้งพรรคที่ชนะการเลือกตั้งแล้วเข้าจับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐ

รัฐธรรมนูญ 2560 ยังขาดการระบุเวลาที่รัฐสภาจะมีสำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกด้วย ซึ่งหากนำไปเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 จะพบว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 172 ระบุว่า “ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก” จึงทำให้รัฐธรรมนูญ 2560 มีความบกพร่องด้านการกวดขันเวลาน้อยกว่าฉบับก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด และอาจจะทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีหรือการได้มาซึ่งรัฐบาลล่าช้าได้มากกว่าที่ควรจะเป็น

การเลือกตั้งในปี 2566 นั้นก็ส่งผลในลักษณะเดียวกัน แม้ว่าการรวมเสียงข้างมากของส.ส. ไม่ได้ใช้เวลามากนัก แต่เมื่อ ส.ว. ส่วนมากไม่ยอมลงคะแนนเสียงให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และกลไกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้รัฐสภาไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ ชี้ชัดแล้วว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นตัวการที่สำคัญมากในการทำให้การตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเป็นไปอย่างยากลำบาก จนทำให้ประเทศไทยต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เพื่อดำเนินงานบริหารประเทศต่อไป