ทบทวนมติรัฐสภาซ้ำไม่ได้ ประธาน “วันนอร์” อ้างสภาจะขาดความน่าเชื่อถือ

22 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมรัฐสภา มีนัดหมายลงมติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 (ครั้งที่สาม) ในช่วงแรก ก่อนเข้าสู่วาระการโหวตนายก​ฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาอนุญาตให้ รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นำเสนอญัตติด่วน “กรณีขอให้ทบทวนมติรัฐสภาห้ามเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ซ้ำ” ซึ่งค้างอยู่เมื่อการประชุมรัฐสภาตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 เนื่องจากประธานรัฐสภาไม่อนุญาตให้พิจารณาญัตติดังกล่าวและสั่งเลื่อนประชุมเพื่อรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 
วันนี้ (22 สิงหาคม 2566) วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาอนุญาตให้ รังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นนำเสนอญัตติด่วน“กรณีขอให้ทบทวนมติรัฐสภาห้ามเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ ซ้ำ” แต่จะพิจารณาลงมติหรือไม่นั้นประธานรัฐสภาจะเป็นผู้วินิจฉัยอีกที 
รังสิมันต์  โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นำเสนอเหตุผลที่ต้องเสนอญัตติด่วน โดยสรุปใจความได้ว่า  หลังจากที่มีแถลงการณ์จากคณาจารย์สาขานิติศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยกับการลงมติของรัฐสภาที่ให้ข้อบังคับประชุมรัฐสภาสูงกว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น มีเหตุผลประกอบว่าการลงมติพิจารณานายกฯ เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญต่างกับญัตติทั่วไปที่ถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับสภาฯ ไม่มีบทบัญญัติไหนในรัฐธรรมนูญที่ให้เสนอชื่อนายกฯ ซ้ำไม่ได้ เมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด การตีความข้อบังคับรัฐสภาที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญให้มีผลเหนือกว่าทำไม่ได้ และไม่สมควรที่จะให้มติรัฐสภาเช่นนี้กลายเป็นบรรทัดฐานในอนาคต ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกลก็ไม่เห็นด้วยกับมติสภาดังกล่าวนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นไปเพื่อส่งให้พิธาเป็นนายกฯ อีกครั้ง 
ด้านวันมูหะมัดนอร์ มะทา หลังเปิดให้รังสิมันต์อภิปรายสักครู่ ก็สั่งไม่รับญัตติด่วน โดยให้เหตุผลว่าได้ปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายแล้ว เห็นว่า การเสนอญัตติด่วนของรังสิมันต์เป็นการเสนอญัตติซ้อนที่ได้มีการลงมติไปแล้วตามข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อที่ 151 ถ้าหากให้เสนอญัตติซ้อนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้มติสภาขาดความน่าเชื่อถือ  จึงใช้อำนาจประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 ที่ให้อำนาจประธานดำเนินกิจการไปตามข้อบังคับเห็นควรว่าไม่รับญัตติด่วนดังกล่าว
ทั้งนี้ ญัตติที่เสนอโดยรังสิมันต์ โรม สืบเนื่องมาจากการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 พรรคก้าวไกลยืนยันเสนอพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นครั้งที่สอง อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. รวมไทยสร้างชาติ และ เสรี สุวรรณภานนท์ สว. อ้างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 เสนอญัตติต่อรัฐสภาว่าการเสนอชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติต้องห้ามตามข้อบังคับ ข้อ 41 ซึ่งกำหนดว่า “ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป” ในการประชุมครั้งดังกล่าวรัฐสภาลงมติด้วยเสียง 395 ต่อ 317 เสียง ตีความว่าการเสนอชื่อพิธาอีกครั้ง ต้องห้ามตามข้อบังคับ ข้อ 41